ไขความลับ เหตุไฉน “ไก่บ้านตะนาวศรี” ครองใจลูกค้านาน 2 ทศวรรษ

คนในวงการเลี้ยงไก่พื้นเมืองต่างรู้จัก อาจารย์ลิขิต สูจิฆระ กันดี อดีตท่านเป็นอาจารย์ทางด้านการเกษตร แต่พลิกชีวิตมาเป็นเกษตรกร ประกอบกับมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาไก่พื้นเมือง หรือไก่บ้านไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก

20151127_114716

อาจารย์ลิขิต อยู่ในแวดวงการเลี้ยงไก่มายาวนาน เขาเริ่มต้นแนวคิด พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง เมื่อปี 2522 ทั้งนี้เพราะเดิมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของเกษตรกรไทย เป็นการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติให้ไก่หากินอาหารเอง ปล่อยให้นอนตามใต้ถุนบ้าน หรือตามต้นไม้ ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้ทำให้ดูแลรักษาคุณภาพของไก่พื้นบ้านทำได้ยาก ไก่โตช้าหรือใช้ระยะเวลาการเลี้ยงนานกว่าไก่ทางการค้ามาก อีกทั้งคุณภาพของเนื้อไก่ที่ได้จะเหนียวไม่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค

พูดง่ายๆ อาจารย์ลิขิต อยากปรับปรุง ให้ไก่บ้านพันธุ์ใหม่ ต้องอร่อย ไม่เหนียว ไม่ยุ่ย ไม่คาว ไม่มีกลิ่นสาบ ตัวไก่ต้องมีโครงร่างที่ดี ปริมาณเนื้อมาก ระยะเวลาการเลี้ยงไม่นานจนเกินไป แต่ยังต้องคงรูปร่างหน้าตาของไก่ให้เหมือนกับไก่บ้านไทย

จากความมุ่งมั่น ทุ่มเท กลายเป็นความสำเร็จ โดยปี 2532 สายพันธุ์ไก่พื้นบ้านพันธุ์ใหม่ของประเทศได้ถือกำเนิดขึ้น ภายใต้ชื่อว่าไก่ลูกผสมพื้นเมืองตะนาวศรี หรือรู้จักกันในชื่อว่า “ไก่พันธุ์แอล” ซึ่งมาจากตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของคำว่า ลิขิต (Likit)

%e0%b8%95

สำหรับไก่ลูกผสมพื้นเมืองตะนาวศรี เกิดขึ้นจากการผสมกันระหว่างพ่อพันธุ์ไก่ชนตะนาวศรี และแม่พันธุ์ไก่แดงตะนาวศรี ทั้งนี้ พ่อพันธุ์ไก่ชนตะนาวศรี เป็นพ่อพันธุ์ไก่ชนที่ผ่านการคัดเลือกจากไก่ชนไทยที่มีลักษณะตามตลาดต้องการ ส่วนแม่พันธุ์ไก่แดงตะนาวศรี เป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการค้นคว้าพัฒนา โดยนำไก่พื้นเมืองของไทยมาผสมข้ามสายพันธุ์กันกว่า 20 สายพันธุ์ เช่น พันธุ์เหลืองหางขาว ไก่ชีท่าพระ ไก่แดงสุราษฎร์ และไก่ประดู่หางดำ เป็นต้น จนกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพเนื้อที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภค เนื้ออร่อย ไม่เหนียว ไม่ยุ่ย ไม่คาว ไม่มีกลิ่นสาบ มีโครงร่างดีปริมาณเนื้อมาก แม่พันธุ์สามารถผลิตไข่ได้ดี

20151127_114332

ที่น่าสนใจอีกประการคือ ทางตะนาวศรีจะเน้นการเลี้ยงด้วยสมุนไพรไทย แทนการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรค และปราศจากสารเร่งโต  เพราะเดิมที  อาจารย์ลิขิตสังเกต พบว่า ไก่โดยทั่วไปมักจะเกิดโรคระบาดประจำอยู่ 2 ชนิด คือ โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง บิด อหิวาตกโรค เป็นต้น และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น หวัด จนเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาโรคในไก่อย่างมาก ซึ่งยาเหล่านี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง อาจารย์ลิขิตจึงเริ่มสนใจศึกษาสมุนไพรของไทยที่มีอยู่เดิมจะช่วยรักษาโรคต่างๆดังกล่าวข้างต้นและสามารถใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะได้

20151127_114643

การศึกษาเรื่องของสมุนไพรไทย อาจารย์ลิขิตได้ผสมระหว่างสมุนไพร 3 ชนิดในอัตราส่วนที่เหมาะสมลงในอาหารเลี้ยงไก่จะช่วยป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวทางเดินอาหารและทางเดินหายใจได้ โดยสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ประกอบด้วย ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชันและไพล และองค์ความรู้ดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดออกไปสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่โดยทั่วไป มาตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา