มังคุดไทย โกอินเตอร์ สไตล์ YSF คาดการณ์-เรียนรู้ สู่แนวทางเพิ่มผลผลิต

ในสังคมที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญและการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรไทยจึงต้องปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพเพื่อให้ผลิตผลทางการเกษตรของไทยมีที่ยืนในตลาดสากล

ดวงพร เวชสิทธิ์ หรือ ปุ้ย Young Smart Farmer รุ่นใหม่วัย 41 ปี เจ้าของ “สวนบุษรา” สวนเกษตรผสมผสานบนเนื้อที่ 30 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในเกษตรกรไทยที่มีการปรับตัวให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในปัจจุบันสวนแห่งนี้ปลูกต้นมังคุด กล้วยหอม กล้วยไข่และลองกอง โดยมีมังคุดเป็นผลผลิตหลัก

คุณปุ้ย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการจัดการคอมพิวเตอร์ หันหลังให้อาชีพมนุษย์เงินเดือน เพื่อกลับมาสานต่อกิจการสวนบุษราซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัวในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 แม้คุณปุ้ยไม่เคยทำการเกษตรมาก่อน แต่ก็พยายามเรียนรู้ฝึกฝนทักษะ จากการขอความช่วยเหลือจากสำนักงานเกษตรจังหวัด และสมัครเข้าร่วมโครงการ Yong Smart Farmer ของกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้มีโอกาสรวมกลุ่มกับเกษตรกรรุ่นใหม่ เธอกล้าคิดวิเคราะห์และลงมือทำ จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม Yong Smart Farmer จังหวัดจันทบุรี ควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการเครือข่าย YSF เขต 3 (ภาคตะวันออก) ทำให้มีโอกาสได้รับการฝึกอบรมความรู้ด้านเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ

“สนุกคิดชีวิตเกษตรกร” เป็นคติประจำใจของเธอด้วยความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร เธอมีความสุขกับการวางแผน แก้ไขปัญหา พร้อมกับการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง จนสวนบุษราได้รับการรับรอง ‘การปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช หรือ GAP: Good Agriculture Practice


คุณปุ้ยเล่าว่า สวนแห่งนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากคุณยาย ที่เข้ามาเริ่มทำสวนผลไม้ตั้งแต่พื้นที่บริเวณนี้ยังมีสภาพเป็นป่าดิบ ปัจจุบันปลูกต้นมังคุด 2 รุ่น โดยต้นมังคุดรุ่นแรกอายุประมาณ 50 ปี ปลูกบนเนื้อที่ 20 ไร่ ในระยะห่าง 10×10 เมตร ส่วนรุ่นที่สองปลูกบนเนื้อที่ 10 ไร่ เป็นต้นมังคุดระยะชิด มีความห่างระหว่างต้น ประมาณ 6×6 เมตร และด้วยสภาพทางกายภาพของสวนที่เป็นพื้นที่ลุ่ม ติดคลอง ทำให้มังคุดออกดอกช้า ช่วงเก็บเกี่ยวมักเจอปัญหาฝนตกชุก ผลผลิตเกิดความเสียหายด้อยคุณภาพ ขายได้ราคาต่ำ คุณปุ้ยจึงได้นำการวิเคราะห์ SWOT มาวางแผนการจัดการสภาพแวดล้อมในแต่ละปี ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 10-12 เปอร์เซ็นต์ในปีต่อมา ทั้งยังเรียนรู้เทคนิคการบังคับให้ต้นมังคุดแตกใบอ่อน เพื่อให้อายุใบพร้อมออกดอกในเวลาที่ต้องการ ด้วยการสะสมอาหารให้มากพอก่อนหมดฤดูการเก็บเกี่ยว พร้อมกับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ โดยการศึกษาแผนที่อากาศ เพื่อพยากรณ์อากาศรายสัปดาห์ควบคู่ไปกับการจัดการธาตุอาหารที่สำคัญในการออกดอก ให้ทุกอย่างสัมพันธ์กันในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เฉลี่ย 100 กิโลกรัมต่อต้น ซึ่งถือว่าได้ผลผลิตสูงกว่าสวนมังคุดทั่วไป และยังสามารถส่งออกผลผลิตไปยังต่างประเทศได้ในราคาที่สูงกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม

ทุกวันนี้สาวปริญญาตรีอย่างคุณปุ้ยมีความสุขกับการผันตัวมาเป็นเกษตรกร ภาคภูมิใจในการสานต่ออาชีพที่เป็นรากฐานของคนไทย สมคำร่ำลือที่ว่า ไทยแลนด์แดนเกษตรกรรม

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการYoung Smart Farmer เพิ่มเติมได้ที่https://www.moac.go.th

ที่มา ข่าวสดออนไลน์