ผู้เขียน | เสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณปรีชา บางนกแขวก วัย 47 ปี ปัจจุบันทำงานบริษัทเอกชน ทางด้านสัตว์น้ำ จบการศึกษาที่คณะเกษตร ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีงานอดิเรกที่น่าสนใจคือ เลี้ยงควายไว้ 1 ฝูง (ราว 50 ตัว) และเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีด ที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งการเริ่มต้นอาชีพเสริมทั้งสองอย่างนี้ น่าสนใจทีเดียว
ในเบื้องต้นขอเล่าเรื่องการเลี้ยงจิ้งหรีด ก่อน
คุณปรีชา เล่าว่า เริ่มต้นจากเลี้ยงเล็กๆ กล่องเล็กๆ ในเวลาเพียงปีครึ่ง เขาตัดสินใจ สร้างฟาร์มขนาดใหญ่ ลงทุนไปราว 1.3-1.4 ล้านบาท
อะไรเป็นสาเหตุที่เขากล้าลงทุนขนาดนั้น
จิ้งหรีด เป็นสัตว์ที่มีศักยภาพขนาดนั้นเชียวหรือ
และ…เราจะทำตาม บ้างได้หรือไม่
เขาเริ่มต้นอย่างนี้
คุณปรีชา เล่าว่า ทำงานประจำอยู่ในสายผลิตอาหารสัตว์ และมีโอกาสไปเยี่ยมเกษตรกรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทีนี้มีลูกค้ามาปรึกษาคุณปรีชา ให้คำนวณสูตรอาหารจิ้งหรีดให้หน่อย ซึ่งตอนนั้น คุณปรีชาคิดว่า ไม่น่าจะมีตลาดเยอะ
“วันหนึ่ง เพื่อนผมเป็นชาวอิสราเอล เคยทำงานด้วยกันที่เวียดนาม เขาเสิร์ชข้อมูลในอินเตอร์เน็ต พบว่า เมืองไทย เป็นเมืองที่มีการเลี้ยงแมลงมากในเอเชีย ก็ลองไปฟาร์มแถวนครปฐม ให้ผมช่วยไปเป็นล่าม ผมรู้เลยว่าคนอิสราเอลนี่ เวลาคิด เขาคิดข้ามช็อต คิดไปแบบที่เราคิดไม่ถึง จากนั้น ก็ลองมาคำนวณการเลี้ยงจิ้งหรีดกัน เทียบกับการเลี้ยงกุ้งดังนี้
สมมติ
ใน 1 ไร่ (1,600 ตารางเมตร) เลี้ยงกุ้งได้ผลผลิต 3-4 ตัน
สำหรับจิ้งหรีด ใน 1 ตารางเมตร เลี้ยงได้ 10 กิโลกรัม ฉะนั้น ถ้า 1 ไร่ ก็จะได้ 16 ตัน
จะเห็นได้ว่า ในพื้นที่เท่ากัน ให้ผลผลิตที่สูงกว่า มีศักยภาพมากกว่า เป็นอะไรที่น่าสนใจ
แต่ช้าก่อน…เราต้องไปดูก่อนว่า ตลาดอยู่ตรงไหน
คุณปรีชา บอกว่า เมื่อปีที่แล้ว สหภาพยุโรปประกาศออกมาว่า แมลงจะเป็นอาหารใหม่ของโลก เป็นโปรตีนตัวใหม่ของโลก เริ่มออกกฎหมายให้เป็นอาหารมนุษย์ แสดงว่ามีแนวโน้มที่ดี
จากการศึกษาพบว่า ที่ผ่านมาในบ้านเรา ยังไม่ค่อยมีใครเลี้ยงจิ้งหรีดแบบฟาร์มมาตรฐานและจะทำคู่มือออกมาแบบจริงจัง คือยังไม่ชัดเจน เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ก็เลี้ยงเป็นอาชีพเสริมจึงเลี้ยงบริเวณข้างบ้านหรือใต้ถุนบ้าน คุณปรีชาเลยทดลองเลี้ยง
การเลี้ยงจิ้งหรีด และการเก็บผลผลิต
จิ้งหรีดใช้เวลาในการเจริญเติบโตเต็มที่ 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 35 วัน
คือตั้งแต่ออกจากไข่ เป็นตัวอ่อน ลอกคราบไป 6 ครั้ง พอครั้งที่ 7 ก็เป็นตัวเต็มวัย มีปีกปุ๊บ ก็สามารถออกไข่ได้ ตัวจิ้งหรีด ก็เก็บเอาไปทำเป็นอาหารต่อไป
คุณปรีชา ว่า จริงๆ คือมีสัตว์ไม่กี่ชนิด ที่ระยะเวลาการเลี้ยงจะสั้นขนาดนี้ (ยกเว้น เลี้ยงลูกน้ำเอาไปเป็นอาหารปลา….) ในแง่สัตว์เศรษฐกิจ
คุณปรีชา เริ่มต้นด้วยการ ซื้อไม้ ซื้อกระเบื้อง เอามาสร้างกล่องให้จิ้งหรีด อาศัยการจัดการจากที่ร่ำเรียนมาจากสัตวบาล ซึ่งคุณปรีชาก็บอกว่า มันก็ไม่ได้ยากนะ แต่ก็ไม่ง่ายซะทีเดียว
“พอมาคำนวณต้นทุน ดูอัตราการเจริญเติบโต ผมว่าก็สร้างเป็นอาชีพได้นะ ผมเลี้ยงมา 4 รุ่น ใช้เวลาปีครึ่ง รู้เลยว่าเป็นแมลงที่มีศักยภาพตามที่เราตั้งสมมติฐานไว้จริงๆ ผมก็สร้างฟาร์มเลย เป็นอาคารเลี้ยง
อย่างที่ทราบกันดี เรามักจะไม่ค่อยเห็นฟาร์มแมลงนะ ส่วนใหญ่จะมีแต่ใต้ถุนบ้าน ที่ผ่านมา ผมกับภรรยา ทำงานเป็นนักโภชนศาสตร์สัตว์เหมือนกัน เดินทางต่างประเทศบ่อยครั้งทั้งคู่ พอมีลูก ก็เลยให้แฟนออกจากงาน มาเลี้ยงลูก และทำฟาร์มจิ้งหรีดไปเลย”
ส่วนการลงทุน ช่วงที่เลี้ยงเล่นๆ ทดลองเลี้ยง ลงทุนไป 4,000-5,000 บาท แค่เอาให้รู้ก่อนว่า เราเลี้ยงได้หรือไม่ แล้วก็ไปหาตลาด หาคนรับซื้อ ในแง่ของการส่งออกก็พบว่า เริ่มมีส่งออกมากขึ้นแล้ว
แต่พอมาสร้างอาคาร ลงทุนไป 1.3-1.4 ล้านบาท คือมั่นใจแล้วว่า ตลาดมีแน่นอน
“พูดถึงตลาดจิ้งหรีด เป็นอาหารคน 80-90 เปอร์เซ็นต์ อีก 10-20 เปอร์เซ็นต์ เป็นอาหารของสัตว์สวยงาม อาหารคนก็ส่งไปที่ จีน เวียดนาม ลาว เขมร และรถแมลงทอดในบ้านเรา ก็ถือเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควร”
ปัจจุบัน มีกำลังการผลิต 2.5 ตันต่อเดือน ราคาหน้าฟาร์ม 80-97 บาท/กิโลกรัม ราคาปลีก 120 บาท/กิโลกรัม
“ผมคิดว่า จิ้งหรีด เป็นแมลงที่ใช้น้ำน้อย ใช้แรงงานน้อย มันจะเป็นงานอดิเรกได้ แต่พอสร้างเป็นฟาร์มใหญ่ ต้องใช้คน 1 คน / วัน ช่วงที่จับขาย ต้องใช้ 6-10 คน เพราะมันก็มีขั้นตอนอยู่ จับเสร็จ เอามาล้างน้ำ เอาไปต้ม แล้วไปผึ่งให้หมาด คัดเลือกเอาเฉพาะตัวที่โตเต็มวัย บรรจุลงถุง ไปเข้าห้องเย็น คือที่ผมลงทุนเป็นล้านนี่ ก็เพราะว่า มีห้องเย็นด้วย”
ซึ่งการมีห้องเย็น ก็เป็นคำตอบสำคัญ ในแง่อำนาจการต่อรองราคา
“ผมจะอธิบายอย่างนี้ จิ้งหรีดนี่เป็นสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อรอศักยภาพในการส่งออกในอนาคต ซึ่งผมคิดว่า อีกไม่นาน แต่ปัจจุบันเราต้องพึ่งตลาดในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทีนี้ ตลาดในประเทศนี่ มันก็แปรปรวน เพราะว่าเป็นแมลงอายุสั้น เลี้ยงแป๊บเดียวก็โตแล้ว คือผลผลิตบางช่วงก็ล้นตลาด บางช่วงก็ขาดตลาด ช่วงที่ราคาตก ไปที่ 60 บาท/กิโลกรัมนี่ เกษตรกรก็ขาดทุนแล้ว”
ส่วนอาหารที่มันกิน มันก็มีอาหารของมันโดยเฉพาะ แต่เมื่อก่อนอาจจะใช้อาหารไก่เนื้อ
สำหรับตอนนี้ ใครที่คิดจะเลี้ยง คุณปรีชาแนะนำว่า ต้องหาตลาดให้ได้ก่อน ตลาดมี 2 อย่างคือ ในพื้นที่ ถ้ามีคนกินเยอะๆ ก็เลี้ยงได้เลย ตลาดส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง และการเลี้ยงก็ต้องเลี้ยงขนาดปริมาณหนึ่งที่พอจะคุ้มกับค่าน้ำมันตอนนำไปขาย นั้นคือต้องมีสายป่านระดับหนึ่ง เพราะต้องมีเงินหมุนเวียนด้วย
“ณ วันนี้ ผมยังไม่แนะนำให้ใครเลี้ยงในเชิงการค้าใหญ่ๆ แบบผม เพราะตลาดส่งออกก็ยังอยู่ระหว่างการร่างกฎปฏิบัติ ถ้าร่างตัวนี้ประกาศใช้ ก็จะมีนักลงทุนเข้ามา วันนั้นก็จะเห็นภาพตลาดที่ชัดเจนขึ้น ส่วนภาคราชการ ก็เริ่มมีมาตรฐานฟาร์ม GAP ออกมาแล้ว แต่ตอนนี้ยังมีน้อยมาก”
ส่วนความเสี่ยง เท่าที่คุณปรีชาประมวลมา มีดังนี้
- ความรู้การจัดการ ยังไม่แพร่หลาย ยังมีคู่มือทางวิชาการที่ชัดเจนน้อย
2. โรค ที่เป็นแล้วตายอย่างเดียว คือไวรัส ตายยกฟาร์ม มีความเสี่ยงสูง เหมือนกัน
สรุปก็คือ ใครที่สนใจ ต้องเริ่มต้นเลี้ยงน้อยๆ เพื่อศึกษาการเลี้ยงว่าตัวเองทำได้หรือไม่ พร้อมกับ หาต้นทุนการเลี้ยงของตัวเองให้ได้ก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายการเลี้ยงขึ้น
สำหรับการเริ่มต้นเลี้ยง แนะนำ กล่องขนาด 1.2 x 2.4 เมตร เป็นกล่องมาตรฐาน 1 กล่อง เฉลี่ยเลี้ยง 20 กิโลกรัม ก็ต้องคำนวณว่า ใน 20 กิโลกรัมนี้ ถ้ามีผลผลิตออกมาจะขายหมดหรือไม่ ถึงเวลาจับ ก็ต้องจับ ถ้าไม่จับ เลยจากระยะเวลาโตเต็มวัย ที่ 35 วันไปแล้ว มันจะกัดกัน ตามธรรมชาติ ที่ตัวผู้ต้องการสร้างอาณาจักร ก็จะมีบาดเจ็บล้มตายกันไป ทำให้เสียหายต่อผู้เลี้ยงไปอีก (อายุขัยตามธรรมชาติของมันจริงๆ คือ 70 วัน)
คุณปรีชา บอกว่า ใครที่สนใจ ติดต่อไปที่ ภรรยาคุณปรีชา ได้ที่ คุณอิงครัตน์ ธัญศิรธนารมย์ เลขที่ 61 หมู่ 11 บ้านหนองโสน ตำบลหนองข่า อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ 36120 โทรศัพท์ (085) 023-6202
คุณปรีชา และภรรยา
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก คุณอิงครัตน์ ธัญศิรธนารมย์