ตามไปดูชาวบ้านอ่าวบ้านดอน เลี้ยงหอยแครง-หอยนางรม ส่งขายทั้งในและตปท.

การเลี้ยงหอย นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพของชาวบ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่นิยมทำกัน ทั้งนี้เพราะพื้นที่หลายอำเภอติดกับอ่าวบ้านดอน

อ่าวบ้านดอน เป็นอ่าวขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งนี้ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ และสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ รวมไปถึงแร่ธาตุทางอาหารและผลผลิตทางชีวภาพ จึงเป็นแหล่งสะสมอาหารที่มีประโยชน์ต่อสัตว์น้ำทางทะเลทางเศรษฐกิจหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา

กาญจนดิษฐ์ เป็นหนึ่งในหลายอำเภอที่อยู่ในอ่าวบ้านดอน ชาวบ้านในอำเภอนี้ส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพประมงทั้งขนาดเล็กและใหญ่ด้วยความสด อร่อยและมีอาหารทะเลให้เลือกมากมาย จึงทำให้บรรดานักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศต่างชื่นชอบมารับประทานอาหารทะเลของจังหวัดนี้เมื่อมีโอกาส ดังนั้น ชาวบ้านบริเวณอ่าวบ้านดอนจึงมีอาชีพทำประมงกันเสียส่วนใหญ่

ภาพรวมการทำอาชีพประมงของชาวบ้านในอำเภอกาญจนดิษฐ์ มีทั้งการทำประมงน้ำจืดและประมงในทะเล สำหรับสัตว์น้ำที่เลี้ยงมีทั้งกุ้ง ปลากะพงขาวในบ่อดิน และในกระชัง ส่วนการเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลตามพื้นที่อนุญาตจะมีฟาร์มเลี้ยงหอยแครง หอยนางรม และหอยแมลงภู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งหอยนางรมถือเป็นตัวเด่นของอำเภอกาญจนดิษฐ์และของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

หอยแครง ที่ชาวประมงเพิ่งเก็บ

เดิมการทำอาชีพในทะเลจะต้องขออนุญาตก่อน เพราะทะเลทั่วไปเป็นที่สาธารณประโยชน์ สำหรับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหอย มีจำนวน 772 ราย อันนี้คือรายที่ขออนุญาตถูกต้อง

เดิมที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ไม่มีหอยแครง อาชีพดั้งเดิมของชาวประมงคือ การเลี้ยงหอยนางรม ต่อมามีการนำพันธุ์หอยแครงจากมาเลเซียมาเลี้ยง กระทั่งเมื่อปี 2532-2535 ทางศูนย์วิจัยประมงสุราษฎร์ธานีได้ทดลองนำพันธุ์หอยแครงมาเพาะเลี้ยงแล้วประสบความสำเร็จ จึงมีการขยายและส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงกัน

ดังนั้น เมื่อ 5-6 ปี ที่ผ่านมา จากการที่เคยซื้อลูกพันธุ์หอยแครงจากมาเลเซียมาเลี้ยง พอทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสุราษฎร์ธานีสามารถเพาะพันธุ์หอยแครงได้สำเร็จ ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องไปซื้อที่มาเลเซียแล้ว อีกทั้งยังสามารถเพาะ-ขยายได้เองตามธรรมชาติ จนในปัจจุบันชาวบ้านเลี้ยงทั้งหอยแครงและหอยนางรมคู่กัน แต่ที่สร้างรายได้ดีมากคือ หอยแครง ส่วนตลาดที่จำหน่ายมีทั้งในและต่างประเทศ เช่น ที่ลาว หรือจีน ส่วนหอยนางรมจะขายภายในประเทศเท่านั้น

วางเตรียมเป็นอาหารโปรดนักท่องเที่ยว

เมื่อปลายปี 2553-2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ มีผลทำให้หอยแครงที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้เสียหายมาก เพราะน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดของการเลี้ยงหอยแครง หากมีน้ำจืดมากไปและขังอยู่เป็นเวลานานหอยจะตาย หรือถ้ามีน้ำเค็มมากไปหอยก็จะตายเช่นกัน ดังนั้นความสัมพันธ์ของน้ำที่ใช้เลี้ยงหอยจึงมีความสำคัญอย่างมาก ส่วนน้ำเสียก็จะมีผลเช่นกัน

อีกประเด็นคือ น้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมาจากแหล่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นโรงงาน โรงแรม และร้านอาหาร บ้านเรือนพักอาศัย ซึ่งปัจจุบันมีการขยายตัวมาก ทำให้ปริมาณน้ำเสียที่ถูกปล่อยลงทะเลมีมากขึ้นและจะกระทบกับอาชีพเลี้ยงหอยที่บริเวณชายฝั่ง

หอยนางรมรอการเก็บ

มีชาวบ้านอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการเลี้ยงหอยแครงเป็นอาชีพหารายได้นอกจากพื้นที่ที่อนุญาตไปแล้ว แต่หากเป็นนอกเขตออกไปทางราชการคงไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพราะบริเวณชายฝั่งที่ระยะ 200-300 เมตร ทางอำเภอได้กันพื้นที่ไว้สำหรับชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเพื่อวางลอบ ลอยอวน ได้หากินบริเวณชายฝั่ง

ขณะที่ คุณประกิต คงบุญรักษ์ อายุ 67 ปี ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแครง อยู่บ้านเลขที่ 3/4 หมู่ 2 ตำบลตะเคียนทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทรศัพท์ 081-978-7434 ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาชีพของเขาว่าในปัจจุบันเลี้ยงหอยแครงอย่างเดียว และเลี้ยงมาแล้วกว่า 10 ปี มีเนื้อที่ 144 ไร่ เป็นพันธุ์หอยแครงที่ทางจังหวัดเพาะพันธุ์ได้

เดิมซื้อพันธุ์หอยแครงจากมาเลเซีย  แต่ปัจจุบันใช้หอยไทย

คุณประกิต เล่าต่อว่า เมื่อแรกที่เริ่มเลี้ยงจะซื้อพันธุ์หอยแครงมาจากมาเลเซียมาเลี้ยงและทำอยู่นานเป็นเวลา 4 ปี กระทั่งเมื่อเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ทางจังหวัดสามารถเพาะพันธุ์ได้เลยไปซื้อเพราะมีความสดกว่า

เกษตรกรเลี้ยงหอยแครงอธิบายวิธีเลี้ยงหอยแครงคร่าวๆ ว่า เมื่อกำหนดพื้นที่ได้แล้วให้จัดการล้างบริเวณที่เลี้ยงด้วยการสร้างเลนให้มีความลึก เพราะถ้าเลนแข็งหอยจะโตช้า ควรล้างก่อนเลี้ยงสัก 1 เดือน วิธีล้างด้วยการใช้ตะแครงลากดึงให้บริเวณพื้นใต้ดินให้สะอาด จากนั้นให้ปล่อยลูกหอยแครงลงน้ำ และควรปล่อยให้กระจายออกไปเป็นบริเวณกว้าง อย่าให้กระจุกเพราะจะทำให้หอยเจริญเติบโตช้า

อีกแบบของขนำ

“หอยแครง ที่ใช้เลี้ยงมี จำนวน 5,000 ตัว ต่อกิโลกรัม เป็นหอยแครงขนาดไม่ใหญ่ และหอยแครงขนาด 1,000 ตัว ต่อกิโลกรัม”

คุณประกิต บอกว่า อายุการเลี้ยงหอยแครงกระทั่งเก็บขาย ถ้าเป็นพันธุ์หอยแครงจากมาเลเซียที่เคยซื้อมาเลี้ยงจะใช้เวลา 18 เดือน แต่พอมาใช้หอยแครงไทย ใช้เวลาเพียง 12 เดือนเท่านั้น เขาให้เหตุผลว่าเพราะหอยแครงไทยคงคุ้นเคยกับคุณภาพน้ำได้ดีกว่าหอยแครงทางมาเลเซีย จึงเติบโตได้ดีและเร็วกว่า

ช่วงเวลาที่จะปล่อยพันธุ์ลูกหอยประมาณปลายเดือนมกราคม และจะไปเก็บประมาณเดือนธันวาคม การเก็บหอยแครงรุ่นหนึ่งจะเก็บเพียงครั้งเดียว เขาเล่าว่าในแต่ละรุ่นถ้าลงหอยแครงสัก 200 เข่ง (1 เข่ง มี 30 กิโลกรัม) จะเก็บหอยได้ประมาณ 60 ตัน

เกษตรกรเลี้ยงหอยแครง กล่าวเพิ่มเติมว่า ระหว่างเลี้ยงไม่ต้องให้อาหาร เพราะอาหารของหอยคือ แพลงก์ตอนที่อยู่ในน้ำทะเลอยู่แล้ว และปัญหาที่พบและสำคัญคือคุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยง เนื่องจากในบางช่วงน้ำขาดความสมดุล จึงกระทบกับการเจริญเติบโตของหอยแครง

ชาวประมงกับฟาร์มหอยแครงและหอยนางรม

สำหรับสิ่งที่เขาวิตกเกี่ยวกับอาชีพนี้ในอนาคตคือคุณภาพของน้ำเพราะถ้าหากมีการดูแลควบคุมน้ำที่ใช้เลี้ยงหอยแครงอย่างมีประสิทธิภาพ อนาคตการเลี้ยงหอยแครงของชาวบ้านในอ่าวบ้านดอนคงยังมีต่อไป

รายได้ดี แต่ลงทุนช่วงแรกเท่านั้น

ส่วนการลงทุนที่สำหรับใช้เลี้ยงหอยได้แก่เงินก่อสร้างที่พักคนเฝ้า ที่มีลักษณะคล้ายกับการสร้างบ้านในทะเลเป็นที่รู้จักกันว่าขนำ โดยใช้เสาไฟฟ้าเป็นเสาบ้านเพราะอยู่ได้นานนับสิบปี อย่างสมัยก่อนใช้ต้นตาลแก่ทำเป็นเสาแต่อายุไม่นาน นอกจากนั้น มีค่าแรงคนเฝ้า ค่าอาหาร ซื้อเรือและค่าไม้ที่ต้องซื้อมาปักรอบพื้นที่เลี้ยงเพื่อใช้กำหนดเขต อย่างไรก็ตาม การลงทุนส่วนมากจะเป็นการลงทุนเพื่อซื้อของในครั้งแรก

ด้านราคาขายหอยแครง มักจะกำหนดราคาตามขนาด ถ้าเป็นหอยขนาด 80 กว่าตัว ต่อกิโลกรัม ขายอยู่ที่ 45 บาท ถ้าเป็นจำนวน 100 กว่าตัว ต่อกิโลกรัม 38-40 บาท แต่ถ้าเป็นขนาดเล็กมากสัก 120-130 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคา 30 บาท

คุณประกิต บอกว่า การเลี้ยงหอยแครงถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดี และอาจดีกว่าอาชีพอื่นที่เคยทำมาถึงแม้จะมีการลงทุนบ้าง แต่ก็เป็นการลงทุนใหญ่เพียงครั้งเดียว แล้วถึงแม้จะมีรายได้จากการเลี้ยงหอยแครงเพียงปีละครั้ง แต่ระหว่างรอการเก็บหอยแครงยังคงมีรายได้จากการกรีดยางที่มีอยู่กว่า 30 ไร่

ขอขอบคุณ : ประมงอำเภอกาญจนดิษฐ์และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน