ครูสาวเมืองสุพรรณฯ ปลูกหญ้าเนเปียร์ เสริมรายได้ เก็บเกี่ยวไม่ทันขาย ตลาดมีความต้องการสูง

ปัจจุบัน การทำปศุสัตว์กำลังได้รับความนิยมควบคู่กับการทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น โดยแบ่งพื้นที่จากที่เคยทำสวนทำไร่เพียงอย่างเดียว แบ่งสันปันส่วนสำหรับเลี้ยงสัตว์สร้างรายได้อีกช่องทาง เช่น การเลี้ยงโค แพะ แกะ ซึ่งสัตว์เหล่านี้กำลังเป็นที่นิยมของตลาด สามารถขายได้ราคาส่งผลตอบแทนกับผู้เลี้ยงได้ค่อนข้างดีทีเดียว

แปลงหญ้าเนเปียร์ของคุณอารีย์

โดยการเลี้ยงให้ประสบผลสำเร็จมีกำไรเพิ่มขึ้น ในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตเป็นอีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึง จึงทำให้ผู้เลี้ยงบางรายแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะหญ้าเนเปียร์ไว้ให้สัตว์ที่เลี้ยงได้กิน ทำให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประหยัดต้นทุนในเรื่องของการซื้อหญ้าเนเปียร์ ซึ่งหญ้าเนเปียร์เป็นพืชอาหารสัตว์ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง เมื่อปลูกและมีการจัดการที่ดี หญ้าชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้เร็วให้ผลผลิตที่สูง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และที่สำคัญเมื่อปลูกไปแล้วอายุของหญ้าเนเปียร์สามารถอยู่ได้นานถึง 5 ปี ทำให้การปลูกไม่จำเป็นต้องลงทุนในเรื่องของการซื้อต้นพันธุ์ใหม่

คุณอารีย์ พุ่มมะปราง อยู่ที่บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 7 ตำบลหัวนา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้ที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ โดยใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดและช่วงเช้ามาจัดการหญ้าที่ปลูกไว้ เพื่อส่งขายให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่เลี้ยงโคอยู่ในพื้นที่ ทำให้เกิดรายได้เสริมที่เธอทำแล้วมีความสุขในทุกๆ วัน

คุณอารีย์ พุ่มมะปราง

 งานประจำรับราชการ ใช้เวลาว่างทำเกษตร

คุณอารีย์ สาวผู้มากด้วยรอยยิ้มเล่าให้ฟังว่า อาชีพหลักของคุณอารีย์คือ รับราชการครู แต่งานทางด้านการเกษตรนั้น สมัยคุณพ่อคุณแม่ทำมาอยู่นานแล้ว จึงทำให้แม้เป็นครูก็ยังไม่ได้ล้มเลิกการทำเกษตร แต่ทำไว้เพื่อเสริมรายได้ ซึ่งพืชหลักๆ สมัยก่อนคือ ปลูกอ้อย ต่อมาได้นำโคมาเลี้ยง 6 ตัว เพื่อไว้สร้างรายได้เป็นรายปี จึงทำให้ต้องมีการจัดสรรพื้นที่ปลูกหญ้าสร้างอาหาร เพื่อให้โคที่นำมาเลี้ยงได้กิน เป็นการประหยัดต้นทุน

หญ้าเนเปียร์ที่ผ่านการสับแล้ว

ซึ่งหญ้าเนเปียร์ที่ซื้อมาปลูก คุณอารีย์ บอกว่า เป็นพันธุ์ปากช่อง ที่สั่งมาจากพ่อค้าขายทางออนไลน์ที่เชื่อถือได้ นำต้นพันธุ์มาลงปลูกในพื้นที่ 5 ไร่ ปลูกทดแทนการทำไร่อ้อยทั้งหมด เมื่อหญ้าเติบโตเต็มที่มีผลผลิตมากพอสำหรับโคที่เลี้ยงภายในฟาร์ม และยังเหลืออีกมากสำหรับขาย จึงทำให้มีเพื่อนเกษตรกรรายอื่นที่เลี้ยงโคมาติดต่อขอซื้อ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณอารีย์ได้มีรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์

“พอหญ้าเนเปียร์ออกมามากๆ ก็เริ่มรู้สึกว่ามีเยอะ เกินกว่าที่โคเราจะกินหมด ในพื้นที่นี้เขาก็เลี้ยงโคกันเยอะอยู่ ช่วงที่เราทำก็หวังไว้เหมือนกันว่าจะทำขายควบคู่ไปด้วย เพราะบางรายที่เขาเลี้ยงโคเยอะๆ เขาไม่มีพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์มากพอ ก็จำเป็นต้องสั่งซื้อ มันก็เลยเป็นช่องทางที่ทำให้เราได้เกิดรายได้จากตรงนี้ เราพูดคุยกันไว้ก่อนที่จะเริ่มปลูก ว่าถ้ามีหญ้าเนเปียร์จะซื้อไหม เขาก็ต้องการที่จะซื้อ ก็เลยปลูกสร้างรายได้เสริมตั้งแต่นั้นมา ทำให้เกิดรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวได้ดีทีเดียว” คุณอารีย์ เล่าถึงที่มา

สามีช่วยเป็นหลัก แรงงานจากครอบครัว

ปลูกหญ้าเนเปียร์ ปลูกครั้งเดียว ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้หลายปี

ขั้นตอนในการปลูกหญ้าเนเปียร์นั้น คุณอารีย์ บอกว่า ไม่ได้มีขั้นตอนอะไรที่ซับซ้อน ใช้พื้นที่เดิมจากการปลูกอ้อยมาปลูกหญ้าเข้าไปทดแทน โดยช่วงแรกก่อนที่จะนำหญ้าลงมาปลูก จะไถพรวนดินภายในแปลงและตากทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ จากนั้นไถพรวนดินอีกครั้งหนึ่งเพื่อตีดินให้ละเอียดมากขึ้น พร้อมกับผสมปุ๋ยคอกที่ได้จากโคที่เลี้ยงไว้ มาใส่ลงไปภายในแปลง ตากดินทิ้งไว้อีก 1 สัปดาห์

ส่งให้ลูกค้าตามฟาร์มต่างๆ

จากนั้นก่อนนำหญ้าเนเปียร์ลงมาปลูกในแปลง จะปล่อยน้ำเข้าแปลงให้แฉะทั้งหมดเสียก่อน แล้วจึงนำท่อนพันธุ์หญ้าเนเปียร์มาปลูกให้มีลักษณะตั้งเอียง อยู่ที่ 45 องศา

ตัดในทุกเช้าของวัน

“ท่อนพันธุ์หญ้าเนเปียร์ที่เอามาปลูก มีความยาวอยู่ที่ 20 เซนติเมตร ปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้น อยู่ที่ 40-50 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถว อยู่ที่ 1.20 เมตร คล้ายๆ กับปลูกอ้อย เมื่อปลูกลงไปแล้วดูแลจนโตให้เกิดหน่อใหม่ คอยหมั่นดูดินในแปลง ถ้าเห็นว่าดินแห้ง ก็ใส่น้ำเข้าแปลง พอหญ้าเนเปียร์ได้อายุ 2 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ประมาณ 3 กระสอบ ในพื้นที่ 5 ไร่ จากนั้นรอต่อไปอีก 2 เดือน หญ้าเนเปียร์ชุดแรกก็จะโตพร้อมให้ตัดขายได้” คุณอารีย์ บอก

โคที่เลี้ยงไว้ภายในบ้าน

เมื่อหญ้าเนเปียร์โตสมบูรณ์แล้ว การตัดออกจากกอต้องตัดให้เสมอดิน เพื่อที่เวลาเกิดหน่อขึ้นมาใหม่จะได้หน่อที่อวบสมบูรณ์ หลังจากตัดหญ้าขายแล้ว ให้ใส่น้ำเข้าพื้นที่ปลูกทันที พร้อมกับใส่ปุ๋ยบำรุง คือปุ๋ยเคมีสลับกับปุ๋ยคอก จะช่วยให้เกิดหน่อใหม่ที่เร็วกว่าชุดแรก ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็ได้หญ้าเนเปียร์ชุดใหม่ตัดขายได้ทันที

ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคและแมลงนั้น คุณอารีย์ บอกว่า ตั้งแต่ปลูกมายังไม่พบการเข้าทำลายของโรคและแมลงให้เกิดความเสียหาย ทำให้ไม่มีการใช้สารเคมีในการจัดการ ลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่าหญ้าที่ปลูกทุกต้น เมื่อสัตว์กินเข้าไปแล้วมีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายแน่นอน

คุณอารีย์ กำลังตัดหญ้าเนเปียร์

วางแผนการผลิตดี หญ้ามีขายได้ทุกสัปดาห์

ในการส่งหญ้าเนเปียร์ขายในแต่ละครั้งนั้น คุณอารีย์ บอกว่า จะจัดสรรพื้นที่การตัดให้ลงตัว เพื่อที่หญ้าจะได้โตหมุนเวียนสลับกันไป ทำให้คุณอารีย์สามารถตัดขายได้ตลอด ส่วนตัวคุณอารีย์เองก็มีการแบ่งเวลาให้ลงตัวในการทำอาชีพเสริมนี้ด้วย โดยช่วงเช้าจะตัดหญ้าเนเปียร์ภายในแปลงมาพักไว้ที่บ้าน ช่วงเย็นหลังสอนหนังสือจะนำหญ้าเข้าเครื่องสับให้ละเอียด โดยผู้ที่ช่วยเหลือเป็นกำลังหลักคือสามี เมื่อบดเสร็จเรียบร้อยก็เตรียมส่งลูกค้าในวันถัดไป แล้วช่วงเช้าวันรุ่งขึ้นก็จะไปช่วยกันกับสามีตัดหญ้าที่แปลงเตรียมไว้มาบดเวลาเย็น เมื่องานเช้าเสร็จคุณอารีย์ก็จะเตรียมตัวไปสอนหนังสือ จากนั้นให้สามีเป็นผู้ดำเนินการนำหญ้าที่ผ่านการสับเรียบร้อยแล้วไปส่งให้กับลูกค้าที่สั่งไว้

สามีคุณอารีย์กำลังนำหญ้าเข้าเครื่องสับ

“หญ้าเนเปียร์ที่แปลงจะวางแผนการปลูกไว้อย่างดี ถ้าบางช่วงหญ้ามีมากๆ สามารถตัดขายได้ วันละ 1 ตัน แต่ถ้าช่วงรอโตหน่อย ใน 1 อาทิตย์ จะได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 ตัน ลูกค้าก็จะสั่งเราให้ไปส่งทุกอาทิตย์ ซึ่งหญ้าชนิดนี้ตัดใส่ถุงดำไว้นานๆ มันก็จะเป็นหญ้าหมัก เราก็มีทำขายได้ตลอด ราคาขายก็อยู่ที่ ตันละ 1,200-1,300 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนเลี้ยงโคในพื้นที่นี้เป็นหลัก ก็ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้ดีทีเดียว” คุณอารีย์ บอก

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อสร้างรายได้ คุณอารีย์ บอกว่า เรื่องของการปลูกหญ้าเนเปียร์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะให้มีหญ้าตัดขายได้ตลอดทั้งปีนั้น ในเรื่องของพื้นที่ค่อนข้างสำคัญ ควรมีระบบน้ำที่เพียงพอให้กับแปลงหญ้า เมื่อถึงช่วงฤดูแล้งจะช่วยให้มีผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี พร้อมทั้งดูในพื้นที่ด้วยว่ามีฟาร์มที่เลี้ยงโคหรือทำปศุสัตว์ด้านอื่นๆ หรือไม่ ก็จะทำให้หญ้าที่ผลิตออกมามีตลาดส่งขายแน่นอน เกิดเป็นอาชีพที่มั่นคง

หญ้าเนเปียร์ที่ตัดไว้รอเข้าเครื่องสับ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอารีย์ พุ่มมะปราง หมายเลขโทรศัพท์ 061-826-3744