เกษตรกรสุรินทร์แนะวิธีเลี้ยงวัวให้ได้เนื้อวากิวคุณภาพดี จนร้านอาหารญี่ปุ่นต้องมาขอซื้อ

คุณมานพ แสงดำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ให้ข้อมูลว่า เดิมชาวบ้านที่บริเวณนี้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ดั้งเดิมอยู่แล้ว ต่อมาจึงเกิดมีแนวความคิดที่อยากจะเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์ที่เลี้ยง คือการเลี้ยงโคลูกผสมญี่ปุ่นหรือโควากิว เข้ามาแทนที่การเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิม เพราะโคสายพันธุ์นี้สามารถทำการตลาดและมีราคาที่ดีกว่าสัตว์ชนิดเดิมที่ทำการเลี้ยงกันอยู่ในรูปแบบเดิม

“โควากิวเมื่อเทียบกับการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ แล้ว เมื่อผ่านการเลี้ยงเพียงครั้งเดียว สามารถทำรายได้ให้กับผู้เลี้ยงเป็นหลายต่อ เพราะตัวโคสายพันธุ์นี้มีมูลค่าสูง ตลาดมีความต้องการ ซึ่งโควากิวนี้เป็นโคที่เมื่อเลี้ยงแบบขุน คุณภาพเนื้อจะมีไขมันแทรกอยู่ รสชาติของเนื้อมีความนุ่มความหอม เป็นคุณลักษณะเฉพาะของเนื้อโคสายพันธุ์นี้ ซึ่งการผสมพันธุ์ที่นี่ก็จะเอาโควากิวเลือด 100 เปอร์เซ็นต์ มาผสมเข้ากับโคพื้นเมือง โดยให้สายเลือดที่ได้มีเลือดวากิวอยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ก็สามารถเลี้ยงเจริญเติบโตส่งขายเป็นโคขุนที่มีเนื้อได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการได้เป็นอย่างดี” คุณมานพ กล่าว

คุณเคียงเดือน สงวนชื่อ อยู่บ้านเลขที่ 104 หมู่ที่ 3 ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นเกษตรกรที่นำโคลูกผสมวากิวมาเลี้ยงเป็นอาชีพสร้างรายได้ โดยเธอมีการพัฒนาการเลี้ยงอยู่เสมอ เพื่อให้โคที่เลี้ยงมีคุณภาพเนื้อที่ดีตรงตามมาตรฐานที่ตลาดกำหนด จึงทำให้การเลี้ยงโคสายพันธุ์นี้ตอบโจทย์และสร้างรายได้ให้กับเธอมาเป็นเวลา 10 ปีทีเดียว

คุณมานพ แสงดำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสลักได

ทำอาชีพทางด้านปศุสัตว์  มาตลอดทั้งชีวิต

คุณเคียงเดือน เล่าให้ฟังว่า งานที่เป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับเธอมาอย่างยาวนาน ก็จะเป็นเกี่ยวกับการเลี้ยงโค ซึ่งสมัยก่อนนั้นเลือกเลี้ยงโคสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่โคลูกผสมวากิว ต่อมาประมาณปี 2550 เกิดแนวความคิดว่าหากไม่เลือกเลี้ยงโคที่เป็นสินค้านำตลาดแล้ว ยังยึดแต่การเลี้ยงอยู่ในรูปแบบเดิมๆ จะส่งผลต่อการสร้างรายได้ของเธอ ในเวลาต่อมาจึงศึกษาวิธีการเลี้ยงโคลูกผสมวากิวเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพ

คุณเคียงเดือน สงวนชื่อ

“ราคาโคสายพันธุ์ที่เราเลี้ยง เรื่องของราคานี่มันจะไม่ค่อยนิ่ง มีขึ้นมีลง บางปีนี่ราคาตกลงไปเยอะ ทีนี้เราก็เลยตัดสินใจว่า น่าจะเลี้ยงสายพันธุ์อื่นดูที่สามารถทำในเรื่องของราคาได้ ก็เลยได้มารู้จักโควากิว ว่าเรื่องการตลาดค่อนข้างชัดเจน จึงไปหาซื้อตัวเมียมาเลี้ยงภายในฟาร์มประมาณ 3 ตัว เราก็เริ่มลองขุนพร้อมทั้งศึกษาอุปนิสัยต่างๆ ดูการกินอาหารของโคว่าเป็นยังไง ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ การเลี้ยงก็ประสบผลสำเร็จดี พร้อมทั้งเรียนรู้และพัฒนาอยู่เสมอด้วยไม่ได้หยุดนิ่ง” คุณเคียงเดือน บอกถึงจุดเริ่มต้นการเลี้ยงโคลูกผสมวากิว

โคลูกผสมวากิว

เลี้ยงแบบยืนโรง โคก็เจริญเติบโตได้ดี

ในขั้นตอนของการเลี้ยงโคลูกผสมวากิวนั้น คุณเคียงเดือน บอกว่า จะเลี้ยงให้อยู่ในโรงเรือนที่เตรียมไว้แบบยืนโรงจนสามารถจำหน่ายได้ ซึ่งโคภายในฟาร์มของเธอที่นำมาเลี้ยงเป็นโคที่ผ่านการผสมพันธุ์เองภายในฟาร์ม จากนั้นให้โคอยู่กับแม่โคมีอายุอย่างน้อย 5 เดือนขึ้นไป ก็จะนำมาเข้าสู่การเลี้ยงระยะขุน เพื่อให้โคลูกผสมวากิวมีโครงสร้างของภายในเนื้อมีไขมันแทรกตรงตามที่ตลาดต้องการ

ลูกโค

“เนื่องจากโคเป็นลูกผสม ดังนั้น ในเรื่องของการเลี้ยง เราก็จะดูแลใส่ใจตั้งแต่โคอยู่ในท้องแม่ เลี้ยงดูให้แม่โคและลูกมีความพร้อมสมบูรณ์ เมื่อคลอดออกมาก็เลี้ยงให้อยู่กับแม่จนหย่านมได้อายุอยู่ที่ 5 เดือน จากนั้นแยกคอกเลี้ยงเดี่ยว เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการขุน โดยเลือกโคตัวผู้มาตอนและเข้าขุน หรือบางครั้งก็มีตัวเมียบ้างที่ดูแล้วไม่สามารถผลิตลูกได้ เราก็จะเอามาเลี้ยงเป็นโคขุนเหมือนกัน ซึ่งอาหารในช่วงแรกจะให้กินหญ้าเนเปียร์หมักผสมกับอาหารข้นที่มีโปรตีนอยู่ 18 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนหญ้า 3 กิโลกรัม ต่ออาหารข้นกิโลครึ่ง ต่อมื้อ ให้กินวันละ 2 มื้อ” คุณเคียงเดือน บอก

เมื่อขุนจนครบ 1 ปี จะปรับสูตรอาหารให้โคกินกากมันพร้อมทั้งผสมจุลินทรีย์เข้าไปในอาหารอยู่แบบนี้อีกประมาณ 8 เดือน จะปรับสูตรอาหารอีกครั้งโดยลดจำนวนหญ้าให้กินน้อยลง เมื่อโคมีอายุเข้าสู่ 22-23 เดือน จะหยุดให้กินหญ้าทันที แต่จะให้กินอาหารข้นกากมันผสมกับจุลินทรีย์แทน ขุนต่ออีก 6 เดือน จะหยุดอาหารที่เป็นจำพวกกากมันให้หมดและให้กินเป็นอาหารข้นเพียงอย่างเดียวจนส่งจำหน่าย
โคลูกผสมวากิวที่ผ่านการขุนตามโปรแกรมอาหาร

ในเรื่องของการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นกับโคลูกผสมวากิวนั้น คุณเคียงเดือน บอกว่า จะทำวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยปีละ 2 ครั้ง พร้อมทั้งทำวัคซีนป้องกันโรคคอบวมอีกปีละ 1 ครั้ง

“สัตว์ทุกตัวเราจะมีใบประวัติที่ชัดเจน ตั้งแต่เกิดจนถึงส่งจำหน่ายว่า ในแต่ละวันแต่ละปี เรามีการจัดการและทำวัคซีนอะไรให้กับสัตว์บ้าง ช่วงที่สัตว์ป่วยมีการใช้ยาอะไรรักษา ในเรื่องของใบประวัติก็จะบักทึกไว้หมด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะคอยมาดูแลเรื่องนี้ให้กับเรา ใครที่เลี้ยงและกังวลในเรื่องการป้องกันโรคก็ไม่ต้องกลัว ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ไว้ เจ้าหน้าที่จะติดตามและมาคอยดูแลโคอย่างใกล้ชิด” คุณเคียงเดือน บอก

การขายโคลูกผสมวากิว เป็นตลาดแบบซื้อขายล่วงหน้า

เมื่อในพื้นที่เริ่มมีการเลี้ยงโคลูกผสมวากิวมากขึ้น จึงเป็นผลให้ในเรื่องของตลาดก็ตามเข้ามาภายในพื้นที่ด้วย โดยร้านอาหารญี่ปุ่นได้ขอเข้ามาทำสัญญาซื้อขาย ตั้งแต่เริ่มขุนไปจนถึงโคที่เลี้ยงได้ขนาดไซซ์ที่ใหญ่ตามที่ต้องการ ซึ่งโคที่มีเลือดผสมวากิวอยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ จะมีไขมันแทรกดีกว่าโคที่มีเลือดผสมวากิวอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งอายุการเลี้ยงตั้งแต่เกิดจนสามารถส่งจำหน่ายได้ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 28 เดือน เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ใช้เวลาเลี้ยงถึง 30 เดือน

คุณภาพเนื้อที่มีไขมันแทรก

“ในเรื่องของสายเลือดว่ากี่เปอร์เซ็นต์ดีที่สุด ตอนนี้ที่เราเลี้ยงกันมา สายเลือดวากิวอยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ โคค่อนข้างมีโครงสร้างและไขมันแทรกที่ดี ซึ่งในเรื่องนี้เราก็ยังไม่หยุดพัฒนา ยังหาวิธีการพัฒนาดูกันไปเรื่อยๆ โดยการขายเราจะขายแบบเป็นซาก เอาตัวโคเข้าโรงเชือดที่ได้มาตรฐาน เอาเครื่องใน เขา ข้อเท้า และหาง ออกให้หมด เหลือแต่เนื้อที่ติดกับกระดูกแขวนบ่มไว้ 7 วัน จากนั้นก็ตัดกลางลำตัวและตัดแบ่งกลาง นำเนื้อสันนอกไปให้คัดเกรดอีกครั้ง ซึ่งเกรดการขายก็มีด้วยกันถึง 6 เกรด ราคาขายตั้งแต่กิโลกรัมละ 225-500 บาท ซึ่งใน 1 ตัว เนื้อสามารถแบ่งได้หลากหลายเกรด ดังนั้น ใน 1 ตัวเฉลี่ยแล้วราคาคิดเป็นตัวก็จะเฉลี่ยได้ตั้งแต่ 80,000 บาท ไปจนถึงหลักแสนบาทก็มี” คุณเคียงเดือน บอกถึงเรื่องการตลาด

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงโคลูกผสมวากิวเป็นอาชีพทำเงิน คุณเคียงดือน แนะนำว่า การเลี้ยงโคสายพันธุ์นี้จะเน้นเลี้ยงแบบประณีต ดังนั้น ในเรื่องของการจัดการจะค่อนข้างมีระบบแบบแผนที่ชัดเจน หรือหากชอบสายพันธุ์อื่นก็เลี้ยงในแบบที่ชื่นชอบ แต่ในเรื่องของการตลาดต้องมีการจัดการที่ดี การเลี้ยงโคก็จะประสบผลสำเร็จและสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้แน่นอน

ก๋วยเตี๋ยวที่ปรุงด้วยเนื้อวากิว

สนใจในเรื่องของการเลี้ยงโคลูกผสมวากิว สามารถติดต่อสอบถามและเข้าศึกษาดูวิธีการเลี้ยงได้ที่ วิสาหกิจชุมชนโคขุนสุรินทร์วากิวครบวงจรตำบลสลักได โทรศัพท์ (089) 423-0356 หรือหากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ คุณเคียงเดือน สงวนชื่อ โทรศัพท์ (087) 448-4637