สแกนเมืองจันท์มีดีกว่าที่คิด ตามไปดูโบสถ์สวย-บ้านเก่า

ความจริงจังหวัดในภาคตะวันออกมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่งทีเดียว แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเที่ยวแบบยาวๆ สักครั้ง เลยไม่อินสักเท่าไหร่ ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ “คุณกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร” ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานระยอง ชวนไปร่วมงาน “ชุมชนขนมแปลก ริมคลองหนองบัว” ชุมชนบ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ทำให้ได้รู้จักเมืองจันท์อย่างลึกซึ้งในอีกหลายแง่มุม

คุณกนกกิตติกา บอกว่า ปีนี้เป็นการจัดงานครั้งแรก เพื่อส่งเสริมงานเทศกาลประจำถิ่นของอำเภอในจังหวัดจันทบุรี สาเหตุที่เลือกมาจัดที่ชุมชนบ้านหนองบัวเป็นเพราะว่าที่นี่เป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงความสวยงามของบ้านเรือนไม้ที่มีอายุนับร้อยปีหลายหลัง มีตลาดหนองบัวตั้งอยู่ริมคลองหนองบัว หากนักท่องเที่ยวได้มาเยือนจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในย่านนี้ และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

img_9098

ชมวิถีประมงพื้นบ้าน

สำหรับขนมแปลกก็มีหลากหลาย อาทิ ขนมกวยลิง (ความจริงออกเสียงด้วย ค.ควาย) ข้าวเกรียบอ่อนไส้มะพร้าว ขนมเบื้องญวน ขนมแป้งจุ่ย กุ้งทอดน้ำจิ้มถั่ว ฯลฯ ในงานยังมีบริการล่องเรือชมวิถีประมงพื้นบ้าน การปั่นจักรยาน 10 จุดต้องห้ามพลาด ชมการแข่งขันเรือ หน้าใบ้ท้ายบอด รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลของเด็กและเยาวชน

เธอว่า การจัดงานครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะมีนักท่องเที่ยวมาเยอะมาก ทำให้การจราจรติดขัด อีกทั้งสินค้าของชุมชนที่นำมาขายไม่พอ ปีหน้าจะจัดงานแบบนี้อีก และจะปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนของปีนี้ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวชมชุมชนดังกล่าวและหาซื้ออาหารและขนมพื้นเมืองได้ที่ตลาดบ้านหนองบัวทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเช้า ในขณะที่บางบ้านทำขายอยู่หน้าบ้าน

ผอ.ททท.ระยอง เล่าให้ฟังอีกว่า ปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวของจันทบุรีเพิ่มขึ้นเยอะมากกว่าปีที่แล้ว อย่างไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวล้านกว่าคน แต่ปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักมาจากทางอีสานเยอะ เพราะเดินทางสะดวกสามารถเชื่อมต่อกันได้

ส่วนต่างชาติเป็นพวกยุโรป เนื่องจากมีการขายเชื่อมกับเกาะช้าง นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเกาะช้าง นอกจากมาเที่ยวชุมชนที่เป็นวิถีชีวิตแล้วก็มาเที่ยวโบสถ์คริสต์ ซึ่งยังขายต่างชาติได้ดี นอกจากนั้นยังได้บวกกับสระแก้วที่เดินทางเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชา เพราะจันทบุรีมีด่านถาวร 2 ด่านคือ ด่านบ้านผักกาดกับด่านบ้านแหลม ซึ่งเดินทางไปที่เมืองไพลินและพระตะบองใกล้มาก ใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงแล้ว

ย้อนกลับมาที่งาน “ชุมชนขนมแปลก ริมคลองหนองบัว” ด้วยความที่นักท่องเที่ยวมากันจำนวนมาก ทำให้ขนมบางอย่างทำไม่ทันขาย ลูกค้าต้องรอคิวกัน อย่างเช่น ขนมกวยลิงของคุณยายมะลิ ครอบแก้ว ซึ่งแม้จะอายุ 78 ปีแล้ว แต่ยังปั้นขนมขายอย่างขะมักเขม้น

คุณยายมะลิพูดถึงที่มาที่ไปของขนมชนิดนี้ว่า ทำขนมกวยลิงขายมากว่า 20 ปีแล้ว ตอนนี้ก็ยังขายอยู่ที่ตลาดหนองบัว สาเหตุที่ชื่อขนมกวยลิงเพราะสมัยก่อนไม่มีขนมขาย แต่ละบ้านต้องทำขนมนี้ให้เด็กๆ กิน ช่วงที่ทำอยู่ลิงแถวนั้นก็มานั่งรอ คนโบราณของที่นี่เลยตั้งชื่อว่าขนมกวยลิง

ว่าไปแล้วการทำขนมนี้ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เริ่มต้นด้วยการนำแป้งข้าวเหนียวผสมแป้งข้าวเจ้ามานวด ใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมง จากนั้นปั้นเป็นท่อนเล็กๆ ประมาณนิ้วก้อย แล้วนำไปต้มในน้ำเดือด พอลอยขึ้นมาก็ตัก แล้วนำไปคลุกกับมะพร้าวทึนทึกที่ขูดไว้และเคล้าด้วยเกลือนิดหน่อย ตอนจะกินก็โรยด้วยน้ำตาลที่ผสมกับงา แค่นี้เป็นอันเสร็จ ทำเสร็จใหม่ๆ กินแล้วอร่อยอย่าบอกใคร

ในวันงานคุณยายมะลิและลูกหลานมาช่วยกันทำ 4-5 คน ขาย 8 ชิ้น 10 บาท ซึ่งเป็นขนมที่นักท่องเที่ยวหลายคนก็ไม่กล้าเรียกชื่อนี้ ขณะที่พิธีกรบนเวทีก็ไม่กล้าเรียกเช่นกัน และหันไปใช้คำว่ากวยลิงแทน

img_9067

เปิดให้ชมบ้านเก่าฟรี

นอกจากขนมชื่อแปลกนี้แล้ว “ขนมอี๋ น้ำเยี่ยววัว” ก็เป็นขนมอีกอย่างที่ผู้คนสนใจและแวะเวียนไปถามไปซื้อมาชิมกัน ซึ่งอันที่จริงคล้ายๆ ขนมบัวลอยนั่นเอง สาเหตุที่เรียกน้ำเยี่ยววัว เพราะในสมัยก่อนใช้น้ำตาลอ้อยน้ำแรกที่สีเหมือนเยี่ยววัวก็เลยเรียกแบบนั้นต่อๆ กันมา

ก๋วยเตี๋ยวน้ำกุ้งรวน เป็นอาหารคาวอีกอย่างของที่นี่ที่หากินที่อื่นๆ ไม่ได้ ขายถ้วยละ 20 บาท หน้าตาไม่ต่างจากก๋วยเตี๋ยวทั่วไป เพียงแต่กรรมวิธีและวัตถุดิบที่ทำน้ำซุปไม่เหมือนกัน

สมัยก่อนถือเป็นอาหารของคนจน เพราะน้ำซุปที่ใช้เป็นการนำกุ้งนาที่หาได้มาทำเป็นน้ำซุป การใช้กุ้งนาที่มีเปลือกแข็งจะทำให้อุ่นกินได้หลายวัน ส่วนตัวเนื้อก็ป่นละเอียดหน่อย

ตามประวัติศาสตร์ของเมืองจันท์ระบุว่า ในอดีตบ้านหนองบัว เป็นย่านการค้าที่สำคัญ ที่นี่ถือเป็นต้นกำเนิดของก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ และก๋วยเตี๋ยวเนื้อเลียง และขนมแปลกอีกหลายชนิด

บรรพบุรุษของคนในหมู่บ้านนี้เป็นคนจีนที่อพยพมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีแล้ว คนที่นี่จึงขยันขันแข็ง ประกอบกับอยู่ติดริมน้ำ เป็นแหล่งติดต่อค้าขายทางเรือกับตัวเมืองจันทบุรี ผู้คนเลยเรียกกันว่าตลาดปากคลอง ซึ่งเมื่อปี 2547 เคยได้รับรางวัลหมู่บ้านคนขยันประจำจังหวัดจันทบุรี

หลังเสร็จจากการชิมอาหารคาว-หวานแล้ว คณะนักข่าวจากส่วนกลางกว่า 10 คน ได้มีโอกาสเข้าไปชมบ้านเก่าหลังหนึ่ง คือบ้านเลขที่ 38 ของ “คุณลัญจกร หิโตปกรณ์” วัย 50 ปี ซึ่งเขาเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ที่ได้รับมรดกบ้านหลังนี้มาจากพ่อแม่ บ้านหลังนี้อายุ 112 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2557 ประเภทเคหสถานและบ้านเรือนเอกชน

img_9430

คุณลัญจกร เล่าว่า บ้านนี้สร้างเมื่อปี 2447 เป็นเรือนแถว 3 ห้อง 2 ชั้น เนื้อที่ 1 ไร่รวมสวนข้างหลังด้วย เดิมนั้นไม่ได้แบ่งห้อง สมัยก่อนเป็นที่โล่ง ใช้ฉากกั้นเอา ตอนหลังเพิ่งมากั้นห้อง ด้วยความที่เป็นเรือนไม้เลยมีปัญหาปลวกกินเป็นบางจุด ต้องซ่อมตลอด และต้องเปลี่ยนไม้

“เท่าที่ทราบบ้านหลังนี้เก่าสุดในย่านนี้ บรรพบุรุษผมมาจากเมืองจีน สมัยรุ่นทวดพอค้าขายได้ก็สร้างบ้าน ค้าขายทั้งพวกของใช้ประจำวันและค้าไม้ด้วย จุดเด่นของบ้านหลังนี้คือ ไม่ใช้ตะปูตอก ใช้วิธีสอดไม้คาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณ และยังมีลวดลวยฉลุด้วย ก่อนเสียชีวิตคุณยายสั่งไว้ว่า ห้ามรื้อ ห้ามถอน ห้ามขายบ้านหลังนี้เด็ดขาด ให้ซ่อมไปเรื่อยๆ”

img_9147

คุณลัญจกร หิโตปกรณ์

สำหรับคุณลัญจกรนั้นไม่ได้พักอาศัยที่บ้านหลังนี้ เขาอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่มีคนคอยเฝ้าบ้าน ถ้าใครสนใจก็เข้าไปดูที่บ้านนี้ได้เลย ซึ่งต้องขอชมเชยเจ้าของบ้านที่ไม่เก็บค่าเข้าชมสักบาท ในช่วงที่ขึ้นไปชั้นบนนั้นเจ้าตัวสาธิตวิธีการถอดสลักให้ดู ซึ่งเป็นการก่อสร้างที่ไม่ใช้ตะปูเลย

 

โรงแรมบูติกริมน้ำจันทบูร

วันรุ่งขึ้น ททท.สำนักงานระยองพาไปเที่ยวชุมชนเก่าริมน้ำจันทบูร (แม่น้ำจันทบุรี) อายุกว่า 300ปี เริ่มก่อตั้งตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นอีกแห่งที่มากไปด้วยนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ เพราะจากที่นี่สามารถเดินไปยังโบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล หรือที่เรียกกันติดปากว่าโบสถ์คริสต์เมืองจันท์

คณะเราเริ่มต้นกันที่จุดศาลเจ้าตั้วเล่าเอี๊ย ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับร้านก๋วยจั๊บชื่อดังของย่านนี้ คือร้านป้าไหม ช่วงไปถึงแม้ว่าจะอิ่มจากมื้อเช้าที่เพิ่งกินไป แต่เพื่อให้ได้รู้รสชาติว่าอร่อยสมคำร่ำลือจริงหรือไม่ เลยต้องกินไปครึ่งชาม ยอมรับว่าอร่อยจริงๆ แค่ชามละ 30 บาทเท่านั้น

เดินไปตามถนนนี้จะเจอร้านขายของมากมาย สลับกับโรงแรมเก่าและใหม่ที่อยู่ริมน้ำ และร้านกาแฟสมัยใหม่ มีร้านเก่าๆ เยอะมาก บ้างก็ขายขนมไทยอย่าง ขนมเทียนแก้ว ขนมไข่ ขนมกลีบลำดวน ฯลฯ นี่ถ้ากินทุกร้านรับรองท้องแตกแน่ และยังมีร้านขายยาโบราณให้ได้ไปดูไปถ่ายรูปกันด้วย อย่างร้านขายยาโบราณจังกวงอันอายุกว่าร้อยปี ที่ยังขายอยู่ และมีแผ่นป้ายประวัติให้ผู้มาเยือนได้รู้ข้อมูลกันด้วย ส่วนใหญ่สืบทอดกันมาเป็นรุ่นที่ 3-4 แล้ว

img_9253

 

สำหรับคนที่ชอบอาคารเก่าแก่ที่นี่มีให้ดูหลายรูปแบบ อาทิ บ้านตึกปูนปั้นแบบโคโลเนียล และบ้านไม้ฉลุลายสวยงาม ซึ่งบางบ้านก็ดัดแปลงและตกแต่งใหม่เป็นโรงแรมเล็กๆ แบบบูติก คืนละ 1,000 กว่าบาท ถึง 3,000 กว่าบาท มีไม่กี่สิบห้อง

img_9233

โรงแรมบูทีคสวยๆนักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายรูปกันมุมนี้

บ้านหลวงราชไมตรี เป็นอีกแห่งที่ผู้คนชอบไปพักและนักท่องเที่ยวชอบไปถ่ายรูปกัน ท่านผู้นี้ถือเป็น “บิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก” เพราะเป็นคนนำเอาพันธุ์ยางพาราจากมาเลเซียมาทดลองปลูกที่เมืองจันท์ ชอบตรงที่ตรงล็อบบี้เขาโชว์อุปกรณ์และภาชนะโบราณไว้ให้ดูด้วย

เดินไปอีกหน่อยจะเจอ บ้านเลขที่ 69 ในอดีตเป็นบ้านของรองอำมาตย์ตรี ขุนอนุสรสมบัติ สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ด้านหน้าบ้านก่ออิฐ ฉาบปูน ทำลวดลายโค้งแบบตึกฝรั่ง ส่วนในบ้านตกแต่งแบบไทยกับจีนผสมผสานกัน ปัจจุบันเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ริมน้ำจันทบูร ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เป็นบ้านเก่าแก่ที่รวบรวมประวัติของชุมชนริมน้ำจันทบูร มีภาพถ่ายของชุมชนที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตของที่นี่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมกันแน่นขนัด ซึ่งเขาก็มีสินค้าของชุมชนไว้บริการด้วย

เป้าหมายสุดท้ายของคณะอยู่ที่โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เป็นโบสถ์ที่สวยจริงๆ อายุร้อยกว่าปีแล้ว ภายในโบสถ์กว้างขวางมาก เป็นสถานที่สงบร่มเย็น ที่นี่เป็นไฮไลต์สำคัญอีกแห่งของการท่องเที่ยวในเมืองจันท์ ซึ่งถ้าใครไม่ได้มาโบสถ์แห่งนี้ พูดได้ว่ายังมาไม่ถึงเมืองจันท์ นอกจากนี้ ถ้าไปในช่วงหน้าร้อนก็ต้องต่อด้วยสวนผลไม้ที่เปิดให้ชมให้ชิมกันหลายสวนเลยทีเดียว

img_9302

สรุปว่าเมืองจันท์เป็นเมืองน่าเที่ยวจริงๆ และขอบอก มาเที่ยวได้ทุกฤดูกาล ซึ่งจะให้ความรู้สึกและสัมผัสที่แตกต่างกันไป นี่ยังไม่รวมการไปเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติ และน้ำตกต่างๆ อีกหลายแห่ง