ผู้เขียน | กัญญ์วรา ศิริสมบูรณ์เวช |
---|---|
เผยแพร่ |
ผู้เขียน กัญญ์วรา ศิริสมบูรณ์เวช
“อยากทำธุรกิจไก่ทอดเพราะเริ่มจากความชอบ นึกถึงสิ่งที่เรามี ความรู้สึกคือเคยไปแข่งรักบี้ พอแข่งเสร็จเหนื่อยๆ ไปกินข้าวเหนียวไก่ทอดอร่อยมากเลย ก็เลยเริ่มทำเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งก็สอนเราหลายอย่างเรื่องการจัดการ การดีลกับคน กับหุ้นส่วน ปัจจุบันปีที่ 5 ก็มาลงตัวที่ไก่ทอดพี่บ๊วย” ของพิธีกรอารมณ์ดี บ๊วย-เชษฐวุฒิ วัชรคุณ อดีตนักรักบี้ทีมชาติไทยวัย 41 บอกยิ้มๆ ถึงที่มา
โดยถ้าย้อนไปจุดเริ่มต้น เขาเคยหุ้นกับพระเอกดัง เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ และคนนอกวงการเปิด ร้านไก่ทอดเดชา ตรงถนนเกษตร-นวมินทร์ ตอม่อ 139 แม้จะคืนทุนตั้งแต่ 4 เดือนแรก แต่พอทำได้ 4 ปี รายจ่ายเท่าเดิม ส่วนรายได้กลับลดลงเรื่อยๆ พอหมดสัญญาจึงตัดสินใจไม่ทำต่อ แต่ได้ไปร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนใหม่ปรับปรุงต่อเติมส่วนห้องแอร์เพิ่ม เปิดเป็นร้านขายไก่ทอดควบคู่ราเมน และอาหารญี่ปุ่นในชื่อ อาจารย์ราเมนกับคุณครูไก่ทอด ทว่าสุดท้ายอยู่ได้เพียง 3 เดือนก็แยกย้ายกันไปคนละทาง
ด้วยพิธีกรหนุ่มให้เหตุผล “ก่อนหน้านี้ถือหุ้นน้อย เราอยากได้สตางค์โดยไม่ต้องทำอะไร ก็คิดอย่างนี้ ยกร้านให้หุ้นส่วนบริหาร มันไม่ได้ตามเป้า ยอดไหลแต่กำไรนิดเดียวเลยคิดว่าเสียเวลาอย่าทำเลย เห็นว่าใกล้จะหมดสัญญากับหุ้นส่วนแล้วแนวทางไม่ตรงกัน ถามว่ามีปัญหากับหุ้นส่วนจริงมั้ย พูดจริงๆ ก็มี แต่ไม่ได้ทะเลาะกัน มันไม่ใช่ เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้วไปด้วยกันไม่ได้ก็แค่แยกย้าย”
แม้รู้ทั้งรู้ว่าการเปลี่ยนหุ้นส่วนบ่อยๆ อาจเสี่ยงต่อการถูกใครๆ มองในแง่ลบ แต่เขากลับว่า “ไม่เป็นไร”
“อากาศกับทัศนคติเป็นของฟรี คนมองแง่ลบไม่มีปัญหา ถ้าทุกคนมองแง่บวกหมดเลยก็อะเมซิ่ง พูดตรงๆ ว่าถ้าเป็นข้อคิดเห็น เราไม่ฟัง ถ้าเป็นความจริงเราจะฟัง เราผ่านมรสุมมาเยอะ ที่ได้มาคือทำอะไรต้องตรงไปตรงมา ไม่โกงใคร อย่างชีวิตคู่ถ้าไม่เวิร์กจะทู่ซี้ทำไม ธุรกิจก็เหมือนกัน”
“สิ่งที่ทำคือ ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา เราศึกษาธุรกิจมาเยอะ คนไม่ค่อยมองสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มองแต่อย่างนี้ เรารู้ว่าเรามีทัศนคติในการมองโลกแบบหนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับคนอื่น ถือว่าไม่เดือดร้อนใคร ไม่โกงใคร ให้มั่นใจได้ว่าถ้าเราโกงต้องมีการฟ้องร้อง”
มั่นใจในความถูกต้องของตัวเองและยังอยากทำธุรกิจต่อ จากนั้นบ๊วยเลยเข้าหุ้นกับเจ้าของโรงแรมที่บุรีรัมย์คนละครึ่ง เพื่อลงทุนในหลักล้านจัดการปรับปรุงร้านเดิมเสียใหม่ทำเป็นร้าน “ไก่ทอดพี่บ๊วย” ชื่อสั้นๆ จำง่าย ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “อร่อยโหด” ซึ่งนอกจากไก่ทอดรสเข้มข้น ยังเพิ่มเมนูขนมจีนบ้าพลังของหุ้นส่วน และส้มตำรสเด็ดเข้ามาด้วย
“เหมือนแบ็กทูเบสิก ไก่ทอดส้มตำ ไม่ค่อยเจอที่อร่อยพร้อมกัน เรามีไอดอลคือ ร้าน “ส้มตำนัว” หลายสิบปีที่แล้วเราเป็นลูกค้ารายแรกๆ ใครจะคิดว่าส้มตำเปิดที่สยามได้ เพราะฉะนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้เราทำอาหารง่ายๆ ที่หาอร่อยได้ยากให้มันอร่อย เราเลยคิดตีโจทย์นี้”
สำหรับไก่ทอดนั้นหายห่วง เพราะสูตรเด็ดจากนครศรีธรรมราชของ เอกชัย ศรีวิชัย ที่มอบให้ นำมาปรับปรุงทำให้ได้ไก่กรอบนอกนุ่มในรสชาติเข้มข้น ยิ่งทานคู่หอมเจียวร้อนๆ เติมฟรีไม่อั้น ยิ่งได้ใจจนลูกค้าออกปากว่า “ไก่ทอดอร่อยเหมือนเดิม” แม้จะเปลี่ยนชื่อร้าน
ส่วนส้มตำที่เดิมเคยถูกติว่าไม่จี๊ดจ๊าดถูกใจนักก็จัดการหาแม่ครัวฝีมือดีมาช่วยปรุง ขณะเดียวกัน นักร้องน้องรัก ก้อง ห้วยไร่-อัครเดช ยอดจำปา ยังมาช่วยคิดเมนูเด็ดให้ฟรีๆ จนได้ “ส้มตำนัว ก้อง ห้วยไร่” มาเป็นจุดขายอีกเมนู ส่วนเรื่องราคาอาหารนั้น คนทำย้ำว่า “พกมาร้อยกว่าบาทก็จุกแล้ว”
“ตอนนี้ถ้าพูดจริงๆ ความจริงจังระดับชีวิตมันแตกต่างกัน แต่ก่อนไม่แปลกที่มันจะเจ๊ง แค่ทำธุรกิจปากบอกว่าอยาก ทำแค่อยากกับทุ่มเทเต็มที่ ผลลัพธ์ต่างกัน” บ๊วยว่า
และบอก “สิ่งที่ทำตอนนี้่เป็นระบบ รสชาติอาหารเราถึงนิ่ง ถึงอร่อยได้ ทำ 10 จานรสชาติต้องเหมือนเดิม ทำ 1,000 จานก็ต้องเหมือนเดิม อันนี้เรามีหุ้น 50-50 แต่เราก็เข้ามาบริหารจัดการเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ดูทุกอย่างตั้งแต่ขั้นตอนการปรุง หรือมีปัญหาก็ต้องแก้ไข อย่างไก่ซื้อกลับบ้านต้องเวฟกี่นาทีถึงอร่อย เรื่องพวกนี้ต้องตอบให้ได้”
“ข้อคิดที่ได้จากครั้งก่อนๆ คือ เรื่องของการทำธุรกิจเราควรรู้ทั้งหมด รู้ทุกอย่าง 1. ควรลงไปรู้ทุกกระบวนการ 2. ทำทุกอย่างให้เป็นตัวเลขเพราะตัวเลขโกหกไม่ได้ 3. ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์”
มุ่งมั่นขนาดนี้จึงไม่แปลกหากเขาจะหวังกับธุรกิจนี้ไว้มาก ถึงขนาดว่าอยากให้เป็นอนาคตของครอบครัว และตั้งใจนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ภายใน 5 ปี
“อยากให้ธุรกิจนี้เป็นของครอบครัว เขาจะทำยังไงถ้าวันหนึ่งเราไม่อยู่ เราตายไป คือชีวิตคนเรามีขึ้นมีลง พ่อแม่ถึงวัยเกษียณแล้ว ความตั้งใจคืออยากต่อยอดถึงที่บ้าน วางระบบไว้ต่อไปในอนาคตถ้าใครจะมาร่วมกับเราก็เวิร์ก แล้วก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ เรามีตลาดของเราอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีไก่ทอดไม่มีแบรนด์คนไทยขึ้นตลาดหลักทรัพย์ เราคิดใหญ่เลย” เจ้าตัวบอกอย่างจริงจัง
แล้วเล่าว่า ตอนนี้นอกจากเขาที่เข้าร้านเกือบทุกวันที่ว่างเพื่อไปดูแลลูกค้า คนในครอบครัวยังแบ่งหน้าที่กันมาดูแล เช่น น้องถนัดบัญชีก็ทำบัญชีไป คุณแม่ชอบขายของก็รับหน้าที่นั้น ส่วนพี่สาวหลังจากตกแต่งร้านตามความสามารถที่เรียนมาด้านศิลปะยังช่วยเป็นผู้จัดการร้านอีกตำแหน่ง
โดยหลังจากเปิดร้านมาได้ไม่นาน ผลตอบรับนับว่าน่าพอใจ เพราะมีลูกค้าประจำแวะเวียนมาอุดหนุนตลอด ขณะเดียวกัน ก็มีคนสนใจชวนไปเปิดสาขาใหม่ๆ เช่น ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังนั้น เขาจึงพยายามรักษามาตรฐานเช่นนี้ไว้ให้ได้ดีที่สุด
ซึ่ง “ถ้าใครมีติชมเรื่องอาหาร เรื่องทำธุรกิจ เรารับฟังหมด เป็นกระจกทำให้เราพัฒนาไปต่อได้” บ๊วยย้ำ
ก่อนจะว่าทิ้งท้าย “เวลาทำงานไม่มีใครอยากล้มเหลว ไม่มีใครอยากเจ๊งหรอก แต่เขาลืมไปว่าทุกคนที่ประสบความสำเร็จมาได้ ต้องเคยล้มเหลว เคยเจ๊งมาก่อน มันเป็นเหรียญ 2 ด้าน บางคนไม่อยากสัมผัสมัน แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็เอาสิ่งนี้ที่มาวิเคราะห์ แยกแยะดูว่าเราล้มเหลวเพราะอะไร หาคำตอบเติมให้มันเต็มจนไม่มีจุดบกพร่องแล้ว มันก็จะประสบความสำเร็จในสักวัน”
อย่างที่เขาพยายามเดินหน้ากับการเริ่มต้นใหม่นี้อย่างสุดความสามารถ