เพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง มาตรฐานส่งออก อาชีพทำเงินกว่า 3 ทศวรรษ

ปลาหางนกยูง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Poecilia reticulata เป็นปลาน้ำจืด ที่มีขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาสอด ความยาวของตัวปลาไม่เกิน 5 เซนติเมตร จุดเด่นของปลาชนิดนี้คือ มีครีบหางขนาดใหญ่ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น ตัวผู้มีขนาดลำตัวที่เล็กกว่าตัวเมีย และสีสันของครีบมีความสวยงาม ส่วนตัวเมียมีขนาดลำตัวที่ใหญ่ ท้องอูม สีสันและครีบไม่เด่นเท่าตัวผู้

ในประเทศไทยรู้จักปลาชนิดนี้ว่าเป็นปลาสวยงาม โดยนิยมนำมาเลี้ยงภายในอ่างบัว เพราะปลาหางนกยูงเลี้ยงง่าย สามารถอยู่รวมกันเป็นฝูงได้ นอกจากสามารถอยู่ภายในอ่างเลี้ยงได้หลายพื้นที่แล้ว ยังเป็นปลาที่สามารถขยายพันธุ์ได้ง่าย โดยปฏิสนธิภายในตัวออกลูกเป็นตัว ซึ่งตัวเมียสามารถให้ลูกได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องรอฤดูกาล

ปลาหางนกยูงป่า

ปัจจุบัน มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาหางนกยูงมากขึ้น เพื่อให้มีสีสันและลวดลาย รวมทั้งแปลกใหม่แตกต่างไปจากพันธุ์เดิมๆ หรืออาจจะอนุรักษ์ในสายพันธุ์เดิมให้มีลักษณะอยู่เช่นนั้น คุณสุรินทร์ สุวรรณรัตน์ อยู่บ้านเลขที่ 90/9 ตำบลศรีษะทอง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ยึดอาชีพเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงมาหลายสิบปี มีการพัฒนาจนได้มาตรฐาน สามารถเป็นปลามาตรฐานส่งออกได้ ทำรายได้เลี้ยงครอบครัวให้กับคุณสุรินทร์ได้เป็นอย่างดี

หากมีใจรักที่จะทำ

เพาะพันธุ์ปลาก็เป็นอาชีพได้

คุณสุรินทร์ เล่าย้อนชีวิตในสมัยก่อนให้ฟังว่า มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ใครจ้างให้ทำอะไรที่ไหนรับจ้างหมด ต่อมางานที่รับจ้างก็ค่อยๆ น้อยลง จึงทำให้กลับมาทบทวนว่า หากเป็นเช่นนี้รายรับอาจไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จึงได้หาอาชีพที่ทำแล้วมั่นคงอยู่กับบ้าน พร้อมทั้งสำรวจว่าตนเองมีความชอบอะไร จึงได้ตัดสินใจทำอาชีพใหม่ด้วยใจรัก

ปลาหางนกยูงสายพันธุ์เยลโล่

“พอมาอยู่บ้าน แถวนี้เขาก็ทำอาชีพเพาะพันธุ์ปลากันบ้าง ทีนี้เราก็รู้สึกว่าเห็นมานาน พื้นเดิมเราก็เป็นคนชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว มองว่าถ้าทำก็น่าจะไปได้ เพราะใจเรารัก ที่สำคัญตลาดก็พอมี ทำให้ลองหาซื้อพันธุ์ปลาหางนกยูงเข้ามาเลี้ยง เพื่อเป็นการรวบรวมสายพันธุ์บางส่วน พอมีมากขึ้นก็ค่อยๆ พัฒนาสายพันธุ์ขยายพันธุ์ให้มากขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้ปลาหางนกยูงมีความหลากหลาย ลูกค้าชื่นชอบและส่งนอกทำเงินได้อีกหนึ่งช่องทาง” คุณสุรินทร์ เล่าถึงที่มา

คุณสุรินทร์ สุวรรณรัตน์

ปลามีอายุ 3-4 เดือน

เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้

ในขั้นตอนของการเพาะพันธุ์นั้น คุณสุรินทร์ บอกว่า ถ้าเป็นปลาที่ซื้อมาก็สามารถเพาะพันธุ์ได้เลย แต่หากเป็นปลาที่มีขนาดเล็กจะเลี้ยงให้มีอายุอย่างน้อย 3 เดือน ขึ้นไป จึงจะนำมาผสมพันธุ์เพื่อผลผลิตลูกปลา

โดยบ่อที่ใช้ผสมพันธุ์ เป็นบ่อปูนซีเมนต์ ขนาด 5×5 เมตร ปล่อยแม่พันธุ์ 300 ตัว ต่อพ่อพันธุ์ 100 ตัว ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 จากนั้นใส่ใบตองลงไปด้วย เพื่อเป็นที่กำบังเวลาที่ลูกปลาหางนกยูงออกมา พ่อแม่พันธุ์จะไม่กินลูก

“เราจะเพาะพันธุ์แบบไหน เราก็คัดพ่อแม่พันธุ์สวยๆ มาใส่ลงในบ่อสำหรับเพาะพันธุ์ไว้ ซึ่งปลาหางนกยูงสามารถเพาะพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องรอฤดูกาลใดๆ ซึ่งปลาชนิดนี้มันจะออกลูกออกมาเป็นตัวเลย พอลูกลอยอยู่บนผิวบ่อ เสร็จแล้วเราก็ช้อนลูกปลาออกมา เพื่อนำไปอนุบาลในบ่ออื่น โดยบ่อที่อนุบาลจะเป็นบ่อที่มีน้ำกร่อยเล็กน้อย ด้วยการใส่เกลือลงไปภายในบ่อบ้าง อย่าง บ่อขนาด 5×5 เมตร จะใส่เกลือลงไปประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อบ่อ แต่ถ้าเป็นน้ำบาดาลไม่ต้องใส่เกลือลงไป เพราะมันค่อนข้างเป็นน้ำกร่อยอยู่เหมือนกัน” คุณสุรินทร์ บอก

บ่อพ่อแม่พันธุ์

ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ลูกปลาหางนกยูงจะให้กินลูกไรแดงเป็นอาหาร จากนั้นจะมีการเปลี่ยนเป็นอาหารปลาดุกให้กิน โดยการแช่น้ำให้นิ่มและให้ลูกปลาหางนกยูงกินเสริมสลับกับไรแดงแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนปลาได้อายุ 3 เดือน

เมื่อปลามีอายุตามที่กำหนด จะนำปลาหางนกยูงทั้งหมด มาคัดเพศเพื่อแยกเลี้ยงคนละบ่อ โดยตัวผู้ที่มีความสมบูรณ์สามารถส่งขายให้กับลูกค้าได้ทันที ส่วนตัวเมียเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน ให้มีอายุอยู่ที่ 4 เดือน จึงจะขายได้

“ปลาหางนกยูงนี่ ถือว่าเลี้ยงง่ายมาก ไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก อาหารช่วงเช้าก็ให้กินแต่ไรแดง พอช่วงบ่ายก็เป็นอาหารปลาดุก ให้กินแบบนี้ พร้อมทั้งมีการถ่ายน้ำบ้างเมื่อเห็นว่าน้ำเริ่มมีสีที่เปลี่ยน ในเรื่องโรคของปลาหางนกยูงก็ไม่ค่อยมีปัญหา หากมีการดูแลสภาพแวดล้อมให้ดี เพราะฉะนั้นเรื่องความสะอาดถือว่าสำคัญมาก ต้องหมั่นดูแล ก็จะทำให้ปลาไม่ป่วย ลูกปลามีคุณภาพ” คุณสุรินทร์ บอก

สีสันสวยงามหลากหลายสายพันธุ์

ตลาดมีความต้องการ

บางช่วงผลิตไม่ทันขาย

ในเรื่องของการทำการตลาดนั้น คุณสุรินทร์ บอกว่า เนื่องจากในพื้นที่นี้มีเกษตรกรหลายรายเพาะพันธุ์ปลาเป็นอาชีพ ดังนั้น เมื่อลูกค้ารู้ว่าที่บ้านมีการผลิตลูกปลาหางนกยูงจึงมาติดต่อขอซื้อ โดยปลาส่วนใหญ่ที่ผลิตเป็นสายพันธุ์แบบดั้งเดิม คือมีสีที่สวยงามตรงตามพันธุ์ และมีบางส่วนพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาเพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น

“ปลาหางนกยูงตั้งแต่ขายมา 30 ปี ก็ยังผลิตไม่พอต่อความต้องการ ตลาดยังถือว่าไปได้เรื่อยๆ ตัวผู้อายุ 3 เดือน ก็ขายอยู่ที่ตัวละ 1.50 บาท ตายตัวอยู่ที่ราคานี้ ซึ่งการจะได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับเราผลิต ถ้าผลิตได้มาก ก็พอทำเงินได้ เดือนหนึ่งจะส่งขายได้อยู่ 40,000-50,000 ตัว กำลังผลิตเราได้เท่านี้ ถ้าลูกค้าต้องการมากกว่านี้ เขาก็จะไปหาที่อื่นเพิ่มเติม เพราะเราทำไม่ได้เน้นปริมาณ แต่อยากให้มีคุณภาพ ดังนั้น จึงมีลูกค้าที่มารับซื้อปลาเพื่อส่งออกนอกอีกต่อ ก็ทำให้ปลาภายในฟาร์มเราถือว่ายังมีมาตรฐานขายเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้” คุณสุรินทร์ บอก

พื้นที่ภายในฟาร์ม

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงเพื่อเป็นอาชีพทำเงิน คุณสุรินทร์ แนะนำว่า แม้ว่าปลาหางนกยูงจะเป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงง่ายก็จริง แต่การใส่ใจก็ถือว่ามีความสำคัญ หากปล่อยให้มีการผสมพันธุ์ที่ปะปนไปหมด จะทำให้ปลาไม่มีเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ และขายไม่ได้ราคา ส่วนเรื่องแหล่งอาหารจำพวกไรแดงถือว่าสำคัญมาก ถ้ามีให้กินในช่วงแรกก็จะช่วยให้ปลาเจริญเติบโตได้ดี มีลูกปลาขายทันตามที่ลูกค้าต้องการ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุรินทร์ สุวรรณรัตน์ หมายโทรศัพท์ (092) 729-0119