นวัตกรรมใหม่ “ถุงห่อชมพู่” เพิ่มรสหวาน ลดต้นทุน 6 เท่า ต้นทุนแค่ 2 บาท ใช้งานนาน 10 ปี

หนึ่งในนวัตกรรมรางวัลสิ่งประดิษฐ์แห่งชาติ เมื่อปี 2560 จากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่อยากนำมาบอกเล่าในฉบับนี้ คือ “ถุงห่อชมพู่ หวานแน่ กรอบนาน” ของ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ช่วยให้ผลชมพู่มีสีแดงสวยงามสม่ำเสมอ รสชาติหวานขึ้นกว่าเดิม 40 เปอร์เซ็นต์ เนื้อแน่นกรอบกว่าเดิม 2 เท่า แก้ปัญหาเรื่องคุณภาพชมพู่ทับทิมจันท์ หนึ่งในผลไม้เศรษฐกิจส่งออกสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศที่ส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นคู่ค้าหลัก นวัตกรรมดังกล่าวจะทำให้สินค้าไม่มีการตีกลับจากผู้ค้าต่างชาติ และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันกับชมพู่ของไต้หวันได้ในอนาคต

นวัตกรรม “ถุงห่อชมพู่ หวานแน่ กรอบนาน” มีต้นทุนการผลิตเพียง ถุงละ 2 บาท และสามารถใช้ซ้ำได้นานถึง 10 ปี ช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรในระยะยาวได้กว่า 5-6 เท่า ช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตที่มีคุณภาพดี ได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่า ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เตรียมแผนต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าว สู่เชิงพาณิชย์ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ภาคการเกษตรและประชาชนในเร็วๆ นี้

 เรียนรู้ปัญหาชมพู่ ที่ สวนเจริญสุข ราชบุรี

รองศาสตราจารย์ วรภัทร ลัคนทินวงศ์ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากการลงพื้นที่ศึกษาเรื่องการปลูกดูแลชมพู่ทับทิมจันท์ ที่สวนเจริญสุข อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ก็พบว่า ทุกวันนี้ ชมพู่มีปัญหาด้านผลผลิต เพราะคุณภาพสีชมพู่ไม่สม่ำเสมอ มีแมลงวันผลไม้ และเกิดการเน่าเสียระหว่างขนส่ง ทำให้ชมพู่ไม้ผลเศรษฐกิจที่เคยครองตำแหน่งผู้นำตลาดส่งออกผลไม้อันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นคู่ค้าหลัก สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศกว่า 1,100 ล้านบาท ต่อปี มียอดส่งออกลดลง หลังเจอปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า และจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ยังสั่งระงับการนำเข้าชมพู่จากประเทศไทย เมื่อปี 2555 ทำให้รายได้ของเกษตรกรสวนชมพู่ชะงักลงเป็นอย่างมาก

รองศาสตราจารย์ วรภัทร ลัคนทินวงศ์ (ซ้าย) และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร

รองศาสตราจารย์ วรภัทร กล่าวต่อว่า ทีมนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “ถุงห่อชมพู่ หวานแน่ กรอบนาน” โดยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ขั้นพื้นฐาน ผนวกรวมกับด้านเทคโนโลยีการเกษตร และการออกแบบ โดยแรกเริ่ม ต้นแบบของนวัตกรรมถุงชมพู่ ด้านบนของถุงจะถูกเย็บปิดด้วยผ้าตีนตุ๊กแก เพื่อให้สามารถพับติดได้ง่าย ขณะที่ก้นถุงจะใช้ด้ายดิบร้อยไว้ด้านใน โดยปล่อยให้ปลายเชือกยาวมาด้านนอก ในความยาว ด้านละ 5 นิ้ว เพื่อทำหน้าที่ดูดซับและระบายน้ำออกจากถุงเมื่อชมพู่เกิดการคายน้ำ หรือมีน้ำขังในถุงช่วงฤดูฝน ป้องกันการเน่าหรือการหลุดออกจากขั้วของผลชมพู่

ต่อมาจึงได้มีการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวอีกครั้ง โดยคัดเลือกวัสดุที่นำมาทำถุงใหม่ ด้วยการนำฉนวนกันร้อนชนิดโฟมที่มีความหนา 2 มิลลิเมตร ไว้ด้านนอก ด้านในจะวางซ้อนด้วยแผ่นโฟมชนิดบาง มาตัดเย็บเป็นถุงใน ขนาดที่สามารถห่อผลชมพู่ได้ เพื่อให้โฟมชนิดหนาทำหน้าที่ป้องกันความร้อนจากด้านนอก และคงความเย็นภายใน

รองศาสตราจารย์วรภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า อุณหภูมิดังกล่าวจะส่งผลให้ชมพู่สามารถผลิตสารสีแดง (Anthocyanin) ได้เพิ่มขึ้น 40-50% ซึ่งมีคุณค่าช่วยต้านมะเร็งในร่างกาย มีรสชาติที่หวานขึ้นกว่า 40% และมีความแน่นกรอบของเนื้อชมพู่ถึง 2 เท่า รวมไปถึงสีเนื้อชมพู่ที่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีขาวอมชมพู เนื่องจากการสร้างสารประกอบคลอโรฟิลล์ลดลง เมื่อเทียบกับการห่อด้วยถุงปกติ

ถุงห่อชมพู่ มีต้นทุนแค่ 2 บาท ใช้งานนาน 10 ปี

ในเบื้องต้น ทีมนักศึกษาได้ทดลองนำถุงห่อชมพู่ไปใช้งานจริงที่ สวนเจริญสุข จังหวัดราชบุรี เกษตรกรสามารถฉีดพ่นสารกันเพลี้ยแป้ง รวมไปถึงแมลงวันผลไม้ที่มาตอมผลชมพู่ เคลือบด้านในถุง เพื่อร่นระยะเวลาดูแลผลผลิตของเกษตรกร ปรากฏว่า ถุงห่อผลไม้ดังกล่าวช่วยให้ผลชมพู่มีสีสวยสด เนื้อเป็นสีขาวอมชมพู หวาน กรอบ มากกว่าผลชมพู่ที่ห่อด้วยถุงปกติ ทั้งนี้การห่อถุงอาจมีความไม่สะดวก จึงได้ทำการศึกษาพัฒนาต่อเนื่อง จนได้ถุงห่อชมพู่ในลักษณะซิปรูด เปิด-ปิด ทดแทนการใช้งานในรูปแบบตีนตุ๊กแกที่สะดวกต่อการใช้งาน และมีรูปทรงที่คงทนมากยิ่งขึ้น

การห่อชมพู่ด้วยถุงห่อต้นแบบ (แบบซิปรูดเปิด-ปิด)

ปัจจุบัน ถุงห่อผลชมพู่ดังกล่าวมีต้นทุนการผลิต ประมาณ ถุงละ 2 บาท สามารถนำมาใช้งานซ้ำได้นานถึง 10 ปี เพียงนำมาล้างและผึ่งแดดให้แห้งหลังการใช้งาน ช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรในระยะยาวได้กว่า 5-6 เท่า และสามารถขายผลผลิตที่มีคุณภาพในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่า

นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ถุงห่อชมพู่ดังกล่าว ช่วยขจัดปัญหาเรื่องคุณภาพของชมพู่ทับทิมจันท์ที่ส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยผลักดันให้ชมพู่ทับทิมจันท์สัญชาติไทย สามารถแข่งขันกับชมพู่ของไต้หวันในตลาดจีนได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ส่งผลให้ถุงห่อผลไม้ แบบ active bagging สำหรับห่อผลไม้เขตร้อนหรือกึ่งร้อน หรือ “ถุงห่อชมพู่ หวานแน่ กรอบนาน” ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์แห่งชาติ ประจำปี 2560 จากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) รางวัลเหรียญเงิน (Silver Prize) และรางวัล Special Award จากประเทศอียิปต์ จากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ SIIF กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เป็นเครื่องการันตี

การห่อชมพู่ด้วยถุงห่อต้นแบบ (แบบซิปรูดเปิด-ปิด)

รองศาสตราจารย์ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันและส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษา ประยุกต์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาธุรกิจของตัวเอง ตลอดจนเพื่อพัฒนาศักยภาพต่างๆ ของประเทศในภาพรวม ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีแผนในการต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าวสู่เชิงพาณิชย์ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ภาคการเกษตรและภาคประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของคณะ ที่มุ่งบ่มเพาะและผลักดันศักยภาพบัณฑิตผ่านการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างด้านวิทยาศาสตร์และการจัดการ เพื่อปั้นบัณฑิตให้มีความรู้เชี่ยวชาญพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ควบคู่กับทักษะด้านการบริหาร สู่การเป็นนักวิทย์ที่มีหัวคิดประกอบการได้อย่างยั่งยืน


ผู้สนใจผลงานสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ (0
2) 564-4491 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ (02) 564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่ www.sci.tu.ac.th