เบื่ออาชีพเซลล์ต้องตระเวนไปหลายที่ ตัดสินใจไปทำเกษตร ปลูกผักขายมีตลาดรองรับ

ความก้าวหน้าทางการสื่อสาร โดยเฉพาะมือถือแบบสมาร์ทโฟนช่วยยกระดับความสำคัญของภาคเกษตรกรรมให้มีความทันสมัย รวดเร็ว แม่นยำชนิดพลิกมิติในวงการเลย แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นตรงที่คนหนุ่ม-สาว ทุกสาขาอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ต่างนำมาใช้ประโยชน์ทำเกษตรกรรมในสาขาต่างๆ กันเพิ่มมาก

อย่างหนุ่มชาวกรุงที่กำลังกล่าวถึงรายนี้ ร่ำเรียนมาทางสายการตลาด เบื่อวิถีชีวิตในเมืองหลวง เบื่ออาชีพลูกจ้าง เลยหันมาเอาดีทางปลูกผักอินทรีย์ส่งขายที่ปากช่องจนมีรายได้ดี แถมยังค้นพบว่าการทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นความสุขที่แท้จริง แล้วยังทำให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงด้วย

คุณมนัส รัตนพันธุ์ หรือ คุณโจ้ พักอยู่เลขที่ 98 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ความจริงคุณโจ้ไม่ใช่คนโคราช แต่เป็นคนกรุงเทพฯ เรียนจบทางการตลาดแล้วทำงานเป็นเซลล์มานานกว่า 10 ปี รู้สึกอิ่มกับอาชีพพนักงานขายที่ต้องเดินทางตระเวนไปหลายจังหวัดจึงลาออก พร้อมกับตั้งเป้าจะหาอาชีพใหม่เป็นของตัวเอง

กระทั่งได้มาพบกับเพื่อนที่ทำอาชีพปลูกผักออร์แกนิกส่งขายตลาดหลายแห่งอยู่ที่ปากช่อง แล้วกำลังต้องการผักปลอดสารส่งขายอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมองว่าไม่มีความเสี่ยงเพราะมีตลาดรองรับที่ชัดเจน ทำให้คุณโจ้สนใจจึงได้ไปศึกษาหาความรู้ให้ละเอียดกับแหล่งเปิดสอนที่เชื่อถือ ตั้งแต่การเพาะต้นกล้า การเตรียมดิน การดูแล การผลิตปุ๋ยทางธรรมชาติชนิดต่างๆ และการเก็บผลผลิตที่ถูกต้องเพื่อส่งขาย

คุณมนัส รัตนพันธุ์ หรือคุณโจ้

ภายหลังเมื่อมีทักษะและความเข้าใจดีพอแล้วพร้อมลงมือทำเกษตรกรรม หนุ่มชาวกรุงรายนี้เลยคุยกับเพื่อนให้หาเช่าที่ดินแถวปากช่องเพื่อปลูกผักอินทรีย์ เป็นที่ดินเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ โดยเลือกปลูกผักอายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 45-50 วัน แบบหมุนเวียนเพื่อให้มีรายได้ตลอดต่อเนื่อง

คุณโจ้เริ่มปลูกผักตระกูลสลัดก่อนเพราะมีตลาดรับซื้อชัดเจนแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คอส ฟิลเลย์ ฯลฯ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังปลูกผักสวนครัวพื้นบ้าน อย่างผักบุ้ง ผักชี มะเขือเปราะ ขายเพื่อส่งเข้าโรงงานแพ็กแล้วส่งตามโมเดิร์นเทรดชั้นนำ

ลักษณะการปลูกผักอินทรีย์ของคุณโจ้จะปลูกแบบหมุนเวียน ปลูกผักทั้งแบบโล่งและมีโรงเรือน โดยสร้างโรงเรือนแบบเปิดโล่ง 4 ด้าน ขนาด 5 คูณ 7 เมตร จำนวน 6 หลัง เพื่อกันน้ำค้างและน้ำฝนกับผักสลัดและปลูกตามรอบการสั่งของลูกค้าเป็นหลัก เนื่องจากต้องพิจารณาความเหมาะสมของผักแต่ละชนิดด้วยว่าช่วงใดเหมาะกับการปลูกผักตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผักสลัดสามารถปลูกให้ผลผลิตได้ทั้งปีเพราะไม่ยุ่งยาก ปลูกง่าย ดูแลง่าย เพียงแต่ถ้าเป็นฤดูร้อนผักจะมีขนาดเล็กกว่าในช่วงฤดูหนาวที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์มากกว่า

การปลูกผักสลัดในแต่ละรอบ คุณโจ้จะไปซื้อเมล็ดพันธุ์มาจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีข้อดีที่ช่วยให้มีอัตราการงอกได้มากถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยเริ่มเพาะต้นกล้าไว้ในภาชนะประมาณ 14-17 วัน ระหว่างนั้นจะไปเตรียมแปลงปลูกไว้โดยใช้อัตราส่วนผสมของวัสดุปลูก ซึ่งได้แก่ แกลบดำ ขุยมะพร้าว ขี้วัว และดินในอัตรา 1 ต่อ 1 ในทุกอย่าง

หลังจากได้เวลาของต้นกล้าจึงย้ายไปลงแปลงปลูก ระหว่างดูแลจะฉีดพ่นด้วยปุ๋ยนมที่ผลิตเองจากนมวัวที่ไปซื้อมาจากฟาร์มที่ปากช่องในอัตราส่วนนมวัว 20 ลิตร กับกากน้ำตาล 4 ลิตร ผสมรวมกันทิ้งไว้ประมาณเดือนเศษจึงนำมาใช้  ทั้งนี้ ปุ๋ยนมสดจะช่วยให้ผักมีรสหวาน กรอบ มียางไม่มากเมื่อตัดเก็บผลผลิต โดยจะฉีดพ่นผักทุกเช้า-เย็น

นอกจากนั้น ยังใช้ปุ๋ยปลาที่ผลิตจากปลานิลจำนวน 20 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม สับปะรด 10 กิโลกรัม ผสมรวมกันหมักไว้ประมาณ 3 เดือนถึงจะนำมาใช้ โดยจะฉีดพ่นเช้า-เย็นสลับกับปุ๋ยนมสด ส่วนการป้องกันแมลงศัตรูจะใช้สะเดากับน้ำส้มควันไม้ โดยจะเริ่มฉีดในช่วงที่ต้นผักแข็งแรงเฉพาะช่วงเย็น โดยผักสลัดเก็บรอบละประมาณ 1,500 ต้น หรือราว 120 กิโลกรัม

ชั่งผักบุ้งเตรียมส่งเข้าโรงงานแพ็คเข้าห้างดัง

สำหรับการปลูกผักชี ผักบุ้ง และผักชนิดอื่น จะรองพื้นด้วยขี้วัวแล้วพรวนดิน หว่านเมล็ดพันธุ์แล้วคลุมฟาง ส่วนการดูแลบำรุงให้ปุ๋ยจะใช้วิธีเดียวกับผักสลัด จะต่างกันเฉพาะช่วงฉีดทุก 3-5 วัน ต่อครั้ง เท่านั้น

ทั้งนี้ ผักชีใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 45 วัน และผักบุ้งประมาณ 25 วัน ซึ่งผักชีที่ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ จะเก็บผลผลิตได้เกือบ 200 กิโลกรัม ทั้งนี้ พืช/ผักที่ปลูกจะหมุนเวียนและแปลงที่รื้อแล้วจะพักทิ้งไว้สักระยะเพื่อฟื้นฟูสภาพดิน แล้วป้องกันการเกิดโรค

คุณโจ้ บอกว่า การลงทุนปลูกผักไม่สูง เพียงแต่มีรายจ่ายหลักคือค่าเมล็ดพันธุ์ ส่วนปุ๋ยจะผลิตไว้ใช้ได้จำนวนหลายครั้ง ค่าจ้างแรงงานก็ไม่บ่อย เพราะงานส่วนใหญ่ลงมือทำเอง ยกเว้นช่วงไหนที่จำเป็นถึงจะจ้างแรงงานเป็นครั้งคราว ฉะนั้น ในแต่ละรอบการปลูกเมื่อขายและหักต้นทุนจะมีกำไรประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ อย่างผักสลัดที่เก็บสัปดาห์ละครั้ง มีรายได้ประมาณ 7-8,000 บาท นอกจากนั้น ยังมีรายได้จากผักบุ้ง ผักชี และผักอื่นๆ

ทั้งนี้ ผลผลิตผักอินทรีย์จะจำแนกตลาดขายที่มีอยู่ 3 แหล่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตผักสวนครัวพื้นบ้านส่งเข้าโรงงานของเพื่อนที่รับซื้อเต็มที่ (แต่ผลิตไม่ทัน) เพื่อแพ็กส่งขายตามห้างดัง ส่วนผักสลัดจะส่งตามโรงแรมดังที่ปากช่องกับส่งให้ทางบริษัทเพื่อส่งต่อไปขายที่ตลาดสิงคโปร์ในชื่อแบรนด์ “ผักดิน กินดี ฟาร์ม”

นอกจากผักสลัดและผักสวนครัวแล้ว คุณโจ้ยังทดลองปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ไว้จำนวน 400 ต้น และมะเขือเทศสีดาจำนวนไม่มาก ก็ให้ผลผลิตเกินคาด โดยเฉพาะผลมะเขือเทศเชอร์รี่ที่มีคุณภาพน่าพอใจ แล้วตั้งใจจะปลูกมะเขือเทศสีดาเพิ่ม คาดว่าอีกไม่นานพร้อมเสนอขายลูกค้าแบบเกรดพรีเมี่ยมด้วย

คุณโจ้ บอกว่า การตัดสินใจมาทำเกษตรกรรมทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน แล้วเห็นว่าเดินมาถูกทางแล้วเพราะยิ่งทำไปนานวันรู้สึกชอบ สนุกมากขึ้นเรื่อยๆ จนขายบ้านที่กรุงเทพฯ เพื่อมาตั้งรกรากอย่างถาวรที่ปากช่อง

“อาชีพปลูกผักที่ทำอยู่ตอนนี้ต้องบอกว่ามาถูกทางแล้ว แล้วไม่เคยคิดมาก่อนว่าชีวิตนี้จะมาเดินบนเส้นทางเกษตร ซึ่งได้พบความจริงว่าไม่ได้ยากอย่างที่กลัว ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะมีความตั้งใจและมุ่งมั่นก็ได้ อีกทั้งยังพบว่าการทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นความสุขที่แท้จริง แล้วยังทำให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงด้วย”

นับเป็นคนรุ่นใหม่อีกรายที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางเกษตร แม้คุณโจ้จะเป็นมือใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามาเพียง 2 ปี แต่เมื่อเทียบจากความมานะ อดทน มุ่งมั่น และใส่ใจ โดยเฉพาะจากความเป็นชาวกรุงแล้วถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่รวดเร็ว

สนใจผลผลิตผักคุณภาพอินทรีย์แบรนด์ “ผักดินกินดีฟาร์ม” ติดต่อได้ที่ คุณมนัส รัตนพันธุ์ หรือ คุณโจ้ โทรศัพท์ (093) 989-3018 หรือส่องดูกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ fb : ผักดินกินดีฟาร์ม