5 อาชีพเกษตรลงทุนน้อย หากถูกเลิกจ้างวันนี้ ก็ลงมือทำได้เลย

ปฏิเสธไม่ได้นะคะ ว่าเศรษฐกิจช่วงนี้ ค่อนข้างฝืดเคืองทีเดียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย

ข้าวของแพงขึ้น ค่าจ้างยังเท่าเดิม

ในขณะที่บางธุรกิจ ก็ปลดพนักงาน โดยใช้เทคโนโลยี เข้ามาแทนที่

วันนี้เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เว็บไซต์สำหรับผู้ที่ชอบงานอิสระ สุจริต จะมาแนะนำ 5 อาชีพเกษตร ที่ทำได้ไม่ยาก ลงทุนน้อย

เรียกว่า ถ้าคุณถูกเลิกจ้างวันนี้ มีต้นทุนสัก 1-5 พันบาท ก็ลงทุนทำได้เลย

อาชีพที่ 1 เพาะเห็ดฟางในตะกร้า

วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้

  1. ฟางข้าว หรือ ผักตบชวาแห้ง

2. ขี้เลื่อยหรือวัสดุเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ ที่ผ่านการเพาะมาแล้ว (วัสดุเหลือทิ้ง)

3. หัวเชื้อเห็ดฟาง

4. ตะกร้าพลาสติก

 

ขั้นตอนการทำ

ขั้นแรก นำฟางไปแช่น้ำ 1 คืน แล้วผึ่งให้หมาดๆ ชื้นๆ อีกครึ่งวัน (ให้เหลือความชื้นราว 10 เปอร์เซ็นต์ ลองบีบดูแล้วไม่มีน้ำหยด) ถ้าใช้ผักตบชวา ก็ต้องเป็นผักตบชวาตากแห้ง นำมารดน้ำ

จากนั้น นำฟางเรียงก้นตะกร้า (ปูพื้น) โรยด้วยขี้เลื่อย และตามด้วยหัวเชื้อเห็ดฟาง (ขี้เลื่อยและหัวเชื้อโรยขอบตะกร้า เพื่อให้ดอกเห็ดออกตามขอบตะกร้า เป็นชั้นๆ ขึ้นมา)

ทำซ้ำกันจนครบ 4 ชั้น เต็มตะร้า  โดยชั้นสุดท้าย โรยขี้เลื่อยและหัวเชื้อ เต็มพื้นที่ (เพื่อให้ดอกเห็ดออกด้านบน จนเต็ม)

ขั้นสุดท้าย ครอบด้วยถุงพลาสติก (เห็ดต้องการความร้อน ชื้น)

หลังจากผ่านไป 4-5 วัน ให้สังเกต ถ้ามีละอองน้ำเป็นฝ้า เกาะที่ถุง ก็ใช้ได้ แต่ถ้าไม่มีต้องเปิดถุงรดน้ำ

ครบ 9-12 วัน เห็ดเริ่มออก (ช่วงวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 อย่าเปิดถุง มิเช่นนั้น ดอกจะชะงักการเติบโต)

หลังจากเห็ดออกแล้ว เก็บได้อีก 5 วัน จะได้เห็ดราว 2 กก.

หากเก็บเห็ดหมดแล้ว วัสดุเพาะเห็ดทั้งหมด นำไปทำปุ๋ยหมักต่อได้

การลงทุน

ตะกร้า 1 ใบ 40 บาท

หัวเชื้อเห็ดฟาง 15 บาท (ทำได้ 2 ตะกร้า)

ฟาง หรือ ผักตบชวา  หาได้ทั่วไป

 

อาชีพที่ 2  เพาะถั่วงอกในโอ่ง 

นางศรีนวล แก้ววัน อายุ 46 ปี จากโคราช ผู้ทำอาชีพเพาะถั่วงอกแบบโบราณ บอกขั้นตอนการทำมาว่า

ขั้นตอนแรกนั้น ต้องไปหาเลือกซื้อโอ่งขนาดความสูง 1.5 ฟุต กว้าง 1 ฟุต แล้วนำมาเจาะรู้ขนาดนิ้วก้อย 2 รูที่ก้นโอ่ง เพื่อให้น้ำสามารถซึมออกได้

ขั้นตอนที่ 2 ให้ซื้อเมล็ดถั่วเขียว คัดเกรด A ในปัจจุบันราคากิโลกรัม 60 บาท แล้วนำเมล็ดถั่วเขียวนั้นมาแช่ไว้ในกะละมังประมาณ 5 ชั่วโมงก่อน

ขั้นตอนที่ 3 นำเมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว มาใส่ไว้ในโอ่งประมาณโอ่งละ 2 กิโลกรัม แล้วคลุมด้วยกระสอบทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้รากงอกออก

ขั้นตอนที่ 4 ให้เอาใบสะแกสด มาคลุมไว้ด้านบนเมล็ดถั่วเขียว แล้วเอาไม้ไผ่ขัดไว้ด้านบน

ขั้นตอนที่ 5 หมั่นรดน้ำใส่ในโอ่ง วันละ 4 เวลา ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 วัน

ส่วนขั้นตอนการคัดเอาเปลือกถั่วเขียวออกจากถั่วงอกนั้น ก็จะใช้พัดลมขนาดใหญ่ เป่า แล้วนำผ้ามุ้งมาปู และนำถั่วงอกมาใส่กระด้งเพื่อร่อนให้เปลือกถั่วเขียวปลิวออกจากถั่วงอก พอคัดได้ถั่วงอกล้วนแล้ว ก็เก็บใส่ถุงชั่งกิโลพร้อมนำไปขายได้แล้ว  (ขอบคุณภาพและเนื้อข่าว จากนักข่าวภูมิภาคหนังสือพิมพ์มติชน  ประจำ จ.นครราชสีมา )

อาชีพที่ 3 เพาะต้นอ่อนและไมโครกรีน ในเชิงการค้า 

ไมโครกรีน เป็นต้นกล้าที่มีการเจริญเติบโตต่อมาอีกระยะหนึ่งหลังจากที่รากเพิ่งงอกออกมา โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการเจริญเติบโตประมาณ 1-2 สัปดาห์ มีลำต้นอวบและมีใบจริง 2-3 ใบ หลังจากที่ใบขยายเต็มที่ก็พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว โดยการตัดลำต้นเหนือผิวดิน
ไมโครกรีนจึงมีลักษณะคล้ายกับต้นอ่อน  แต่มีความแตกต่างกันที่สำคัญหลายประการ เช่น วิธีการผลิต ไมโครกรีนจะเจริญเติบโตในดินหรือวัสดุปลูก เช่น พีทมอส หรือวัสดุเส้นใยอื่นๆ
การเพาะต้นอ่อน
มีอุปกรณ์ คือ โหลแก้วปากกว้าง และปิดภาชนะด้วยตะแกรงซี่ถี่ พร้อมเตรียมเมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกดี สะอาด ปราศจากโรค ชนิดที่ต้องการจะเพาะ จากนั้นแช่เมล็ดในน้ำสะอาดเป็นระยะเวลา 8-12 ชั่วโมง และถ่ายน้ำออก เสร็จแล้วจึงวางโหลแก้วในลักษณะเอียง ถ่ายน้ำเข้าออกวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น ทำอย่างนี้ซ้ำๆ เป็นเวลาประมาณ 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก จะได้ต้นอ่อนที่พร้อมบริโภค
การเพาะไมโครกรีน
จะต้องมีวัสดุเพาะที่มีลักษณะอุ้มน้ำได้ดี และร่วนซุย มีความอยู่ตัว แน่นพอที่จะไม่ให้ต้นกล้าล้ม การเตรียมเมล็ดพันธุ์ก็เหมือนกับการเพาะต้นอ่อน จากนั้นจึงเพาะเมล็ดลงในถาดพลาสติกหรือตะกร้าพลาสติก ถ้าหากเพาะในกล่องพลาสติกควรเปิดฝาไว้เพื่อการระบายอากาศที่ดี รดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 10-14 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก
สำหรับ เมล็ดพันธุ์ผัก ที่สามารถนำมาเพาะเป็นต้นอ่อนหรือไมโครกรีนได้ เช่น บร็อกโคลี่ กะหล่ำปลี ผักบุ้งจีน โหระพา กะเพรา เรดิช กวางตุ้ง คะน้า เขียวน้อย ขี้หูด โสน กระถิน แค ผักปลังขาว ผักปลังแดง ผักโขม แมงลัก ทานตะวัน เป็น
 เมื่อได้ผลผลิตแล้ว นิยมแพ็กใส่ถุงจำหน่าย ซึ่งอาจทำเป็นอาชีพเสริม ใช้เวลาว่างจากงานประจำ  นำไปจำหน่ายที่ออฟฟิศ เพื่อนร่วมงาน หรือวางขายตามตลาดนัดตามสำนักงาน  เปิดท้ายขายของ ตลาดสดทั่วไป หรือส่งซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น
(ขอบคุณข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มก. /ภาพโดย เชตวัน เตือประโคน)

อาชีพที่ 4 ปลูกโหระพา-กะเพรา ข้างบ้าน สร้างรายได้เสริม

ทั้งกะเพรา และโหระพา เป็นพืชดูแลง่าย ไม่ค่อยเป็นโรค เก็บขายได้ทั้งปี แต่เพื่อให้เจริญงอกงามดี ก็แค่ใส่ปุ๋ยให้ 20 วัน ต่อครั้ง อาจจะใช้สูตร เสมอ หรือสูตร 46-0-0 ก็ได้

ถ้าต้นไหนแก่จัด ก็ตัดทิ้ง และการที่ตัดกิ่งมาเด็ดใบขาย ก็เท่ากับเป็นการตัดแต่งกิ่งไปในตัว อีกไม่นานก็แตกกิ่งใหม่

เมื่อตัดมาแล้ว ล้างน้ำ 1 ครั้ง จากนั้น เด็ดใบ เด็ดช่อ ใส่ฝาชี (หงาย) ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ทำให้ใบผักไม่เน่า

ราคารับซื้อ (เด็ดใบแล้ว) อยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท วันหนึ่งเก็บได้ 7-8 กิโลกรัม นับเป็นรายได้เสริม เป็นค่ากับข้าวทุกวัน

ใครที่ทำการเกษตร หรือพอมีที่มีทางอยู่แล้ว อาจเอาไอเดียไปทำได้เลย ซึ่งจะว่าไปแล้ว การปลูก การดูแล ไม่ยากเท่าการหาตลาด ดังนั้นก่อนปลูก ลองไปสำรวจตลาดก่อนว่า จะไปส่งให้ใคร ที่ไหน และจะได้ราคาเท่าไหร่

อาชีพที่ 5 เลี้ยงปลาหมอ 

ปลาหมอเป็นปลาที่ทนทาน เลี้ยงง่าย และมีผู้บริโภคให้ความนิยมโดยเฉพาะตามตลาดในต่างจังหวัด

ขั้่นตอน

  1. ขุดบ่อ อยู่ที่ขนาด 10×20 เมตร ความลึกของบ่อ ประมาณ 2 เมตร
  2. ปรับสภาพดิน ด้วยการโรยปูนขาวที่ก้นบ่อ เพื่อปรับสภาพดินและฆ่าเชื้อโรค จากนั้นตากบ่อไว้ ประมาณ 7 วัน พอครบกำหนดก็เตรียมสูบน้ำเข้าภายในบ่อ ในระยะแรกก้นบ่ออาจเกิดไรแดงให้ลูกปลาหมอได้กิน

3. ก่อนที่จะปล่อยลูกปลาลงบ่อ จะสูบน้ำลงไปในบ่อให้มีระดับน้ำ ประมาณ 120 เซนติเมตร แล้วรักษาระดับน้ำไว้เช่นนี้ จนกว่าลูกปลามีอายุได้ประมาณ 1 เดือน พอเข้าสู่เดือนที่ 2 จะเพิ่มระดับน้ำขึ้นมาอยู่ที่ 140 เซนติเมตร พอลูกปลาหมอเข้าเดือนที่ 3 เพิ่มระดับน้ำขึ้นเป็น 180 เซนติเมตร พอครบเดือนที่ 4 ระดับน้ำจะอยู่ที่ 2 เมตร จนกว่าปลาหมอจะได้ขนาดส่งขายได้

2

4. ส่วนพันธุ์ปลา เลือกลูกปลาหมอจากฟาร์มที่เชื่อถือได้เพราะถ้าเลือกลูกปลาหมอมาไม่ดีโอกาสจะเป็นเพศผู้หมดค่อนข้างมาก แนะนำพันธุ์ชุมพร 1 ขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร (ไซซ์ใบมะขาม) ราคาตัวละ 80 สตางค์ เป็นปลาหมอที่ผ่านการแปลงเพศแล้ว จะเอาเพศเมียเป็นหลัก เพราะเพศเมียจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าเพศผู้ มีขนาดใหญ่กว่า

5. บ่อขนาด 10×20 เมตร ปล่อยลูกปลาหมออยู่ที่ 5,000 ตัว ต่อบ่อ แต่ถ้าใครจะปล่อยถึง 10,000 ตัว ต่อบ่อ ก็ทำได้

 

6. การให้อาหาร ช่วงที่ปล่อยลูกปลาไปแรกๆ ยังไม่ได้ให้อาหาร เพราะในบ่อจะมีไรแดงอยู่ ลูกปลาสามารถกินได้ พอเลย 7 วัน ก็จะเริ่มให้อาหาร ระยะ 1 เดือนแรก ให้วันละ 4 ครั้ง

 

 

7. การดูแลรักษาโรค และศัตรูของปลาหมอ

เมื่อปลามีอายุได้ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ก็จะมีการถ่ายน้ำออกจากบ่อ โดยดูว่าน้ำในบ่อมีสภาพอย่างไร เขียวมากเกินไหม เพราะถ้าสภาพน้ำไม่ดีปลาหมอจะเครียด กินอาหารได้น้อย จะถ่ายน้ำออก เอาน้ำใหม่เข้าไป จากนั้นสาดเกลือลงไปในบ่อหลังถ่ายน้ำ

 ด้านศัตรูที่มากินปลาหมอ จะเป็นพวก นกกระยาง งู กบ เพราะลูกปลาหมอตัวเล็กๆ ระยะ 2-3 เซนติเมตร กบสามารถกินได้ ทำให้จำนวนปลาหมอลดน้อยลง ส่วนนกกระยาง จะขึงตาข่ายกันที่ปากบ่อ เพื่อกันนกกระยางลงมากินปลาหมอ

14475771251447579441l

8. การตลาดส่วนใหญ่ มีคนมาจับถึงบ่อเลี้ยง ปลาหมอที่ขายส่วนใหญ่ อายุประมาณ 5 เดือน โดยไซซ์ที่นิยม จะประมาณ 4-5 ตัว ชั่งน้ำหนักได้ 1 กิโลกรัม ถือเป็นไซซ์ปานกลาง ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท

ถ้า 7-9 ตัว ชั่งน้ำหนักได้ 1 กิโลกรัม ขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 40 บาท

ส่วนไซซ์ใหญ่สุด 2-3 ตัว ได้ 1 กิโลกรัม อยู่ที่ราคา 80 บาท  (ทั้งนี้ ราคาขึ้นอยู่กับ ความต้องการ และปริมาณสินค้าในเวลานั้นๆ ด้วย)

(ขอบคุณภาพ และเนื้อข่าว เรื่องปลาหมอ จากคุณสุรเดช สดคมขำ ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์)