เกษตรกรกาฬสินธุ์ เลี้ยงจิ้งหรีด งานเบาๆ ทำเงินเดือนละหมื่น สูงวัยก็ทำได้

ในช่วง 10 ปีมานี้ วงการแมลงบ้านเราเติบโตอย่างเห็นได้ชัด เพราะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้เองจึงมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยหันมาเลี้ยงกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ จิ้งหรีด ซึ่งเลี้ยงง่ายและได้ราคาดี มีเงินลงทุนหลักร้อยหลักพันก็สามารถเริ่มต้นเลี้ยงกันได้แล้ว ที่สำคัญหน่วยงานต่างๆ ของรัฐต่างส่งเสริมอย่างจริงจัง

อย่างกรณีของ คุณยุวดี ผลาปรีย์ วัย 61 ปี เกษตรกรบ้านเหล่าอ้อย หมู่ที่ 9 ตำบลร่องคำ อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งปัจจุบันเลี้ยงจิ้งหรีดมากถึง 30 คอก โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการเลี้ยงจิ้งหรีดของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พื้นที่ต้นแบบ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งหมด 44 ราย เป็นรายใหญ่ 4 ราย นอกนั้นเป็นรายเล็กๆ ที่เลี้ยงกันรายละ 2-3 คอก

 

ให้อาหาร เช้า-เย็น

คุณยุวดี เล่าว่า เมื่อปี 2558 ได้สมัครเข้าโครงการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำให้ความช่วยเหลือในการทำโรงเรือน และจัดหาจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ โดยทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ให้กู้ยืมเงิน คนละ 2,500 บาท แล้วผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ ตอนแรกเลี้ยง 1 คอก ขายได้เงิน 3,500 บาท รู้สึกดีใจมาก

จากนั้น สั่งเพิ่มอีกเป็น 2 คอก และเพิ่มเป็น 3 คอก เนื่องจากคำนวณว่า ถ้าเลี้ยง 3 คอก จะมีรายได้เดือนละหมื่นบาท พอมีทุนก็สั่งเพิ่ม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้เข้าอบรมในโครงการสัมมาชีพ ทำให้ได้รู้จักกับผู้ใหญ่บ้านยางตลาดคนหนึ่ง ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงจิ้งหรีด และได้ขอซื้อจิ้งหรีด จนตอนนี้มีถึง 30 คอก แล้ว

เกษตรกรรายนี้บอกว่า ในการเริ่มเลี้ยงตอนแรกทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ นำไข่จิ้งหรีดและแผงไข่ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจิ้งหรีดมาให้ พออยู่ได้สัก 1 สัปดาห์ ไข่ก็ออกเป็นตัว จึงให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับจิ้งหรีดโดยเฉพาะ และคอยดูแลเรื่องอาหารการกินให้ครบ ให้อาหารเช้า-เย็น ส่วนน้ำต้องมีแกลบผสมเพื่อไม่ให้จิ้งหรีดตกน้ำ

บรรยากาศภายในโรงเรือน

ที่สำคัญต้องดูแลให้ดี อย่าให้มีมดหรือจิ้งจกเข้ามา พวกนี้จะเข้าไปกัดไปกินจิ้งหรีด ถ้ามีมดก็นำชอล์กที่ไว้กันมดมาเขียน เลี้ยงจนครบประมาณ 1 เดือน ก็จับขายได้ ซึ่งถ้าเป็นหน้าร้อน ใช้เวลา 35 วัน จับขายได้ ส่วนหน้าหนาวใช้เวลานานกว่าคือ 45 วัน เนื่องจากจิ้งหรีดจะไม่ค่อยกินอาหาร ส่วนสะดิ้งอายุยาวกว่า อายุ 45 วันขึ้นไป ถึงจับขายได้ ถ้าหน้าหนาวต้องเลี้ยงถึง 50-60 วัน

เท่าที่ดูโรงเรือนของคุณยุวดีไม่ได้ลงทุนอะไรมาก ขณะที่เกษตรกรบางรายนำเล้าหมูหรือเล้าเป็ดเล้าไก่ที่มีอยู่เดิมมาปรับเป็นโรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งในแต่ละคอกจะมีฝาปิดมิดชิด กรณีคอกใหม่ ราคาคอกละ 1,500 บาท (ไม่มีแผงไข่และถาดอาหาร) ส่วนคอกมือสอง ราคาคอกละ 500-800 บาท

สำหรับจำนวนการเลี้ยง 30 คอก ของคุณยุวดีนี้ถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดในบรรดาสมาชิกของโครงการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งส่วนใหญ่จะเลี้ยงกันไม่กี่คอก และมักจะเลี้ยงทั้งจิ้งหรีดทองดำ จิ้งหรีดทองแดง จิ้งโกร่ง และตัวสะดิ้ง ผสมกันไป หากเห็นว่าคอกไหนแข็งแรง ตัวโต ก็จะเก็บไว้ทำพันธุ์

สะดิ้ง หรือจิ้งหรีดขาว

วิธีการสังเกตตัวไหนตัวผู้ ตัวเมีย ก็ไม่ยาก ถ้าเป็นตัวเมียจะมีเข็มตรงก้น ส่วนตัวผู้ไม่มี และถ้าเป็นสะดิ้งตัวเมียปีกจะสั้นกว่าตัวผู้ และมีเข็มตรงก้นเช่นกัน

คุณยุวดี แจกแจงถึงการเพาะจิ้งหรีดว่า ไม่ยาก สังเกตจากตัวผู้ ตัวเมีย จะมีเสียงร้องโต้ตอบกัน ต้องนำขันพลาสติกใส่ดินดำ (ดินปลูกพืช) ไว้ให้เป็นที่ไข่ ทิ้งไว้สักคืนสองคืน พอไข่เสร็จนำผ้ามาปิดใส่ถุงพลาสติก ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ เพื่ออบไข่  จากนั้นไข่จะฟักออกลูกเป็นตัวเล็กๆ คล้ายตัวหมัด เสร็จแล้วคว่ำขันและใช้ผ้าปิดไว้ เพื่อให้อุณหภูมิได้พอดี พร้อมกับนำแผงรองไข่มาวางเรียง เพื่อให้จิ้งหรีดใช้เป็นที่อยู่ ซึ่งถ้าไม่มีที่ซ่อนที่หลบจิ้งหรีดจะตาย เพราะร้อนและไม่แข็งแรง ถ้ามีแผงไข่เยอะยิ่งดี หากมีน้อยจะทำให้จิ้งหรีดกัดกัน ทำให้ตายได้ง่าย

ก่อนจับขาย ให้กินฟักทอง

จากการเลี้ยงจิ้งหรีดมาเกือบ 3 ปี คุณยุวดี ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า ยังไม่เจอปัญหาอะไรที่หนักๆ เพราะดูแลเอาใจใส่อย่างดี แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งนอกจากจะให้อาหารสำเร็จรูปแล้ว ยังนำผักบุ้งไปให้จิ้งหรีดกินด้วย ตอนอายุได้สัก 20 วัน จนทำให้ตายหลังจากกินภายในช่วงเวลาไม่กี่วัน เพราะเกิดเป็นกรดเป็นแก๊สขึ้นมา เนื่องจากขับถ่ายออกไปไม่หมด เมื่อเป็นแก๊สเกิดความร้อนขึ้นมาจึงทำให้ตาย หลังจากนั้นมาก็ไม่เคยให้ผักอีกเลย ซึ่งในการอบรมเรื่องเลี้ยงจิ้งหรีดทางเจ้าหน้าที่ก็แนะนำว่า หากจิ้งหรีดอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ห้ามให้ผักเป็นอาหาร

อย่างไรก็ตาม ได้ให้ฟักทองดิบกิน ซึ่งเป็นฟักทองที่ปลูกเอง แต่ถ้าไปซื้อที่ตลาดต้องล้างออกให้สะอาด เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีสารเคมีหรือไม่ ถ้าล้างไม่สะอาดอาจจะทำให้จิ้งหรีดตายได้ โดยจะให้กินฟักทองตอนช่วงก่อนจะจับขาย เพื่อให้ได้น้ำหนักดี สีสวย และมีรสชาติอร่อยเมื่อนำไปทอด

ทั้งนี้ ราคาขายของสะดิ้ง หรือจิ้งหรีดขาวนั้น ขายส่ง กิโลกรัมละ 90 บาท ส่วนจิ้งหรีดทองดำและทองแดง กิโลกรัมละ 100 บาท แต่ถ้าขายปลีก ขายกิโลกรัมละ 150 บาท เท่ากันทุกชนิด ซึ่งจะมีพ่อค้าจากอำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด มารับซื้อถึงบ้าน นอกจากนี้ ก็มีลูกค้าทั่วไปที่อยู่ในอำเภอร่องคำโทรศัพท์มาสั่งซื้อ โดยสั่งซื้อครั้งละ 200-300 บาท และสั่งให้ทอดเสร็จเรียบร้อย

เมื่อสอบถามถึงรายได้จากการเลี้ยงจิ้งหรีด คุณยุวดี ให้ข้อมูลว่า มีรายได้จากการขายส่ง บางครั้งขายได้ 10 คอก ตกคอกละ 1,500 บาท ในจำนวนประมาณ 35 กิโลกรัม แต่ถ้าขายปลีก ได้กิโลกรัมละ 150 บาท ได้คอกละ 2,000- 3,000 กว่าบาทก็มี บางครั้งขายได้ครั้งละ 20,000 บาท กำไรประมาณ 8,000-10,000 บาท

“ที่ผ่านมา เคยเลี้ยงสัตว์หลายอย่าง ทั้งหมู เป็ดพันธุ์ไข่ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จเหมือนจิ้งหรีด หมูก็ต้นทุนสูง เลี้ยงแล้วขาดทุน เพราะอาหารแพง เป็ดพันธุ์ไข่ เลี้ยง 600 ตัว ขาดทุนวันละ 30 บาท เลี้ยงเป็ดไข่ กินอาหารวันละ 430บาท ขายไข่ได้ 400 บาท แต่เลี้ยงจิ้งหรีดยังไม่เจอปัญหาขาดทุน ปกติถ้าขายได้ 20,000 บาท ต้นทุนประมาณ 10,000  บาท ที่สำคัญสบาย มีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน เลี้ยงอยู่กับบ้าน อยู่ในร่ม อายุเยอะแล้ว ทำงานอะไรมากไม่ได้ เป็นงานที่ไม่หนักจนเกินไป คนมีอายุทำได้สบายๆ ถือเป็นงานที่ให้ความสุขทางใจ ยิ่งเห็นจิ้งหรีดกินอาหารดี ก็ไม่อยากออกไปไหนมาไหน”

 

ตลาดต้องการจำนวนมาก

คุณยุวดี เล่าอีกว่า วางแผนไว้ว่า จะขยายจำนวนเลี้ยงจิ้งหรีดให้มากขึ้น เป็น 50 คอก เนื่องจากตลาดต้องการมาก แต่ไม่มีจิ้งหรีดจะส่งให้ มีพ่อค้าและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากจังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ต้องการ บางครั้งจะซื้อเป็นตันๆ แต่ขายให้ได้แค่ครั้งละ 50-70 กิโลกรัมเท่านั้น ปัจจุบัน มีพ่อค้าจากร้อยเอ็ดมาจับอยู่ตลอด ครั้งหนึ่งได้ 30-40 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีลูกค้ารายย่อยมาซื้อด้วย บางคนสั่งซื้อเพื่อนำไปขายที่ญี่ปุ่น ที่นั่นขายได้ กิโลกรัมละ 600-700 บาท แต่ครั้งหนึ่งนำไปได้แค่ 5-10 กิโลกรัม เท่านั้น

เกษตรกรสูงวัยรายนี้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการจะเลี้ยงจิ้งหรีดว่า เริ่มแรกไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะ มีเงินน้อยก็ทำตามกำลังทรัพย์ไปเรื่อยๆ มีเงินแค่ 3,000-4,000 บาท ก็เลี้ยงได้แล้ว จากนั้นค่อยๆ ขยาย ตอนแรกที่ตนเองเลี้ยงเริ่มจากคอกเดียวก่อน ตอนนี้พี่สาวที่อยู่บ้านติดกันก็มาเลี้ยงด้วย มีประมาณ 10 คอก

ส่วนเทคนิคในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ประสบความสำเร็จนั้น คุณยุวดี แจกแจงว่า ต้องขยันและใส่ใจ บางคนมาดูแล้วบอกทำไม่ได้ เรื่องการเลี้ยงนี้อยู่ที่ใจ ถ้าใจคิดว่าทำได้ก็ทำได้ เพราะไม่ใช่งานหนักอะไรเลย โดยเฉพาะคนสูงอายุทำได้สบาย จะอาศัยเงินเดือนผู้สูงอายุอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีรายได้เสริม เป็นงานไม่หนัก และทำให้มีรายได้ต่อเดือนเพิ่ม เฉลี่ยแล้วมีกำไรเดือนละหมื่น ได้เงินมาเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน เวลาเหนื่อยก็พักได้ ดีกว่าไปเลี้ยงสัตว์อื่นๆ

การเลี้ยงจิ้งหรีดของคุณยุวดีถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงมีกลุ่มต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรจากหลายพื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาศึกษาหาความรู้ และสอบถามวิธีการเลี้ยง ซึ่งนอกจากเจ้าตัวจะเล่าตามประสบการณ์การเลี้ยงจริงๆ แล้ว ยังได้นำความรู้จากการอบรมมาประยุกต์ใช้ด้วย

สนใจการเลี้ยงจิ้งหรีดของเกษตรกรอาวุโสรายนี้ หรืออยากจะเข้าไปชมวิธีการเลี้ยง โทร.ติดต่อสอบถามได้ที่ (086) 039-5057