ขับรถสองแถวรายได้ไม่ดี เกษตรเกาะยอหันเลี้ยงปลากะพง ในกระชังหลายสิบปี

เกาะยอ เป็นเกาะที่อยู่ในทะเลสาบสงขลา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,275 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ไหล่เขาและที่ราบตามเชิงเขา ซึ่งบนเกาะยอมีการปลูกไม้ผลหลากหลายชนิด เช่น ส้มโอ มะพร้าว ขนุน ส่วนผลไม้ที่มีชื่อเสียงของเกาะยออีกชนิดคือ จำปาดะ เป็นญาติขนุน แต่ผลเล็กกว่า ซึ่งรสชาติก็อร่อยไม่แพ้กันเลยทีเดียว จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สร้างรายได้ให้กับผู้คนในชุมชน

บริเวณรอบชายฝั่งมีการทำประมงอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งชาวบ้านในแถบนี้นิยมเลี้ยงปลากะพง จึงถือเป็นอีกหนึ่งปลาเศรษฐกิจของที่นี่ก็ว่าได้ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีรายได้ สามารถนำเงินมาเลี้ยงครอบครัว เหมือนเช่น คุณวุฒิ รัตนประทีป อยู่บ้านเลขที่ 38 หมู่ที่ 9 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ยึดอาชีพเลี้ยงปลากะพงมาหลายสิบปี จับเป็นธุรกิจหรือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงระดับต้นๆ ของที่นี่ก็ว่าได้

จากอาชีพบริการ

สู่ชีวิตเกษตรกร

คุณวุฒิ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนนั้นมีอาชีพขับรถบริการสองแถวส่งผู้โดยสาร แต่ด้วยรายได้ที่มียังไม่ตอบโจทย์ต่อรายจ่ายในครอบครัว จึงเกิดแนวความคิดที่อยากจะเลี้ยงปลากระชัง เพราะในสมัยก่อนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คนในพื้นที่เลี้ยงแล้วประสบผลสำเร็จดี แต่จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงยังไม่มากราย จึงทำให้เขามีแนวคิดที่อยากจะยึดการเลี้ยงปลากะพงเป็นอาชีพแทน

แล่ให้ลูกค้าที่มาซื้อหน้าฟาร์ม

“ตอนเริ่มมาเลี้ยงใหม่ๆ ช่วงนั้นยังทำไม่มาก เริ่มทำอยู่ที่ 10 กระชังก่อน เพื่อเป็นการทดลอง เพราะเรายังไม่เคยเลี้ยงมาก่อน พอค่อยเลี้ยงได้เรียนรู้ ปลาที่นำมาเลี้ยงทั้งหมดก็เจริญเติบโตดี สามารถขายได้ จึงเกิดเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะทำอย่างจริงจัง เพื่อเป็นอาชีพหลังจากนั้นมา เพราะปลากะพงถือเป็นปลาที่ขึ้นชื่อของเกาะยอแห่งนี้” คุณวุฒิ เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงปลากะพง

ซึ่งกระชังที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลา คุณวุฒิ บอกว่า จะนำไปปักไว้ให้อยู่ในทะเลที่ห่างจากชายฝั่ง ประมาณ 2-3 กิโลเมตร เพราะบริเวณนั้นจะมีสภาพน้ำที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลากะพง ปลาจะหาอาหารจากสัตว์น้ำเล็กๆ ที่ลอยมากับน้ำกินได้อีกหนึ่งช่องทางด้วย

กระชังที่ใช้เลี้ยงปลา

เน้นเลี้ยงให้ปลากะพง

มีขนาดใหญ่ เกิน 4 กิโลกรัม

ขั้นตอนของการเลี้ยงปลากะพงในกระชังนั้น คุณวุฒิ บอกว่า จะซื้อลูกพันธุ์ปลาที่มีไซซ์ 7 นิ้ว มาอนุบาลลงในกระชังขนาด 5×5 เมตร ปล่อยลูกปลาอยู่ที่ 500 ตัว ต่อกระชัง จากนั้นเลี้ยงไปให้ปลามีอายุประมาณ 7 เดือน จึงค่อยย้ายไปเลี้ยงในกระชังใหม่ ที่ไม่หนาแน่นเหมือนตอนอนุบาลเริ่มแรก

“ช่วงที่อนุบาลจะเน้นให้กินอาหารเม็ดก่อน ให้กินอาหารทุกวัน เพื่อให้ปลามีการเจริญเติบโตที่ดี พอปลาเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก็จะเปลี่ยนให้กินอาหารที่เป็นเหยื่อสดแทน จากที่เคยให้กินทุกวัน ก็จะเหลือให้กินอาหารเป็นวันเว้นวัน เลี้ยงแบบนี้ไปจนครบกำหนดอนุบาล ปลาก็จะมีขนาดไซซ์อยู่ที่ 800 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม ต่อตัว ก็จะย้ายออกไปเลี้ยงในกระชังใหม่ ให้อยู่ในอัตราส่วน 200 ตัว ต่อกระชัง เพื่อให้อยู่กันแบบไม่หนาแน่น จากนั้นเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 1 ปีกว่า ก็จะจับขายส่งให้ลูกค้า” คุณวุฒิ บอก

หัวปลาทู สำหรับบดให้ปลากะพงกิน

ส่วนในเรื่องของการให้อาหารเลี้ยงในระยะนี้ คุณวุฒิ บอกว่า จะให้กิน 2 วัน เว้น 1 วัน แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าปลาจะจับขาย ซึ่งนับจากวันอนุบาลและเลี้ยงขุนเพื่อเป็นปลาไซซ์ใหญ่ รวมเวลาเลี้ยงแล้วอยู่ที่ 2 ปีขึ้นไป โดยปลากะพงมีขนาดไซซ์ไม่ต่ำกว่า 4 กิโลกรัม ต่อตัว

ส่วนเรื่องของโรคที่เกิดขึ้นกับปลา ส่วนมากสาเหตุมาจากสภาพน้ำ ที่มีบางช่วงมีสภาพที่แตกต่างกันไปตามฤดูกาล ซึ่งการตายของปลาก็จะมีตายให้เห็นตั้งแต่รุ่นอนุบาลไปจนถึงตัวใหญ่ แต่ปริมาณไม่มาก อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ จึงถือว่าเป็นเรื่องปกติ

ซึ่งปลากะพงที่เลี้ยงเน้นขายเป็นปลาไซซ์ ใช้เวลาเลี้ยงค่อนข้างนาน คุณวุฒิ บอกว่า ใน 1 ปี ที่ฟาร์มของเขาจะเน้นขายปีละ 2 ครั้ง แต่สามารถมีขายได้ตลอดทุกปี เลี้ยงแบบหมุนเวียนสลับเป็นรุ่นๆ กันไป

ปลากะพงที่จับมาเตรียมส่งลูกค้า

ปลากะพง เกาะยอ

ปลาที่ยังได้รับความนิยม

ในเรื่องของการทำตลาดขายปลากะพง คุณวุฒิ เล่าว่า ตั้งแต่ทำมาหลายสิบปีปลาที่เกาะยอแห่งนี้ยังมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาติดต่อขอซื้ออยู่เรื่อยๆ เพราะเมื่อรู้ว่าที่นี่มีการเลี้ยงปลากันมาก จึงทำให้การตลาดมีการซื้อขายกันอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละฟาร์มจะมีลูกค้าที่เป็นขาประจำซื้อขายซึ่งกันและกันอยู่

“ลูกค้าที่มาซื้อปลากะพงจากฟาร์มเรา เขาก็จะส่งไปขายตามที่ต่างๆ เอง โดยเราขายยกตัว ส่วนเขาจะเอาไปแล่หรือขายยังไงก็ขึ้นอยู่กับเขาเอง โดยราคาปลากะพง ขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 150 บาท ราคาก็เป็นไปตามกลไกตลาด สามารถขึ้นลงได้ แต่ที่ฟาร์มเน้นขายปลาไซซ์ใหญ่ จะไม่เน้นขายไซซ์เล็ก ดังนั้น รอบปีจับ 2 ครั้ง เฉลี่ยจับได้ต่อปีอยู่ที่ไม่เกิน 10 ตัน ขึ้นอยู่ว่าปล่อยเลี้ยงมากเลี้ยงน้อย ก็ยังถือว่ายังพอมีรายได้ สามารถมีเงินเลี้ยงครอบครัวได้ จากการเลี้ยงปลากะพงเป็นอาชีพ” คุณวุฒิ บอก

สำหรับปัญหาและอุปสรรคของการเลี้ยงปลากะพงในเกาะยอ คุณวุฒิ บอกว่า สิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะเป็นเรื่องของสภาพน้ำ ที่บางช่วงมีความแปรปรวนและทำให้ปลามีอาการช็อก ก็จะมีการแก้ปัญหาเฉพาะช่วงกันไป เพื่อไม่ให้ปลากะพงที่เลี้ยงตายจนเกิดความเสียหาย

ปลากะพงไซซ์ใหญ่

“ช่วงนี้เศรษฐกิจค่อนข้างชะลอตัว คนที่จะซื้อก็ไม่มีกำลังซื้อมากนัก ต่อไปเราก็จะมีการต่อยอด ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวโฮมสเตย์ โดยให้คนที่มาเที่ยวได้มาพัก และปลาที่เลี้ยงก็จะนำมาประกอบอาหาร ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่ามากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้มีหลากหลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งหลายๆ ฟาร์มก็เริ่มทำแบบนี้ ดังนั้น การปรับตัวก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกษตรกรที่อยู่ในยุคนี้” คุณวุฒิ บอก

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวุฒิ รัตนประทีป หมายเลขโทรศัพท์ (087) 477-3289