“โรงเรือนเพาะเห็ดนางรม” คุมสภาพอากาศอัตโนมัติ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนระยะยาว

เปิดต้นแบบ “โรงเรือนเพาะเห็ดนางรม” คุมสภาพอากาศอัตโนมัติ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนระยะยาว

ในอดีตเห็ดที่รับประทานกันทั่วไป จะเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเฉพาะช่วงฤดูกาลเท่านั้น เมื่อมีผู้นิยมบริโภคกันมากขึ้น จึงทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่การเพาะเห็ดในเชิงการค้า เห็ดที่เพาะในเชิงการค้ามีหลายชนิด เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดยานางิ เห็ดหูหนู และเห็ดหอม เป็นต้น

เห็ดสกุลนางรม หรือเห็ดนางรม เป็นเห็ดที่นิยมของตลาด และมีการเพาะกันทั่วไปเกือบทั้งประเทศ เห็ดนางรมเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิระหว่าง 24-33 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 เปอร์เซ็นต์

เห็ดแต่ละชนิดมีวิธีการเพาะที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปผู้เพาะเห็ดจะนำถุงเชื้อที่ผลิตเองหรือซื้อมานำไปเปิดดอกในโรงเรือนที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ดังนั้น โรงเรือนเปิดดอกเห็ดจึงมีความสำคัญในการเพาะเห็ด โดยจะต้องควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เห็ดจึงจะออกดอกและให้ผลผลิตดี

จากการสำรวจโรงเรือนเพาะเห็ดที่เกษตรกรปลูก พบว่า มีหลายขนาดด้วยกัน ขึ้นอยู่กับเหตุผลและแนวคิดของแต่ละคน ผู้สร้างโรงเรือนขนาดใหญ่ให้เหตุผลว่าดูแลสะดวก อุณหภูมิภายในโรงเรือนมีความสม่ำเสมอ เปลี่ยนแปลงน้อย ส่วนผู้ที่สร้างโรงเรือนขนาดเล็กมีเหตุผลสนับสนุนว่า สามารถป้องกันกำจัดโรค แมลง และไร หรือศัตรูเห็ดได้ดีกว่า ถ้าเกิดการระบาดของโรคและแมลงจะสามารถควบคุมได้ไม่เสียหายทั้งหมด

วิจัยพัฒนาโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางรมแบบถาวร

โดยเหตุที่โรงเรือนเพาะเห็ดส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรือนที่สร้างด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยแฝกหรือใบจากซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่คงทน แม้จะลงทุนต่ำแต่ก็มีอายุการใช้งานสั้น ประมาณ 2-3 ปี เกษตรกรก็ต้องจ่ายเงินค่าแรงงานและค่าวัสดุในการซ่อมแซมใหม่ นอกจากนั้น โรงเรือนที่สร้างด้วยไม้ไผ่หรือแฝกยังเป็นที่อาศัยของมอดและแมลงอีกด้วย เกษตรกรก็ต้องหันมาใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่า การจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในระยะยาวสำหรับการเพาะเห็ดเพื่อการค้า น่าจะสร้างโรงเรือนที่ค่อนข้างถาวร คือสร้างด้วยโครงเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งจะมีอายุการใช้งานนาน ถ้าเกษตรกรมีเงินลงทุนพอ แต่ต้องหาวิธีการควบคุมสภาพแวดล้อมและรูปแบบของโรงเรือนเปิดดอกเห็ดที่เหมาะสม แต่เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มพัฒนาพื้นที่เกษตรยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่จะแนะนำให้แก่เกษตรกร คือ ขนาดแบบแปลน โรงเรือนเพาะเห็ดนางรมที่เหมาะสม รวมถึงรูปแบบการควบคุมสภาพแวดล้อม อุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือน

ดังนั้น สถาบันวิจัยเกษตรกรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางรมแบบถาวรให้ได้ขนาดที่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พร้อมกับติดตั้งระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเห็ดนางรมและให้สามารถ ประยุกต์ใช้ในการเพาะเห็ดอื่นๆ ได้ เพื่อเป็นต้นแบบโรงเรือนเพาะเห็ดสกุลนางรมแบบถาวร

คุณวิโรจน์ โหราศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางรม โดยร่วมกับกลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า โรงเรือนที่มีลักษณะโครงหลังคาจั่วเป็นรูปแบบโรงเรือนที่เกษตรกรนิยมมากที่สุด จึงได้ออกแบบให้โรงเรือนมีลักษณะเป็นโครงหลังคาเหล็กทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้อง ด้านข้างปิดด้วยซาแรนทึบ พื้นเทคอนกรีต ซึ่งสะดวกในการทำความสะอาดและจัดการต่างๆ ภายในโรงเรือนได้ง่าย เพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของเชื้อโรค

จากการออกแบบและประเมินราคาโรงเรือนลักษณะดังกล่าวในหลายๆ ขนาด พบว่า โรงเรือน ขนาด 6×8 เมตร เป็นขนาดที่เหมาะสมในการลงทุนมากที่สุด  นอกจากนี้ ยังพบว่าวิธีวางก้อนเชื้อเห็ดแบบแขวนเป็นชั้นๆ ในแนวตั้งจะมีการระบายอากาศได้ดีกว่าแบบตั้งโต๊ะวางก้อนเชื้อเห็ดแบบตัวเอ และยังสามารถทำความสะอาดพื้นโรงเรือนได้ง่าย สะดวกในการเก็บดอกเห็ดและการนำก้อนเชื้อเห็ดออกมา

คุณวิโรจน์ บอกว่า จากการวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนเปิดดอกเห็ด ขนาด 6×8 เมตร พบว่าไม่เหมาะสมสำหรับโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางรม ถ้าไม่มีระบบควบคุมสภาพแวดล้อม เพราะในช่วงบ่ายอุณหภูมิภายในโรงเรือนจะสูงเกิน 33 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จึงได้ปรับปรุงและติดตั้งระบบต่างๆ เพื่อลดอุณหภูมิและเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในโรงเรือน ดังนี้

  1. เปิดจั่วด้านหน้าและด้านหลังโรงเรือน เพื่อให้ความร้อนใต้หลังคาระบายออกมา พร้อมกับมุงซาแรนใต้คานเพื่อป้องกันความร้อนจากใต้หลังคาแผ่ลงมา และป้องกันความชื้นออกจากโรงเรือน
  2. ด้านข้างของโรงเรือน มุง 3 ชั้น ด้วยซาแรน 50% พลาสติกหนา 150 ไมครอน และซาแรน 50% อีกชั้นหนึ่ง ทำให้เก็บความชื้นในโรงเรือนได้ดีขึ้น
  3. ติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ ได้แก่ ระบบพ่นฝอยภายในโรงเรือนด้วยปั๊ม ขนาด 0.5 แรงม้า เพื่อลดอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือน ควบคุมการทำงานด้วยชุดตรวจจับสัญญาณ (เซ็นเซอร์) และระบบควบคุมไมโครคอนโทรลเลอร์ที่สามารถกำหนดค่าความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิไม่เกิน 33 องศาเซลเซียส และติดตั้งระบบมินิสปริงเกลอร์รดน้ำบนหลังคาโรงเรือน ให้ทำงานอัตโนมัติพร้อมกับระบบพ่นฝอยอัตโนมัติในโรงเรือนโดยใช้ปั๊มตัวเดียวกัน

นอกจากนั้น ยังติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติด้วยนาฬิกาตั้งเวลา (ไทเมอร์) วันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ด้วยระบบพ่นฝอยป้องกันเห็ดแห้ง โดยใช้ปั๊มน้ำชุดเดียวกันกับระบบพ่นฝอยควบคุมสภาพแวดล้อมอัตโนมัติ

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและผลผลิตของเห็ด

สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ชี้ถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเห็ดว่า มีอยู่ 6 องค์ประกอบด้วยกัน คือ

 

  1. อาหารสำหรับเห็ด
  2. อุณหภูมิ เนื่องจากเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เขาชอบ
  3. ความเป็นกรดเป็นด่างของอาหารเห็ด
  4. อากาศ เนื่องจากเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการอากาศหายใจ
  5. ความชื้น เนื่องจากเห็ดเป็นเชื้อราเส้นใยจึงต้องมีความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง
  6. แสง

ดังนั้น โรงเรือนเพาะเห็ดจึงต้องเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิ ความชื้น อากาศ และแสง อย่างไรก็ตาม เห็ดแต่ละชนิดมีความต้องการปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกัน โดยเฉพาะเห็ดหอมและเห็ดนางรม หรือเห็ดสกุลนางรม ต้องการอุณหภูมิที่แตกต่างกันมาก เห็ดหอม ต้องการอุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง เห็ดสกุลนางรม ต้องการอุณหภูมิสูงมากกว่าเห็ดหอม ส่วนเห็ดฟาง ชอบอุณหภูมิสูง แต่ในช่วงที่ออกดอกต้องการอุณหภูมิต่ำ

กล่าวได้ว่า อุณหภูมิ อากาศ ความชื้น และแสง มีความสำคัญ ซึ่งเราจะต้องจัดสภาพแวดล้อมดังกล่าวภายในโรงเรือนเพาะเห็ดให้เหมาะสมสำหรับเห็ดแต่ละชนิด เพราะสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อปริมาณผลผลิตและคุณภาพของเห็ด ถ้าเราสามารถกำหนดและควบคุมได้ให้เหมาะสมกับเห็ดแต่ละชนิดโอกาสที่เห็ดจะพัฒนาเป็นดอกและเพิ่มผลผลิตให้เราก็จะสูงขึ้น

จากการออกแบบและทดสอบโรงเรือนเพาะเห็ดแบบถาวร ขนาด 6×8 เมตร พร้อมระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือน ซึ่งประกอบด้วยระบบพ่นหมอกอัตโนมัติในโรงเรือน ระบบรดน้ำบนหลังคาสามารถใช้เป็นโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางรมได้ดี คือ สามารถควบคุมความชื้นภายในได้ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิไม่เกิน 33 องศาเซลเซียส

ผู้สนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนาพื้นที่เกษตร สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2579-8519 และกลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-579-8558, 081-811-5653 ในวันและเวลาราชการ