รวมเรื่องต้องรู้ PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก่อนเริ่มใช้ 1 มิ.ย.นี้

รวมเรื่องต้องรู้ PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก่อนเริ่มใช้ 1 มิ.ย.นี้
รวมเรื่องต้องรู้ PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก่อนเริ่มใช้ 1 มิ.ย.นี้

รวมเรื่องต้องรู้ PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก่อนเริ่มใช้ 1 มิ.ย.นี้

กฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) เป็นพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ให้ถูกจัดเก็บหรือนำไปใช้โดยไม่ได้แจ้งให้เราทราบ และ/หรือได้รับความยินยอมจากเราในฐานะเจ้าของข้อมูลก่อน โดยจะมีการประกาศใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565

ข้อมูลส่วนบุคคล มีอะไรบ้าง

เป็นข้อมูลที่สามารถใช้เพื่อระบุตัวตนของเจ้าของข้อมูลที่เป็นบุคคลธรรมดาคนคนหนึ่งได้ ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม ตัวอย่างข้อมูล

ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป

  • ชื่อ-นามสกุล
  • เบอร์โทรศัพท์ อีเมลส่วนตัว ที่อยู่ปัจจุบัน
  • เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขใบอนุญาตขับขี่
  • ข้อมูลทางการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางการแพทย์
  • ทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน
  • วันเดือนปีเกิด สัญชาติ น้ำหนักส่วนสูง
  • ข้อมูลบนอื่นๆ บนอินเทอร์เน็ตที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น Username /password, Cookies IP address, GPS Location

ถ้าข้อมูลไหนที่ไม่สามารถระบุตัวตนของเจ้าของข้อมูลได้ เช่น ข้อมูลบริษัท จะไม่ถือว่า เป็นข้อมูลส่วนบุคคล และไม่อยู่ภายใต้บังคับตาม​ PDPA เลย

นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักและระมัดระวังการใช้ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนและอาจส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูล

ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว

  • เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์
  • ความคิดเห็นทางการเมือง
  • ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา
  • พฤติกรรมทางเพศ
  • ประวัติอาชญากรรม
  • ข้อมูลด้านสุขภาพ ความพิการ เช่น โรคประจำตัว การฉีดวัคซีน ใบรับรองแพทย์
  • ข้อมูลสหภาพแรงงาน
  • ข้อมูลพันธุกรรม
  • ข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ แบบจำลองใบหน้า ข้อมูลม่านตา

เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิอะไรบ้าง

1. สิทธิในการถอดถอนความยินยอม ในกรณีที่ได้ให้ความยินยอมไว้ (มาตรา 19 วรรคห้า)

2. สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบรายละเอียด (มาตรา 23)

3. สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 30)

4. สิทธิขอโอนข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 31)

5. สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 32)

6. สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ (มาตรา 33)

7. สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 34)

8. สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 35)

ประโยชน์ที่ได้รับจาก PDPA

ประชาชน

  • รับทราบวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บ ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดเจน
  • ขอให้ลบ ทำลาย หรือขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้
  • สามารถร้องเรียนและขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หากมีการใช้ข้อมูลฯ นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้แต่แรก
  • ลดความเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

หน่วยงานรัฐและเอกชน 

  • ยกระดับความเชื่อมั่นในมาตรฐานการจัดเก็บ ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลในระดับนานาชาติ
  • มีขอบเขตในการจัดเก็บ ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลที่ชัดเจน
  • การดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลมีความโปร่งใส รับผิดชอบต่อสังคม ตรวจสอบได้

ประเทศ 

  • มีมาตรการในการกำกับดูแลการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
  • มีเครื่องมือในการกำกับการดำเนินงานด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  • สามารถสร้างสังคมที่เข้มแข็ง เนื่องจากสามารถตรวจสอบการดำเนินงานภาครัฐและภาคธุรกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความถูกต้องเหมาะสม

ขอบเขตการบังคับใช้ 

  • ใช้บังคับแก่การเก็บรวบรวม การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร
  • มีผลบังคับใช้ถึงกรณีผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่นอกราชอาณาจักร หากมีกิจกรรมดังนี้

(1) เสนอขายสินค้าหรือบริการแก่เจ้าของข้อมูลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไม่ว่าจะมีการชำระเงินหรือไม่

(2) การเฝ้าติดตามพฤติกรรมของเจ้าของข้อมูลที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร

พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับ

  1. การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย เพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้น
  2. การดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางการคลังของรัฐ การรักษาความปลอดภัยของประชาชน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นิติวิทยาศาสตร์ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
  3. การเก็บรวบรวมเพื่อกิจการสื่อสารมวลชน งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรมอันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
  4. สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะกรรมาธิการ ตามอำนาจและหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา และคณะกรรมาธิการ
  5. การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล การดำเนินการงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาคดี การบังคับคดี การวางทรัพย์ การดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
  6. การดำเนินการกับข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและสมาชิกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต

บทลงโทษ

ความผิดรับผิดทางแพ่ง 

ค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่ได้รับจริง และศาลสั่งลงโทษเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่เกินสองเท่าของสินไหมทดแทนที่แท้จริง

โทษทางปกครอง 

ไม่ขอความยินยอมให้ถูกต้อง ไม่แจ้งรายละเอียดให้เจ้าของข้อมูลทราบ ไม่ให้เจ้าของข้อมูลเข้าถึงข้อมูลตามสิทธิ ไม่จัดทำบันทึกรายการ ไม่จัดให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่จัดให้มีการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ DPO โทษปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท

เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย ไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์การใช้งานใหม่ เก็บข้อมูลเกินความจำเป็น ขอความยินยอมที่เป็นการหลอกลวงให้เข้าใจผิด ไม่จัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม ไม่แจ้งเหตุเมื่อมีการละเมิดข้อมูล โอนข้อมูลไปต่างประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตั้งตัวแทนในราชอาณาจักร โทษปรับไม่เกิน 3,000,000 บาท

เก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผยหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โทษปรับไม่เกิน 5,000,000 บาท

โทษอาญา 

ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หรือผิดจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้ หรือ โอนข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวไปยังต่างประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท

ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.นี้ ห้ามนำไปเปิดเผยแก่ผู้อื่น เว้นแต่เปิดเผยตามหน้าที่หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือพิจารณาคดี หรือได้รับความยินยอมเป็นหนังสือเฉพาะครั้งจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หรือเปิดเผยให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือข้อมูลคดีต่างๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคล หากกรรมการหรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น สั่งการหรือกระทำหรือละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ต้องรับโทษในส่วนที่กำหนดโทษอาญาไว้ด้วย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจPDPC Thailand, เว็บไซต์ Easy PDPA