“ปุ๋ยปลาร้า” (น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล) เพิ่มผลผลิตพืช รักษาสิ่งแวดล้อม

ทุกวันนี้ ภาคเกษตรต้องเผชิญปัญหาดินเสื่อม โรคแมลงศัตรูพืชและปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ได้ผลผลิตต่ำสวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น  หากใครกำลังมองหาแนวทางลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ก็แนะนำให้ทดลองใช้  “ปุ๋ยปลาร้า” (น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ตามที่ต้องการ

ย้อนกลับเมื่อปี 2550-2551 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยคุณสุพจน์ แสงประทุม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2   อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในสมัยนั้น เกิดแนวคิดที่จะช่วยเกษตรกร “ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม” จึงได้มอบหมายให้ นักวิชาการเกษตร ชื่อ คุณวิชัย ซ้อนมณี ศึกษาทดลองการใช้น้ำหมักชีวภาพชนิดต่างๆ  มาใช้ในแปลงเพาะปลูกพืช ก็ได้ผลสรุปว่า  น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเลหรือที่เรียกกันทั่วไปคือ ปุ๋ยปลาร้า มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม ได้อย่างดี

เมื่อนำปุ๋ยปลาร้าไปให้เกษตรกรทดลองปุ๋ยปลาร้าก็พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในแปลงปลูกพืช เพราะสามารถเพิ่มจำนวนปริมาณของผลผลิตมากขึ้น  ช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้น  เป็นทั้งปุ๋ยและยาควบคุมศัตรูพืชควบคู่กันไป  เกษตรกรมีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  ช่วยลดต้นทุนการผลิตลดลงเมื่อเทียบการปลูกโดยใช้สารเคมี  ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

วิธีการทำปุ๋ยปลาหมักสูตร วท.

ปุ๋ยปลาหมักเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ได้จากการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากปลา ได้แก่ หัวปลา ก้างปลา หางปลา พุงปลา และเลือด ผ่านขบวนการหมักโดยการย่อยสลายโดยการใช้เอนไซม์ ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หลังจากหมักจนได้ที่แล้ว จะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน และธาตุอาหารเสริมได้แก่ เหล็ก ทองแดง และแมงกานีส

นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยโปรตีนและกรดอะมิโน ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ชัดว่ากรดอะมิโนสามารถจับตัวกับธาตุอาหารปุ๋ยทำให้ ปุ๋ยสามารถดูดซึมเข้าสู่ต้นพืชได้เร็วขึ้น ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของเกษตรกรที่พบว่าปุ๋ยปลาหมักช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ดอกไม้มีสีสดขึ้น ผลไม้มีคุณภาพดี และช่วยเร่งการแตกยอดและดอกใหม่ ตลอดจนการเพิ่มผลผลิตของพืช