เกษตรกร จ.กำแพงเพชร หัวดีปลูกมะลิ ส่งขายครบวงจร ช่วงเทศกาลโกยเงินไม่หยุด

“มะลิ” เป็นต้นไม้ที่ดอกมีเสน่ห์จากสีขาวบริสุทธิ์ อีกทั้งยังมีกลิ่นหอม และจากสี กลิ่น ที่มีความเหมาะสมดังนั้นชาวพุทธจึงใช้ดอกมะลิเพื่อบูชาพระ

การปลูกมะลิไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นไม้ดอกที่สามารถปลูกได้ทุกแห่งไม่จำกัดขนาดพื้นที่และทำเล เหตุนี้จึงทำให้มีผู้ปลูกมะลิแบบจำพวกสมัครเล่นด้วยการปลูกในกระถางขนาดไม่ใหญ่ไว้ในบริเวณบ้าน ที่อยู่อาศัย เพื่อเชยชม และคลายเหงา หรืออีกจำพวกที่ปลูกเพื่อหารายได้ทำเป็นอาชีพ

ยกเป็นร่องน้ำ

ซึ่งการปลูกมะลิเป็นอาชีพนั้น มีพื้นที่ปลูกหลายแห่ง ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ แต่เนื่องจากการทำอาชีพนี้เงื่อนไขอย่างหนึ่งของการกำหนดราคาตัวสินค้าคือดอกมะลิจะต้องมีความสดและสมบูรณ์ ดังนั้น ปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญคือ การขนส่ง

ฉะนั้น พื้นที่ปลูกมะลิที่สำคัญจึงมักอยู่ใกล้เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีตลาดรองรับมาก การขนส่งไม่ไกลและลดความเสี่ยงในเรื่องความเสียหาย แต่ก็มิใช่เหตุผลเช่นนั้นเสมอไป เพราะมะลิเป็นดอกไม้มงคลที่ต้องใช้กันทั่วประเทศ จึงมีหลายจังหวัดทั่วประเทศสามารถปลูกได้ และหลายแห่งสามารถบริหารจัดการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนจังหวัดที่มีการปลูกมะลิกันเป็นหลัก ได้แก่ จังหวัดนครปฐม นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก ลำพูน หนองคาย และสมุทรสาคร เขตจังหวัดที่ปลูกมากที่สุด คือ นครปฐม ซึ่งปลูกถึง 1,964 ไร่

แปลงมะลิภายในมุ้งจะมีอุณหภูมิสูง

มีเกษตรกรรายหนึ่ง ที่จังหวัดกำแพงเพชร ทำอาชีพปลูก-จำหน่ายดอกมะลิแล้วป้อนเข้าสู่ตลาดปากคลองตลาด ที่กรุงเทพฯ และทำมานานกว่า 30 ปี ถือว่าเป็นผู้ปลูกรายใหญ่ที่ปลูกเองแล้วยังมีลูกไร่จำนวนหนึ่งด้วย จนสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดีและไม่เพียงเท่านั้นยังได้ร้อยมาลัยสำเร็จส่งไปจำหน่ายอีกด้วย กระทั่งสามารถซื้ออาคารพาณิชย์ที่ปากคลองตลาดเป็นฐานที่ตั้งต่อยอดทำธุรกิจขายดอกไม้กระจายเข้าสู่เมืองกรุงแล้วส่งลูก-หลานไปทำหน้าที่บริหารงานดูแล

เริ่มต้น เพียง 1 ไร่ไปสู่การขยายพื้นที่ปลูก

คุณพยูร อินเทียน อยู่บ้านเลขที่ 172 หมู่ที่ 4 ตำบลยางสูง อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร  โทรศัพท์ 081-8170411 เล่าถึงจุดเริ่มต้นการปลูกมะลิว่าความจริงตัวเธอมีอาชีพปลูกพริก ขณะเดียวกันพี่ชายปลูกมะลิส่งไปขายที่ปากคลองตลาด แต่พี่ชายเห็นว่ามะลิมีรายได้ดีกว่าและตลาดมีความต้องการมาก จึงชักชวนแกมบังคับให้เธอช่วยปลูกมะลิร่วมด้วย จึงทำให้เธอต้องปลูกมะลิในเนื้อที่ จำนวน 1 ไร่

พอมาช่วงหลังกลับเห็นว่ามีรายได้ดีจริงตามที่พี่ชายบอก คุณพยูร จึงมองไปข้างหน้าว่าเส้นทางอาชีพนี้น่าจะถูกโฉลกกับเธอ เพราะยิ่งทำ ยิ่งได้ จากนั้นเธอได้วางเครือข่ายการปลูกและจำหน่ายดอกมะลิแบบที่ใช้ลูกไร่ช่วย

ดอกแบบนี้อีกไม่นานเก็บได้แล้ว

“เมื่อหลายปีก่อน ปลูกเองในที่นา และรับมาจากลูกไร่ด้วย ซึ่งต่อมาทำเอง ส่งขายเอง โดยมีการเช่าแผงไว้ที่ปากคลองตลาด มีการขยายลูกไร่ออกไปที่ละราย จนกระทั่งมีจำนวนลูกไร่กว่า 50 คน แต่ในปัจจุบันจำนวนลูกไร่ลดลงเหลือ 30 คน เหตุผลเพราะคนที่เคยทำพอเก่งแล้วพวกเขาเหล่านั้นจะแยกไปทำเอง”

คุณพยูร บอกว่า มะลิพันธุ์ที่ใช้ปลูกตั้งแต่แรกชื่อมะลิพันธุ์เพชร ไปซื้อเป็นกิ่งพันธุ์มาจากนครนายก ราคากิ่งละ 2-3 บาท ข้อดีของพันธุ์นี้คือมีข้อถี่ สวย ดก และดอกแหลม

สำหรับแปลงปลูกมะลิของคุณพยูรใช้ที่นาปลูกเองประมาณ 10 ไร่ แต่ถ้ารวมของลูกไร่ด้วยจะมีจำนวน 50-60 ไร่ เธอบอกว่า เนื้อที่ 1 ไร่ สามารถปลูกมะลิได้ถึง 4,000-5,000 ต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปลูกถี่หรือห่าง ส่วนงบลงทุนนั้นใช้ต้นทุนต่อไร่ในการลงทุนครั้งแรกไม่เกิน 3 หมื่นบาท อันนี้เป็นค่าต้นพันธุ์, ค่าปุ๋ย และค่าปรับปรุงดิน หลังจากนั้นมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นบ้างเป็นระยะ

มะลิ ชอบน้ำแต่ต้องไม่มากเกินไป

เจ้าของสวนมะลิอธิบายถึงขั้นตอนปลูกว่าจะต้องเตรียมดินด้วยการไถ ชักร่อง แบบเดียวกับการเตรียมปลูกอ้อย เธอบอกว่ามะลิปลูกได้ทุกสภาพดิน แต่ต้องชักร่อง และไม่ควรให้น้ำขัง ตอนแรกต้องใช้ปุ๋ยยูเรีย เพื่อต้องการเร่งให้ต้นมะลิโตเร็ว จากนั้นค่อยให้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 และควรรดน้ำเสมออย่าให้ดินแห้งมาก แต่ห้ามให้น้ำมากเกินไป

บางส่วนดอกรักที่ปลูกไว้ใช้ร้อยมาลัย

การให้น้ำ ต้นมะลิจะต้องการน้ำพอสมควร หากดินยังแฉะอยู่ไม่ควรรดน้ำ ควรรอจนกว่าดินจะแห้งหมาด  เสียก่อน ทั้งนี้อาจให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง หรืออาทิตย์ละครั้งก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน โดยให้รดน้ำในตอนเช้า แต่ระวังอย่าให้น้ำท่วม หรือมีน้ำขังอยู่ในแปลงนานๆ เพราะจะทำให้ต้นมะลิแคระแกร็น ใบเหลือง และตายได้

“ในระยะเวลาที่ต้นยังมีขนาดเล็กต้องหมั่นดูแลอย่าให้มีวัชพืช แล้วให้ใส่ปุ๋ยแล้วดึงน้ำมารด พร้อมกับฉีดยาเพื่อป้องกันแมลงมารบกวน ปุ๋ยที่ใช้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยให้ใช้ปุ๋ยยูเรียผสมกับปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ต้น พร้อมกับฉีดยาเร่งให้แตกดอก อีกทั้งต้องฉีดฮอร์โมนอาทิตย์ละครั้ง”

การปลูกมะลิโดยทั่วไปนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม มะลิเป็นไม้ที่ชอบดินร่วนซุยมีการระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารสมบูรณ์ หากจะปลูกมะลิให้มีอายุยืนยาว ควรขุดหลุมลึก กว้าง และยาว ด้านละ 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก ใบไม้ผุหรือปุ๋ยหมัก และวัสดุอื่นๆ ในอัตราส่วน 1:1:1 พร้อมกับเติมปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) และปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15 อย่างละ 1 กำมือ คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วใส่กลับลงไปในหลุมใหม่ ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน จึงนำเอาต้นมะลิลงปลูก ควรจะปลูกให้มะลิได้รับแสงแดดเต็มที่ เพื่อดอกจะได้ดกตามต้องการ

ทดลองกางมุ้งในแปลงมะลิ

ทางด้านการดูแลรักษา คุณพยูร บอกว่า ต้องหมั่นเอาใจใส่ดูแลกำจัดวัชพืช อัตราการใส่ปุ๋ยขึ้นอยู่กับขนาดของทรงพุ่ม ใส่เดือนละครั้ง โดยการหว่านและรดน้ำตามด้วย  นอกจากนั้น ควรมีการตัดแต่ง หลังจากปลูกมะลิไปนานๆ แล้วมะลิจะแตกกิ่งก้านสาขามากมาย ควรตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง รวมทั้งตัดกิ่งที่แห้งและตายออกด้วย จะช่วยให้มะลิมีทรงพุ่มสวยงาม โรคและแมลงลดน้อยลง ทำให้มะลิมีอายุยืนยาวขึ้น ให้ดอกมากขึ้น ซึ่งวิธีดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ปลูกมีความสะดวกในการปฏิบัติงานอีกด้วย

การป้องกันกำจัด เมื่อพบต้นที่เป็นโรค ให้ถอนเผาไฟทำลายเสีย รวมทั้งเผาดินในหลุมด้วย แล้วใช้ปูนขาว หรือเทอราคลอผสมน้ำราดลงดิน

ปลูกในกระถางไว้หน้าบ้านพักอาศัย

แมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่หนอนเจาะดอก มักระบาดมากในฤดูฝน ทำให้ดอกเสียหายมาก โดยการเจาะกัดกินดอก ทำให้ดอกเป็นรูและผิดรูปร่าง เมื่อหนอนดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกจะทำให้กลีบดอกเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมม่วง จะพบการทำลายของหนอนเจาะดอกนี้มากกว่าแมลงตัวอื่นๆ หากป้องกันกำจัดไม่ทันจะเกิดความเสียหายมาก

การป้องกันที่ดีและเหมาะสมนั้น ควรกำจัดเก็บเศษพืชที่หล่นบริเวณโคนต้นเผาทำลาย เพื่อป้องกันดักแด้ของหนอนเจาะดอก ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของตัวแก่ได้ การใช้กับดักแสงไฟ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการทำลายของหนอนเจาะดอกมะลิ และช่วยลดปริมาณการพ่นสารเคมีอีกด้วย พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี แต่หากไม่สามารถทำได้และอยู่ในขั้นรุนแรงให้ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัด เช่น แลนเนท

ชอบอากาศร้อน ทำให้ดอกดกไม่ชอบอากาศเย็น เพราะดอกหาย

คุณพยูร บอกถึงการนับระยะเวลาจากนำต้นลงดินจนเป็นทรงพุ่ม ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แต่มีบางรายถ้าดูแลบริหารจัดการไม่ดีอาจนานไปถึง 4-5 เดือน และช่วงดังกล่าวนี้ต้นจะเจริญเติบโตเป็นทรงพุ่ม แต่ยังไม่มีดอก ซึ่งดอกจะเริ่มมีประมาณช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เพราะดอกมะลิมักจะออกในช่วงหน้าร้อน และยิ่งร้อนยิ่งชอบ และจะมีดอกให้เก็บเรื่อยไปตลอด ครั้นพอถึงในช่วงหนาวดอกมักไม่ค่อยออก เพราะไม่ชอบความเย็น

อากาศเย็นจะสร้างปัญหาต่อผลผลิตดอกมะลิทำให้ในช่วงฤดูหนาวดอกมะลิจะออกน้อยและช้ากว่าช่วงอื่น จึงทำให้ลูกเขยของเธอทดลองหาวิธีแก้ไขด้วยการนำมุ้งมากางครอบแปลงปลูกมะลิในพื้นที่ 1 ร่องปลูก เพราะเมื่อกางมุ้งไว้แล้วจะทำให้อากาศเย็นไม่เข้า ขณะเดียวกันภายในมุ้งจะเกิดความร้อนขึ้นอันเป็นผลดี ทำให้ต้นมะลิสามารถออกดอกได้เร็ว ปรากฏว่าหนาวนี้อากาศไม่เย็นตามคาดจึงไม่เห็นผล กระนั้นก็ตามเธอบอกว่าคงต้องทำไว้ก่อนเพราะในช่วงหนาวหน้าอาจพบอากาศเย็น อีกทั้งยังเห็นว่าช่วงนี้อากาศแปรปวน

“เก็บผลผลิตได้ทั้งปี พอเริ่มมีดอกจะเก็บได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด ยิ่งหากดูแลเอาใจใส่อย่างดีด้วยการปรับปรุงจะมีดอกออกตลอดและมีความสมบูรณ์มาก อายุขัยของต้นมะลิกว่า 10 ปี เก็บได้ครั้งละจำนวนเกือบ 5 กิโลกรัมต่อไร่ อันนี้ต้องอยู่ที่การดูแลให้ดีนะ แต่ถ้าทำไม่ดีคงได้แค่ไม่เกิน 3 กิโลกรัม ต่อไร่”

ด้วยเนื้อที่ปลูกของตัวเองที่มีอยู่จำนวนกว่า 10 ไร่ การเก็บดอกมะลิของเธอใช้วิธีจ้างคนงานเก็บ โดยช่วงเวลาที่เก็บดอกมะลิในแต่ละวัน จะเริ่มเก็บประมาณ 8 โมงเช้า ถ้าเป็นช่วงที่มะลิมีราคาดี ค่าจ้างเก็บ กิโลกรัมละ 100 บาท แต่ช่วงไหนถ้าราคาตกหน่อยค่าจ้างเก็บจะเหลือกิโลกรัมละ 50-60 บาท ทั้งนี้ไม่ได้ให้เก็บดอกมะลิอย่างเดียวจะต้องมีงานอย่างอื่นทำในแปลงปลูกด้วยเช่นการให้ปุ๋ยหรือการจัดการในสวน

เธอบอกว่า 1 กิโลกรัม ที่จ้างคนงานเก็บนั้น ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นภายใน 1 วัน คนหนึ่งจะเก็บได้ถึง 10 กิโลกรัม ถ้าคิดเป็นเงินน่าจะได้พันกว่าบาท และบอกว่าถ้าหากคนไหนเก็บเก่งภายในหนึ่งวิก (1 สัปดาห์) สามารถได้เงินเป็นหมื่น

ร้อยพวงมาลัยขายสร้างรายได้ ครบวงจร

นอกจากขายเฉพาะดอกมะลิแล้ว คุณพยูร มองว่าหากจะทำให้ครบวงจร ควรร้อยมาลัยไปและส่งไปขายพร้อมกัน ซึ่งเป็นพวงมาลัยสำเร็จโดยผลิตเป็นพวงเล็กและพวงใหญ่ ดังนั้น ในแปลงมะลิของเธอจึงปลูกต้นดอกรัก จำปี ดอกพุด ไว้ด้วย เพราะไม้เหล่านี้เธอต้องใช้สำหรับร้อยพวงมาลัยจำนวนมากเพื่อนำไปขายที่ปากคลองตลาดด้วย

ร้อยมะลิเป็นพวงไว้ส่งขาย

“เฉพาะร้อยมาลัยช่วงตรุษจีน มีรายได้เกือบแสนบาทแล้ว ร้อยเป็นพวงแล้วจับรวมเป็นพวงขนาดใหญ่แล้วจับใส่กล่องโฟมส่งเข้าที่ปากคลองตลาดเที่ยวละเกือบ 40 กล่อง”

เธอบอกว่า ในช่วง 20-30 ปี ที่ผ่านมา ของการทำอาชีพปลูกมะลิขาย ถือว่าเป็นไม้ดอกที่สร้างรายได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากเทียบกับการทำนาที่เธอมีอยู่ 100 กว่าไร่แล้ว จะมีรายได้ที่เป็นเงินก้อนนานๆ ครั้ง แต่การประกอบอาชีพทำมะลิมีเงินตลอดทุกวัน ยิ่งถ้าดูแลดี ยิ่งทำให้มีรายได้ดี เพราะมีตลาดรองรับตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่สำคัญต่างๆ ราคาจะดีมาก

“ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ดอกมะลิจะได้ราคาดีมากและถีบขึ้นสูงอีกทั้งยังขาดตลาด ราคาดอกมะลิ อาจจะสูงถึงกิโลกรัมละ 800-1,500 บาท”