“ฟักทอง” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของเกษตรกรที่ปากพนัง สร้างกำไรดี เป็นที่ต้องการของตลาด

พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง นับเป็นหนึ่งในทำเลทอง “เมืองแห่งอู่ข้าวอู่น้ำ” ที่อุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ภาคใต้ แต่ปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรในบริเวณนี้อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งโครงการส่งเสริมการเกษตรในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเกษตรกรในทิศทางที่ดีขึ้น

ทุกวันนี้ เกษตรกรชาวปากพนังมีความสุขที่ได้แหล่งน้ำชลประทานจากโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ มาใช้ปลูกพืชเลี้ยงผัก สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ตลอดทั้งปี  ซึ่งฟักทองเป็นหนึ่งในพืชทางเลือกของพวกเรา โดยใช้เวลาปลูกดูแลระยะสั้น แค่ 2 เดือนเศษ แต่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

“ฟักทอง” คนปักษ์ใต้เรียกว่า “น้ำเต้า”  

ชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกฟักทองหรือที่ภาษาใต้เรียกว่า น้ำเต้า เมื่อ ปี 2546 หลังจากที่ทางราชการได้เข้ามาดำเนินการขุดคูยกร่องแปลงไร่นาสวนผสมตามโครงการส่งเสริมการเกษตร รายละ 3 ไร่ แต่เกษตรกรมองว่า ยังไม่เพียงพอจึงลงทุนขุดคลองชลประทานเพิ่มเป็น 14 ไร่ เพื่อดึงน้ำเข้าที่ดินทำกินของตัวเองให้มากเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกตลอดทั้งปี

ระยะแรกเกษตรกรเริ่มต้นปลูกฟักทองสายพันธุ์ท้องถิ่น ที่มีขนาดผลใหญ่ เฉลี่ยผลละ 20 ก.ก. แต่คุณภาพเนื้อฟักทองยังไม่ถูกใจตลาด จึงเปลี่ยนมาใช้เมล็ดพันธุ์เอกชนคือ สายพันธุ์ทองอำไพ 426 ที่มีจุดเด่นสำคัญคือ ทรงผลใหญ่ ผิวคางคก แป้นสวย เนื้อหนา รสชาติมัน หวาน ให้ผลผลิตสูง น้ำหนักผลประมาณ 6-9 กิโลกรัม ตรงตามความต้องการของตลาด เมื่อครบอายุเก็บเกี่ยวจะได้ผลผลิตประมาณ 4-8 ตันขึ้นไปต่อไร่

ป้าอารมณ์    ปลอดอ่อน หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกฟักทองในพื้นที่บ้านเกาะทวด อ.ปากพนังมานานกว่าสิบปี เล่าว่า เดิมทีป้ามีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว แต่ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร เพราะผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ขาดทุนเรื่อยมาก  จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาปลูกฟักทองแทน  เพราะเป็นพืชที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่ให้ผลตอบแทนที่ดี ทำให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงหันมาปลูกฟักทองตามกันเป็นแถว เฉลี่ยรายละ 3-15 ไร่

การปลูกฟักทองในแถบนี้มีการจัดการที่ดีมาก ฟักทองของที่นี่จึงมีลักษณะเด่นแตกต่างกันจากพื้นที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด แม่ค้าที่รับซื้อจะบอกเลยว่า ฟักทองที่ปลูกบริเวณแถบนี้เนื้อดีที่สุด มีความเหนียว ความมัน และความหวานอยู่ในตัว เนื่องมาจากโครงสร้างของดินมีแร่ธาตุอาหารที่สมบูรณ์ เพราะเป็นดินตะกอนของลุ่มแม่น้ำ นอกจากนี้ ยังรวมถึงความเอาใจใส่ของเกษตรกรและมีการจัดการที่ดี อาทิ การดูแล การให้ปุ๋ย

“ป้าเลือกปลูกฟักทองพันธุ์ทองอำไพ เพราะตลาดต้องการฟักทองที่มีลักษณะผลใหญ่ และ มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น เพียง 85-90 วันหลังเพาะเมล็ด สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ประมาณ 2-3 ครั้ง เพราะต้นฟักทองจะติดลูกแรก ลูกที่สอง ลูกที่สาม เราสามารถเลือกเก็บลูกที่สุกแก่ได้ที่ออกขายได้ก่อน ”ป้าอารมณ์กล่าว

ลงแขกเก็บฟักทอง

การเยี่ยมชมแหล่งปลูกฟักทองในครั้งนี้  ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ที่ร่วมกัน “ลงแขก” เก็บฟักทอง โดยพวกเขาจะเก็บฟักทองโยนลงร่องน้ำ ซึ่งเป็นวิธีเก็บฟักทองที่ง่ายและประหยัดแรงงานได้อย่างน่าทึ่ง ป้าอารมณ์ บอกว่า ฟักทองมีน้ำหนักเฉลี่ย 6-8 กก. ต่อผล จึงต้องใช้วิธีโยนลงน้ำ เพราะอุ้มแบกไม่ไหว วิธีนี้ช่วยทำความสะอาดฟักทองไปในตัว ภายหลังการเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะใช้ไม้พายกวาดต้อนผลฟักทองให้มารวมกันก่อนขนขึ้นฝั่งและลำเลียงขึ้นรถบรรทุกเพื่อส่งฟักทองไปขายที่ตลาดต่อไป

การปลูกดูแล

การปลูกฟักทองโดยทั่วไป เกษตรกรในพื้นที่ปากพนังจะเริ่มจากการเตรียมหลุมปลูก ในช่วงปลายเดือนธันวาคม-มกราคม โดยขุดหลุมปลูก ในระยะห่างประมาณ 2×2 เมตร พื้นที่ 1 ร่อง จะปลูกฟักทองได้ประมาณ 80 หลุม/ไร่ รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหลุมละครึ่งกิโลกรัม หยอดเมล็ดพันธุ์ หลุมละ 2 เมล็ด

เกษตรกรจะนำเมล็ดพันธุ์ฟักทองไปแช่น้ำอุ่น 2 ชั่วโมงครึ่ง แล้วนำไปหุ้มผ้าบาง นำเมล็ดที่หุ้มไปซุกในกองปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว ประมาณ 36 ชั่วโมง และนำเมล็ดที่งอกไปหยอดหลุมละ 2 เมล็ด กลบด้วยดินร่วนบางๆ แล้วรดน้ำตามให้ชุ่ม ระยะแรกจะรดน้ำทุกวันพอฟักทองเริ่มโต จะปรับให้น้ำทุก 2-3 วัน ตามสภาวะอากาศ ส่วนเรื่องปุ๋ย ในช่วงแรกเกษตรกรจะใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-7-7 เพื่อบำรุงต้นและใบ และเลือกใช้ปุ๋ยเคมีสูตร15-15-15 เพื่อบำรุงดอกและผล

เกษตรกรจะโยนฟักทองลงน้ำ ก่อนจะรวบรวมขึ้นเรือ

หลังจากปลูกดูแลต้นฟักทองได้ 85 วัน เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิต ตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยจะทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้  2-3 รอบ หลังจากนั้น จะรื้อแปลง เพื่อพักดิน ประมาณ 3 เดือน ตั้งแต่เมษายนถึงพฤษภาคม เพื่อเตรียมปลูกพืชผักอายุสั้น เช่น ผักชี คะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน และเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนเข้าฤดูฝนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่มักเกิดเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน

ทุกวันนี้  ฟักทองกลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของลุ่มน้ำปากพนังไปแล้วแถมสร้างรายได้ดีกว่าการทำนากุ้งเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากขายฟักทองได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10-12 บาท หรือประมาณ 10,000-12,000 บาท/ตัน  นอกจากนี้ ฟักทองปากพนัง ยังได้รับการยกย่องว่า มีคุณภาพดีเป็น อันดับ 1 ของประเทศ เพราะฟักทองปากพนังมีเนื้อแน่น มีความมันสูง แตกต่างจากฟักทองจากแหล่งอื่น ดังนั้น หากใครต้องการรับประทานฟักทองเป็นอาหารมื้อต่อไป ขอแนะนำให้ลองเลือกซื้อฟักทองที่มาจากลุ่มน้ำปากพนังไปลิ้มลองรสชาติความอร่อยกันสักหน่อย