ดำ พุทธเกษร ผลิตน้ำมันกฤษณาและน้ำหอม ส่งตลาดอาหรับและตะวันออกกลาง

ธุรกิจ “น้ำมันกฤษณา” แม้ว่าปัจจุบันด้านการตลาดจะเปิดกว้างมากขึ้น ส่วนใหญ่ที่ทำการค้าในตลาดตะวันออกกลาง ตลาดอาหรับ ยังคงเป็นบริษัทของกลุ่มอาหรับ ตะวันออกกลางด้วยกันเอง ทว่าวันนี้ คุณดำ  พุทธเกษร เจ้าของกิจการน้ำมันกฤษณา แบรนด์ “D.D. Oud Oil” จากอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ที่มีลูกค้าชาวอาหรับตะวันออกกลาง ให้ความเชื่อถือร้านจำหน่าย “ตลาดซอยนานา” ได้ก้าวขึ้นมาชั้นแนวหน้าเทียบกับบริษัทต่างชาติ มีโอกาสไปออกบู๊ธแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันและเครื่องหอมกฤษณา ในงานประจำปีประเทศดูไบ โอมาน มีลูกค้าระดับ VIP ติดใจในคุณภาพของสินค้า มีทั้งออร์เดอร์จากลูกค้าประจำ ลูกค้ารายใหม่ และลูกค้าบางรายบุกมาถึงโรงงานเพื่อดูแปลงไม้และกระบวนการผลิตของน้ำมันกฤษณาและน้ำหอม เกรดพรีเมี่ยมที่ผ่านกระบวนการผลิตธรรมชาติ 100%

 

ค้นพบวิธีทำสารน้ำมัน วิธีธรรมชาติ

คุณดำ พุทธเกษร ประธานคลัสเตอร์ไม้กฤษณาจังหวัดตราด และนายกสมาคมไม้กฤษณาจังหวัดตราด เจ้าของกิจการน้ำมันกฤษณาและผลิตภัณฑ์น้ำหอม แบรนด์ D.D. Oud Oil เล่าถึงที่มาของการทำน้ำมันกฤษณาว่า เมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา ค้นพบการทำให้ไม้กฤษณามีแก่นหรือสารน้ำมันจากไม้กฤษณาธรรมชาติที่ป่าชายแดนไทย-ในกัมพูชา อำเภอบ่อไร่ และอำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด การสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา มีต้นกฤษณาที่ถูกกระสุนปืนและสะเก็ดระเบิดแล้วหลั่งสารน้ำมันเพื่อรักษาแผลทำให้มีเนื้อไม้มีสารน้ำมัน ตนเองกับกลุ่มเพื่อนๆ จึงคิดวิเคราะห์และทดลองนำเหล็ก ตะปู สว่านมาเจาะต้นกฤษณา ซึ่งได้ผล

ตอนนั้นมีต้นไม้กฤษณาขึ้นเองในป่าธรรมชาติ จึงเจาะต้นที่มีอายุเกินกว่า 10 ปี นำเนื้อไม้ที่มีสารน้ำมันขายให้พ่อค้าต่างชาติที่ซอยนานา กิโลกรัมละ 100,000 กว่าบาท เป็นราคาที่สูง ต่อมาเริ่มสกัดน้ำมันขาย เมื่อไม้กฤษณาธรรมชาติเริ่มหมดจึงเริ่มปลูกทดแทนและทดลองเจาะทำแผลเมื่อต้นอายุ 4-5 ปี ใช้ระยะเวลา 3-4 ปี ได้ผลดีได้น้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว จึงขยายพื้นที่ปลูกเป็นแปลงใหญ่ขนาด 300-400 ไร่ และชักชวนให้คนอื่นๆ ในอำเภอบ่อไร่ปลูกและรับซื้อมากลั่นส่งตลาดซอยนานา แรกๆ ราคาโตร่าละ 3,000-4,000 บาท (โตร่าละ 12.5 ซีซี) เพราะน้ำมันกฤษณาในตลาดยังมีทำกันน้อย แต่ปัจจุบันมีการทำกันมากขึ้น ราคาลดลงเฉลี่ยโตร่าละ 2,000 บาท

“ด้วยการผลิตน้ำมันไม้กฤษณาแบบธรรมชาติให้คุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยมทำได้ราคาดีมากกว่าการใช้สารเคมีถึง 10-20 เท่า จึงคิดหาวิธีกลั่นน้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตั้งแต่สร้างโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน โดยใช้ความสามารถประสบการณ์ที่เคยเป็นช่างกลึง ช่างอ๊อก ทำอู่มาก่อน ออกแบบเครื่องจักรที่ผ่าเนื้อไม้เองให้ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ออกแบบโรงงานติดตั้งหม้อต้มกลั่นที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หม้อต้มกลั่นใช้วัสดุจากทองแดงจากอินเดียทำหม้อต้มกลั่น ที่เชื่อว่าน้ำมันจะมีคุณภาพดี สีสวยเข้ม ศึกษาวิธีแต่งกลิ่นน้ำมันให้หอมหวาน จากระยะการหมักเนื้อไม้ที่ทั้งหมดเป็นเคล็ดลับส่วนหนึ่งที่ต้องศึกษาเก็บสะสมจากประสบการณ์ที่ทำน้ำมันกฤษณามาร่วม 30-40 ปี และสิ่งเหล่านี้ยังต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ตกกระแสความนิยมของตลาด” คุณดำ กล่าว

 

น้ำมันกฤษณาคุณภาพพรีเมี่ยม สู่ผลิตภัณฑ์น้ำหอม…บุกตลาด ดูไบ โอมาน

คุณดำ เล่าว่า การทำน้ำมันกฤษณานั้น จะมี 2 ส่วน

ส่วนที่ เป็นเนื้อไม้ เรียกว่า “ไม้ตัว” สีดำ เนื้อหนา มีน้ำมันมาก เป็นไม้ที่เจาะไว้ระยะเวลา 10-12 ปีขึ้นไป ต้องแกะเนื้อไม้ออกมาทำความสะอาด ตัดเป็นชิ้นขนาดรูปทรงสี่เหลี่ยมประมาณ 2 นิ้ว เหมาะใช้จุดไฟ จะมีกลิ่นหอมหวาน กลิ่นติดทนนาน ไม่แสบตา เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมราคาสูงมาก กิโลกรัมละ 500,000 บาท ถ้าเป็นเกรดซุปเปอร์พรีเมี่ยมกิโลกรัมละ 850,000 บาท ทดสอบดูชิ้นไม้ตัวจะจมน้ำ แต่ถ้าเป็นเกรดไม่ดีชิ้นบาง เบา ไม่จมน้ำ ราคาอยู่เพียง 10,000 บาท

ไม้ตัวสินค้าพรีเมี่ยม ราคากิโลกรัมละ 500,000 บาท

ส่วนที่ 2 เนื้อไม้ที่นำไปกลั่นน้ำมัน ใช้ส่วนที่เป็นเนื้อไม้ที่มีสารน้ำมันสีน้ำตาลๆ นำเนื้อไม้ไปผ่า ตากแดด นำมาบด หมักและต้ม กลั่นในกระบวนการสกัดน้ำมัน ซึ่งน้ำมันที่ได้มากน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำแผลทิ้งไว้ ยิ่งนานสารน้ำมันที่สะสมรักษาแผลจะมาก ถ้าระยะเวลา 10 ปีขึ้นไปจะได้น้ำมันมากและคุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยมราคากิโลกรัมละ 300,000-400,000 บาท ส่วนที่เป็นน้ำมันจะเป็นต้นที่อายุ 4-5 ปีขึ้น และเจาะเนื้อไม้ทิ้งไว้ 3-4 ปี ราคากิโลกรัมละ 200,000-250,000 บาท หรือโตร่าละ 2,000-3,000 บาท

ทุกวันนี้ได้พัฒนากลิ่นน้ำมันกฤษณามาเรื่อยๆ และตั้งชื่อกลิ่นต่างๆ เพื่อแนะนำลูกค้า โดยจะแยกกลิ่นทำเอง ซึ่งได้ทำกลิ่นหอมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 10-12 กลิ่น ตอนนี้มี 18 กลิ่น และจะคิดค้นต่อไปเรื่อยๆ และเมื่อผลิตน้ำมันกฤษณาขายระยะหนึ่ง เห็นว่าน้ำมันกฤษณาที่ลูกค้าซื้อไปใช้ทำส่วนผสมน้ำหอม สร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก จึงคิดค้นกระบวนการทำผลิตภัณฑ์น้ำหอมเองบ้าง ภายใต้แบรนด์ D.D. Oud Oil เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ขายดี ตอนนี้มี 2 กลิ่น ขวดขนาด 60 มิลลิกรัม ราคาขวดละ 4,000 บาท

“ปัจจุบัน น้ำมันกฤษณาจะขายเป็นรูปแบบน้ำมัน 90% และผลิตภัณฑ์น้ำหอม 10% การผลิต จัดจำหน่าย การตลาด ทำเป็นระบบครอบครัว เพราะมีลูกสาว ลูกชายช่วยกิจการได้แล้ว ลูกสาว 4 คนเรียนจบมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ วางแผนให้เลือกเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชาวอาหรับเรียนด้วย เพื่อให้มีเพื่อนและเรียนรู้ภาษาอาหรับ จึงทำการตลาดในกลุ่มประเทศอาหรับได้ค่อนข้างสะดวก และเมื่อคิดทำผลิตภัณฑ์น้ำหอมได้ส่งลูกสาวไปเรียนทำน้ำหอมที่ฝรั่งเศสเพิ่มเติมอีก 2 คอร์ส”

“ลูกๆ จะช่วยกันดูแลตั้งแต่ออกแบบแบรนด์ แพ็กเกจจิ้ง ทำการตลาด การจำหน่ายแนะนำลูกค้า การจำหน่ายน้ำมันกฤษณาและน้ำหอมต้องละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะน้ำหอมตั้งแต่ออกแบบผลิตภัณฑ์ แพ็กเกจจิ้งที่หรูหราต้องพิถีพิถันมาก ขวดสั่งจากโรงงานคริสตัลจากเชโกสโลวาเกีย ออสเตรเลีย แคนาดา การออกอีเว้นต์แต่ละครั้งจะนำตัวอย่างน้ำมันกฤษณาให้ลูกค้าทดสอบกลิ่นและรับออร์เดอร์มา มีลูกค้าสั่งซื้อตั้งแต่ 1-2 กิโลกรัม ไปถึงลูกค้ารายใหญ่ที่บริษัทมีสาขาทั่วโลก ยอดสั่งซื้อสูงถึง 20-50 กิโลกรัม ตัวอย่างน้ำมันกฤษณากลิ่นต่างๆ จะออกแบบบรรจุขวด ขนาด 3 ซีซี ทำไปเป็นเซต บรรจุกล่องอย่างหรูเพียงกล่องเดียว วันสุดท้ายของงานจะขายให้ลูกค้าได้เพียงหนึ่งรายเท่านั้น และแต่ละอีเว้นต์จะผลิตน้ำมันกฤษณากลิ่นหอมพิเศษ ใช้แก่นไม้ที่อายุเกิน 10 ปี เพื่อไปสมนาคุณลูกค้า เป็นการผลิตแบบลิมิเต็ดพิเศษจริงๆ คือทำครั้งเดียวและมีจำนวนจำกัด ไม่ทำซ้ำและไม่รับออร์เดอร์ ลูกค้าจะให้ความสนใจมาก ล่าสุดที่โอมานนำไปจำหน่ายเพียง 3 กิโลกรัม ลูกค้าสนใจมากไม่พอขาย” คุณดำ กล่าว

 

ออกอีเว้นต์ตลาดดูไบ โอมาน ลูกค้าเพิ่ม 100-200%

คุณดำ เล่าว่า เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ไปออกงานในตลาดต่างประเทศ 2 งาน คือ Beauty World Middle East 08-10 May 2018 ที่เมืองดูไบ และงาน Thai Trade Exhibition OMAN 2018 ที่เมืองมัสกัต ประเทศโอมาน ซึ่งการออกงานแต่ละครั้งเป็นเสมือนตลาดกลางน้ำมันกฤษณาโลก D.D. Oud Oil มีลูกค้าประจำอยู่แล้ว ลูกค้าจะไปซื้อและมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าระดับ VIP หลักๆ มาจาก ซาอุดีอาระเบีย คูเวต กาตาร์ ตามลำดับ และจากดูไบ โอมาน และยุโรปบ้าง ยอดออร์เดอร์ออกงานแต่ครั้งเพิ่มขึ้น 100-200%

จุดขายคือน้ำมันกฤษณา ทำมาจากไม้กฤษณาที่บริสุทธิ์ ปราศจากสารเคมี 100% มีกลิ่นหอมหวาน สีน้ำผึ้งเข้มสวย (พลอยโกเมน) และไม่ได้อัพราคาเพิ่มสูงมาก ราคาโตร่าละ 3,000-4,000 บาท เคยมีลูกค้ายิ่งกว่า VIP ตามไปซื้อถึงโรงงานที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เพราะต้องการเห็นกระบวนการผลิตไม่มีสารเคมีเจือปน น้ำมันกฤษณาของไทยเป็นการทำด้วยวิธีธรรมชาติไม่ใช้สารเคมีเร่ง ทำให้น้ำมันเป็นเกรดพรีเมี่ยม และในไม้ตัวที่ใช้จุดสูดดมกลิ่นไม่แต่งสี ควันไม่ทำให้แสบตา และกลิ่นหอมติดทนนาน ถ้าเป็น “ไม้ตัว” เกรดซุปเปอร์พรีเมี่ยมเนื้อหนาจะราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1 ล้านเหรียญ ชนิดที่ราคาเพชรยังสู้ไม่ได้

“การเปิดร้าน D.D. Oud Oil ที่ตลาดซอยนานา มีลูกค้าตามปกติ แต่การออกอีเว้นต์สำคัญมากเพราะเสมือนเป็นตลาดกลางใหญ่ของโลกได้ทำตลาดเพิ่มขึ้น แต่ละครั้งเป็นโอกาสพบลูกค้าประจำที่เคยมาซื้อในเมืองไทยและลูกค้าใหม่ๆ ล้วนแต่เป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง มีโอกาสแนะนำแบรนด์ของผลิตภัณฑ์น้ำหอมใหม่ๆ ซึ่งการไปร่วมอีเว้นต์ในต่างประเทศ หากมีใบรับรองมาตรฐานน้ำมันกฤษณาจากหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการทำตลาดในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ซึ่งโรงงานของ D.D. Oud Oil นอกจากการผลิตได้มาตรฐานแล้ว วัสดุที่ใช้ต้มกลั่นจะใช้ทองแดง ทำให้การต้มกลั่นมีคุณภาพมากขึ้น เป็นความแตกต่างที่สร้างสินค้าคุณภาพพรีเมี่ยม แนวโน้ม 1-2 ปีนี้อาจจะให้มีตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ของ D.D. Oud Oil ในต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษากฎหมาย ข้อสัญญาตกลงร่วมกัน และเตรียมจัดทำเว็บไซต์ให้ลูกค้าได้เข้าถึงกว้างขวางขึ้น เพราะจังหวัดตราดได้รวมกันเป็นคลัสเตอร์และสมาคมไม้กฤษณา ทำให้มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะขยายตลาดน้ำมันกฤษณาและผลิตภัณฑ์น้ำหอมของประเทศไทยได้” คุณดำ กล่าว

 

ตั้งคลัสเตอร์ช่วยสร้างเครือข่าย ภาคอุตสาหกรรมหนุน ปลดล็อกผังเมืองรวม

คุณพิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มภาคตะวันออก 2 และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด กล่าวว่า จังหวัดตราดมีพื้นที่ปลูกไม้กฤษณา ประมาณ 5 ล้านต้น ทำรายได้ปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นไม้ที่มีคุณภาพอันดับ 1 ของประเทศ บางกลุ่มปลูกแบบออร์แกนิกไร้สารเคมี แต่เมื่อส่งออกกลับถูกกดราคา อ้างว่าเป็นไม้ที่ใช้สารเคมี เป็นอันตราย ทำให้ถูกกดราคา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราดได้สนับสนุนให้มีการก่อตั้งสมาคมไม้กฤษณาจังหวัดตราด เบื้องต้นต้องการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดทำมาตรฐานของน้ำมันกฤษณา แบ่งเกรดของน้ำมันตามคุณภาพ เกรด 1-4 และมีใบรับรองสำหรับผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน เพราะการทำตลาดต่างประเทศใบรับรองสำคัญมาก เป็นการสร้างความเชื่อถือให้มาตรฐานของสินค้าและไม่ให้ถูกกดราคา รวมทั้งการจัดหาตลาดให้ผู้ผลิตได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

ทางด้าน คุณอดิศักดิ์ อุรเคนทร์ อุตสาหกรรมจังหวัดตราด กล่าวว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตราดได้สนับสนุนการจัดตั้งคลัสเตอร์ไม้กฤษณา เพื่อรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่ายไม้กฤษณา (Cluster) จังหวัดตราด เพื่อเป็นเครื่องมือกลไกสำคัญเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การสร้างมาตรฐานการผลิต การแข่งขันทางการตลาด ในปี 2561 จังหวัดตราดได้พัฒนาเครือข่ายคลัสเตอร์โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย สร้างองค์ความรู้ พัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าวัตถุดิบ และส่งเสริมการออกอีเว้นต์ในประเทศ เพื่อให้มีการกระจายรายได้เกษตรกรรายย่อยประมาณ 80% ส่วนรายใหญ่จะสนับสนุนให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศที่บริษัทคนไทยเข้าถึงยาก

“จังหวัดสนับสนุนคลัสเตอร์ ด้านองค์ความรู้ การลดต้นทุนการผลิตพลังงานในโรงงาน ให้ผลผลิตได้มาตรฐาน เป้าหมายผู้ผลิตรายย่อยก่อน เนื่องจากงบประมาณจำกัด ผู้ประกอบการมีความตื่นตัว แต่การตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันในพื้นที่ปลูกอำเภอบ่อไร่ มีปัญหาเร่งด่วนต้องปลดล็อกผังเมืองรวมจังหวัดก่อน เพราะเป็นพื้นที่สีเขียวพาดขาวไม่อนุญาตตั้งโรงงานทุกชนิด ทำให้ไม่สามารถออกใบอนุญาต รง.4 ได้จริงๆ แล้วเป็นโรงงานขนาดเล็กไม่สร้างมลภาวะ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปในส่วนของการออกใบรับรองมาตรฐาน อนาคตคลัสเตอร์ไม้กฤษณาจังหวัดตราด อาจจะมีการเชื่อมโยงกันในภาคตะวันออกเรื่องวัตถุดิบ นวัตกรรมการผลิต ตลาด ตลอดจนการออกใบรับรองมาตรฐาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเพราะคลัสเตอร์เพิ่งเริ่มต้นการพัฒนาในปี 2560-2561” คุณอดิศักดิ์ กล่าว

 

ขั้นตอนการทำน้ำมันกฤษณา

 คุณดำ พุทธเกษร ผู้มีประสบการณ์ตรงจากการปลูกไม้กฤษณามากว่า 30-40 ปี เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการทำไม้กฤษณาว่า มีขั้นตอนหลักๆ 4-5 ขั้นตอน คือ 

  1. ต้นพันธุ์ไม้กฤษณาที่นำมาใช้ทำสารเร่ง ต้องให้มีอายุเกินกว่า 6-7 ปีขึ้นไป การเจาะใช้สว่านเจาะเป็นรูและรอให้หลั่งสารมาสมานแผลทิ้งไว้ 5-6 ปี จึงเจาะเอาเนื้อไม้ที่การหลั่งสารออก ถ้าให้ต้นอยู่ได้นานควรเจาะตามกิ่งก่อน
    ต้นกฤษณาที่เจาะทำแผล
  2. การผ่าเนื้อไม้ นำเนื้อไม้กฤษณาที่ทำสารแล้วมีแก่นเนื้อไม้มากแยกทำต่างหาก ส่วนที่มีสารไม่มากนักนำไปผ่าก่อนส่งไปสับให้เป็นชิ้นหยาบๆ และตากแดดให้แห้งอีก 1 วัน ก่อนนำไปโม่เป็นผงละเอียด
    เครื่องผ่าไม้ ที่คุณดำคิดประดิษฐ์ขึ้นเอง
  3. การหมักเนื้อไม้ นำผงไม้ที่บดละเอียดแช่ในถังน้ำ 2-3 เดือน และต้องคนวันละ 2 ครั้งทุกวันเพื่อให้ก๊าซออกซิเจน ขั้นตอนนี้สำคัญที่จะทำให้น้ำมันกฤษณาที่กลั่นได้มีกลิ่นหอมหวาน
  4. การกลั่น จะใช้หม้อทองแดงต้มกลั่น ใช้อุณหภูมิ 100 องศา โดยออกแบบหม้อเอง เชื่อว่าวัตถุทองแดงจะช่วยให้การต้มกลั่นมีคุณภาพ กากที่เหลือตากแห้งขายให้โรงงานทำธูปที่มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นเนื้อไม้ที่ไม่มีสารอันตราย
    โรงต้มกลั่น
  5. การแบ่งแยกเกรด เพื่อจำหน่าย ถ้าทำออกมากลิ่นหอมหวาน สีสวยเป็นเกรดพรีเมี่ยมราคาดีมาก ราคาโตร่าละ 50,000-60,000 บาท จากนั้นเป็นเกรดรองลงมา เกรด 2-4 ราคาทั่วไปโตร่าละ 25,000 บาท

ขอบคุณข้อมูลจาก คุณดำ พุทธเกษร สนใจสอบถามรายละเอียด โทร. (083) 783-7838