แกะเนื้อ อนาคตสดใส สัตว์เศรษฐกิจที่ใช้พื้นที่น้อย จับขายได้เร็ว

สวัสดีครับ ผมระหกระเหเร่ร่อนสัญจรไปพบพี่น้องเกษตรกรมาทั่วประเทศ และอีกหลายประเทศก็เคยไป ผมพบว่าผืนแผ่นดินสำหรับทำการเกษตรมันลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินทำกินจำกัดเหลือเกิน ยิ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนายิ่งไปใหญ่ ปัญหาการถือครองที่ดินของเกษตรกรยิ่งรุนแรง เกษตรกรมีที่ดินน้อยลง เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหามาตลอด ไม่ว่าสมัยไหนรัฐบาลใดก็ไม่สามารถแก้ไขให้เกษตรกรตาดำๆ พ้นบ่วงกรรมนี้ไปได้ ในมุมมองของผม พี่น้องเกษตรกรรายย่อยควรตื่นตัวมองหาช่องทางทำกินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่ดินน้อยก็ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะกับการใช้พื้นที่น้อย ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ที่สามารถขายได้เร็ว ผลผลิตสูง ราคาดี มีตลาดรองรับ ในด้านปศุสัตว์ผมเคยนำเสนอแพะและแกะให้เป็นสัตว์ที่เกษตรกรรายย่อยน่าจับตาและควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน มาฉบับนี้ผมนำเรื่องแกะเนื้อมารายงานอีกครั้งเพื่อเสนอเป็นทางเลือกให้พี่น้องเกษตรกรคนจำนวนมากแต่เสียงแผ่วเบา ให้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นครับ

คุณฐษณพร ทิพย์รักษ์
คุณฐษณพร ทิพย์รักษ์

เลิกปลูกอ้อย หันมาเลี้ยงแพะ

พาท่านมาพบกับ คุณฐษณพร ทิพย์รักษ์ ที่ ตำบลศรีมงคล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี คุณฐษณพร เริ่มเล่าให้ฟังว่า เดิมพื้นที่ที่มีอยู่ใช้ในการปลูกอ้อยมาก่อน แต่เห็นว่าในพื้นที่มีกระถินขึ้นอยู่เยอะ คิดว่าน่าจะเหมาะกับการเลี้ยงแพะ จึงไปซื้อแพะเนื้อมา 18 ตัว เมื่อ ปี พ.ศ. 2551 โดยใช้พื้นที่ที่เคยเป็นไร่อ้อย ประมาณ 30 ไร่ เปลี่ยนมาเลี้ยงแพะ โดยเริ่มต้นเลี้ยงแพะพันธุ์ลูกผสมพื้นเมืองกับแองโกลนูเบียน จากแพะจำนวน 18 ตัว เมื่อเริ่มต้นขยายจำนวนมาเป็น 100 กว่าตัวในเวลาปีกว่าๆ “เราเห็นว่าแพะน่าจะเหมาะกับการเลี้ยงในพื้นที่ของเรา และตอนนั้นตลาดมีความต้องการแพะเนื้อเพิ่มมากขึ้น เราจึงตัดสินใจขยายฝูงออกไปอีกจาก 100 เป็น 200 กว่าตัว ในเวลา 2-3 ปี” คุณฐษณพร เล่าให้ฟัง

3

ลดจำนวนแพะ เพิ่มจำนวนแกะ

คุณฐษณพร เล่าต่อไปว่า “ช่วงประมาณปี 2552 มีพ่อค้ามาขายแกะพันธุ์ลูกผสมพม่าหางยาวให้ จำนวน 9 ตัว เราก็เลี้ยงรวมๆ กับแพะที่มีอยู่ 200 กว่าตัว” แกะพันธุ์พม่า หรือที่นิยมเรียกว่า พันธุ์พม่าหางยาว นี้มีขนสีน้ำตาลหรือน้ำตาลไหม้ หน้าโหนกไม่แหลม มีหางยาว โคนหางใหญ่ แกะพันธุ์นี้มีน้ำหนักมากกว่าพันธุ์พื้นเมืองของไทย ประมาณ 10-20 กิโลกรัม นิยมใช้เป็นพ่อพันธุ์ ผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมืองของไทยเพื่อให้ได้ลูกผสมที่โตเร็วและน้ำหนักสูงขึ้น หลังจากเลี้ยงแพะและแกะรวมกันมาได้สักระยะ คุณฐษณพร ก็พบว่า แกะเลี้ยงง่ายกว่า กินน้อยกว่า และใช้เวลาเลี้ยงสั้นกว่าแพะ จึงเพิ่มจำนวนแกะขึ้นไปถึง 200 กว่าตัว “หลังจากเลี้ยงแกะมาได้สักระยะก็พบกับตัวเองว่าแกะมีนิสัยขี้ขลาดกว่าแพะ ดื้อซนน้อยกว่าแพะ ในขณะที่แกะเลี้ยงง่ายกว่า ใช้คนดูแลน้อยกว่า จากเดิมเลี้ยงแพะ 200 กว่าตัว ใช้คนเลี้ยง 3 คน แต่เลี้ยงแกะ 200 กว่าตัวเท่ากัน ใช้คนเลี้ยงแค่คนเดียว นอกจากนั้น แกะยังกินง่ายกว่าแพะ แถมยังโตเร็วกว่า ใช้เวลาเลี้ยงน้อยกว่าแพะ สามารถจับขายได้เมื่ออายุเพียง 4 เดือนเท่านั้น เราจึงเริ่มลดจำนวนแพะลงแล้วเพิ่มจำนวนแกะให้มากขึ้น” คุณฐษณพร เล่า

ข้อดีของการเลี้ยงแกะเนื้อ

4

คุณฐษณพร เล่าต่อไปว่า “หลังจากพบว่าแกะเลี้ยงง่าย ใช้เวลาน้อย สามารถทำกำไรให้ได้มากกว่าแพะ เราจึงหันมาจริงจังกับการเลี้ยงแกะเนื้อโดยซื้อแกะพ่อพันธุ์แท้เลือด 100% เข้ามาคุมฝูง ใช้ผสมกับแกะแม่พันธุ์ที่เรามีเพื่อสร้างฝูงแกะลูกผสมของเราเอง” จากข้อมูลของคุณฐษณพร สามารถสรุปข้อดี ข้อได้เปรียบของการเลี้ยงแกะเนื้อได้ว่า

– แกะเนื้อไม่ดื้อ ไม่ซน จึงใช้คนเลี้ยงน้อยกว่าแพะ

– แกะกินอาหารได้หลากหลายกว่า เช่น กินฟางได้ซึ่งแพะไม่กิน ในสภาพเลี้ยงปล่อยแกะชอบเล็มกินหญ้าสั้นๆ ติดพื้นที่เหลือจากการกินของแพะได้

– แกะโตเร็ว สามารถจับขายตลาดเนื้อได้เร็วกว่าแพะ แกะขายได้เมื่ออายุ 4-6 เดือน ซึ่งเนื้อแกะอายุขนาดนี้เป็นที่ต้องการของตลาด

– แกะตัวเมียสามารถเป็นสัดพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุเพียง 10 เดือน ตั้งท้องเพียง 4 เดือน 1 ปีจึงสามารถได้ลูกแกะ 2-3 ตัว ต่อแม่แกะ 1 ตัว

– แกะมีตลาดที่หลากหลายกว่าแพะ เช่น ตลาดเนื้อ ตลาดรีสอร์ต ตลาดโชว์ตัวอย่างลูกแกะป้อนนม ตลาดแกะขุน เป็นต้น

 

5

พันธุ์/อาหาร/แกะเนื้อ

ตอนนี้คุณฐษณพรใช้แกะเนื้อพันธุ์แท้เป็นพ่อพันธุ์คุมฝูงโดยใช้พ่อพันธุ์แกะพันธุ์ดอร์เปอร์เลือด 100% ซึ่งเป็นแกะเนื้อที่ให้เนื้อคุณภาพสูง ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี ทนแล้ง ลำตัวสีขาว หัวสีดำ ไม่มีเขา และพ่อพันธุ์ซานตาอิเนส เลือด 100% ซึ่งเป็นแกะขนาดใหญ่ ใบหูยาวปรก หน้าโค้งนูน มีหลายสี เข้ามาเป็นพ่อพันธุ์คุมฝูง พ่อพันธุ์ทั้งหมดซื้อมาในช่วงที่ยังอายุน้อย ซื้อมาราคาตัวละ 35,000 บาท จากรักษ์ฟาร์ม จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อนำมาผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมือง แม่พันธุ์พม่าหางยาวที่มี ในอัตราพ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 50 ตัว เพื่อให้ได้แกะเนื้อลูกผสมที่มีเนื้อมาก โตเร็ว กินง่าย และทนทานต่อสภาพแวดล้อม ส่วนเรื่องอาหารแกะนั้น คุณฐษณพร บอกว่า “ตอนเช้าก่อนจะปล่อยแกะออกจากคอก เราจะให้อาหาร อย่าง ฟาง ผิวถั่วเหลือง และมันหมักยีสต์ ที่ได้จากการโม่มันสำปะหลัง บรรจุใส่ถัง 200 ลิตร เติมยีสต์เข้าไปหมักซึ่งสามารถเก็บเอาไว้ใช้ได้นานเป็นปี แกะจะกินอาหารทั้ง 3 อย่างนี้ประมาณตัวละครึ่งกิโลกรัม ซึ่งเคยคิดเป็นราคาต้นทุนอาหารอยู่ที่ 1 บาท ต่อแกะ 1 ตัว หลังกินมื้อเช้าเรียบร้อยเราก็จะปล่อยแกะลงทุ่งให้หาหญ้าธรรมชาติ ใบไม้ต่างๆ กินตั้งแต่ 09.00-12.00 น. หลังจากนั้น จะต้อนกลับเข้าคอกเพราะอากาศร้อน ธรรมชาติของแกะมักจะนอนหลบแดด ไม่หากิน ต้อนกลับมาที่คอก 2-3 ชั่วโมง ตอนบ่าย 3 เราก็ปล่อยลงทุ่งอีกจนถึงประมาณ 6 โมงเย็น แกะจะกลับมาเข้าคอก เราจะให้อาหารเย็นเป็นผิวถั่วเหลืองกับมันหมักยีสต์อีกรอบ”

2

ราคาขายแกะเนื้อ

ในเรื่องราคาขาย คุณฐษณพร บอกว่า “แกะเนื้อตัวผู้จับขายตลาดเนื้อได้เมื่ออายุ 4 เดือน ราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท 1 ปีจะจับแกะขายออกไปได้ 2 รอบ โดยตลาดอยู่ที่คอกขุนที่ซื้อเพื่อนำไปขายต่อ และตลาดที่เป็นเขียงเนื้อสำหรับเนื้อชั้นดี ส่วนตลาดเพื่อการท่องเที่ยวการโชว์ตัวก็จะขายลูกแกะสำหรับนำไปหัดป้อนนมจากขวด ราคาขายลูกแกะยังไม่หย่านมตัวละ 1,500 บาท แต่หากเป็นลูกแกะที่ฝึกจนกินนมจากขวดเป็นแล้วเราขายราคาตัวละ 4,000 บาท อีกตลาดของแกะก็คือ ตลาดพันธุ์สำหรับคนที่จะซื้อไปเลี้ยงขยายฝูงขยายพันธุ์ต่อไป เราขายเป็นคู่แม่ ลูก ราคาคู่ละ 5,000 บาท”

คุณฐษณพร บอกว่า “ที่ผ่านมายังไม่มีปัญหาเรื่องโรคของแกะในพื้นที่ และในความเห็นส่วนตัวมองว่าแกะเป็นสัตว์มีอนาคตเพราะเนื้อราคาแพงกว่า คุณภาพดีกว่าเนื้อแพะ โตเร็วได้เงินเร็ว เรื่องอาหารก็ไม่มีปัญหา ในพื้นที่ฟาร์มของเราช่วงหน้าแล้งหญ้าน้อยก็ไม่มีปัญหากับแกะเพราะแกะชอบเล็มกินหญ้าสั้นๆ แต่จะให้ดีก็ควรสร้างแปลงหญ้าพันธุ์ดีเอาไว้ให้ด้วย”

นี่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพี่น้องเกษตรกรที่มองหาอาชีพสร้างรายได้ ใครสนใจอยากได้ข้อมูล อยากพูดคุย ติดต่อ คุณฐษณพร ทิพย์รักษ์ ได้ที่ โทร. (085) 226-6741 ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว ขอลากันไปก่อน สวัสดีครับ

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์