ไอเดียเด็ด…ใช้ขี้เถ้าแกลบ วัสดุเหลือใช้ ยืดอายุผลไม้สด

ผลไม้ไทย มีคุณภาพดีและมีรสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อทั่วโลก แต่ยากในการดูแลรักษาคุณภาพสินค้า เพราะหลังการเก็บเกี่ยว โดยธรรมชาติพืชผักผลไม้สดยังคงมีการหายใจตามอัตราปกติเหมือนตอนที่ติดอยู่ตามลำต้น ซึ่งกระบวนการหายใจของผลไม้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลไม้สูญเสียความสด หากวางพืชผักผลไม้ในพื้นที่ที่มีระดับก๊าซออกซิเจนมาก ยิ่งส่งผลให้ผลผลิตเหี่ยวง่ายได้

เอทิลีน มีผลต่อการสุกของผลไม้

เอทิลีน เป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้ผลไม้เกิดการสุก ดังนั้น วิธีการใดก็ตามที่มีผลลดอัตราการสร้างหรือยับยั้งการทำงานของเอทีลีนในพืช ย่อมส่งผลให้ชะลอการสุกได้ โดยทั่วไปสภาพที่มีผลต่อการกระตุ้นการสร้างเอทิลีนในพืช ได้แก่ อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจน การเกิดบาดแผลหรือชอกช้ำ รวมทั้งการเข้าทำลายของโรคและแมลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว มีผลส่งเสริมการสร้างเอทิลีน แต่มี 3 แนวทาง ที่สามารถยับยั้งการสร้างเอทิลีนหรือมีผลทำลายเอทิลีน ได้แก่ 1. ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ 2. อุณหภูมิต่ำ 3. การใช้สารดูดซับเอทิลีน โดยการใช้สารดูดซับเอทิลีนให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องใช้ในปริมาณที่มากพอ เพื่อให้การทำลายเอทิลีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว

จากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด อาจนำมาผสมผสานกันเพื่อชะลอการสุกของผลไม้และยืดอายุการเก็บรักษาได้ เช่น การใช้ห้องเก็บรักษาที่สามารถควบคุมอุณหภูมิความชื้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และออกซิเจน จะทำให้อายุการเก็บรักษายาวนานมาก ในกรณีที่ไม่มีห้องเก็บรักษาผลไม้ ก็อาจดัดแปลงได้ โดยการเก็บผลไม้ในถุงพลาสติกแล้วใส่สารดูดซับเอทิลีนลงไป จากนั้นจึงนำไปเก็บในตู้เย็น

bb6

ไอเดียเด็ด…ใช้ขี้เถ้าแกลบยืดอายุผลไม้สด

ดร. กิตติ เมืองตุ้ม รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ ชื่อว่า “ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้ (Anti Ripening Pack)” ที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจสินค้าเกษตรได้อย่างน่าทึ่ง เพราะเทคโนโลยีชนิดนี้ ช่วยถนอมความสดของพืชผักผลไม้เอาไว้ให้นานที่สุด จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ส่งผลให้ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ปี 2559 รางวัลที่ 1 ในระดับอุตสาหกรรม จัดโดย มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมป์และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.

จุดประกายแนวคิด

ดร. กิตติ เจ้าของโครงการวิจัยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้ ได้ร่วมมือกับ คุณเรืองศักดิ์ เตียเอี่ยมดี กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงสีข้าว ต. ประเสริฐ อุตรดิตถ์ จำกัด ศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์ของเหลือใช้จากขี้เถ้าแกลบของโรงสีข้าว โดยพบว่า การใช้ขี้เถ้าแกลบ เป็นวัสดุตัวกลางในการเสริมสารเสริมฤทธิ์ ที่มีประสิทธิภาพในการชะลอการสุกของผลไม้และลดอุณหภูมิในบรรจุภัณฑ์ได้

ดร. กิตติ เล่าว่า การใช้ขี้เถ้าแกลบ เป็นวัสดุตัวกลางในสารเสริมฤทธิ์ ที่มีประสิทธิภาพในการชะลอการสุกของผลไม้ และลดอุณหภูมิในบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ สารดูดซับเอทิลีน เป็นที่รู้จักกันดี คือ ด่างทับทิม ที่สามารถทำปฏิกิริยาทางเคมีกับเอทิลีน ทำให้เกิดเป็นสารแมงกานีสไดออกไซด์ และเอทิลีนไกลคอล ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นเอทิลีนได้อีก

โชว์แกลบ...วัสดุเหลือใช้ของโรงสี

ดร. กิตติ ได้ปรับปรุงคุณสมบัติความเป็นรูพรุนของขี้เถ้าแกลบ โดยใช้สาร Glycerol เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจับสารในรูพรุน และการใช้สารที่สามารถกักเก็บได้ในรูพรุนขี้เถ้าแกลบ คือสารเคมี ในกลุ่ม KMnO4 และ Propylene glycol เพื่อประโยชน์ในการทำให้ชะลอการสุกของผลไม้ได้ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า แนวคิดดังกล่าวสามารถชะลอการสุกของกล้วยหอมได้ 2 สัปดาห์ (โดยใช้ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ 25 กรัม ต่อกล้วย 1 หวี หรือ 8 ผล)

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ ยังช่วยชะลอการสุกของทุเรียนได้ 2 สัปดาห์ (โดยใช้ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ 150 กรัม ชะลอการสุกของทุเรียน 2 ผล ที่มีน้ำหนักเฉลี่ย ผลละ 2 กิโลกรัม) และชะลอการสุกของลางสาดได้ 1 สัปดาห์ (ใช้ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ 150 กรัม ชะลอการสุกของลางสาด 2 กิโลกรัม)

ผลประโยชน์ที่จะได้รับ

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ช่วยสร้างผลดีต่อธุรกิจสินค้าเกษตรไทยในวงกว้าง เพราะช่วยชะลอการสุกงอม การสร้างก๊าซเอทิลีน ตลอดจนลดการเปลี่ยนสี กลิ่น และคุณค่าทางอาหารของผลผลิต ทำให้ผลไม้สดสมบูรณ์จนถึงมือผู้บริโภคได้ในปริมาณมากขึ้น ลดปริมาณความเสียหายของสินค้าเกษตรให้ลดลง โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก

“ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ มุ่งเจาะตลาดกลุ่มผู้ส่งออกผลไม้ และเกษตรกร รวมทั้งวางแผนกระจายสินค้าตัวนี้ลงสู่ตลาดค้าส่ง ค้าปลีก  ตามห้างและร้านค้าปลีกทั่วไป เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคผลไม้ ที่ต้องการเก็บผลไม้ไว้ได้นานโดยไม่ใส่ตู้เย็น” ดร. กิตติ กล่าว

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทยฯ เยี่ยมชมบู๊ธงานวิจัย

สำหรับสารชะลอการสุกของผลไม้ชนิดนี้ ใช้งานง่ายมาก ดร. กิตติ ให้คำแนะนำว่า หากต้องการชะลอการสุกของผลไม้ในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ จำนวน 3 ซอง ต่อผลไม้น้ำหนัก 100 กรัม (30 ซอง ต่อผลไม้ 1 กิโลกรัม) โดยนำสารชะลอการสุกไปใส่ไว้ร่วมกับผลไม้ก่อนบรรจุในภาชนะ หรือกล่องกระดาษ จะสามารถยืดอายุผลไม้ไปได้ ประมาณ 1 สัปาดห์ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ จำนวน 1 ซอง สามารถใช้ได้กับผลไม้ประเภทต่างๆ ได้แก่ กล้วย 2 หวี กีวี 3 ผล น้อยหน่า 1 ผล มะม่วง 1 ผล หากใช้ในปริมาณ 1 แพ็ก จำนวน 30 ซอง จะสามารถใช้กับทุเรียน  1 ผล และผลไม้อื่นๆ ในปริมาณน้ำหนัก 1 กิโลกรัม

ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ถือว่าสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขี้เถ้าแกลบได้มากถึง 50 เท่า เมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 15 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม ราคาจำหน่าย 150 บาท ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม (แบบแพ็ก) ราคาจำหน่ายปลีก 25 บาท ต่อ 1 กล่อง (จำนวน 30 ซอง ปริมาณ 2 กรัม) หากใครสนใจอยากใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร. กิตติ เมืองตุ้ม รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เบอร์โทรศัพท์ (088) 834-4434

มูลนิธิข้าวไทยฯ ปลื้มมีผู้ส่งผลงานประกวดเพิ่มขึ้น

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทยฯ เปิดเผยว่า มูลนิธิจัดงานนี้ขึ้นเป็นปีที่ 10 เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทยตลอดทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปจนถึงระดับอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีโครงการส่งเข้าประกวดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี โดยปีนี้มีส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 57 โครงการ แบ่งเป็นระดับอุตสาหกรรม และระดับวิสาหกิจชุมชน การตัดสินอาศัยเกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน ได้แก่ ความเป็นนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ข้าวไทย มีศักยภาพในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ และผลประโยชน์ที่ได้รับทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทีมนักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากมูลนิธิข้าวไทยฯ

ในปีนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ปี 2559 รางวัลที่ 1 กลุ่มอุตสาหกรรม ชื่อโครงการ “ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้” โดย ดร. กิตติ เมืองตุ้ม และ บริษัท โรงสีข้าว ต.ประเสริฐ อุตรดิตถ์ จํากัด รางวัลที่ 2 กลุ่มอุตสาหกรรม ชื่อโครงการ “GREENMOM VEGETABLE & FRUIT WASHING LIQUID” โดย คุณปิยมาศ บุญชื่น และ คุณสุภัธตรา อารีย์พงศา บริษัท สยามเนเชอรัล โปรดักซ์ จํากัด

ส่วนรางวัลชมเชย กลุ่มอุตสาหกรรมมี 2 รายการ คือ โครงการ “ริคคาดี” ท็อฟฟี่จากรําข้าวโปรตีนสูง โดย คุณจงรัก ธนูพันธุ์ชัย ห้างหุ้นส่วนจํากัด ลูกจงรัก และ โครงการ “เครื่องดื่มไรซ์เบอร์รี่ไซเดอร์ โดย คุณบรรชร คัดนัมพรเลิศ บริษัท ลณิชา อินเตอร์เนชันแนล จํากัด ส่วนรางวัลที่ 1 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ชื่อโครงการ “ไรซ์เบอร์รี่ช็อคโกครัน” อาหารเช้าจากข้าวไทย โดย คุณพิมพ์พิชชา อินทะจันทร์ วิสาหกิจชุมชน บ้านท่าทอง จังหวัดพิษณุโลก