การปลูกการดูแล “พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่”

พริก เป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพสูง และมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย มีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ คาดว่าพื้นที่ปลูกพริกของเกษตรกรไทยในปัจจุบันนี้มีรวมทั้งสิ้น 584,564 ไร่ รูปแบบของการใช้ประโยชน์จากพริกมีมากมาย ทั้งเพื่อการบริโภคสด ผลิตเป็นพริกแห้งหรือพริกป่น รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ นอกจากนั้น ยังใช้เป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคบางชนิด

กล้าพริกมีใบจริง 2-3 ใบ พร้อมย้ายปลูกลงแปลง

จากข้อมูลการสำรวจพบว่า โดยเฉลี่ยคนไทยบริโภคพริก คนละ 5 กรัม ต่อวัน หรือลองคำนวณคร่าวๆ ด้วยประชากรคนไทย 60 ล้านคน ก็จะประมาณได้ว่าคนไทยบริโภคพริกถึง 109,500,000 กิโลกรัม ต่อปี พื้นที่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “พริกขี้หนูหัวเรือ” มีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากที่สุด โดยเฉพาะในเขตจังหวัดอุบลราชธานี แต่ที่ผ่านมา เกษตรกรที่ปลูกพริกสายพันธุ์นี้พบปัญหาเรื่องผลผลิตต่อไร่ต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีการเก็บเมล็ดพันธุ์เองและไม่มีการคัดเลือกสายพันธุ์

การทำปุ๋ยหมัก ใช้รองก้นหลุมก่อนปลูกพริก

หลังจากที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ใช้เวลาประมาณ 7 ปี ในการคัดเลือกพันธุ์พริกหัวเรือแบบสายพันธุ์บริสุทธิ์ สุดท้าย ได้ทดสอบสายพันธุ์ในไร่ของเกษตรกร ได้พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บพันธุ์เองถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ขนาดของทรงพุ่มเล็กกะทัดรัด มีความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นประมาณ 80-90 เซนติเมตร เท่านั้น มีอายุการเก็บเกี่ยวเร็ว คือ 90 วัน หลังจากย้ายปลูกลงแปลง ที่สำคัญเป็นพริกที่มีขนาดผลสม่ำเสมอและให้ผลผลิตดกมาก มีความยาวของผลเฉลี่ย 7-8 เซนติเมตร จัดเป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ที่มีความเผ็ดมาก (คนอีสานเคยเล่าติดตลกว่า กินส้มตำใส่พริกหัวเรือเพียงผลเดียว กินเช้าเผ็ดถึงบ่าย)

นอกจากนั้น ยังจัดเป็นพริกขี้หนูที่มีกลิ่นหอม เมื่อผลแก่มีสีแดงสดใช้กินสดหรือแปรรูปเป็นพริกขี้หนูแห้งจะได้พริกขี้หนูที่มีขนาดใหญ่และสวยมาก สำหรับเกษตรกรที่นำไปปลูกต่างก็ยอมรับว่าให้ผลผลิตดกมาก เมื่อมีการบำรุงรักษาที่ดีพอประมาณจะให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร ได้ทดลองปลูก “พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่” พบว่า เป็นพริกที่ให้ผลผลิตดี ติดผลดก ผลผลิตต่อไร่สูงมาก และที่สำคัญเป็นที่ต้องการของตลาด

เกษตรกรกำลังเก็บพริกขี้หนูหัวเรือจำหน่าย กิโลกรัมละ 80-100 บาท ในช่วงเดือนธันวาคม

เคล็ดลับกับการปลูกพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ให้ทันช่วงราคาสูง ต้องมีที่ดอน น้ำไม่ท่วม ดินดี มีความเป็นกรด-ด่าง 6-6.8 มีอินทรียวัตถุพอสมควร มีความร่วนซุยระบายน้ำได้ดี ไม่มีไส้เดือนฝอยรากปม เริ่มเพาะต้นกล้าพริกตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม เพื่อปลูกในเดือนกันยายน ซึ่งในช่วงดังกล่าวฝนจะตกชุกที่สุด จะทำให้ต้นกล้าพริกเน่า เพราะน้ำขังแปลงปลูก หรือดินแน่นโดยเกษตรกรจะมีทางเลือก 2 ทาง คือ เพาะต้นกล้าในกระบะพลาสติก (ถาดหลุม) ถาดละ 104 หลุม ราคาใบละ 18 บาท โดยเตรียมวัสดุเพาะใส่ถาดหลุม ประกอบด้วยดินผสม

ได้แก่ ดิน : แกลบดำ : ปุ๋ยคอก = 4:1:1 นำดินผสมมารวมกับส่วนผสมของปุ๋ยหมักแห้ง + เชื้อไตรโคเดอร์มาสด + รำอ่อน อัตรา (100 กก. + 1 กก. + 5 กก.)

อัตราดินผสม : ส่วนผสมของปุ๋ยหมักแห้ง = 4 : 1

พริกมีสีแดงสวย ขายเป็นพริกสด หรือทำเป็นพริกแห้งขาย

เมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาเพาะต้องเป็นพันธุ์ดี ไม่มีโรคและแมลง ก่อนเพาะ 1 วัน ต้องนำไปแช่น้ำอุ่น 55 องศาเซลเซียส (น้ำเย็น 1 ส่วน + น้ำเดือด 1 ส่วน) นาน 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อแอนแทรคโนส (กุ้งแห้ง) ที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้เมล็ดที่ลอยน้ำ แสดงว่า ลีบ ให้เก็บทิ้ง หลังจากนั้นนำไปแช่ในสารละลายสปอร์เชื้อไตรโคเดอร์มาสด (เชื้อสด 4 ถุง + น้ำ 100 ลิตร) แช่เมล็ด 1 คืน จึงเพาะในกระบะ หลุมละ 1 เมล็ด กลบดิน เก็บถาดในที่ร่มรำไร หรือมีตาข่ายพรางแสง อย่าให้ถูกฝนโดยตรง

หลังจากงอกได้ 15 วัน พ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตรบำรุงต้น อัตรา 2-3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร (พ่นทุก 7-10 วัน) จะทำให้ต้นโตเร็วขึ้น ไม่ควรใช้ยูเรีย เพราะต้นกล้าจะอวบเกินไป เมื่อต้นกล้าอายุ 1 เดือน หรือมีใบจริง 2-3 ใบ ก็สามารถนำมาปลูกได้ หรืออีกวิธีคือการเพาะต้นกล้าในแปลงที่อยู่ในที่ดอน ใช้ตาข่ายพรางแสงอย่าให้ถูกฝนโดยตรง

พริกขี้หนูหัวเรือ มีความยาวผลที่สม่ำเสมอ

วิธีการเตรียมเมล็ดทำเหมือนเพาะในกระบะทุกอย่าง ส่วนวัสดุเพาะใช้เชื้อไตรโคเดอร์มาสด ผสมปุ๋ยหมักแห้งอัตรา 2-3 กก./10 ตารางเมตร ร่วมกับหว่านปูนขาว 0.5-1 กก./10 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน จึงหว่านเมล็ด โดยพื้นที่ 5 ตารางเมตร จะใช้เมล็ดพันธุ์พริกหว่านประมาณ 50 กรัม กลบดินให้เมล็ดจมดินทุกเมล็ด อย่าให้เมล็ดอยู่เหนือดิน เมื่ออายุ 1 เดือน หรือกล้าพริกมีใบจริง 2-3 ใบ จึงถอนไปปลูกได้

การปลูกพริก ไม่ควรปลูกเกิน วันที่ 15 กันยายน หลังเตรียมดินดีแล้ว พร้อมปรับสภาพดินโดยใส่ปูนขาวโดโลไมท์ อัตรา 20-25 กก./ไร่ ก่อนปลูกรองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้ง อัตรา 150-200 กก./ไร่ (ผสมปุ๋ยหมักแห้ง 100 กก.+ เชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม + รำ 5 กก.) ซึ่งเกษตรกรที่นิยมปลูกแบบปักดำ กดรากลงในดิน จะทำให้โคนต้นกล้าพริกช้ำง่าย ต้นกล้าจึงต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน ถ้าต้องการให้ต้นกล้าดูดอาหาร แตกกิ่งได้เร็วขึ้น ควรปลูกแบบหลุม และยกร่องเพื่อป้องกันน้ำขัง ในหลุมรองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้ง (ผสมปุ๋ยหมักแห้ง 100 กก.+ เชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม + รำ 5 กก.) อัตราหลุมละ 100 กรัม ก่อนปลูกแช่รากพริกด้วยเชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม ละลายในน้ำ 100 ลิตร แช่นาน 30 นาที จนกว่าจะปลูกเสร็จ (ถ้าปลูกไม่เสร็จให้ละลายเชื้อใหม่อย่าแช่รากทิ้งไว้)

พริกขี้หนูหัวเรือ เป็นที่ต้องการของตลาด

การปลูกแบบหลุมเมื่อรากฟื้นตัวจะดูดอาหารได้ทันที และป้องกันโรครากเน่าและโคนเน่าด้วย ซึ่งในฤดูฝนเสี่ยงต่อโรคในดินหลายชนิด ควรฉีดสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงเป็นระยะๆ หรือตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโตของพริก

การดูแลรักษาพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ หลังปลูก 15 วัน พ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตรบำรุงต้น อัตรา 2-3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร (พ่นทุก 7-10 วัน จนออกดอก) พ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตรบำรุงผล อัตรา 2-3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร (พ่นทุก 7-10 วัน จนถึงเก็บเกี่ยว) พ่นแคลเซียมไนเตรต (15-0-0) อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ในช่วงติดผลเล็กเพื่อแก้ปัญหาเกิดผลนิ่ม ปลายผลเหี่ยวเนื่องจากการขาดธาตุแคลเซียมและป้องกันไม่ให้เชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคกุ้งแห้งเข้าทำลายซ้ำ พ่นสปอร์เชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม + น้ำ 200 ลิตร ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพทุก 1 เดือน ถ้ามีไร โรค แมลงศัตรูทำลายให้ใช้สารเคมีตามความเหมาะสมหรือพ่นสลับกับน้ำหมักสมุนไพร

พริก เป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากเกินไป ฉะนั้น ก่อนให้น้ำควรตรวจดูดินบริเวณโคนต้น ดังนี้ ในดินร่วนปนทราย ทำโดยกวาดดินออกประมาณ 1 นิ้ว แล้วขุดเอาดินประมาณ 1 กำมือ บีบแล้วคลายออก จากนั้นตรวจดูดินหลังจากคลายแล้ว ถ้าดินมีความชื้นน้อยไป ก้อนดินมีความชื้นน้อยไป ก้อนดินจะแตกหลังคลายมือออก ถ้าดินมีความชื้นพอเหมาะจะจับตัวเป็นก้อน และถ้าดินมีความชื้นสูงเกินไป จะมีน้ำไหลออกมาตามช่องนิ้วมือ

ในสภาพดินเหนียว การตรวจสอบความชื้นแตกต่างไปจากสภาพดินทราย ทำโดยนำเอาดินที่จะตรวจสอบมาปั้นเป็นแท่งยาวคล้ายดินสอ ให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ½ เซนติเมตร ถ้าไม่สามารถปั้นได้ แสดงว่าความชื้นน้อยไป ถ้าปั้นได้แต่ขาดเป็นช่วงๆ แสดงว่าความชื้นพอเหมาะ ถ้าปั้นได้แต่ไม่มีการขาด แสดงว่าความชื้นสูงไป ทั้งในดินร่วนปนทรายและดินเหนียว ถ้ามีความชื้นสูงเกินไป ให้แก้ไขโดยการพรวนดิน ซึ่งจะช่วยให้น้ำระเหยออกจากดินได้

ส่วนในกรณีที่ดินแห้งเกินไป และไม่อาจให้น้ำได้ ก็ควรใช้วัตถุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว เปลือกถั่ว ต้นถั่ว หรือใช้พลาสติกคลุมแปลง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยรักษาความชื้นในดินได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการป้องกันวัชพืชไม่ให้ขึ้นด้วย

พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่

การกำจัดวัชพืชและการพรวนดินหลังจากปลูกพริกแล้ว เมื่อพริกมีอายุประมาณ 20 วัน ควรกำจัดวัชพืชที่งอกขึ้นมาและถ้าตรวจพบว่า พื้นที่ปลูกพริกดินจับตัวกันแน่นก็ให้พรวนดิน เพราะถ้าดินแน่นจะทำให้พริกแคระแกร็นได้, การให้ปุ๋ย ระยะ 1 เดือนแรก ก็ให้ทางดินร่วมกับทางใบเป็นหลัก โดยการให้ทางดิน ก็ให้สูตร 46-0-0 สลับกับ 15-0-0 หรือ 15-15-15 ในเดือนแรก ในอัตรา 5 กก.ต่อไร่/ครั้ง แต่ไม่เกิน 10 กก. ต่อไร่/ครั้ง ห่างกัน 7 วัน ส่วนทางใบ ใช้สูตร 21-21-21 สลับ 30-20-10 เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ในอัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ระยะเดือนที่ 2-3 ระยะนี้พริกมีอายุ 30-90 วัน ซึ่งมีการติดผลของพริกในชุดแรก ธาตุอาหารทางดินและทางใบยังจำเป็นเหมือนเดิม ทางดิน ใช้สูตร 15-15-15 สลับ 13-13-21 ส่วนทางใบ ใช้สูตร 15-0-0 เพื่อเพิ่มธาตุแคลเซียมในช่วงติดผลเล็ก ในอัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

ระยะเดือนที่ 4-6 ระยะนี้ พริกมีอายุ 120-180 วัน ซึ่งมีการเก็บผลผลิตของพริกในชุดแรกเก็บได้มาก ธาตุอาหารทางดินและทางใบยังจำเป็นเหมือนเดิม ทางดิน ใช้สูตร 15-15-15 สลับ 13-13-21 ร่วมกับปุ๋ยหมักแห้งผสมเชื้อไตรโคเดอร์มาสด อัตรา 1 : 25 ส่วนทางใบ ใช้สูตร 21-21-21 สลับ 10-20-30 ในอัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ให้ปุ๋ยทุกครั้งหลังเก็บผลผลิตจำหน่าย การเก็บเกี่ยว จะเริ่มทำได้เมื่อพริกอายุ 90 วัน หรือประมาณ 3 เดือน เด็ดทีละผลโดยจิกเด็ดที่รอยต่อก้านผลกับกิ่ง ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับชนิดและความสมบูรณ์ของต้นพริกเอง

เริ่มเก็บพริกได้ 90 วัน หลังย้ายกล้าปลูก

การทำปุ๋ยหมักแห้ง

  1. ปุ๋ยคอก 3 ส่วน + แกลบดิบเก่า 3 ส่วน + แกลบดำ 1 ส่วน + กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ
  2. ปุ๋ยคอก 400 กก. + แกลบดิบเก่า 100 กก. + รำอ่อน 30 กก. + กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ
  3. ปุ๋ยคอก 3 ส่วน + กากถั่วเหลือง 3 ส่วน + แกลบดิบเก่า 2 ส่วน + แกลบดำ 1 ส่วน + กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ (10 ลิตร ต่อปุ๋ยหมัก 100 กก.)
  4. ปุ๋ยคอก 3 ส่วน + กากตะกอนอ้อย 2 ส่วน + แกลบดิบเก่า 2 ส่วน + แกลบดำ 1 ส่วน + กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ (10 ลิตร ต่อปุ๋ยหมัก 100 กก.)

วิธีทำ ผสมน้ำหมักชีวภาพและกากน้ำตาลในน้ำ ใส่บัวรดบนส่วนผสมที่มีปุ๋ยคอก แกลบ รำ โดยวนจากข้างนอกเข้าข้างใน อย่าให้แฉะ ถ้าแฉะมากความร้อนจะสูงและเป็นก้อน และอย่าแห้งเกินไป (กำปุ๋ยหมักถ้าเป็นก้อน ความชื้นพอดี ถ้าแผ่กระจาย จะแห้งเกินไป) หลังทำแล้ว 8 ชั่วโมง ความร้อนในกองปุ๋ยจะสูงมากให้กลับปุ๋ยในกองทุกวัน ประมาณ 7-10 วัน ความร้อนในกองจะปกติเก็บใส่ถุงไว้ใช้ต่อไป หรือถ้ามีถุงปุ๋ยให้กรอกใส่ถุงเลย เพื่อความสะดวกในการกลับกระสอบปุ๋ยหมักและการขนย้าย