เกษตรกรหัวก้าวหน้า ผู้นำกลุ่มผลิตผักอินทรีย์ เผยเคล็ดลับ ปลูกได้ผล ขายได้จริง

“หมู่บ้านหนองเม็ก” นับเป็นหมู่บ้านต้นแบบผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล คือ Organic Thailand และ IFOAM เป็นโรงเรียนผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร

“คุณป้อม” หรือ “ศุภชัย มิ่งขวัญ” เป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก ทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตและด้านการตลาด  คุณป้อมเรียนจบปริญญาตรีจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี  ไปฝึกงานเป็นยุวเกษตร ที่อิสราเอลนานถึง  7 ปีเต็ม เมื่อกลับมาเมืองไทย ได้แต่งงานและย้ายถิ่นฐานมาอยู่บ้านหนองเม็ก ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภรรยา

คุณป้อมได้นำนวัตกรรมความรู้ด้านการเกษตรที่ทันสมัยจากประเทศอิสราเอลมาใช้ปลูกผักอินทรีย์ของตัวเองในชื่อ“ ไร่ภูตะวัน ออร์แกนิก ฟาร์ม” โดยปลูกพืชผักอินทรีย์บนเนื้อที่ 35 ไร่ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนหันมาปลูกผักอินทรีย์และรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกส่งขายตลาด

ปัจจุบัน ไร่ “ภูตะวัน ออร์แกนิก ฟาร์ม ” มีสมาชิกลูกไร่ ที่ปลูกผักอินทรีย์รวมกันประมาณ 100 ไร่ พวกเขามุ่งปลูกพืชผักอินทรีย์ในโรงเรือนระบบปิด ที่เรียกว่า  “โรงเรือนกรีนเฮ้าส์” ข้างบนเป็นหลังคาพลาสติก ด้านข้างเป็นมุ้งกันแมลง สมาชิกแต่ละรายจะมีพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉลี่ยรายละ  12 -20 แปลง

ชุมชนแห่งนี้ ปลูก “ผักสลัดอินทรีย์” หลากหลายชนิด เช่น กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค  คอส บัตเตอร์เฮด  ฟิลเล่ย์ ผักป๋วยเหล็ง  คะน้า กวางตุ้ง  ฯลฯ ทั้งนี้สมาชิกกลุ่มจะปลูกพืชผักสลับหมุนเวียนกันไปตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นหลัก

ชูนโยบาย “การตลาดนำการผลิต”

กลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก ภายใต้การนำของคุณป้อม มุ่งปลูกผักเชิงพาณิชย์ โดยวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ให้น้ำ และใช้โรงเรือนระบบปิดที่ง่ายต่อการดูแลจัดการผลผลิต

คุณป้อม เล่าว่า ทางกลุ่มจะคำนวณพื้นที่ปลูกพืชผักแต่ละครั้งว่า มีโรงเรือนกรีนเฮ้าส์กี่แห่ง ปลูกผักได้กี่รอบ จำนวนเท่าไหร่ ก่อนสรุปแผนการผลิตให้ลูกค้าได้รับทราบ เช่น มีกำลังการผลิตผักสลัดสัปดาห์ละ 1,000 กก. และผักอื่นๆ รวม 1,200 กก.  หากลูกค้าพึงพอใจก็จะกระจายคำสั่งซื้อให้สมาชิกรับไปผลิตต่อไป

ปัจจุบัน สินค้าเกษตรอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้ ส่งไปขายให้คู่ค้าหลักคือ บริษัท S & B food supply จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่จัดส่งผักขายให้กับห้าง Tops supermarket ทั่วประเทศ โดยสินค้าผักอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้ จำหน่ายในชื่อแบรนด์ “ไร่ภูตะวัน ออร์แกนิก ฟาร์ม” จ.อำนาจเจริญ

“สินค้า “ไร่ภูตะวัน” ผลิตได้สัปดาห์ละ 2,000 กก. ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผักสลัด รองลงมาเป็นกลุ่มผักพื้นบ้านประเภทผักคะน้า ผักกวางตุ้ง เฉลี่ยสัปดาห์ละ 200-300 กก. ทุกวันนี้สินค้าไร่ภูตะวันขายดีมาก จนผลิตไม่พอกับความต้องการของตลาด” คุณป้อม กล่าว

การปลูก

สำหรับสมาชิกที่ต้องการปลูกผักสลัดออกมาขายสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง  จะต้องมีโรงเรือนปลูกอย่างน้อย 6 โรงเรือน  ทั้งนี้ผักสลัดโดยทั่วไปจะใช้เวลาปลูกดูแลประมาณ  45 วัน ขั้นตอนแรกเริ่มจากเพาะเมล็ดพันธุ์ผักสลัดในเนิร์สเซอรี่ก่อน เมื่อต้นกล้าเติบโตจึงค่อยย้ายมาปลูกในโรงเรือนต่ออีก 30 วัน  เมื่อต้นผักสลัดเติบโตเข้าสัปดาห์ที่ 5 จึงเริ่มตัดผลผลิตออกขายได้  ในสัปดาห์ที่ 6 จะเริ่มพักแปลงประมาณ 7 วัน ก่อนลงทุนปลูกผักรอบใหม่ ระหว่างที่เตรียมแปลงปลูกรอบใหม่ สมาชิกจะทำการเพาะกล้าพันธุ์ผักสลัดไปพร้อมๆ  กัน

การเตรียมแปลงเพื่อปลูกผักรอบใหม่  คุณป้อม จะใส่ปุ๋ยหมัก และ โดโลไมท์ ซึ่งเป็นสารปรับสภาพดิน ลดความเป็นกรด  แก้ดินเปรี้ยว  ช่วยปรับโครงสร้างดิน ให้ธาตุอาหารหลัก อาหารรองแก่ดินและพืช โดโลไมท์ มีคุณสมบัติ แก้ปัญหาการขาดธาตุอาหาร แคลเซียม แมกนีเซียม และซิลิกอน ในดิน ช่วยให้พืชดูดกินปุ๋ยได้ดีขึ้น  เพิ่มการสังเคราะห์แสง และการแบ่งเซลล์ของพืช ขณะเดียวกัน โดโลไมท์ยังเพิ่มความสามารถการทำงานของจุลินทรีย์ ปัองกันโรค และแมลงเข้าทำลายในแปลงเพาะปลูกไปพร้อมๆ กัน

โรงเรือนปลูกผักระบบมาตรฐานของชุมชนแห่งนี้ มีขนาดความกว้างยาว ประมาณ 6X30 เมตร  คุณป้อมจะใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก ปรับพื้นที่ในลักษณะ ยกร่องแปลง 4 แถวต่อหนึ่งโรงเรือน ข้อดีของการปลูกผักยกแปลง คือ สามารถป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกได้ โดยทั่วไป พื้นที่ 1 โรงเรือนจะปลูกผักสลัดได้จำนวน 6,000 ต้น

แม้ผักสลัดจะมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่อายุการเก็บเกี่ยวผักแต่ละชนิด จะห่างกันไม่ถึง 5 วัน  เฉลี่ยประมาณ  45- 50 วัน   ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่ระยะการเพาะกล้าเป็นหลัก  โดยสมาชิกจะเริ่มเพาะผักสลัด อายุเก็บเกี่ยว  50 วันก่อน จึงค่อยเพาะพันธุ์ผักที่มีอายุเก็บเกี่ยว  45 วันต่อไป อย่างไรก็ตาม  ผักสลัดทุกชนิดที่ย้ายมาปลูกในโรงเรือนจะใช้เวลาปลูกดูแล 30 วันเท่าๆ กัน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการผลผลิต ให้มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวเท่ากันนั่นเอง

“ผักสลัดบัตเตอร์เฮดมีอายุเก็บเกี่ยวนาน 50 วัน จึงต้องเริ่มเพาะกล้าก่อนผักสลัดอายุสั้น 45 วัน เช่น กรีนโอ๊ค  ฯลฯ   โดยเกษตรกรจะใช้เวลาดูแลผักบัตเตอร์เฮด ในเนิร์สเซอรี่ประมาณ 20 วันก่อน ค่อยย้ายต้นกล้ามาปลูกในโรงเรือนต่ออีก 30 วัน จึงค่อยเก็บเกี่ยวผลผลิตในสัปดาห์ที่  5” คุณป้อม กล่าว

การดูแลจัดการแปลง

ทุกวันนี้ สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่จะใช้แรงงานในครอบครัวในการปลูกดูแลผักสลัด เฉลี่ยครอบครัวละ 2 คน  การให้น้ำในแปลงปลูก  ไม่ใช่ขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนในอดีต เพราะชุมชนแห่งนี้ได้ลงทุนติดตั้งระบบน้ำแบบสเปรย์หมอก ในแต่ละโรงเรือนอยู่แล้ว เมื่อเปิดวาว์ลน้ำ ระบบสเปรย์น้ำจะรดน้ำแปลงผักนาน 5 นาที เสียเวลาเปิดวาว์ลน้ำครั้งเดียว สามารถรดน้ำแปลงผักได้ครบทุกโรงเรือน แรงงาน  1 คนสามารถเปิดน้ำรดแปลงผักได้ถึง  50 ไร่

คุณป้อม บอกว่า  สมาชิกที่มีพื้นที่ปลูกผักสลัดจำนวน 6 โรงเรือน จะมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต เฉลี่ยสัปดาห์ละ 10,000-15,000 บาท  หรือประมาณเดือนละ  40,000–60,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ที่ค่อนข้างสูง เป็นที่พึงพอใจของสมาชิกกลุ่ม

เมื่อถามถึงปัจจัยการผลิตที่ใช้ในการลงทุนแต่ละรอบ ก็ได้รับคำตอบว่า ใช้เงินลงทุนครั้งละ  1,000 บาทเท่านั้น เช่น ค่าปุ๋ยหมัก  10 กระสอบ มูลค่า 200 บาท ที่เหลือเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าน้ำ  ค่าไฟ เมื่อคำนวณปัจจัยการผลิตกับผลตอบแทนที่ได้รับของชุมชนแห่งนี้แล้ว ถือว่า ได้ผลกำไรสูงทีเดียว สร้างแรงจูงใจให้หลายคนสนใจอยากปลูกผักสลัดอินทรีย์เช่นเดียวกับพวกเขา

ข้อแนะนำสำหรับเกษตรกรมือใหม่

คุณป้อม บอกว่า  การทำเกษตรยุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่ “ขั้นตอนการผลิต”  แต่หัวใจหลักอยู่ที่ “การตลาด”  ในวันนี้ หากลงทุนปลูกพืชชนิดไหน ควรใช้ “หลักการตลาดนำการผลิต” ก่อนตัดสินใจปลูกสินค้าเกษตรตัวไหน ควรขายสินค้าให้ได้ก่อน นี่คือหลักการค้าของคนยิว

“เวลาผมไปคุยกับตลาด จะบอกลูกค้าว่า มีพื้นที่ปลูกเท่าไหร่   มีสมาชิกกี่ราย มีการวางแผนการจัดการผลผลิตอย่างไร ให้ลูกค้าเกิดความสนใจ และตามมาดูพื้นที่จริง  เมื่อลูกค้าเกิดความมั่นใจว่า เราทำได้ เริ่มการสั่งซื้อ  จึงค่อยเริ่มผลิตสินค้าป้อนตลาด” คุณป้อม กล่าว

หากใครสนใจอยากเยี่ยมชมกิจการผักอินทรีย์ของหมู่บ้านหนองเม็ก สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 090-932-7915, 095-613-1411 (คุณป้อม)

ส่วนใครที่อยากพบ อยากพูดคุยแลกเปลี่ยน กับคุณศุภชัย พบได้ ในงาน เกษตรมหัศจรรย์ 2561 : เกษตรสร้างสุขยุคดิจิตอล  ในวันที่  24 พ.ค. 2561 นี้  โดยเขาจะมาขึ้นเวที พูดคุยในช่วงเสวนา “เคล็ดลับความสำเร็จ เกษตรกรดีเด่นปี 2561” เวลา 12.30-13.20 น.

ทั้งนี้ งานดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่  24-27 พ.ค. 2561 สกายฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว เวลา 10.00-20.00 น.

 

คุณป้อม หรือ “คุณศุภชัย มิ่งขวัญ”

รถห้องเย็นขนผักอินทรีย์ไปขายห้างท็อปส์

แปลงปลูกผักอินทรีย์ ไร่ภูตะวัน

เร่งเก็บผักสดออกขาย  

โรงเรือนกรีนเฮ้าส์ที่ใช้ปลูกผักอินทรีย์