ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ข้าวโพดตักหงาย เป็นข้าวโพดข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดเลย ที่มีลักษณะเด่น คือ ขนาดฝักเล็กประมาณ 10-15 ซม. เมล็ดสีม่วง กลิ่นหอม รสชาติเหนียวนุ่ม และเคี้ยวไม่ติดฟัน เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วไป
มีเรื่องเล่าในท้องถิ่นว่า ชาวบ้านรายหนึ่งได้กินข้าวโพดชนิดนี้ แล้วเกิดติดใจในรสชาติความอร่อย กินเพลินจนหยุดไม่ได้ ต้องกินไปเรื่อยๆ จนหงายท้องกันเลยทีเดียว ทำให้ข้าวโพดพันธุ์นี้ถูกเรียกขานว่า “ตักหงาย” มาจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน จังหวัดเลยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดตักหงายประมาณ 2,000 ไร่กระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย นาแห้ว ภูเรือ ท่าลี่ และ อำเภอเมือง ข้าวโพดตักหงายมีอายุออกดอก 52-90 วัน ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการของเกษตรกร โดยเฉลี่ยจะมีผลผลิต 2-6 ฝัก ต่อต้น ราคาขายส่งหน้าสวน 7-10 บาท ต่อ 20 ฝัก เกษตรกรจะมีรายได้ประมาณ 2-4 หมื่นบาท ต่อไร่
ข้าวโพดตักหงายใกล้เสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะเกิดการผสมข้ามพันธุ์กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ทำให้สีเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีขาว และแข็งขึ้น รสชาติและความหอมไม่เหมือนเดิม
กรมวิชาการเกษตร จึงได้ดำเนินโครงการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดตักหงายสายพันธุ์แท้ เพื่ออนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป หากสนใจข้อมูล “ข้าวโพดตักหงาย” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย โทร.0-4280-4409, 0-4280-4357 ในวันและเวลาราชการ