ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบันกระแสสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับผู้ที่ใส่ใจในการดูแลตัวเอง โดยเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การกินอาหารคลีน หรืออาจจะเป็นอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบที่ปลูกแบบระบบอินทรีย์ก็เป็นความมั่นใจของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้นอกจากพืชที่ปลูกในระบบอินทรีย์แล้ว แม้แต่สัตว์บางชนิดก็สามารถนำมาเลี้ยงในระบบอินทรีย์ได้อีกด้วย โดยปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติมีการเลี้ยงด้วยอาหารที่ได้จากพืช ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง จึงส่งผลให้สัตว์ที่เลี้ยงด้วยระบบนี้สามารถทำราคาทางด้านการตลาดที่สูงกว่าการเลี้ยงแบบทั่วไปเป็นเท่าตัว
อย่างเช่นไข่ไก่ที่ผ่านการเลี้ยงในระบบอินทรีย์เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่กำลังได้รับความนิยม เพราะสามารถหาซื้อเองได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าที่ขายสินค้าอินทรีย์ หรือถ้าหากอยากมีกิจกรรมยามว่างก็สามารถหาไก่ไข่มาเลี้ยงแล้วเก็บไข่ไว้กินภายในครัวเรือนเองก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประหยัดรายจ่าย
คุณณธรา แย้มพิกุล อยู่ที่บ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 19 ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเกษตรกรผู้มีความชอบการกินอาหารที่ปลูกในระบบอินทรีย์ โดยผลไม้และผักสวนครัวต่างๆ ที่ปลูกในสวนของเธอนั้น ทั้งหมดได้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกแบบระบบอินทรีย์ ต่อมาได้นำไก่ไข่มาเลี้ยงให้เป็นไก่ไข่อารมณ์ดี ในช่วงแรกเพียงแค่คิดว่าจะเก็บไว้กินในครัวเรือน แต่เมื่อไข่มีจำนวนมากขึ้นจึงนำไปขายเป็นอีกหนึ่งงานที่สร้างรายได้ให้กับเธอได้เป็นอย่างดี
ยึดงานทางการเกษตรเป็นอาชีพ
คุณณธรา เล่าให้ฟังว่า อาชีพทางการเกษตรเป็นสิ่งที่เธอทำมานานแล้วตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ โดยพืชส่วนใหญ่เน้นปลูกพืชผักสวนครัวที่ทำเงินให้กับเธอได้อย่างรวดเร็ว ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนและจัดการพื้นที่สวนใหม่ให้เป็นเกษตรผสมผสานที่อยู่ในระบบอินทรีย์ เพราะมองว่าตั้งแต่ทำเกษตรเป็นอาชีพมา ชีวิตค่อนข้างสัมผัสกับสารเคมีแทบทุกวัน จึงได้เกิดความคิดที่อยากจะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสาน แบบใช้ระบบอินทรีย์เป็นตัวนำในการผลิตสินค้า
“ช่วงนั้นเรารู้สึกว่าการทำเกษตรที่มีเคมีเยอะ อย่างเช่นพอในสวนมีหญ้าขึ้น เราก็ใช้ยาฆ่าหญ้า มีโรคแมลงเราก็ใช้สารเคมีช่วยกำจัด ทีนี้ได้มีโอกาสไปตรวจสุขภาพ ผลก็ออกมาว่าร่างกายเรานี่ค่อนข้างมีสารพิษตกค้าง ก็เลยมองว่าต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะอย่างน้อยไม่ใช่แค่ตัวเราอย่างเดียว แม้แต่คนรอบข้างอย่างลูกๆ ก็จะได้ปลอดภัยไปด้วย จึงได้คิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องของการปลูกให้อยู่ในระบบอินทรีย์ รวมไปถึงเรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ด้วย” คุณณธรา เล่าถึงช่วงเวลาของชีวิตในสมัยก่อน
เมื่อมีการปรับเปลี่ยนทำเกษตรอินทรีย์จึงทำให้ภายในสวนไม่สามารถกำจัดวัชพืชด้วยยาฆ่าหญ้าได้ ทำให้เธอเกิดความคิดที่จะนำไก่ไข่มาเลี้ยงภายในสวน เพราะไก่สามารถกินหญ้าและเศษผักที่คัดจากการส่งขายได้ จึงเป็นจุดกำเนิดของการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีจนประสบผลสำเร็จและสร้างรายได้ให้กับเธอได้ทุกสัปดาห์
เลี้ยงแบบอิสระเสรี ไก่ไข่มีอายุได้ถึง 3 ปี
ในช่วงแรกที่นำไก่ไข่มาทดลองเลี้ยงภายในสวน คุณณธรา บอกว่า นำมาซื้ออยู่ที่ 200 ตัว ต่อมาเมื่อไข่ไก่เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นจึงขยายพื้นที่เลี้ยง และซื้อไก่ไข่เข้ามาเลี้ยงเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ซึ่งตอนนี้ไก่ที่เลี้ยงอยู่ภายในสวนมีอยู่ประมาณ 1,000 ตัว โดยการเลี้ยงจะแบ่งพื้นที่เป็นโซนที่ชัดเจน คือใช้บริเวณใต้ร่มไม้ของพืชเศรษฐกิจที่โตเต็มที่บนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ใช้เป็นร่มเงาให้ไก่ได้เดินคุ้ยเขี่ยและหลบแสงแดด ภายในบริเวณนั้นจะทำโรงเรือนขนาด 4×40 เมตร ไว้ให้ไก่ได้วางไข่และเป็นพื้นที่หลับนอนในยามค่ำคืน
“ไก่ไข่ที่นำมาเลี้ยงเป็นลูกไก่เล็ก ที่ฟักออกมาได้ประมาณ 1 วัน เราจะนำมาอนุบาลเองในพื้นที่โรงเรือนก่อน โดยกกให้อยู่กับแสงไฟเพื่อให้ได้รับความอบอุ่น อาหารระยะอนุบาลลูกไก่จะให้กินปลายข้าว รำข้าว และก็เสริมด้วยข้าวโพดบดเข้าไปด้วย โดยให้กินวันละ 2 เวลา พออนุบาลได้อายุ 1 เดือน ก็จะเริ่มปล่อยให้ออกมาเดินเล่นในพื้นที่ที่เตรียมไว้ให้ จากนั้นอาหารก็จะเปลี่ยนเป็นเศษผักที่ได้จากการคัดไซซ์ให้ไก่ได้กินสลับเสริมรำ ปลายข้าว และข้าวโพดเหมือนเดิม” คุณณธรา บอก
คุณณธรา บอกว่า หลังจากนั้นอีก 6 เดือน ไก่ที่เลี้ยงทั้งหมดจะเริ่มวางไข่ให้เก็บขายได้ ซึ่งโดยปกติถ้าเลี้ยงแบบอาหารอย่างเต็มที่เพียงอายุ 4 เดือนไก่ก็จะเริ่มวางไข่ได้ แต่เนื่องจากไก่ไข่ของเธอเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติไม่มีการเร่งในเรื่องของอาหารไก่จึงให้ไข่ช้าหน่อย แต่มีข้อดีคืออายุไก่จะยืนยาวไปถึง 3 ปี
“ในสวนเรามีสมุนไพร พอช่วงไหนที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงเราก็จะเน้นให้กินสมุนไพรที่เราปลูกในสวน เช่น ฟ้าทลายโจร อะไรก็ได้ที่จะช่วยให้เขามีความแข็งแรง และที่สำคัญช่วงไหนที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นไก่ที่เราเลี้ยงก็ไม่ตาย เพราะโซนที่เราเลี้ยงจะอยู่ใจกลางสวน ดังนั้น จะไม่มีคนหรืออะไรนำโรคไปสู่ไก่ที่เราเลี้ยงได้ ธรรมชาติก็จะเป็นสิ่งที่ไก่ได้อยู่ด้วย ความแข็งแรงความมีอารมณ์ดีของไก่เราก็จะทำให้ต้านทานโรคต่างๆ ได้” คุณณธรา บอก
ซึ่งเฉลี่ยต่อวันจากจำนวนไก่ 1,000 ตัว สามารถเก็บไข่ขายได้อยู่ที่ 600-700 ฟอง โดยในช่วงเช้าถึงเที่ยงวันจะให้ไก่อยู่ในบริเวณสำหรับไข่ หลังจากเวลาบ่ายเป็นต้นไปจะปล่อยให้ไปเดินเล่นหาอาหารกินตามโซนแปลงที่จัดไว้ เพื่อกำจัดวัชพืชและแมลงต่างๆ เป็นการเตรียมพร้อมลงปลูกผักในรอบต่อไป
ไข่ไก่อารมณ์ดี ตลาดรับซื้อตลอดทั้งปี
ในเรื่องของการทำตลาดขายไข่ไก่อารมณ์ดีนั้น คุณณธรา บอกว่า ในช่วงแรกก็จะมีส่งขายเองตามกำลังของจำนวนผลผลิตที่มี ต่อมาเมื่อมีการขยายการเลี้ยงเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงสามารถขยายการตลาดให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ทำให้มีบริษัทที่สนใจในเรื่องของการขายสินค้าอินทรีย์เข้ามาดูวิธีการเลี้ยงและประเมินการจัดการต่างๆ เพื่อตกลงซื้อขายกันในเชิงการค้าเป็นระบบมากขึ้น
“ช่วงนี้ตลาดไข่ไก่อารมณ์ดีเป็นที่สนใจมากของผู้บริโภค เพราะจากปัญหาสุขภาพต่างๆ ทำให้คนเริ่มสนใจในเรื่องการดูแลตัวเองมากขึ้น จึงทำให้อาหารสุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนมองหา ยิ่งไข่เป็นวัตถุดิบที่กินได้ทุกวัน เรื่องการตลาดยังสามารถไปได้ดีในการเลี้ยงระบบแบบนี้ โดยราคาไข่ไก่ขายอยู่ที่ฟองละ 4-5 บาท คละไซซ์กันไปตั้งแต่เบอร์ 0 ถึง เบอร์ 3 ซึ่งลูกค้าที่ซื้อนำไปประกอบอาหาร จากที่เคยสอบถามมาเขาก็บอกว่าปรุงอาหารแล้วมีรสชาติที่อร่อย” คุณณธรา บอกเรื่องการตลาด
ซึ่งไข่ไก่ที่เก็บมาทั้งหมดในแต่ละวันสามารถส่งขายให้ลูกค้าที่เป็นขาประจำอยู่ที่สัปดาห์ละ 200 แผง และส่วนที่เหลือจากส่งลูกค้าขาประจำก็จะมีตลาดรองรับเป็นโครงการอาหารกลางวันตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อปรุงเป็นอาหารสุขภาพให้กับนักเรียน
สำหรับผู้ที่มีความสนใจอยากจะเลี้ยงไก่ไข่เพื่อสร้างแหล่งอาหารภายในครัวเรือน คุณณธรา บอกว่า ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงในจำนวนที่มากๆ โดยอาจเริ่มจาก 5-10 ตัวในพื้นที่บริเวณบ้านก่อน อย่างน้อยอาหารที่เหลือจากครัวเรือนก็ไม่ต้องทิ้งเปล่า สามารถนำมาให้ไก่กินได้ เมื่อไก่ออกไข่มาให้ได้ทุกวันก็นำไข่มาปรุงอาหารจึงช่วยประหยัดต้นทุนค่ากับข้าวได้อีกหนึ่งช่องทาง และถ้าไข่ไก่มีจำนวนมากเกินกว่าที่จะกินได้ก็สามารถนำไปขายเกิดเป็นเงินได้อีกด้วย
“การทำเกษตรนี่บอกเลยว่าเป็นกิจกรรมยามว่างที่ดี ถ้าใครที่มีความสนใจอยากทำแต่ไม่กล้าลงมือทำ ก็จะบอกว่าให้ทำเถอะ ใช้เวลาว่างหลังเลิกงานมาทำก็ได้ อย่างน้อยทุกคนในครอบครัวก็จะมีกิจกรรมทำร่วมกัน อย่างที่บ้านลูกๆ ก็ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เหมือนสร้างหน้าที่รับผิดชอบให้กับเขา เช่น เก็บไข่ไก่ เอาอาหารให้ไก่ และก็เสริมด้วยกิจกรรมแปรรูปจากไข่ไก่ที่ตกเกรดมาพัฒนาเป็นขนมต่างๆ ดังนั้น กิจกรรมเหล่านี้ก็ช่วยทำให้ทุกคนใช้เวลายามว่างด้วยกันในครอบครัวอย่างมีความสุข” คุณณธรา กล่าวแนะนำ
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณณธรา แย้มพิกุล หมายเลขโทรศัพท์ (089) 880-7726