ไขความลับปลูกชาห่มผ้า – วิธีเลือกเก็บใบชาสไตล์ญี่ปุ่น คุณภาพดีไม่แพ้ไวน์ ขายได้ราคาขวดละแสน

“ชาเขียว” เปรียบเสมือนเครื่องดื่มที่สื่อถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น  ยิ่ง “ชาเขียวญี่ปุ่นพร้อมดื่ม” คุณภาพระดับพรีเมี่ยมด้วยแล้ว ยิ่งต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ของการปลูกชาและการคิดค้นสูตรที่เหมาะสมที่สุด

คุณโอตะ มาซาตากะ ปราชญ์ชาวบ้าน วัย 75 ปี เจ้าของไร่ชา Kaneda Otaen ในจังหวัดชิซึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น  ผู้อยู่เบื้องหลังความลุ่มลึกของ “ชา” ที่มีต่อวิถีชีวิตของคนในจังหวัดนี้   และชาจากที่นี่ ยังเคยได้รับเลือกให้ถวายต่อสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ รวมถึงกลุ่มผู้นำประเทศในการประชุม G7 ที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว

“ลุงอยากแสดงให้เห็นว่าใบชาคุณภาพดีสามารถทำเครื่องดื่มคุณภาพดีได้ไม่แพ้ไวน์ราคาแพง เพราะในแต่ละปีทางไร่จะผลิตใบชาสดได้ทั้งหมด 30 กิโลกรัม เมื่อนำไปผ่านกระบวนการทำให้แห้งแล้วจะเหลือเพียง 3 กิโลกรัมเท่านั้น หลังจากนั้นใบชาทั้งหมดจะส่งเข้าการประมูล เพื่อนำไปผลิตเป็นชาเขียวชั้นเลิศ ซึ่งมีราคาสูงถึงขวดละ 300,000 เยน หรือประมาณ 100,000 บาท

คุณลุงโอตะ เล่าว่า “การทำชาที่ดีจะต้องมีดินที่อุดมสมบูรณ์  แหล่งน้ำในการทำเกษตรกรรมที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และการดูแลต้นชาที่ดี ด้วยความที่ชิซึโอกะเป็นพื้นที่ที่มีสิ่งเหล่านี้ครบ จึงทำให้ชาชิซึโอกะมีกลิ่นหอม รสชาติดี  และคุณภาพสูงกว่าที่อื่น”

สิ่งสำคัญที่ทำให้ชาจากไร่ Kaneda Otaen ในจังหวัดชิซึโอกะ มีราคาแพงกว่าใคร เป็นเพราะคุณลุงโอตะ ใส่ใจเลี้ยงดูต้นชาเหมือนลูก โดยคุณลุงโอตะ เผยว่า “เวลาอากาศหนาว  ต้นชาก็ต้องการพักผ่อนอยู่นิ่งๆ เหมือนคน ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกหนาว ต้องห่มผ้าให้ลูกอยู่เสมอ  ลุงก็ห่มผ้าให้ต้นชาเหมือนกัน”

วิธีการห่มผ้าในไร่ชาของคุณโอตะ คือ การนำตาข่ายเนื้อหนาไปคลุมต้นชาก่อนเก็บ 1 สัปดาห์  ตาข่ายเนื้อหนานี้นอกจากจะปกป้องต้นชาจากความหนาวแล้ว ยังช่วยยับยั้งปฏิกิริยายามที่ใบชาต้องแสงแดดเพื่อให้ชาที่ได้จากการเก็บเกี่ยวคงรสชาติที่ดีที่สุดไว้

คุณโอตะ กล่าวเสริมถึงวิธีการเก็บใบชาที่ดี คือ เลือกยอดที่มี 2 ใบติดกัน และมีความยาวของใบเท่ากับ 3 นิ้วเรียงกัน เด็ดด้วยมือ ส่วนดินที่นำมาใช้ปลูกชาต้องนุ่ม เพราะต้นชาก็อยากจะเติบโตบนพื้นดินนุ่มๆ ไม่ต่างจากคนเราที่ไม่อยากนอนบนที่แข็งๆ โดยจะผสมดินเข้ากับหญ้าภูเขาให้ดินหยุ่น  ส่วนปุ๋ยก็ทำเองตามธรรมชาติ มีกิ้งกือ ดักแด้ชอนไช ทำให้ดินพรุนเต็มไปด้วยอากาศ  จนกลายเป็นเตียงนุ่มๆ สบายสำหรับต้นชา

ในส่วนของรางวัลที่ไร่แห่งนี้ได้รับ ภรรยาของลุงโอตะ เผยว่า มีมากมายหลายร้อยรางวัล  ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดส่งชาเข้าประกวด  แต่เมื่อลองดูก็ ได้รับรางวัลมาเรื่อยๆ  เท่าที่จำได้ คือ ไม่กี่ปีมานี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลมาตามหาชาคุณภาพดีที่สุดเพื่อนำไปเสิร์ฟกลุ่มผู้นำประเทศ G7  ปรากฏใบชาที่ไร่มีคุณภาพดีจริง  เลยลองส่งให้รัฐบาลพิจารณา จนได้รับการคัดเลือกให้เสิร์ฟในการประชุมครั้งนั้น

คุณภาพของไร่ชาชิซึโอกะ นอกจากจะเป็นผลลัพธ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และการดูแลเลี้ยงต้นชาอย่างดีแล้ว ยังต้องอาศัยฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ในการชงชาควบคู่กันไปด้วย เหล่าบรรดามันสมองผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยของชานั้นเรียกว่า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชา

อีกหนึ่งกูรูเรื่องชาญี่ปุ่น น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก คุณซาโตรุ ฟูจิโมโต ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นยอดฝีมือในการการเบลนด์ใบชา เจ้าของต้นตำรับสูตรชาเกือบ 1,000 สูตร ประสบความสำเร็จในการคิดค้นสูตรชาให้ชาวญี่ปุ่นได้ลิ้มลองกันมาแล้วมากมายตลอดระยะเวลากว่าสามทศวรรษ

คุณซาโตรุ ฟูจิโมโต เผยถึงกิจวัตรการทำงานในแต่ละวันว่า “ทุกวันจะมีชากว่า 50 ชนิด จำนวน 50,000 – 290,000 กิโลกรัม ขนส่งเข้ามา ผมมีหน้าที่คัดแยกใบชาทั้งหมดด้วยกรรมวิธีต่างๆ อาทิ นำไปคั่วร้อน ไปใส่น้ำร้อนแล้วชิมเพื่อแยกรสชาติ สิ่งสำคัญ คือต้องรู้ว่าใบชาแต่ละชนิดปลูกที่ไหน เพื่อให้ทราบรสชาติเบื้องต้นและสามารถกำหนดสูตรการเบลนด์ชาได้”

ในแต่ละวัน คุณซาโตรุ ฟูจิโมโต จะดื่มชากว่า 100 ถ้วย เพื่อจับสังเกตทุกรายละเอียด ตั้งแต่สีของน้ำชาเมื่อผ่านความร้อน ไปจนถึงกลิ่นหอมระหว่างความร้อนระดับต่างๆ จนสามารถสัมผัสรับรู้รส กลิ่น สี ของชา และแยกแยะรสสัมผัสของชาได้อย่างลงตัว

ล่าสุด คุณฟูจิโมโต พัฒนาสูตรชาเขียวพร้อมดื่มระดับพรีเมี่ยม “ชาชิซึโอกะ” ให้คอชาเขียวในเมืองไทยได้บริโภคกันด้วย  ด้วยกระบวนการปลูกที่พิถีพิถันในทุกขั้นตอน การผลิตที่ได้มาตรฐาน ประกอบกับสูตรการเบลนด์ใบชาระดับฝีมือปรมาจารย์และการเลือกสรรเฉพาะใบชาต้นฤดูจากการเก็บเกี่ยวครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ของปี จึงก่อให้เกิดเป็นชาที่มีความหอมหวานกลมกล่อมตามธรรมชาติของใบชาชิซึโอกะ และรวมความสดและความเข้มข้นของคุณค่าชาไว้อย่างสมบูรณ์