แนะ7 ข้อ เคล็ดลับความสำเร็จ ของฟรีแลนซ์ ที่ต้องปฏิบัติ

คนรุ่นใหม่นิยมเป็นฟรีแลนซ์มากกว่าเป็นลูกจ้าง แต่อย่าริอ่านหาญกล้าเป็นฟรีแลนซ์ ถ้ายังไม่สามารถทำตามเคล็ดลับ 7 ข้อนี้ได้

เคล็ดลับ ที่ไม่ลับนี้ ผมได้มาจากการประมวลความต้องการของคนที่เคยใช้บริการฟรีแลนซ์ และคนที่อยากใช้บริการฟรีแลนซ์ ซึ่งก็ตอบคล้ายๆ กัน จนสามารถประมวลออกมาได้ 7 ข้อ ใครที่คิดเป็นฟรีแลนซ์ควรสังวร และถามตัวเองก่อนว่า พร้อมหรือเปล่า

เหตุเริ่มต้นมาจากรุ่นน้องคนหนึ่งที่จ้างช่างภาพอิสระ ถ่ายรูปงานรับปริญญาให้ ดูหน่วยก้านจากอุปกรณ์ ก็พอทำให้คนจ้างอุ่นใจได้ว่าจ้างไม่ผิดคน งานเสร็จปุ๊บ คนจ้างก็ใจดี จ่ายเงินให้หมดตามตกลงกัน หลังจากนั้นก็ตั้งตารอดูรูปรับปริญญา หมายจะโพสต์เฟซบุ๊กอวดเพื่อนให้หนำใจ

ผ่านไปเดือนเศษ ไม่มีวี่แววว่าจะได้รูป ติดตามถามไถ่ ได้แต่คำตอบว่า “กำลังแต่งรูป” หรือไม่ก็ “ช่วงนี้งานเข้า” ตามมาด้วยคำขอโทษ และขอผัดผ่อนเวลานัดหมาย

เจอแบบนี้เข้าไป ผมว่าคนจ้าง “เซ็ง” ยิ่งกว่า “เซ็งเป็ด”

ฟรีแลนซ์พวกนี้ควรประณามครับ ทำให้คนอื่นๆ ที่เป็นคนรับผิดชอบ เป็นฟรีแลนซ์ที่ดี พลอยมัวหมองไปด้วย เพราะคนจ้างคงแหยงฟรีแลนซ์ทุกคนในโลกไปเลย ถ้าเจอแบบนี้

เหตุนี้แหละครับ ผมเลยตั้งโจทย์ง่ายๆ ว่า ความคาดหวังของผู้จ้าง ที่ต้องการจากบรรดาฟรีแลนซ์ทั้งหลาย มีอะไรบ้าง ลองดูกันครับ กับ 7 ข้อ 7 เคล็ดลับ ที่ใครอยากเป็นฟรีแลนซ์ ต้องปฏิบัติให้ได้ทุกข้อ

  1. ตรงต่อเวลา ข้อนี้ผมว่าเบสิก เพราะหากคนเป็นฟรีแลนซ์ไม่ตรงต่อเวลา ความน่าเชื่อถือแรกได้ถูกทำลายไปเรียบร้อยแล้ว

การตรงต่อเวลาในที่นี้ หมายรวมทั้ง เวลาที่นัดหมายไปเจอกันเพื่อบรีฟงาน คุยงาน นำเสนองาน และที่สำคัญมากคือ “นัดส่งมอบงาน”

อย่างกรณีช่างภาพรายนี้ ถือว่า “ตกม้าตาย” ตั้งแต่ข้อแรกแล้ว

  1. อย่าผิดคำพูด ผมว่าข้อนี้สัมพันธ์กับข้อแรกอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อใดที่ไม่ตรงต่อเวลา แปลว่า ได้ผิดคำพูดทุกครั้งที่ไม่ตรงเวลา

การผิดคำพูดในที่นี้ ผู้ให้ความเห็นได้กล่าวถึงเรื่องการ “รับปาก” เช่น รับปากว่าจะทำอะไรให้ หรือค้นข้อมูลให้ หรือนำเสนอบางสิ่งที่ลูกค้าขอร้อง แล้วรับปากไป ทำได้ หรือไม่ได้ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับ “รับปากแล้วไม่ทำ”

ถ้าทำไม่ได้ สิ่งที่ลูกค้าอยากได้ยินได้ฟังคือ คุณได้พยายามแล้วอย่างไร และติดปัญหาอะไร ทำไมถึงทำไม่ได้ แต่อย่าเงียบหายไปเฉยๆ ราวกับว่าไม่เคยพูดจาเกี่ยวกับสิ่งนั้นมาก่อน อันนี้ลูกค้ามีเคือง

  1. อย่ารับปากในสิ่งที่ทำไม่ได้ ข้อนี้ผมว่าส่วนหนึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดข้อสอง รับปากลูกค้าในสิ่งที่รู้แก่ใจว่าทำไม่ได้ แต่ดันทุรัง จะด้วยอารมณ์เกรงใจ หรือคิดว่าจะหาฟรีแลนซ์อื่นส่งงานต่อไปได้ แต่ถ้าผลคือ “ทำไม่ได้” ลูกค้าก็เสียความรู้สึกอยู่ดี

วิธีที่ดีคือ การบอกลูกค้าตามตรงเลยว่า เราไม่ถนัด เราทำไม่ได้ ถ้าอยากช่วย ควรบอกให้ลูกค้ารู้ก่อนว่า เราทำไม่ได้ แต่ยินดีช่วยหาคนทำให้ หรืออยากให้เราทดลองทำดูไหม แต่ไม่รับรองผล ถ้าลูกค้าอยากให้โอกาส ก็ลองทำ แล้วรายงานผลเป็นระยะให้ลูกค้ารู้ แบบนี้ไม่เข้าข่ายรับปากในสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่กลายเป็นมีความพยายามช่วยลูกค้า เป็นเรื่องดี

  1. เก่งไม่กลัว กลัวช้า คนที่ริอ่านเป็นฟรีแลนซ์มักต้องมีดีในสิ่งที่ตนรับทำ เรียกว่าเก่งก็คงไม่ผิด และบางคนก็พกพาความเก่งมาพร้อมกับ “ความติสต์” คือ มีความเป็นศิลปินซะเหลือเกิน ประดิดประดอย จนบางทีเข้าข่ายไม่รู้ว่าความพอดีอยู่ตรงไหน

ลูกค้าส่วนใหญ่มีธรรมชาติร่วมกันคือ “อยากได้งานเร็ว”

เมื่อตัดสินใจจ้างแล้ว เริ่มงานปุ๊บ ก็อยากเห็นผลงานปั๊บ โดยเฉพาะงานแนวถ่ายภาพ ออกแบบ งานทำคอนเทนต์ ฯลฯ ดังนั้น ฟรีแลนซ์ควรเข้าใจลูกค้าในจุดนี้

วิธีที่ดีคือ การบอกเล่าให้ลูกค้าเข้าใจขั้นตอนการทำงานตั้งแต่ต้น และระยะเวลาที่เราต้องการทำงาน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในเรื่องระยะเวลาที่ลูกค้าต้องการใช้งาน และความสามารถที่เราทำได้

  1. ซื่อสัตย์ อันนี้ผมถือว่าเป็นเบสิกอีกอัน ที่ห้ามขาดคุณสมบัตินี้ “โดยเด็ดขาด”

คำว่า “ซื่อสัตย์” กับลูกค้า มีนัยที่มากมาย ทั้งเรื่องเงินค่าจ้าง ที่ไม่คิดราคาแบบตีหัวเข้าบ้าน หรือลูกค้าดูหลอกง่าย เลยคิดราคาแบบฟันหัวแบะ ราคาแพงไม่เป็นไร แต่มีเหตุผลของความแพง และคุณภาพของงาน ลูกค้าก็รับได้

การไม่หลอกลวง เช่น การเปลี่ยนคุณสมบัติของบางอย่างเพื่อให้ต้นทุนลดลง โดยไม่แจ้งลูกค้า หรือการสาธยายคุณสมบัติของสิ่งที่ขาย หรือนำเสนอด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ

  1. เก็บความลับลูกค้า ข้อนี้เป็นจรรยาบรรณของทุกวิชาชีพที่พึงมี บางทีการเป็นฟรีแลนซ์ เราก็ไม่สามารถผูกติดกับลูกค้ารายใดรายหนึ่งได้ อาจมีลูกค้าที่เป็นคู่แข่งกัน หรือมีเพื่อนเป็นคู่แข่งกับลูกค้าของเรา โอกาสที่ความลับจะแพร่งพรายไปย่อมมี

ดังนั้น ฟรีแลนซ์ พึงระลึกไว้เสมอว่า อย่าเปิดเผยความลับลูกค้าทุกรายของเรา ควรศึกษาหรือสอบถามจากลูกค้าของเราว่า อะไรเปิดเผยได้แค่ไหน ยิ่งเรื่องไหนเขาบอกว่ายังเป็นแผน ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ยิ่งต้องระมัดระวังในการพูดถึงเรื่องนั้น

  1. อย่าทิ้งงาน อันนี้สะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพของฟรีแลนซ์รายนั้น เพราะการทิ้งงาน ทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย แม้มีปัญหาหรืออุปสรรคมากแค่ไหน ก็ต้องพยายามหาทางช่วยกันแก้ไป

แต่ข้อนี้ มีบางกรณีที่ผมเห็นต่าง นั่นคือ กรณีที่ลูกค้างี่เง่าจัด ไม่ยอมทำความเข้าใจอะไรเลย เอาแต่ใจ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่อยู่กับร่องกับรอย แบบนี้ผมว่าเสียเวลา แต่การยกเลิก ก็ควรมีการบอกกล่าว ชี้แจงว่าเพราะอะไร

ปัญหานี้จะบรรเทาลงได้ หากตอนเริ่มต้นงาน คุยเงื่อนไขต่างๆ ให้ลูกค้าเข้าใจไว้ก่อน เช่น สามารถแก้ไขงานได้กี่ครั้ง หรือขั้นตอนเป็นอย่างไร เมื่อผ่านขั้นตอนไปแล้วจะไม่มีการแก้ไขซ้ำ หากต้องการแก้จะเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ถ้าลูกค้ารับไม่ได้แต่ต้น ก็ไม่น่าทำงานด้วยกัน

การเป็นฟรีแลนซ์ มีความเสี่ยงต่อรายได้ที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน การสร้างความน่าเชื่อถือทั้งจากผลงาน และความน่าเชื่อถือส่วนบุคคล เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้มีงานอย่างต่อเนื่อง

ความน่าเชื่อถือในผลงาน ต้องใช้เวลาหลังจากผลงานทำออกมาสำเร็จแล้ว ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องสร้างก่อนคือ “ความน่าเชื่อถือส่วนบุคคล”

บางคน ความน่าเชื่อถือส่วนบุคคลมีสูงมาก จนลูกค้าให้ความสำคัญในผลงานน้อยกว่าก็มี เพราะทำงานด้วยแล้วสบายใจ ผลงานยอมรับได้ ไม่เลอเลิศเป็นที่สุด แต่ไม่เลวร้าย รับปากอะไรได้อย่างนั้น แบบนี้ลูกค้าสุขใจมากกว่า

ใครอยากเป็นฟรีแลนซ์มืออาชีพ ก็เริ่มเลยครับ เริ่มทำแค่ 7 ข้อ แต่ขอเพียงทำให้สม่ำเสมอ…ตลอดไป