ปลูกกล้วยไข่ สร้างรายได้หรือส่งออก แนะนำ พันธุ์ ‘เกษตรศาสตร์2’

กล้วยไข่ เกษตรศาสตร์ 2 เกิดจากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์กล้วยไข่ อาศัยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ร่วมกับการใช้รังสีแกรมมาในการปรับปรุงพันธุ์ จากนั้นทำการคัดเลือกกล้วยไข่ที่มีลักษณะดี มีความคงตัวของสายพันธุ์ และสามารถตรวจสอบเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมได้
กล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2 มีลักษณะเด่น เหมาะแก่การปลูกเพื่อการส่งออก เนื่องจากมีเหลืองอ่อนแม้ยังดิบ เนื้อละเอียดเนียน ไม่มีไส้กลาง คล้ายกล้วยหอมทอง ลักษณะภายนอก ผลป้อมปลายมน สีผิวเหลืองสดใส ปลายทู่ แต่ความยาวก้านผลยาวมากกว่าเดิม จึงทำให้การเรียงของผลภายในหวีเป็นระเบียบ ผลไม่เกยกัน การวางตัวในแต่ละเครือสวยงาม ทำให้ได้ผลผลิตที่สามารถส่งออกได้ต่อเครือสูงขึ้น ดังนั้น แม้จะปลูกในพื้นที่เท่าเดิม ปริมาณเท่าเดิม แต่สามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกได้
ด้วยเหตุนี้ กล้วยไข่พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทน กล้วยไข่ ในการสร้างแบรนด์ผลไม้ไทยในต่างประเทศ จากโครงการ “Branding Project-Thai Produce and Grains กล้วยไข่” มีการขยายพันธุ์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน
กล้วยไข่พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 สามารถปลูกได้ทั้งที่ลุ่มและที่ดอน แต่ต้องมีการระบายน้ำที่ดี ไม่มีน้ำท่วมขัง แต่ไม่เหมาะสำหรับพื้นที่สูงๆ เนื่องจากอุณหภูมิต่ำทำให้กล้วยชะงักการเจริญเติบโต และควรเลือกพื้นที่ปลูกที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ หรืออยู่ในเขตชลประทานเพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลปลูก
การวางแผนการผลิตที่ดีจะช่วยให้สามารถจัดการน้ำ ให้เพียงพอกับความต้องการของกล้วยตลอดปี เช่นในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร นิยมปลูกกล้วยไข่ ในช่วงเดือน กันยายน และ พฤศจิกายน เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงแล้งที่อาจจะไม่มีน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้วย ดังนั้น กล้วยจะเริ่มตกปลีและติดผลในช่วงเดือนธันวาคมและพฤษภาคม
 
นอกจากนี้ วิธีการให้น้ำก็มีส่วนสำคัญ เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่มีใบใหญ่ มีการสังเคราะห์แสงมาก เพื่อใช้ ในการสร้างอาหาร แต่ก็คายน้ำมากเช่นกัน ทำให้กล้วยต้องการน้ำมาก การให้น้ำแบบปล่อยน้ำท่วมขัง หรือ ลากสายยางรดน้ำ ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำและกล้วยไม่สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เกษตรกร ที่ปลูกกล้วย ควรให้น้ำระบบน้ำหยด หรือระบบน้ำฝอย เพื่อประหยัดน้ำ โดยให้ประมาณ 8 ลิตร ต่อต้น ต่อวัน เป็นปริมาณที่ไม่เกินความต้องการของต้นกล้วย นอกจากนี้การให้ระบบน้ำฝอย ยังเพิ่มความชุ่มชื้น ให้แก่สวนอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โทร. 02-5790308