จบป.4 เป็นปราชญ์ปลาสลิด เลี้ยงในนาข้าว 30 ไร่ รายได้เดือนละ6แสน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรเชื่อมเกษตรกรเข้าถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญ โดยศูนย์ดังกล่าวให้บริการข้อมูล ทั้งด้านองค์กร แผนปฏิบัติงาน ข้อมูลด้านโยบายงานวิจัย การติดตามและประเมินผลตลอดจนข้อมูลด้านราคาสินค้าเกษตร การพยากรณ์ การเตือนภัย การผลิต การตลาด การนำเข้า-ส่งออก ทั้งของพืช ปศุสัตว์ และประมง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน เกษตรกรและข้อมูลแผน ที่แสดงถึงความเหมาะสมในการผลิต เพื่อกำหนดเขตเศรษฐกิจสินค้าเกษตร

สศก. ได้ทำการเชื่อมโยงกับศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรไปยังระดับเขตและระดับเศรษฐกิจการเกษตรอาสา(ศกอ.) ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบอาสาสมัคร ของสศก. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบให้เกษตรกรในพื้นที่ ให้เข้าถึงข้อมูล และสามารถใช้เป็นทางเลือกในการตัดสินใจทำการผลิต และการตลาด เช่น ข้อมูลราคา ต้นทุน การผลิต และข้อมูลแนวโน้มการตลาด เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น

ที่ผ่านมา สศก.เปิดศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรอาสา(ศบอ.) ในหลายพื้นที่ เช่น ที่จังหวัดนครปฐม เศรษฐกิจการเกษตรอาสา(ศกอ.) คือ นายสมบัติ เล็บครุฑ ณ บ้านเลขที่ 64 ม.10 ต.นิลเพชร อ.บางเลน จ.นครปฐม มี ความเชี่ยวชาญ เรื่องการปลูกข้าว การค้าขาย การทำเกษตรแบบผสมผสาน ด้าน ศกอ.จังหวัดนครปฐม คือ นายสุธรรม จันทร์อ่อน ณ บ้านเลขที่ 54 ม.10 ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มีความรู้ด้าน เกษตรอินทรีย์ผสมผสาน และปราชญ์ชาวบ้าน ส่วน ศกอ.จังหวัดสมุทรสงคราม คือ นาย ปัญญา โตกทอง เลขที่ 43 หมู่ 5ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เจ้าของรางวัลมากมาย ปัจจุบัน เลี้ยงกุ้งธรรมชาติและเลี้ยงปลาสลิด

คุณปัญญา โตกทอง

เกษตรกรปราดเปรื่อง ด้านปลาสลิด

คุณปัญญา โตกทอง ได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (smart farmer) ในเรื่องของการเลี้ยงปลาสลิดด้วยงานวิจัย เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตและผลตอบ แทนจากการผลิตสูง

คุณปัญญา เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร เรียนจบแค่ ป.4 พ่อแม่เลี้ยงกุ้งในนาเป็นอาชีพ สมัยเด็กๆ ก็เคยช่วยพ่อแม่เลี้ยงกุ้ง หลังแต่งงาน ก็แยกตัวออกมาทำกิจการนากุ้งเป็นของตัวเอง แต่เจอปัญหาอุปสรรคบางประการทำให้ต้องหยุดการเลี้ยงกุ้งช่วงหนึ่ง

ช่วงประมาณปี 2537 คุณปัญญาเห็นเพื่อนบ้านเลี้ยงปลาสลิดในพื้นที่นาข้าวได้ผลกำไรงาม จึงตัดสินใจเลี้ยงปลาสลิดบนเนื้อที่ 30 กว่าไร่ เนื่องจากอ่อนประสบการณ์ทำให้ประสบปัญหาทุนหายกำไรหด ปีแรกมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเพียงแค่ 50,000 บาทเท่านั้น

แม้ธุรกิจจะล้มลุกคลุกคลานในปีแรก แต่คุณปัญญาก็ไม่ท้อถอย ใช้วิธีการศึกษาปัญหา หาวิธีการแก้ปัญหา โดยใช้ภูมิปัญญา ใช้ความรู้ จากวิถีชีวิตชาวบ้านมาพัฒนาวิธีการเลี้ยงและดูแลปลาสลิดที่เป็นรูปแบบของตัวเอง โดยใช้ หลักการ เลี้ยงปลาตามหลักธรรมชาติแบบง่ายๆ คือ ฟันหญ้าเป็นอาหารเลี้ยงปลาปรากฏว่า ได้ผลผลิตที่ดีแถมมีต้นทุนต่ำ ฟาร์มเลี้ยงปลาแห่งนี้จึงเริ่มมีผลกำไรเป็นกอบเป็นกำไรในปีที่ 3 ในวงเงินกว่า 300,000 บาท ปีที่4 รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 600,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ที่เขาพึงพอใจแล้ว

ลงอวนเช็คสภาพปลา

เดิมทีคุณปัญญาและเกษตรกรในชุมชนแห่งนี้เลี้ยงปลาแบบปล่อยตามธรรมชาติ ไม่มีการจดบันทึก ไม่มีเทคนิคการเลี้ยงที่เป็นแบบแผน แต่ภายหลังพวกเขาได้รับการอบรมด้านงานวิจัยประมง จึงได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวมาปรับใช้ในอาชีพการเลี้ยงปลา

คุณปัญญานำเทคนิคการจดบันทึกข้อมูลในงานวิจัยทุกขั้นตอน มาปรับใช้กับการเลี้ยงปลาสลิด ทุกขั้นตอน จนเข้าใจวิธีการเพาะฟักลูกปลาให้มีอัตราการรอดสูง วิธีการให้อาหารที่เหมาะสมกับปลาในแต่ละช่วงวัย วิธีการดูแลให้ปลาแข็งแรงปลอดโรค วิธีลดปริมาณศัตรูปลาที่แย่งอาหาร ทำให้ฟาร์มแห่งนี้ มีผลผลิตคุณภาพดี ในปริมาณที่มากขึ้น และมีผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ปลาสลิดที่จับขึ้นจากบ่อ

จากเดิม ฟาร์มเลี้ยงปลาเนื้อที่ 30 ไร่แห่งนี้ เคยมีรายได้จากการขายปลาอยู่ที่ 600,000 บาทหลังปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงาน ก็สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เป็น 1,112,500 บาท ในระยะเวลาเพียงแค่ 10 เดือน หลังจากนั้น เขามีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทะลุหลักล้านมาจนถึงปัจจุบัน

เคล็ดลับเลี้ยง “ ปลาสลิด” ให้มีความสุข

ฟาร์มแห่งนี้ เน้นการเลี้ยงและดูแลปลาสลิดแบบธรรมชาติ ก่อนเลี้ยง ต้องตากบ่อ ประมาณ 45 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยปลาเข้าเลี้ยงในบ่อ แต่ละบ่อมีความกว้างประมาณ 1.5-2 เมตร ระดับความลึก 1-1.2 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 50-70 เซนติเมตร ระดับน้ำในบ่อสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร

ที่นี่ปล่อยให้ต้นหญ้าขึ้นหนาแน่นบริเวณขอบบ่อเลี้ยงปลา เพื่อใช้เป็นที่ก่อหวอดและวางไข่ของปลาสลิดแล้ว ต้นหญ้ายังมีประโยชน์ เป็นที่หลบภัยของลูกปลาวัยอ่อนจากศัตรู และใช้ต้นหญ้านำมาหมัก ในแปลงนาก่อนเพาะฟัก ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อแก้ปัญหาความเป็นกรดของน้ำ

ปล่อยหญ้าให้เติบโตริมขอบบ่อปลาเพื่อเป็นแหล่งอาหาร

เมื่อปลาสลิด อายุราว 20 วัน คุณปัญญาสามารถใช้ต้นหญ้าเป็นอาหารเลี้ยงปลาได้อีกทางหนึ่ง โดยจะฟันหญ้าอ่อนให้ลูกปลากินทุกๆ 15 วันจนกระทั่งลูกปลาอายุประมาณ 4 เดือน สำหรับปลาสลิดที่อายุ 3 เดือน คุณปัญญาจะให้อาหารคือหญ้าอ่อน ควบคู่กับอาหารเม็ดสำเร็จรูป โดยทำยอเป็นที่ให้อาหาร ในอัตรา 2 % ของน้ำหนักตัว เพียงวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า

การให้อาหารปลาสลิดในแต่ละครั้ง คุณปัญญาจะจดบันทึกปริมาณอาหารที่ให้ปลา และคอยสังเกตว่า ปลากินอาหารหมดช่วงเวลาไหน ถ้าปลาสลิดกินหมดช่วงเวลาเย็น แสดงว่าอาหารพอดีกับความต้องการของปลา หากปลาสลิดกินอาหารหมดเร็ว แสดงว่าอาหารไม่พอ ควรเพิ่มปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม

เมื่อปลาสลิดมีอายุได้ 3 เดือน คุณปัญญาจะใช้วิธีการจับปลาแบบยกยอ ทุกๆ 15 – 20 วัน จนกว่าจะจับขายเพื่อตรวจสอบดูว่า 1 กิโลกรัม มีปลากี่ตัว และใน 1 บ่อ มีปลากี่ตัว เพื่อเป็นการคำนวณน้ำหนักของปลาที่เลี้ยงในบ่อทั้งหมด เพื่อนำมาคำนวณหาอัตราส่วนการแลกเนื้อของปลา และอาหาร รวมทั้งคำนวณต้นทุนกำไร

ต้นทุนการเลี้ยงปลาของคุณปัญญา จะคำนวณจากปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงปลา 87,750 กิโลกรัม มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่  10 บาท/ก.ก. รวมมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารปลา 877,500 บาท ขายปลาได้ 48,750 กิโลกรัม แสดงว่าอัตราการแลกเนื้อและอาหารคือ 1:1.8 กิโลกรัม

ส่วนการคำนวณต้นทุนและกำไร ในการเลี้ยงปลาสลิด ให้เอาน้ำหนักปลาที่จับได้คูณราคาขายที่กิโลกรัมละ 50 บาท พบว่าขายได้ 2,437,500 บาท หักค่าต้นทุนค่าอาหารจะเหลือเงิน 1,560,000 บาท จากนั้นนำค่าใช้จ่ายต่างๆมาหักจะได้ตัวเลขที่เป็นกำไรสุทธิ

“ เกษตรกรที่เลี้ยงปลาสลิดในชุมชนแห่งนี้จะมีการแลกเปลี่ยน ข้อมูลข่าวสารกันตลอด เน้นเลี้ยงปลาสลิดแบบธรรมชาติ เลี้ยงในปริมาณที่ไม่หนาแน่น เพื่อให้ปลาเจออากาศบริสุทธิ์ ผมเน้นเลี้ยงปลาสลิดทุกตัวให้มีความสุข เพื่อให้เกิดสารความสุขอยู่ในตัวปลา คนกินปลาก็จะมีความสุขไปด้วย “ คุณปัญญากล่าว

ตลาดปลาสลิด

หลังจากเลี้ยงปลาสลิด เป็นระยะเวลา 9 เดือนจะมีพ่อค้าจากสมุทรปราการ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม มาเหมาบ่อจับปลา โดยใช้วิธีเปิดอวนออกเช่นเดียวกับการจับกุ้ง สามารถช่วยไม่ให้ตัวปลาบอบช้ำและขายได้น้ำหนักดี โดยปลาสลิดที่จับได้ส่วนใหญ่จะน้ำหนักประมาณ 7-8 ตัว/ กิโลกรัม นอกจากผลิตขายในประเทศแล้ว ส่วนหนี่งยังถูกส่งออกไปขายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม กัมพูชา อีกด้วย

ปลาสลิดแห้งใส่ถุงรอการจำหน่าย

คุณปัญญาภาคภูมิใจที่ได้เป็นเกษตรกรต้นแบบอาสาสมัครของ สศก. ทุกวันนี้ คุณปัญญาเปิดบ้านเป็นศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารด้านประมงและด้านเกษตรอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

หากใครมีเวลาว่างสามารถแวะเข้ามาเยี่ยมชมหรือพูดคุยเรื่องการเลี้ยงปลาสลิดได้ทุกวัน ณ บ้านเลขหมู่ที่ 5 ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม คุณปัญญายินดี ถ่ายทอดความรู้แก่เพื่อนเกษตรกรที่สนใจทุกคน หรือ โทรศัพท์พูดคุยกับ คุณปัญญา โตกทอง ได้โดยตรงที่โทร. (083) 706-6006