ผอ.รพ.ที่อุบล พลิกผืนนาให้มีราคา ด้วยเกษตรผสมผสาน

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง อยู่ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น ซึ่งต้องสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน มีความพอกินพอใช้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับตนเอง และสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

วันนี้ จะพาท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับบรรยากาศอันสดชื่น เย็นสบายๆ ภายในบริเวณทุ่งนา (นาข้าว) ซึ่งแปรสภาพเป็นไร่นาสวนผสม ของ คุณคำปน จันทร์ชนะ อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 10 ตำบลเซเป็ด อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันประกอบอาชีพรับราชการ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านนาเดื่อ ตำบลเซเป็ด อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

คุณคำปน กับ คุณบานเย็น

คุณคำปน เป็นคุณหมอนักสู้ผู้มีอุดมการณ์แน่วแน่ ทั้งด้านการปฏิบัติงาน และการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 จนสามารถเป็นนักบริหารที่ดี มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ไม่มีหนี้สินทั้งในและนอกระบบ แถมมีเงินฝากอีกก้อนโต พอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย

คุณคำปน เล่าถึงความเป็นมาในการพลิกผืนดินอันแห้งแล้งให้อุดมสมบูรณ์และเขียวชอุ่มตลอดปี มีรายได้ตลอดเวลา ว่าตนมีที่ดินอยู่ 10 ไร่ ซึ่งเดิมทีก็ทำนาปลูกข้าวอย่างเดียว ทำไปทำมาก็ทำท่าจะแย่ เพราะไม่ก่อให้เกิดรายได้ เนื่องจากว่าปลูกข้าวเอาไว้กินเท่านั้น ต่อมาจึงได้ปรึกษากับ คุณบานเย็น จันทร์ชนะ ผู้เป็นภรรยา ที่มีอาชีพรับราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเซเป็ด อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ว่า ควรจะหันมาทำไร่นาสวนผสม เพื่อจะได้มีรายได้เสริมขึ้นมาอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นตัวอย่างและแนวทางที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย และสามารถดูแลและลงมือทำได้นอกเวลาราชการ นอกจากนี้ ยังจะมีผลผลิตทั้งพืช ผัก ผลไม้ เอาไว้รับประทานเอง อันเป็นการลดรายจ่ายได้เป็นอย่างดี

บ่อปลานขนาดใหญ่ ที่คุณคำปนขุดเอาไว้เลี้ยงปลาดุกอุย และ ปลานิล

เมื่อคิดได้เช่นนี้ จึงเริ่มปรับที่นา แล้วแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ เพื่อขุดสระเลี้ยงปลา จำนวน 2 บ่อ (เป็นการเลี้ยงโดยธรรมชาติ) และแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกไม้ผล จำพวก กล้วยน้ำว้า มะม่วง มะละกอ มะขามหวาน มะพร้าวน้ำหอม และปลูกผักอีกหลายชนิด ส่วนพื้นที่สำหรับทำนาก็เหลือไว้เพียงเล็กน้อย แบบว่าทำนาแค่พอกิน ไม่ได้ทำเพื่อขาย ส่วนผลผลิตบางอย่าง เช่น จำพวกผัก ผลไม้ และปลา จะมีนำออกขายบ้าง เพราะมีพ่อค้ามาขอซื้อถึงที่ ซึ่งได้ขายในราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก เพราะไม่ได้มุ่งผลกำไร ที่ทำลงไปเพื่อให้ตนเองพออยู่พอกิน และเอาฝากญาติพี่น้อง ตลอดจนเพื่อนๆ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตนจะไม่เน้นเรื่องกำไรในแต่ละปี แต่ก็ยังมีรายได้จากการขายผลผลิตในไร่นาสวนผสมเป็นเงินไม่ใช่น้อย

มะละกอ กล้วย มะพร้าว

คุณคำปน เล่าต่อว่า การทำไร่นาสวนผสมของตนก็จะเน้นไปที่การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือประเภทปุ๋ยชีวภาพเพื่อที่จะได้ปลอดสารพิษ ชีวิตของผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลอดจนสิ่งแวดล้อมจะได้แข็งแรงและยั่งยืน พูดง่ายๆ ก็คือ ตนเน้นการทำเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นการเกษตรที่เกื้อกูลกันทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยคำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ จึงอยากฝากบอกเกษตรกรด้วยว่า ให้ทำการเกษตรโดยยึดหลักพอเพียง ยึดหลักการผลิตที่เหมาะสมกับระบบนิเวศ โดยใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อสภาพแวดล้อม เพื่อให้ชีวิตคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั่วไป ดำรงอยู่ได้ยาวนานจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน สืบไป

ในตอนท้าย คุณคำปน ขอฝากเกร็ดความรู้เรื่องปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพในการทำเกษตรธรรมชาติด้วยว่า เนื่องจากเราไม่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่จะหันมาปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพแทน ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้จะให้ทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองแก่พืชอย่างครบถ้วนและในปริมาณที่มากพอ จึงใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูกพืชได้ นอกจากนี้ เกษตรกรที่คิดจะทำไร่นาสวนผสมหรือทำการเกษตรแบบธรรมชาติ ต้องรู้จักการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีเกษตรธรรมชาติอีกด้วย อย่าลืมว่า การที่จะฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติในไร่ในนาที่ผ่านการใช้สารเคมีในรูปแบบต่างๆ มาอย่างมาก และเป็นเวลานานให้กลับคืนมาอุดมสมบูรณ์แบบธรรมชาติ เป็นเรื่องที่พี่น้องชาวนาสามารถทำได้ แต่อาจจะใช้เวลาหลายปี หากสนใจในเรื่องนี้ ก็สามารถมาปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากตนได้

แก้วมังกร และ กล้วยน้ำว้า

สำหรับการป้องกันและกำจัดวัชพืช ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เช่น ใช้วิธีการถอน ใช้จอบถาง ใช้วิธีการไถพรวน ใช้วัสดุคลุมดิน ซึ่งเป็นการปกคลุมผิวดินช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ และเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินอีกด้วย และปลูกพืชคลุมดิน เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินในสวนไม้ผล การปลูกพืชต่างๆ เช่น ผัก ไม้ดอก สมุนไพร แซมในสวนไม้ผล เป็นต้น ส่วนการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เช่น การป้องกันและกำจัดโดยวิธีกล เช่น การใช้มือจับแมลงมาทำลาย การใช้มุ้งตาข่าย การใช้กับดักแสงไฟ การใช้กับดักกาวเหนียว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากมาย แล้วแต่เกษตรกรจะเลือกนำมาปฏิบัติหรือนำมาใช้

นับได้ว่า คุณคำปน จันทร์ชนะ เป็นข้าราชการตัวอย่างอีกคนหนึ่งที่วางตัวและปฏิบัติตนอยู่ในทางสายกลาง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นผู้ที่ยึดหลักประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่าย ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มพูนในครัวเรือนของตน และหากเกษตรกรท่านใด หรือหน่วยงานใดต้องการศึกษาดูงาน หมอคำปน บอกว่า ยินดีฮับต้อน และพร้อมที่จะนึ่งข้าวเหนียวร้อนๆ นึ่งผัก นึ่งปลาร้อนๆ จิ้มแจ่วปลาร้า และปลาเผา รวมทั้งต้มปลาสดๆ รสแซ่บๆ แล้วลงท้ายด้วยเมนูผลไม้ เช่น มะพร้าวน้ำหอม หรือผลไม้สดๆ ตามฤดูกาล ชนิดที่ว่า ไม่อิ่มห้ามกลับ…!!