พาไปดูต้นบ๊วยและแหล่งแปรรูปบ๊วยขนาดใหญ่ที่แม่สลอง จ.เชียงราย

ช่วงปลายฤดูหนาว ประมาณช่วงเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์  ดอกบ๊วยหรือที่คนจีนเรียกว่า “ ดอกเหมย ” จะเริ่มผลิบานสะสุดตานักท่องเที่ยว ต้นบ๊วย จัดอยู่ในตระกูลพรุน เช่นเดียวกับพลัม ลูกท้อ เชอร์รี่ อัลมอนด์ และนางพญาเสือโคร่ง ดอกบ๊วยมีขนาดเล็กประมาณ 1 – 3 ซ.ม.มีหลากสีสัน ตั้งแต่ขาว ชมพู แดง และเข้มเป็นสีแดงสดเลยก็มี

ดอกเหมยหรือดอกบ๊วย

 

ผลไม้ตระกูลพลัม1.แอปริคอท 2.พลัม(ลูกไหนตากแห้งเรียกลูกพรุน)3.เนคทารีน 4.พีช(ลูกท้อ)

ผลบ๊วยสุกพร้อมเก็บได้ในช่วงต้นฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม  ผลบ๊วยมีรูปร่างกลม มีร่องจากขั้วไปถึงก้น ผลดิบจะมีสีเขียว มีรสอมเปรี้ยว  มีกลิ่นหอม หลังจากนั้นผลสุกจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีแดงเมื่อสุกเต็มที่  สำหรับพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไปสามารถปลูกผลไม้เมืองหนาวได้หลายชนิด เช่น ลูกไหนแดง ลูกไหนดำรสชาติหวาน  รวมทั้งลูกท้อ(ลูกพีซ) ที่มีรสชาติหอมหวานอมเปรี้ยว  ซึ่งผลไม้ดังกล่าวจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดียวกันคือ  เมษายน-พฤษภาคม ของทุกปี

การขยายพันธุ์บ๊วย

พันธุ์บ๊วยที่ใช้ปลูกกันในปัจจุบันนี้ เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งไม่ทราบชื่อพันธุ์ที่แน่นอน  ชาวบ้านนิยม ขยายพันธุ์บ๊วย ด้วยวิธีการติดตา โดยเลือกใช้ บ๊วยพันธุ์พื้นเมือง เป็นต้นตอขยายพันธุ์ เนื่องจากสามารถเจริญเติบโตได้เร็วกว่าต้นตอท้อ  ทำการขยายพันธุ์ในช่วงที่ต้นพักตัว เมื่อผ่านระยะการพักตัวแล้ว ตาที่ติดไว้ก็จะแตกและเจริญเติบโตต่อไป โต้นที่ติดตาจะให้ผลใน 4-5 ปี

การปลูกต้นบ๊วย

ชาวบ้านมักขุดหลุมปลูกในระยะ 1x1x1 เมตร รองกันหลุมด้วยปุ๋ยคอก เพื่อให้ดินร่วน โปร่ง ต้นบ๊วย จะเจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก ระยะที่บ๊วยออกดอก เป็นช่วงที่บ๊วยต้องการน้ำค่อนข้างมาก

ผลบ๊วยส่งเข้าโรงงานแปรรูป

แต่ในช่วงที่ติดผลแล้ว ถ้าฝนตกชุกจะทำให้ผลร่วงได้ ทั้งนี้นิยมให้ปุ๋ยปีละ  2 ครั้ง คือช่วงเริ่มแตกตาหรือก่อนออกดอกเล็กน้อยโดยให้สูตร 13-13-21 และให้ปุ๋ยอีกครั้งหลังเก็บเกี่ยวโดยใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ก่อนที่บ๊วยจะพักตัว

 ธุรกิจผลไม้แปรรูปดอยแม่สลอง  

อาเปา หรือ “คุณธีรเกียรติ  ก่อเจริญวงค์ ”  เกษตรกรผู้ปลูกบ๊วยและเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก่อเสริมดอยแม่สลอง  เล่าให้ฟังว่า  ที่ผ่านมามีผลไม้เมืองหนาว เช่น เชอรี่ บ๊วย ท้อ ลูกไหนเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากจนล้นตลาด ขายได้ราคาต่ำ และไม่มีตลาด หรือ โรงงานรองรับ  ทางกลุ่ม ” วิสาหกิจชุมชนก่อเสริมดอยแม่สลอง”  จึงเกิดแนวคิดที่จะนำผลไม้ที่ล้นตลาดมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ในกลุ่มสมาชิกวิสาหกิจชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เฮียเปา – ธีรเกียรติ ก่อเจริญวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผลไม้แปรรูป “ก่อเสริม”

อาเปาใช้เงิน 2 แสนบาท ลงทุนแปรรูปผลไม้ โดยทดลองดองผลไม้ครั้งแรกใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ลองผิดลองถูกมาตลอด ปรับเปลี่ยนสูตรหลายครั้ง  จากการสอบถามจากการอ่านในหนังสือและเคยมีโอกาสเดินทางไปประเทศจีนได้ไปดูการดองผลไม้ของประเทศจีน  และนำมาปรับใช้  จนปัจจุบันได้ปรับสูตรและเพิ่มรูปแบบอีกหลายชนิด  เช่น  เชอรี่แดง  บ๊วยแดง  บ๊วยอบน้ำผึ้ง  บ๊วยทับทิม   บ๊วยหยก   บ๊วย ๕ รส   บ๊วยซากุระ   ท้อเส้น  ปัจจุบันสินค้าทุกรายการได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีรายได้เข้าสู่ชุมชนกว่าปีละ  20 ล้านบาท

ที่นี่การแปรรูปผลไม้ โดยใช้วิธีการดองผลไม้ โดยใช้ส่วนผสมสำคัญประกอบด้วย  ผลไม้83 % เกลือเม็ด 10  %  น้ำตาลทราย 5 %  กรดซิตริก(กรดมะนาว) 2  %

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการคัดผลไม้ที่เน่าเสียออก  นำเข้าเครื่องคัดขนาด  นำผลไม้สดมาล้างน้ำเพื่อทำความสะอาด เมื่อล้างเสร็จแล้ว นำมาพักน้ำแล้วนำมาผสมกับน้ำเกลือที่เติมกรดซิตริก เสร็จแล้วเทลงถังหมัก หมักไว้ประมาณ 60  วัน  หลังจากนั้น นำผลไม้ที่หมักในน้ำเกลือ นำออกมาตากแดดให้แห้งประมาณ 3 วัน แล้วนำผลไม้ที่ตากแดดจนแห้งแล้วมาล้างด้วยน้ำสะอาด    นำน้ำตาลทรายมาเคี่ยวจนเป็นน้ำเชื่อมตามอัตราส่วน  นำผลไม้ที่เตรียมไว้ลงไปเชื่อมในน้ำเชื่อมที่เตรียมไว้ปิดฝาทิ้งไว้  20  วัน   ตักผลไม้ที่แช่ในน้ำเชื่อมออกมาตากแห้งทิ้งไว้ประมาณ  7  วัน นำผลไม้ ที่ตากแห้งมาเก็บไว้ เพื่อบรรจุ พร้อมจำหน่าย

คนงานกำลังตากผลบ๊วย ลูกท๊อ เชอรี่ และลูกไหน

 

บ๊วยแปรรูปหลากรสชาติที่ขายดิบขายดี

เคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้การแปรรูปผลไม้ของวิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้มีคุณภาพดีและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ได้แก่  1.การดองผลไม้ทุกครั้งต้องคัดผลไม้ที่เน่าเสียอออก  และล้างทำความสะอาด 2. ผลไม้ที่ดองในแต่ละชุดต้องคัดขนาดให้เท่ากัน 3. ทุกขั้นตอนต้องเน้นความสะอาด 4. การดองผลไม้ต้องดองในน้ำเกลือผสมกับกระซิตริกตามอัตราส่วนพร้อมกัน

ผลไม้แปรรูปของกลุ่มวิสาหกิจฯ มีกำลังการผลิตเฉลี่ย  225,000ก.ก./ปี  ราคาขายส่ง 55 บาท/หน่วย โดยฐานลูกค้าหลักอยู่ที่ตลาดไท เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน นครราชสีมา ฯลฯ

จากการ พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์  ปรับปรุงแก้ไขและลองผิดลองถูกมาอย่างต่อเนื่อง  ทำให้ปัจจุบันสินค้าของวิสาหกิจฯ แห่งนี้เป็นที่ต้องการของตลาด  ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขด้านอาหารและยา  อย. มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก  ของผู้บริโภคทั่วไป  สร้างรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอทำให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  และชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มฯ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และรูปแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นในอนาคต  เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนในระดับตำบลแม่สลองนอก และศึกษาดูงาน ในอำเภอแม่ฟ้าหลวงต่อไป