ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
---|---|
เผยแพร่ |
การปรับเปลี่ยนวิธีปลูกผักจากแบบใช้สารมาเป็นผักปลอดสาร โดยยึดหลักการผลิตพืชตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกษตรกรชาวสวนต่างยอมวางมือและหันหลังให้กับสารเคมีที่สร้างผลร้ายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แม้การปลูกผักปลอดภัยจะยังไม่ใช่ขั้นสูงสุดระดับอินทรีย์หรือออร์แกนิก แต่ด้วยความมีมาตรฐานที่เชื่อถือจึงได้รับความไว้ใจต่อการตอบรับจากตลาดผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพทั้งในและต่างประเทศ
ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีกลุ่มธุรกิจในชื่อ “Fresh FROM FARM” ได้ดำเนินการปลูกผักปลอดภัยที่ได้มาตรฐานจากแนวทางของกรมวิชาการเกษตร หรือ GAP ทั้งยังมีมาตรฐานระบบคัดแยก/แพ็กห่อเพื่อส่งขายห้างค้าส่งรายใหญ่ของประเทศและต่างประเทศ พร้อมร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่สร้างกำลังการผลิตขนาดใหญ่ แล้วรับซื้อในราคาประกัน ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้มากกว่าการทำเกษตรกรรมแบบเดิม
คุณวรรณฤดี บัดทิม หรือ คุณเกด เจ้าของธุรกิจบอกถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกผักปลอดภัยว่า จากเดิมที่ครอบครัวทำอาชีพเกษตรกรรม และมีพื้นที่เพาะปลูกในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบสูงและมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และสภาพอากาศที่เหมาะแก่การเพาะปลูกผักและผลไม้
จึงนำมาสู่การพัฒนาด้วยการปลูกผักให้ปลอดภัย โดยได้รับความรู้และวิธีการปลูกเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา ขณะเดียวกัน ยังได้เรียนรู้และศึกษากระบวนการปลูกผักเพื่อส่งขายยังตลาดใน/ต่างประเทศ จึงทำให้ปัจจุบันนี้ทางฟาร์มได้รับมาตรฐาน GAP
อีกทั้งยังบริหารงานเชิงธุรกิจในนามบริษัท เฟรช ฟอร์ม ฟาร์ม จำกัด โดยมีผักปลอดภัย ได้แก่ ผักชีไทย ขึ้นฉ่าย โหระพา กะเพรา มะเขือเปราะ พริกแดง ผัดสลัด มะเขือพวง ผักบุ้งจีน ข้าวโพดหวาน ตะไคร้ ต้นหอม มะละกอ ถั่วฝักยาว และอื่นๆ ขณะเดียวกัน ยังวางแผนต่อยอดด้วยการพัฒนาระบบการปลูกผักแบบอินทรีย์ในอนาคตอีกด้วย
คุณเกด บอกว่า แปลงผักของฟาร์มมีเนื้อที่ 70 ไร่ นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่ของสมาชิกกลุ่มในปากช่องรวมกันกว่า 100 ไร่ แต่ละรายใช้พื้นที่ปลูกอย่างต่ำ 10 ไร่ เกษตรกรเหล่านี้จากเดิมเคยปลูกอ้อยกับข้าวโพด แล้วได้เปลี่ยนมาปลูกผักปลอดภัยเป็นรายได้หลักแทน
การปลูกผักปลอดภัยเพื่อส่งขายตลาดใน/ต่างประเทศต้องมีการวางแผนการผลิตให้รอบคอบเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากจำนวนการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ การแพ็กห่อที่ไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนการขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้น แนวทางที่กำหนดไว้โดยให้เกษตรกรปลูกผักเพียง 1-2 ชนิด ต่อราย ขณะที่ทางฟาร์มจะเสริมทัพด้วยทีมงานเพื่อเข้าไปช่วยวางแผน แนะนำวิธีปลูก การดูแลเรื่องปุ๋ย แล้วจึงเก็บผลผลิตเป็นรอบตามออร์เดอร์จากลูกค้าแต่ละรายทั้งใน/ต่างประเทศที่แจ้งให้ผู้ปลูกทุกรายรู้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมวางแผนปลูก ฉะนั้น ผลผลิตผักแต่ละชนิดจะมีจำนวนตรงตามที่ลูกค้าสั่ง
ปัจจุบันทางฟาร์มมีจำนวนสมาชิก 20 ราย ที่ปลูกผักขายร่วมกันมานานหลายปี แล้วยังต้องการสมาชิกในเขตพื้นที่ปากช่องเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สมาชิกรายใหม่จะต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนตามหลักเกณฑ์เพื่อให้ทุกรายรับทราบแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการปลูกและการตลาดไปพร้อมกัน และจำเป็นต้องยินยอมให้ทางฟาร์มเข้าไปตรวจพื้นที่ปลูกในทุกระยะเพื่อพิสูจน์ว่าได้ปฏิบัติตามข้อตกลงจริงหรือไม่ ทั้งนี้ หากเป็นรายใหม่จะเข้าตรวจถี่กว่ารายเก่า อีกทั้งก่อนการส่งผักทุกชนิดเข้าโรงงานจะต้องมีการตรวจหาสารอีกรอบเพื่อสร้างความแน่ใจ
“แปลงปลูกทุกแห่ง ไม่ว่าของฟาร์มหรือของสมาชิกจะต้องได้รับการรับรองการปลูกแบบ GAP แล้วที่สำคัญขณะนี้กำลังก้าวไปสู่การปลูกผักแนวอินทรีย์ที่สมบูรณ์หรือผักออร์แกนิก โดยในทุกขั้นตอนจะต้องเข้มในเรื่องความปลอดสารเคมี แล้วนำน้ำหมักปลามาใช้แทน พร้อมกับการนำชีวพันธุ์ต่างๆ มาใช้เพื่อป้องกันโรค/แมลงศัตรู”
สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมปลูกผักกับ “Fresh FROM FARM” จะมีรายได้จากการประกันราคาผักแต่ละชนิด จึงสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร โดยไม่ต้องไปกังวลหรือหนักใจกับราคาขึ้น-ลงของผักแต่ละชนิด ช่วยให้ชาวสวนรับรู้ถึงต้นทุน กำไร ในแต่ละรอบการผลิตทันที อย่างที่ผ่านมามีการประกันราคาผักนานถึง 3 เดือน ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจเกิดปัญหาราคาผักผันผวนขึ้น-ลงตามกลไก แต่ชาวสวนไม่ต้องสนใจเพราะรับเงินในจำนวนที่แน่นอนโดยไม่ต้องมาเสี่ยง
คุณเกด เผยว่า ผักทุกชนิดจะต้องเก็บทุกวัน ไม่ว่าจากในฟาร์มหรือในกลุ่ม จากนั้นจะนำไปตรวจหาสารก่อนที่จะลำเลียงเข้าสู่กระบวนการในโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ที่ได้มาตรฐาน GMP อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตผักแต่ละชนิด ในกรณีที่ส่งเข้าแม็คโคร โลตัส จะป้อนเข้าทุกวัน อย่างแม็คโครส่งผักทุกชนิดวันละประมาณ 2 ตัน โลตัสประมาณวันละ 500 กิโลกรัม
สำหรับตลาดต่างประเทศ ได้แก่ที่ ฟินแลนด์ สิงคโปร์ และมาเลเชีย จะส่งสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 800 กิโลกรัม ทั้งนี้ คุณเกดบอกว่าความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีอีกมาก แต่ทางฟาร์มยังไม่ตัดสินใจขยายเพราะเกรงว่ากำลังการผลิตจะไม่ทัน ดังนั้น ถ้าตระเตรียมวางแผนการผลิตให้รอบคอบ อีกทั้งผู้ปลูกช่วยกันรักษาคุณภาพมาตรฐานการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีกว่าการผลิตผักส่งขายตลาดทั่วไปหลายเท่า
พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ที่ได้มาตรฐาน GMP ขึ้นเนื่องจากต้องการยกระดับและขยายฐานการผลิตสินค้าเพื่อรองรับกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่เข้มงวดในเรื่องแมลงศัตรู ตลอดจนสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ดังนั้น หากมีออร์เดอร์เพื่อส่งตลาดต่างประเทศจะต้องจัดการล้างทำความสะอาดไลน์ผลิตทั้งหมดก่อน
“ในกรณีที่ต้องทำผักส่งตลาดใน/ต่างประเทศในวันเดียวพร้อมกัน ทางฟาร์มจะต้องจัดการทำผักส่งตลาดในประเทศให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นจึงหยุดชั่วคราวเพื่อจัดการล้างระบบไลน์ผลิตเตรียมทำผักส่งตลาดต่างประเทศ”
คุณเกดบอกว่า ทางฟินแลนด์ถือเป็นตลาดส่งผักรายใหญ่ที่ค้าขายกันมานานแล้วมักนิยมซื้อผักจากไทยเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นต้นหอม ผักชีไทย ใบมะกรูด ข่า ตะไคร้ ฯลฯ โดยทางฟาร์มจะขายส่งให้กับลูกค้าคนไทยที่ไปทำธุรกิจเปิดร้านขายของในลักษณะซุปเปอร์มาร์เก็ตในฟินแลนด์ ซึ่งผักทุกชนิดได้รับความนิยมจากลูกค้าคนไทยและชาวต่างชาติอย่างมาก เพราะลูกค้ามีความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ตลอดจนความสด ใหม่ของผักที่ส่งไปขายเพราะมีอายุเก็บได้ถึง 7 วัน ไม่นับวันเดินทางที่ต้องใช้เวลา 1 วัน
“ใครที่สนใจต้องการเข้าร่วมปลูกผักปลอดภัยขายกับ “Fresh FROM FARM” ซึ่งตอนนี้ต้องการผู้ปลูกในพื้นที่ปากช่องอีกเป็นจำนวนมาก แล้วควรมีพื้นที่อย่างน้อยประมาณ 2 ไร่ เพื่อจัดสรรการปลูกให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการวางแผนการตลาด ทำให้ท่านสามารถปลูกและมีรายได้ตลอดอย่างต่อเนื่อง” คุณเกด กล่าว
สอบถามรายละเอียดได้ที่คุณเกด โทรศัพท์ (093) 565-4117 หรือที่บริษัท เฟรช ฟอร์ม ฟาร์ม จำกัด เลขที่ 98 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ (044) 012-611 หรือ Email : [email protected]