เกษตรกรพัทลุงโค่นต้นยางหันปลูกสะละอินโด ขายกก.ละ 100 บาท


เกษตรกรพัทลุง
โค่นต้นยางหันปลูกสะละอินโด 1,000 ต้น บนพื้นที่ 3 ไร่ ขายกิโลกรัมละ 100 บาท มีพ่อค้าคนกลางรับซื้อถึงที่ หากจำหน่ายผลสดไม่หมด นำไปแปรรูปเป็นสะละลอยแก้ว สะละทรงเครื่อง เผยสะละ 1 กอ จะให้ผลตอบแทน เท่ากับยางพารา 1 ไร่ 


คุณกอนี วิจารณ์ เจ้าของสวนสะละบ้านทุ่งเหรียง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง บอกว่า ปลูกสะละมาเกือบ 6 ปี ขณะนี้สะละแต่ละกอได้แตกกอ ขยายตัวออก บางกอประมาณ 7 ต้น และรวมแล้วเป็น 1,000 ต้น จากพื้นที่ จำนวน 3 ไร่ โดยบางต้นจะให้ผลผลิตที่ต่างกัน มีตั้งแต่ระดับ 8 ทะลาย ถึง 15 ทะลาย และ 1 ทะลาย มีผลผลิตประมาณ 1 กิโลกรัม

“เฉลี่ยจะให้ผลผลิตภาพรวมประมาณกว่า 80 กิโลกรัม/ต้น/ปี โดยราคาค้าส่ง 40 บาท/กิโลกรัม ค้าปลีก 50 บาท/กิโลกรัม สำหรับของคุณกอนี จากจำนวน 1,000 ต้น จะมีรายได้ที่ดีต่อปี”

ปลูกสะละสายพันธุ์อินโดฯ 200 ต้น ขณะนี้ราคาประมาณ 100 บาท/กิโลกรัม สายพันธุ์เนินวง 800 ต้น ราคา 50 บาท/กิโลกรัม และสายพันธุ์สุมาลี ราคา 70 บาท/กิโลกรัม และมีอยู่จำนวนหนึ่งทางด้านราคาได้ยืนระดับนี้มาตลอด และจะมีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อถึงหน้าสวน นอกนั้นขายปลีกในพื้นที่

คุณกอนี วิจารณ์ ยังบอกอีกว่า เริ่มแรกได้ลงทุนซื้อต้นพันธุ์ ต้นละ 1,200 บาท ซึ่งปัจจุบันราคาได้ทยอยลดลง มาอยู่ที่ 350 บาท และในส่วนยุคเริ่มแรกการปลูกสะละที่จังหวัดพัทลุง ราคาต้นพันธุ์ ประมาณ 5,000 บาท

“ขณะนี้ จังหวัดพัทลุง ที่ได้โค่นยางพาราแล้วก็หันไปปลูกสะละกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด ปลูกแล้วกว่า 200 ไร่ ทั้งแปลงขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ 10 ไร่ แต่ยังไม่ให้ผลผลิต และจะปลูกสายพันธุ์สุมาลีกัน”

คุณกอนี บอกด้วยว่า สำหรับตนยังมีโครงการในที่ดิน 3 ไร่ โดยจะปลูกสะละประมาณ 200 กอ จะเป็นสายพันธุ์สุมาลี  โดยราคาต้นพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 330 บาท/ต้น ซึ่งนอกจากจะขายสะละผลสดแล้ว ยังมีการแปรรูปเป็นสะละลอยแก้ว  ราคาแก้วละ 10 บาท และสะละทรงเครื่อง แก้วละ 20 บาท นอกจากนั้นยังมีโครงการแปรรูปสะละกวน โดยกลุ่มเกษตรกรสะละ กำลังหารือพูดคุยกันถึงว่าจะต้องมีการแปรรูปสะละเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เพื่อไว้รองรับการตลาด เพราะขณะนี้หันมาปลูกสะละกันมากขึ้น

คุณไพรวัลย์ ชูใหม่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า จังหวัดพัทลุง เป็นแหล่งปลูกสะละรายใหญ่ทางภาคใต้และเป็นรายแรก ขณะนี้ประมาณอยู่ระหว่างสำรวจตัวเลข แต่เข้าหลักหมื่นไร่แล้ว และจังหวัดพัทลุงยังมีพื้นที่เหมาะสมอีกมาก สามารถปลูกได้ถึง 50,000 ไร่ ยกเว้นบางพื้นที่เขต 5 อำเภอ ที่ติดกับทะเลสาบสงขลา โดยปัจจุบันปลูกมากที่ อำเภอป่าบอน และอำเภอศรีบรรพต และปลูกกันทุกอำเภอแล้ว สะละปลูกมาในพื้นที่จังหวัดพัทลุงมาร่วม 16 ปี

“สะละ มีผลผลิตยังไม่พอกับความต้องการของตลาด และตลาดที่สำคัญคือ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสตูล และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา”

คุณไพรวัลย์ บอกอีกว่า ส่วนตัวเลขเงินหมุนสะพัด ไม่สามารถรวบรวมได้ เพราะราคาหน้าสวนกับราคาหน้าแผงต่างกัน หน้าแผงมีราคาตั้งแต่ 100-120 บาท/กิโลกรัม แต่หน้าสวน ราคา 50-60-80 บาท/กิโลกรัม

สำหรับการให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อปี 10 ทะลาย/ต้น ประมาณ 6,000 บาท/ต้น/ปี สะละ 1 กอ จะมีประมาณ 3 ต้น สะละ 1 กอ จะให้ผลตอบแทน เท่ากับยางพารา 1 ไร่ ในขณะนี้

สะละ ลงทุนมากในตอนแรก คือ ค่าต้นพันธุ์ ค่าระบบน้ำ น้ำจะต้องเพียงพอ โดยขนาดพื้นที่ จำนวน 10 ไร่ จะต้องมีระบบน้ำ 1 ไร่ ขาดน้ำไม่ได้ และจะต้องดำเนินการอย่างประณีตตามวิธีการ มีการผสมเกสร การบันทึกเวลา ผลผลิตจึงจะได้คุณภาพ พร้อมกับจะสามารถวางแผนรองรับการตลาดได้ ประการสำคัญขณะนี้จะต้องเน้นพัฒนาทางด้านคุณภาพ เพราะบางสวนสะละยังไม่ได้ขนาดที่ตลาดต้องการอยู่ และสะละจังหวัดพัทลุง ได้มีการพัฒนาแปรรูปหลายผลิตภัณฑ์ มีตั้งแต่ น้ำสะละ สะละลอยแก้ว สะละผง สะละแยม ฯลฯ ปัจจุบัน มีพ่อค้าคนกลางกำลังดำเนินการทำตลาดเข้าสู่ห้างโมเดิร์นเทรด โดยกำหนดผลสะละที่ได้ขนาด และตั้งราคาที่ 40 บาท/กิโลกรัม