เปิดเทคนิคการปลูก “ไม้สัก” ทำยังไงให้โตเร็ว และขายได้ราคาดี

อุตสาหกรรมแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ประเทศไทยเป็นผู้นำ อันดับ 1 ของเอเชีย ไม้สักธรรมชาติและสวนป่าของพม่าที่ผลิตออกมาได้ ประเทศไทยเป็นผู้ซื้อ อันดับ 1 เฉลี่ยปีละ 150,000-200,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ เนื่องจากโรงงานไม้สักในประเทศไทยออกแบบไว้สำหรับไม้ขนาดใหญ่จากธรรมชาติ

เกษตรกรที่ปลูกไม้สัก จำเป็นต้องจัดการ-บำรุงสวนสักให้ถูกหลักวิชาวนวัฒนวิทยาและพืชสวน จึงจะสามารถผลิตไม้สักขนาดโต 110 เซนติเมตร ความยาวซุงท่อนแรก 6.50 เมตร ในอายุ 15-16 ปี ได้ เกษตรกรไทยเก่งที่สุดในโลก เพราะผลิตสินค้าล้นตลาดจนราคาตกต่ำทุกชนิด ยกเว้นแต่ไม้สักเท่านั้น

ต้นสัก ณ สวนรุกขชาติถ้ำจอมพล

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและไม้สักในสวนป่า

ไม้สักในสวนป่าของเกษตรกรจะเจริญเติบโตดีมากแค่ไหน ขึ้นกับปัจจัย 3 ประการ คือ
1. คุณภาพ ดิน ฟ้า อากาศ ของพื้นที่ปลูก
2. กรรมพันธุ์ของต้นสักที่ใช้ปลูก
3. การจัดการดูแลสวนสักที่เหมาะสม

การเจริญเติบโตของไม้สักในธรรมชาติและสวนป่าที่ดีมากนั้น ได้มีผู้ศึกษาและรายงานไว้ ดังนี้

1. ต้นสักจะเจริญเติบโตได้ดีในลักษณะพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดเป็นหุบเขาถึงเนินเขา มีความลาดชัน (2-25%) บริเวณไหล่เขา ริมฝั่งน้ำและริมตลิ่ง ซึ่งน้ำไม่ท่วมขังก็ขึ้นได้ดี (ดินทรายจัด ดินเหนียว ดินลูกรัง จะเจริญเติบโตไม่ดี)

2. ไม้สักจะเจริญเติบโตดี ในดินที่มีความร่วนซุยและชุ่มชื้นดี ได้แก่ ดินร่วนปนทราย (Sandy loam) ถึงดินร่วนเหนียวปนทราย (Sandy clay loam) ซึ่งมีการระบายน้ำดีและดินลึก (ดินชั้น A ลึกมากกว่า 1.00 เมตร)

3. ไม้สักเจริญเติบโตได้ดี ในดินที่มีสภาพเป็นกลางหรือด่างเล็กน้อย โดยมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ระหว่าง 6.5-7.5 ปริมาณน้ำฝนที่พอเหมาะต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพเนื้อไม้ อยู่ระหว่าง 1,500-1,600 มิลลิเมตร ต่อปี มีฤดูแล้งสลับกับฤดูฝนทำให้มีเนื้อไม้ มีลวดลายวงปีชัดเจน ระดับความสูงของพื้นที่ไม่เกิน 700 เมตร จากระดับน้ำทะเล (อภิชาติ และคณะ 2535)

4. Drechsel and Zech (1994) พบว่า ปริมาณไนโตรเจน ความลึกของดินและปริมาณน้ำฝน เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของไม้สักที่ปลูกในแถบประเทศแอฟริกาตะวันตก

จากข้อมูล ข้อ 1-4 แสดงว่าต้นสักจะเจริญเติบโตดี ต้องอาศัยปุ๋ย น้ำ และการป้องกันโรคแมลง ให้ใบสามารถสังเคราะห์แสงได้สูงสุดในทุกๆ ปี

ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกต้นสักจะต้องดูแลสวนสักเหมือนสวนผลไม้ ให้น้ำ-ปุ๋ย และป้องกันโรคแมลงทุกปี ต้นไม้สักจึงจะเติบโตเร็วมีราคาแพง

กรมป่าไม้ (2551) มีสวนสักที่ทดลองปลูกด้วยระยะ 8×8 เมตร อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยกล้าไม้สักพันธุ์ดีขยายพันธุ์จากเนื้อเยื่อ (Tissue culture) อายุ 22 ปี มีความสูงเฉลี่ย 35.36 เมตร หรือเฉลี่ย 1.61 เมตร ต่อปี และมีความโตเฉลี่ย 41.12 เซนติเมตร หรือเฉลี่ย 1.87 เซนติเมตร ต่อปี ทำลายสถิติโลกไปแล้ว

ผู้เขียนลองคำนวณมูลค่าไม้ต่อไร่โดยใช้ราคาไม้ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) มีมูลค่าดังต่อไปนี้

ก. ปลูกโดยกล้าจากเมล็ดทั่วไป ไม้สักสูงเฉลี่ย 30.08 เมตร ความโตเฉลี่ย (DBH) 35.29 เซนติเมตร ปริมาตรต่อท่อน 0.61 ลูกบาศก์เมตร ปริมาตรต่อไร่ 15.29 ลูกบาศก์เมตร มูลค่า 346,928 บาท ต่อไร่

ข. ปลูกด้วยกล้าสักพันธุ์ดีจากเนื้อเยื่อ (Tissue culture) ไม้สักสูงเฉลี่ย 35.36 เมตร ความโตเฉลี่ย (DBH) 41.12 เซนติเมตร ปริมาตรต่อท่อน 0.82 ลูกบาศก์เมตร ปริมาตรต่อไร่ 20.46 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นมูลค่า 513,524 บาท ต่อไร่ หรือราคาเฉลี่ย 20,524 บาท ต่อต้น สวนสักแห่งนี้มีปริมาณน้ำฝน 1,650 มิลลิเมตร ต่อปี เนื้อดินเป็นดินเหนียวสีดำออกน้ำตาลแดงเข้มมาก ดินลึกมากกว่า 100 เซนติเมตร เป็นที่ลาดเนินเชิงเขา PH 6.16-7.10 ลักษณะพืชพรรณเป็นเบญจพรรณแล้วผสมป่าไม้ การดูแล-จัดการปกติแบบสวนสักรัฐบาล โดยป้องกันไฟและสัตว์เลี้ยง ไม่มีไฟไหม้ตลอดระยะ 22 ปี

จากกรณีศึกษาและข้อมูลที่มี จึงกล่าวได้ว่าถ้าเกษตรกรปลูกไม้สักพันธุ์ดีและดูแลแบบสวนผลไม้หรือยางพารานั้น มีโอกาสร่ำรวยและหลุดพ้นหนี้สินอย่างแน่นอน

บทบาทของป่าปลูก

รัฐนิวเซาท์เวลส์ ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าสนและยูคาลิปตัสบนพื้นที่ที่เคยเป็นป่ามาก่อนให้มากยิ่งขึ้น ยิ่งมีพื้นที่ป่าปลูกมากและต้นไม้โตได้เร็วมากเท่าใด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะยิ่งถูกขจัดไปจากชั้นบรรยากาศได้มากเท่านั้น จึงเป็นการลดสมดุลของปฏิกิริยาเรือนกระจก

ดังนั้น ถ้าประเทศไทยและคนไทย ต้องการลดโลกร้อนก็จำเป็นต้องปลูกต้นสักเป็นไม้ก่อสร้างบ้านเรือน สำนักงาน เป็นผลิตภัณฑ์ไม้ส่งออกสู่ตลาดโลก ลดการปลูกพืชล้มลุก เปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชยืนต้น ซึ่งมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งจีนและอินเดียไม่มีทางสู่เทคโนโลยีการเกษตรที่เกษตรกรไทยปลูกพืชให้มีผลผลิตนอกฤดูกาลได้ แต่ก็ยังไมร่ำรวย เพราะต้องพึ่งปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง จนต้นทุนสูงกว่าราคาจำหน่าย แข่งขันไม่ได้ การปลูกไม้สักจะไม่มีวันล้นตลาดและราคาตกต่ำแต่อย่างใด เพราะความต้องการบริโภคภายในประเทศและต่างประเทศมีมากมหาศาล

ไม้สักไทย : ไม้ที่มีราคาแพงในตลาดโลก

ไม้สัก เป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะมีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของต่างประเทศมาก เป็นไม้ที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์ หากจะใช้ก็จะใช้ได้ทุกส่วน ตั้งแต่เสา พื้น ไปจนถึงหลังคา แม้แต่ใช้แทนมุงกระเบื้องหลังคา นอกจากนั้น ยังทนทานมาก ทนแดด ทนฝน ปลวกไม่กิน เนื้อไม้ก็นิ่ม แกะสลักง่าย สีสวย ใช้ทำเครื่องเรือนได้ดีที่สุด อายุการใช้งานยาวนาน วัดหลายแห่งในภาคเหนือสร้างด้วยไม้สักอายุ 400 ปี ยังอยู่ในสภาพดี

ไม้สัก มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Tectona grandis ภาษาสันสกฤต เรียกไม้ชนิดนี้ว่า ไม้สัคคะ ไม้สักมีชื่อทางการค้าว่า Teak มาจาก คำว่า Teca ในภาษาละติน แปลว่า หวานใจ ของช่างไม้ หรือกล่าวได้ว่าชาวยุโรปชื่นชมและนิยมชมชอบในไม้สักมาก

ไม้สักไทยดีที่สุดหรือไม่นั้น ศ.ดร.อำนวย คอวนิช ปรมาจารย์ด้านไม้สัก และการปลูกสวนสักด้วยระบบหมู่บ้านป่าไม้ ซึ่งได้รับการยอมรับจากนักวิชาการป่าไม้ทั่วโลก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไม้สักของไทยไว้ดังนี้ “ประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยในเรื่องไม้สักนั้น ได้แก่ พม่า และอินโดนีเซีย แต่ไม้สักพม่าที่ตัดออกมานั้นเป็นไม้สักทอง 25% ในขณะที่ของไทยเป็นสักทอง 75% ส่วนอินโดนีเซียนั้น ไม้สักคุณภาพด้อยกว่าเรา เนื่องจากซุงสั้นและเนื้อไม้สีคล้ำไม่สวย ราคาขายในต่างประเทศต่ำกว่าเรา 30-40% เป็นข้อมูลที่แสดงว่าแหล่งไม้สักไทยนั้นมีคุณภาพสูง แข่งขันได้ในตลาดโลก