เกษตรกรปลูกข้าวแบ่งที่ดินปลูกชมพู่ 3 ไร่ ทำเงินมากกว่าทำนา 10 ไร่

“ผมมีอาชีพทำนามานาน วันหนึ่งมีความสนใจที่อยากทำสวนผลไม้จึงตัดสินใจปลูกชมพู่ทับทิมจันท์ โดยการแบ่งผืนนา จำนวน 7 ไร่ มาทำสวนชมพู่ทับทิมจันท์ 3 ไร่ จนถึงทุกวันนี้ผมมีรายได้ต่อปีราว 3 แสนบาท จากการทำสวนชมพู่ 3 ไร่ และปลูกต้นชมพู่ เพียง 150 ต้น เท่านั้น ทำกันเพียง 2 คน กับภรรยาเป็นหลัก งานก็ไม่ตากแดดมากเหมือนทำนา รายได้ก็ดีกว่าการทำนา ส่งลูกเรียนสบาย”

คุณสำเริง เจริญวงษ์

“แม้ราคาชมพู่ทับทิมจันท์จะไม่สูงมากเหมือนแต่ก่อน ถึงแม้ราคาจากสวนจะเหลือแค่เพียงกิโลกรัมละ 10 บาท เกษตรกรก็พออยู่ได้ เนื่องจากชมพู่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก สามารถบังคับให้ออกดอก ติดผลได้ทั้งในและนอกฤดูตลอดทั้งปี แต่คนทำสวนชมพู่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องไม่ขี้เกียจ ต้องมีความขยัน ช่างสังเกต ทำผลผลิตให้มีคุณภาพและเรียนรู้อยู่ตลอด”

สองข้อความข้างต้น เป็นคำพูดของ คุณสำเริง เจริญวงษ์ บ้านเลขที่ 2/4 หมู่ 5 ต.ถอนสมอ อ.ถอนสมอ ต.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี โทร. 089-9818543 ที่ปลูกชมพู่ทับทิมจันท์ มานานกว่า 7 ปี มีเรื่องราวดีๆ จากประสบการณ์ในการทำสวนชมพู่แนะนำให้กับหลายๆ ท่านที่กำลังสนใจในการทำสวนชมพู่ว่าทำน้อยแต่ได้มาก ว่าต้องมีการจัดการสวนอย่างไร

คุณสำเริง เล่าย้อนหลังไปว่า เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ทางจังหวัดได้มีโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนนาเป็นสวน ซึ่งในตอนนั้นทางจังหวัดได้ส่งเสริมให้ปลูกชมพู่ทับทิมจันท์ โดยสนับสนุนการปรับพื้นที่โดยการทำแปลงแบบยกร่องให้ฟรี แจกเรือรดน้ำให้ 1 ลำ และต้นพันธุ์ชมพู่ทับทิมจันท์ให้ฟรีทั้งหมด สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ตนเองซึ่งทำนามานานก็ทราบข่าวก็เกิดความสนใจเข้าร่วมโครงการแบ่งที่นา จำนวน 3 ไร่จาก 7 ไร่ มาปลูกชมพู่ ประกอบกับในช่วงนั้นทราบข่าวว่า ชมพู่ทับทิมจันท์มีราคาดีมาก หากผลิตได้คุณภาพก็มีตลาดส่งออกมารองรับ จึงตัดสินใจปลูก

กำลังห่อผลชมพู่ทับทิมจันท์

การปลูกชมพู่ทับทิมจันท์ แปลงปลูกชมพู่ทำแบบยกร่องเหมือนกับทางที่ราบลุ่มอย่างจังหวัดราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ฯลฯ  ที่เขานิยมทำสวนแบบยกร่อง ซึ่งการปลูกแบบยกร่อง จะยกร่องปลูกกว้างประมาณ 6 เมตร ขุดร่องน้ำกว้าง 2 เมตร ซึ่งหลังยกร่องแล้วก็จะตากดินไว้ อีก 1 เดือน เพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงในดินหรือชาวสวนสามารถปรับสภาพดินโดยใส่ปูนขาวได้ก็จะยิ่งดี เพื่อฆ่าเชื้อและปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน

ส่วนระยะปลูกนั้น คุณสำเริง ใช้ระยะห่างระหว่างต้น 6 เมตร ในการเตรียมหลุมปลูกจะขุดใช้ขนาดกว้าง 50 ซม. X ยาว 50 ซม. X ลึก 50 ซม. การขุดหลุมปลูก จะขุดแยกดินหน้าไว้ข้างหนึ่งและดินล่างไว้อีกข้างหนึ่ง แล้วเอาปุ๋ยคอก ประมาณ 30 กิโลกรัม ผสมกับหน้าดิน อัตราส่วน 1 : 1 และปุ๋ยสูตร 16-16-16 ประมาณ 1 กำมือ แล้วกลบดินลงหลุมไปในหลุมจนพูนเป็นหลังเต่าเพื่อจะได้ระบายน้ำดีในช่วงแรก จากนั้นใช้จอบขุดเป็นหลุมปลูกขนาดเท่ากับตุ้มดินปลูกบนหลังเต่า

การปลูกนำต้นพันธุ์ชมพู่ซึ่งตอนนั้นเป็นกล้ากิ่งตอน ที่ชำไว้พร้อมปลูก นำมาถอดหรือกรีดถุงเพาะชำออก วางกิ่งพันธุ์ให้กึ่งกลางหลุม ที่ขุดเตรียมไว้ แล้วกลบดินให้แน่นปักไม้และผูกเชือกยึดลำต้น ถ้าปลูกในช่วงเดือนที่อากาศร้อนจัดควรพร้อมปักทางมะพร้าวพรางแสงหรือมุงซาแรนในทิศทางตะวันออกและตะวันตกเพื่อลดความร้อนของแสงอาทิตย์ ปลูกเสร็จต้องรดน้ำให้ชุ่มทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นชมพู่ที่ปลูกใหม่เหี่ยวเฉา หลังจากชมพู่ตั้งตัวได้แล้วจึงค่อยนำทางมะพร้าวหรือซาแรนออก ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วงแรกของการปลูก

การออกดอกของชมพู่ทับทิมจันท์

การให้ปุ๋ยบำรุงต้นชมพู่ “ปุ๋ยคอก” ซึ่งนอกจากใส่ตอนเตรียมหลุมปลูกแล้ว เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยคอกอีกประมาณ 5-10 กก./ ต้น ตามความสมบูรณ์ของต้น ชนิดปุ๋ยคอกแล้วแต่จะสามารถจัดหามาได้ เช่น ปุ๋ยมูลไก่ มูลหมู และมูลวัว เป็นต้น แต่ที่สำคัญของการให้ปุ๋ยคอกนั้น ปุ๋ยคอกทุกชนิดต้องเป็นปุ๋ยคอกเก่าและมีการสลายตัวเรียบร้อยแล้ว หว่านในบริเวณทรงพุ่มและนอกทรงพุ่มเล็กน้อย ซึ่งควรมีการพรวนดินห่างจากชายทรงพุ่มออกไปเล็กน้อย ประมาณ 30 เซนติเมตร หรือ ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพที่สามารถทำเองได้และใช้ได้ผลดี ส่วนการให้ “ปุ๋ยเคมี” สำหรับการใส่ปุ๋ยเคมีนี้เกษตรกรควรพิจารณาตามระยะการเติบโต และอายุของต้นชมพู่และปริมาณผลผลิตที่ให้ในฤดูกาลที่ผ่านมาด้วย

สำหรับต้นชมพู่ที่ยังไม่ให้ผล ช่วงนี้ชมพู่ต้องการปุ๋ยเพื่อการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น กิ่ง ใบ เป็นหลัก ปุ๋ยเคมีควรใช้สูตรเสมอ เช่น 16-16-16 โดยให้ปริมาณครึ่งหนึ่งของอายุต้น ดังนั้นชมพู่ที่ปลูกปีแรกควรให้ปุ๋ยเคมีประมาณ 500 กรัม โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝน 1 ครั้ง และปลายฤดูฝนอีก 1 ครั้ง ส่วนในต้นที่ให้ผลแล้วอายุ 2 ปีขึ้นไป ช่วงก่อนหลังเก็บผล ต้องมีการบำรุงต้น กิ่ง ก้าน ใบ ควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 16-16-16 ในอัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้น หรือประมาณ 500 กรัม/ต้น ช่วงก่อนออกดอกเพื่อให้ชมพู่ออกดอกมากขึ้นนั้น ควรใส่ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูง เช่น 12-24-12 หรือ 8-24-24 ในอัตราส่วน 200-300 กรัม/ต้น

ปลูกชมพู่ทับทิมจันท์แบบยกร่อง

ช่วงพัฒนาผลหลังจากชมพู่ติดผลแล้วนั้น ผลจะมีการพัฒนาในระยะแรก จะมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้น เกษตรกรควรใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 ปริมาณ 200-300 กรัม/ต้น หลังผลใหญ่ขึ้นแล้วก่อนที่เก็บผล 1 เดือน เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยตัวท้ายสูง เช่น สูตร 13-13-21 แต่คุณสำเริง เลือกใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 19-9-34 ซึ่งจากการทดลองใช้พบว่าทำให้ชมพู่หวานมากกว่า อาจจะเป็นเพราะปริมาณเนื้อปุ๋ยตัวหลัง คือ โพแทสเซียมสูง (K) กว่านั้นเอง ปริมาณ 300-500 กรัม/ต้น และสามารถใส่ได้ทุกเดือนในช่วงที่เลี้ยงผล

ส่วนปุ๋ยทางใบ เป็นปุ๋ยที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วของการเจริญเติบโตของชมพู่ เช่น การใช้ไทโอยูเรีย เพื่อการเร่งให้ชมพู่แตกใบอ่อนพร้อมกัน หรือการพัฒนาผลชมพู่ให้มีคุณภาพดี คุณสำเริง จะใช้ปุ๋ยที่เพิ่มคุณภาพผล เช่น “ไฮโปส” ที่ช่วยสร้างเนื้อ เพิ่มความหวานและทำให้ชมพู่ทับทิมจันท์เข้าสี ทำให้ชมพู่สีแดงเข้มด้วย โดยจะฉีดไฮโปสตั้งแต่ห่อผลเสร็จไปตลอดทุกๆ 7 วัน โดยอัตราที่ใช้ คือ ไฮโปส อัตรา 500 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร แล้วสามารถผสมร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงชนิดอื่นได้ ผลของการใช้ไฮโปสแม้จะมีน้ำในร่องสวนตลอดหรือฝนตกมาบ่อย ชมพู่ที่สวนก็ยังคงหวาน ทำให้ชมพู่ที่สวนเป็นที่ต้องการของแม่ค้าที่มารับซื้อถึงหน้าสวน

ใช้ถุงพลาสติกมีหูหิ้วห่อผลชมพู่ทับทิมจันท์

ต้นชมพู่ 1 ปี 8 เดือน เริ่มให้ผลผลิต คุณสำเริง เล่าว่า หลังจากปลูกและดูแลต้นชมพู่ได้ราว 1 ปี 8 เดือน ต้นชมพู่ก็จะพร้อมให้ผลผลิตได้เก็บเกี่ยวบ้าง แต่จะเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่ในปีที่ 3 โดยต่อการออกดอก 1 รุ่น สามารถห่อผลได้ครั้งละ 70-80 ถุง หรือเป็นน้ำหนักก็ประมาณ 30-40 กก. ต่อต้น ซึ่ง 1 ถุงห่อ จะเลือกไว้ผล 2-3 ผล โดยผลชมพู่ทับทิมจันท์จะมีน้ำหนักเฉลี่ย 6-7 ผล ต่อกิโลกรัม ซึ่งการห่อผลนั้น การปลิดผลจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นการกำหนดขนาดและน้ำหนักของผลชมพู่ว่าจะมีผลเล็กหรือใหญ่เพียงใด โดยหลักการง่ายๆ ยิ่งไว้ผลมากคือ 4 ผล ต่อช่อ ขึ้นไป ย่อมทำให้ชมพู่มีขนาดผลเล็ก ไว้ผลน้อยก็ยิ่งจะได้ชมพู่ผลใหญ่

ซึ่งการออกดอกชมพู่จะออกบริเวณกิ่ง ในทรงพุ่มหลังจากดอกได้รับการผสมแล้วก็จะติดเป็นผล ที่มีขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายถ้วย หลังจากนั้นผลจะขยายใหญ่มีสีเข้มขึ้น เกษตรกรควรปลิดผลที่ถูกโรคแมลงทำลาย โดยเฉพาะผลชมพู่ที่แมลงวันทองเจาะทำลายคนห่อต้องปลิดทิ้ง ผลที่มีขนาดเล็กหรือรูปร่างผิดปกติออก โดยเหลือไว้ ช่อละ 2-3 ผล เท่านั้น กรณีที่มีช่อผลหลายๆ ช่ออยู่มากในกิ่งเดียวกัน ไม่ควรเก็บไว้ ให้เลือกปลิดช่อที่มากเกินไปออก เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอาหารกันเอง และจำนวนการห่อไม่ควรมากเกินไป โดยให้สัมพันธ์กับทรงพุ่มและความสมบูรณ์ของต้น

ผลชมพู่ระยะห่อได้ ควรไว้ผลให้เหลือ 2-3 ผล

การห่อผลทำให้ผิวสวย ป้องกันการทำลายจากแมลงวันทอง ก่อนห่อผลคุณสำเริง จะฉีดพ่นฮอร์โมนช่วยบำรุงดอก เช่น โบร่า เพื่อช่วยผสมเกสรง่ายและติดผลดก ฉีดพ่นสัก 3 ครั้ง คือ ช่วงเริ่มออกดอก ดอกเริ่มบาน และหลังเกสรดอกเริ่มโรย การห่อผลชมพู่ คุณสำเริง จะทำควบคู่กับการปลิดเลยในเวลาเดียวกัน ในการห่อผลนี้เกษตรกรจะเลือกถุงพลาสติกแบบมีหูหิ้วสีขาวขุ่น เจาะ 2-3 รู เพื่อให้น้ำออกและระบายอากาศ ก่อนห่อ คุณสำเริง จะใช้วิธีฉีดพ่นสารเคมีป้องกัน กำจัดแมลง คือ เมกก้า อัตรา 10 ซีซี เพื่อฆ่าแมลงศัตรูที่อาจจะเกาะที่ผล เช่น เพลี้ยไฟ+ฮอร์โมน จิบเบอเรลลิน อัตรา 2 ซีซี เพื่อทำให้ทรงผลชมพู่ยาวและขยายขนาดผล+สารโปรวิต 30 ซีซี เพื่อช่วยบำรุงผล ผสมทั้งหมดในน้ำ 5 ลิตร โดยคุณสำเริงจะแบ่งใส่ในกระบอกฉีดน้ำหรือฟ็อกกี้ เมื่อปลิดผลเสร็จ จะฉีดด้วยสารและฮอร์โมนดังกล่าว แล้วจึงห่อด้วยถุงพลาสติกมีหูหิ้ว ขนาด 7×15 นิ้ว โดยจะผูกปากถุงด้วยเงื่อนชั้นเดียว หลังจากห่อผลได้ราว 1 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวชมพู่ขายได้ ซึ่งรวมเวลาตั้งแต่แทงช่อดอกจนเก็บเกี่ยวได้ จะใช้เวลาทั้งหมด 3 เดือน พอดี

การเก็บนั้นควรใช้กรรไกรตัดขั้วจะสะดวกและรวดเร็ว จะเก็บมาทั้งถุงที่ห่อชมพู่แล้ว ใส่เข่งที่กรุด้วยกระสอบปุ๋ย เพื่อป้องกันความคมของภาชนะที่จะทำให้ผิวชมพู่บอบช้ำได้ จากนั้นจึงคัดเลือกชมพู่ โดยเริ่มที่แกะถุงห่อชมพู่ออก คัดคุณภาพโดยคัดผลแตก ผลเป็นโรคและแมลงทำลาย คัดขนาดแล้ว บรรจุลงตะกร้าพลาสติกที่ด้านข้างกรุด้วยใบตองหรือกระดาษ แล้วปิดทับด้านหน้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เพื่อรักษาความชื้นของชมพู่ไว้ รอให้แม่ค้ามารับไปขายต่อ

ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน ที่ปลูกโดยชมรมเผยแพร่ฯ จ.พิจิตร

การผลิตชมพู่นอกฤดู ชมพู่จะออกดอกเป็น 2 รุ่นใหญ่ๆ คือ ช่วงประมาณปลายเดือนธันวาคม-มกราคม เก็บผลในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และจะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์และเก็บผลในเดือนเมษายน–พฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นชมพู่ที่ออกตามฤดูกาล โดยเฉพาะชมพู่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเป็นช่วงที่ชมพู่มีราคาถูกที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ผลไม้ นตลาดมีมาก เช่น มะม่วง ทุเรียน เงาะ และมังคุด เป็นต้น ชาวสวนจึงต้องพยายามบังคับให้ชมพู่ออกดอกและมีผลผลิตช่วงนอกฤดูกาล เช่น บังคับให้ออกดอกมากช่วงปลายในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และไปเก็บผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ซึ่งในช่วง 3 เดือนนี้ ชมพู่จะมีราคาสูง อย่างปีที่แล้วชมพู่เบอร์ใหญ่ ราคากิโลกรัมละ 100-140 บาท เลยทีเดียว

ชมพู่ทับทิมจันท์เริ่มเข้าสี อีก 1 สัปดาห์ เก็บเกี่ยวได้

การใช้ “สารแพคโคลบิวทราโซล” ทำชมพู่นอกฤดู สำหรับการใช้สารแพคโคลบิวทราโซล เป็นเทคนิคที่ชาวสวนชมพู่ใช้กันอยู่ ซึ่งมีทั้งการฉีดพ่นให้ทางใบและราดทางดิน โดย คุณสำเริง อธิบายว่า ที่สวนจะเลือกใช้สารแพคโคลบิวทราโซล ชนิดความเข็มข้น 15% (เช่น แพนเที่ยม 15%) โดยจะเริ่มราดสารช่วงปลายเดือนพฤษภาคมของทุกปี และทำให้ชมพู่ออกดอกในช่วง 45-50 วัน หลังการราดสาร และเก็บผลผลิตได้ราวช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม ของทุกปี โดยอัตราการใช้สารแพนเที่ยม 15%  คือ 20 กรัม/ต้น (ต้นชมพู่อายุ 6-7 ปี มีขนาดทรงพุ่ม 5-6 เมตร) ผสมสารกับน้ำสะอาด ประมาณ 5 ลิตร ผสมในฝักบัวโดยก่อนการราดสาร ต้นชมพู่ต้องมีความสมบูรณ์ ฉีดสะสมอาหารมาก่อนและทำโคนต้นให้สะอาด และการราดสารต้องราดช่วงที่ใบชมพู่อยู่ในระยะ “ใบเพสลาด” จึงจะได้ผลดีที่สุด โดยสารจะไปทำให้ต้นชมพู่ชะลอการเจริญเติบโต ทำให้ต้นชมพู่หยุดแตกใบอ่อนและพร้อมที่จะเปิดตาดอกช่วงเวลาที่เราต้องการ ไม่ควรที่จะราดสารในช่วงที่ใบชมพู่เป็นใบอ่อนโดยเด็ดขาด หลังให้สารแก่ต้นชมพู่

เช้ารุ่งขึ้น คุณสำเริง จะใช้เรือรดน้ำให้แก่ต้นชมพู่จนชุ่มทั้งแปลงและจะงดการให้น้ำ แล้วประมาณ 1 เดือน ควรให้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงได้ เช่น 8-24-24 เพื่อให้ต้นชมพู่เตรียมพร้อมในการสร้างตาดอก ซึ่งอาจจะทำให้ชมพู่สามารถออกดอกได้มากยิ่งขึ้น หลังการใส่ปุ๋ยและรดน้ำให้ก็ยังคงงดน้ำต่อจนครบเวลา คือราว 45 วัน ดูว่าต้นชมพู่ใบเขียวเข้ม มีความพร้อมที่จะออกดอก ก็จะฉีดสารเปิดตาดอก เช่น โพลี่เอไซม์ ทุก 7-10 วัน โดยจะเน้นการเปิดตาดอกเรื่อยๆ ให้ต้นชมพู่ออกดอกตลอด ออกดอกหลายรุ่นให้เราได้เลือกห่อตลอดฤดูกาลนั่นเอง

ไว้ 3 ผล ต่อช่อ

ปัจจุบัน สวนชมพู่ของ คุณสำเริง จะเน้นขายส่งให้แม่ค้าในท้องถิ่น แม่ค้าตลาดนัด ขายได้ราคาเฉลี่ย กก. 20-50 บาท ซึ่งสามารถเก็บส่งขายได้เกือบทุกวัน ได้เงินทุกวัน ปีที่ผ่านมามีรายได้ราว 3 แสนบาท โดยหักต้นทุนที่ใช้สารเคมี ปุ๋ย ฮอร์โมนใช้ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ เพียง 30,000 บาท ต่อปี ซึ่งคุณสำเริงกล่าวทิ้งท้ายว่า “การทำสวนชมพู่ เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความขยัน แม้ชมพู่ราคาตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 10 บาท ชาวสวนก็ยังพอมีกำไรอยู่ได้ ด้วยชมพู่เป็นพืชที่ให้ผลผลิตมาก”