ไขความลับ “กำนันเมืองแกลง” ปลูกทุเรียนหมอนทอง 10,000 ต้น เหตุไฉนถึงทำเงินได้ต้นละ3หมื่นบาท

ถนนสุขุมวิท แถบอำเภอแกลง มุ่งสู่เมืองจันท์ ภูมิประเทศซ้ายมือเป็นที่สูง ทำสวนทำไร่ได้ผลดี

ขวามือเป็นที่ต่ำ ไกลออกไปติดกับชายทะเล บางช่วงมีน้ำกร่อย ส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรทำนา ทำอาชีพประมง พื้นที่ส่วนหนึ่งรกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์

ครอบครัว “พานทอง” อาศัยอยู่ตำบลพังราด อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ไปจากอำเภอแกลงอยู่ขวามือ ด้วยเหตุนี้ อาชีพพื้นฐานจึงทำนา มีทำสวนบ้างเล็กน้อย ด้วยเพราะมีลูกถึง 6 คน หัวหน้าของครอบครัวจึงต้องหาอาชีพเสริมโดยการรับจ้าง ยามที่ว่างจากงาน

หัวหน้าครอบครัว ได้พาลูกๆ เรียนรู้งานเกษตร โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เริ่มตั้งแต่ออกจากโรงเรียนแล้ว

คุณประยุทธ พานทอง สมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว บอกว่า บ้านของตนเองอยู่ไม่ไกลจากสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นตัวอำเภอแกลง หรือไปถึงตัวเมืองระยอง การเดินทางไปเรียนหนังสือนั้นไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่ต้องขบคิดกันเป็นเรื่องทุนรอนที่จะเรียน ตอนแรกคุณประยุทธตั้งใจว่าจะเรียนหนังสือ แต่ปรึกษาหารือกันแล้ว สุดท้าย ต้องเลือกยุติการเรียนแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

หลังเลิกเรียน คุณประยุทธตั้งหน้าตั้งตาทำงานช่วยพ่อแม่ ซึ่งก็ได้แก่งานเกษตร เขาไม่เคยย่อท้อ หนักเอาเบาสู้ ด้วยเหตุนี้ จากที่ดินมีไม่มากนัก คุณประยุทธช่วยพ่อแม่เก็บเงินซื้อที่ดินได้ 40 ไร่ ที่ดินจำนวนนี้ หากหารด้วย 6 เพราะมีลูก 6 คน ยังถือว่าไม่มาก แต่ก็เป็นฐานให้ลูกๆ ต่อยอดทำมาหากิน จนสุดท้ายถือว่าประสบความสำเร็จ มีผลงานยอดเยี่ยมหลายคน

“สมัยเป็นเด็กยากจน เรียกว่า ยากจนกว่าชาวบ้านทั่วไป” คุณประยุทธ บอก

ฟื้นฐานะด้วยตะพาบน้ำ

บ้านเกิดอยู่ตำบลพังราด คุณประยุทธ ถูกตาต้องใจสาวตำบลกองดิน จึงมาแต่งงานด้วย พร้อมทำมาหากิน อยู่บ้านเลขที่ 999/99 หมู่ที่ 6 ตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

หลังแต่งงาน ฐานะของคุณประยุทธเหมือนอย่างชาวบ้านทั่วไป แต่แล้วงานเกษตรที่ชักนำให้เขาก้าวกระโดด มีเงินมีทองขึ้นคือ อาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างตะพาบน้ำ

ราว 20 ปีมาแล้ว ท้องถิ่นชายทะเล ที่มีปลาเป็ดราคาไม่แพง ไม่ว่าจะเป็นจันทบุรี ระยอง ชลบุรี นิยมเลี้ยงตะพาบน้ำกัน เป็นตะพาบน้ำพันธุ์ไต้หวัน ในที่นี้พันธุ์นำมาจากไต้หวัน เลี้ยงมีผลผลิต คนไทยกินกันไม่มากนัก ส่วนใหญ่ส่งกลับไปไต้หวัน

ขณะที่ใส่ใจกับการทำนาอยู่นั้น คุณประยุทธเห็นเพื่อนบ้านเลี้ยงตะพาบน้ำ เขาคิดว่า น่าจะทำได้ เพราะพอรู้นิสัยใจคอ อาหารที่เลี้ยงก็พอหาซื้อได้ จึงตัดสินใจเลี้ยงเหมือนอย่างคนอื่น

เพราะทำอะไรทำจริง เอาใจใส่ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ผลผลิตตะพาบน้ำของคุณประยุทธคุณภาพดีมาก เลี้ยงแล้วโตเร็ว แข็งแรง คนมาซื้อไม่ติ และมาซื้ออย่างต่อเนื่อง เขาจึงขยายพื้นที่เลี้ยง

เงินจากการขายตะพาบน้ำ ทำให้เขาสามารถซื้อที่ดินเพิ่ม จากเดิมเป็นมรดก ซื้อเพิ่มได้ครั้งละ 10-20 ไร่ ขยายจำนวนได้อย่างมั่นคง สาเหตุหนึ่งที่ซื้อที่ดินได้นั้น ราคาที่ดินสมัยก่อนไม่แพง อีกทั้งสภาพทั่วไปเป็นที่ลุ่มต่ำ คนไม่ค่อยสนใจซื้อหากัน

วันเวลาผ่านไป ความนิยมตะพาบน้ำจากต่างแดนลดลง คุณประยุทธติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงลดการผลิตลง จนกระทั่งยุติการผลิต แต่สิ่งที่ได้ไว้คือ ที่ดิน รวมทั้งอุปกรณ์การทำมาหากินที่ต่อยอดมาถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือ รถขุด ที่ใช้ขุดบ่อ

ผลงานโดดเด่น พี่น้องเป็นกำนัน 3 คน

ถึงแม้จะย้ายมาจากตำบลพังราด มาตั้งหลักแหล่งอยู่ตำบลกองดิน แต่เพราะเป็นคนอัธยาศัยดีมีน้ำใจ แบ่งปันเพื่อนบ้าน มีงานส่วนรวมมักเข้าไปช่วยเหลือ เมื่อผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 หมดวาระลง มีคนสนับสนุนให้คุณประยุทธสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน

แรกสุดเขาไม่อยากเป็นเลย เพราะสนุกกับงานที่ทำ ถึงแม้จะเลิกเลี้ยงตะพาบน้ำแล้ว แต่ก็นำรถขุดออกหางานทำเงินได้ไม่หยุด เพราะภาคตะวันออก มีการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง

เพราะหลายคนมาพูดคุย สุดท้ายคุณประยุทธตัดสินใจสมัครผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก็ได้คะแนนอย่างท่วมท้น โดยไม่ต้องจ่ายเงิน

พ่อแม่และน้องๆ ที่เป็นกำนัน

ถึงแม้งานของตนเองจะมีมาก แต่งานเพื่อส่วนรวมที่ต้องรับผิดชอบก็มีไม่น้อย แต่ผู้ใหญ่ประยุทธไม่เคยขาดตกบกพร่อง เขาทำงานตั้งแต่เช้ามืด บางช่วงถึงดึกดื่นเที่ยงคืนก็ลุย จนชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ผู้ใหญ่คนนี้ทำจริงหวะ”

ต่อมา กำนันตำบลกองดินหมดวาระ ด้วยผลงานที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง เขาได้รับเลือกให้เป็นกำนันอย่างสมภาคภูมิ

“ที่เขาเลือกคงเป็นเพราะวิสัยทัศน์ การติดตามงาน …ฝนตก น้ำแห้ง ฝนแล้ง น้ำท่วม…ต้องช่วยชาวบ้านเขา รวมทั้งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” กำนันประยุทธบอก

ราว 12 ปีแล้ว ที่เขาคนนี้เป็นกำนันมา ผลงานการดูแลท้องถิ่นมีครบทุกด้าน นำมาจาระไนไม่หมด

งานของกำนันประยุทธคนส่วนใหญ่มองเห็น ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้รับรางวัลกำนันยอดเยี่ยม หรือกำนันแหนบทองคำ

สิ่งที่ต้องบันทึกไว้อีกอย่างหนึ่งคือ น้องๆ ของเขาในครอบครัวเดียวกัน มีผลงานโดดเด่น ครองใจชาวบ้านไม่แพ้กัน จึงได้รับเลือกให้เป็นกำนันในละแวกใกล้เคียง ซึ่งนำความภาคภูมิใจมาสู่ตระกูล “พานทอง” อย่างยิ่ง

 ปลูกทุเรียนหมอนทองหมื่นต้น

กำนันประยุทธ บอกว่า อาชีพของครอบครัวที่คุ้นเคยกันคือ ทำนา ต่อมาพอมีที่ดินจึงเริ่มทำสวน พ่อของกำนันปลูกทุเรียนราว 50 ต้น ทำให้ลูกๆ ได้เรียนรู้การทำสวน

เมื่อต้องหยุดเลี้ยงตะพาบน้ำ กำนันประยุทธเริ่มคิดถึงการทำสวน จึงลงทุเรียนไว้บ้าง ไม่มากนัก เมื่อ 25 ปีมาแล้ว แต่สิ่งที่สร้างงานทำเงินให้คือ การนำรถขุด ไปปรับแต่งพื้นที่ รวมทั้งถมที่ ทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะบางงาน มูลค่าสูงมาก เมื่อมีเงิน เขานึกย้อนไปสมัยที่อยู่กับพ่อแม่

พ่อแม่ของกำนันให้ความสำคัญกับการมีที่ทำกินมาก ดังนั้นกำนันจึงซื้อที่ดินเมื่อมีโอกาสและมีทุนทรัพย์ หลังๆ จึงครอบครองที่ดินไว้พอสมควร

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่เหมือนใครนัก กำนันประยุทธจะทำการเกษตรไม่ค่อยเหมือนใคร

ก่อนหน้านี้ ผลผลิตยางพารา มีการซื้อขายกันสูงถึงสูงมาก บางช่วงมากกว่า 150 บาท ต่อกิโลกรัม ส่งผลให้มีการขายต้นพันธุ์ในราคาสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและถึงกับขาดแคลน

กำนันมองว่า หากเป็นอยู่อย่างนี้ ราคาลดฮวบแน่ เพราะเขามีเพื่อนเป็นกำนันอยู่ทั่วแคว้นแดนไทย เมื่อสอบถามไปยังหนองคาย พบว่า ปลูกกันมาก เพื่อนที่พะเยาก็บอกว่าปลูกได้ แม้กระทั่งใจกลางทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด ก็ยังปลูกได้ ด้วยเหตุนี้ เขาหันมาสนใจปลูกทุเรียนอย่างจริงจัง

ความรู้ได้มาจากไหน

ต้นหนึ่งดูแลดี ให้ผลตอบแทน 3 หมื่นบาท ต้นทุน 7 พันบาท

กำนันประยุทธ ตอบว่า ได้จากพ่อ ที่ปลูกครั้งแรก ส่วนหนึ่งเมื่อออกพื้นที่ ไปพบกับลูกบ้านก็พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ความรู้มาก ส่วนหนึ่งเราให้เขา มีมากเหมือนกันที่เขาให้เรา

จำนวนที่กำนันปลูก เดิมทีปลูกเพียงเล็กน้อย ต่อมาเพิ่มจำนวนขึ้น จนปัจจุบัน (เดือนมีนาคม 2561) กำนันรางวัลยอดเยี่ยมปลูกทุเรียนไปแล้ว 10,000 ต้น (หนึ่งหมื่นต้น) เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองเกือบทั้งหมด มีพันธุ์อื่นๆ เพียง 20 ต้น เท่านั้น ปลูกไว้กินและดูความแปลกใหม่

ทุเรียนอายุมากสุดขณะนี้ อายุ 25 ปี

แต่ส่วนใหญ่แล้ว อยู่ในช่วงหนุ่มสาว ในจำนวนที่ปลูกทั้งหมด ตอนนี้ให้ผลผลิตยังไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ปลูก

“ยัง…ยังจะปลูกอีก…” กำนันรางวัลยอดเยี่ยมยืนยัน

 

ยกร่อง ป้องกันโรครากและโคนเน่า

งานปลูกทุเรียนยุคเก่าก่อน ใครมีที่ดินก็ขุดหลุมแล้วปลูกได้เลย กรณีที่สูง

ผลผลิตที่ได้ก็จะมีปกติ แต่ที่ลุ่มน้ำขังต้องยกร่องสูง เหมือนอย่างนนทบุรี

เวลาผ่านไป คนปลูกมากขึ้น จึงมีปัญหาเรื่องโรคระบาด โดยเฉพาะโรครากและโคนเน่า ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราที่ชื่อว่าไฟทอปทอร่า

โรครากและโคนเน่า เป็นโรคที่ชาวสวนทุเรียนกลัวกันมาก หากในคนเทียบได้กับโรคมะเร็ง โอกาสรักษาหายไม่ง่าย แต่ก็มีทางป้องกัน

ทางหนึ่งที่ป้องกันได้ นั้นคือ การยกร่องให้สูง โดยเฉพาะที่ลุ่ม เดิมทีเขาทำกันอย่างนี้ ต่อมา ที่สูง อยู่บนเนินก็มีการยกพื้นที่ให้สูงเช่นกัน อาจจะยกสูงเป็นแปลงยาว มีพื้นที่ระหว่างแปลงต่ำ บางคนยกสูงเฉพาะตำแหน่งที่จะปลูก

แต่ทุกวันนี้ทำกันสะดวกมาก ซื้อดินไปกองเป็นจุดๆ ปักหลักแล้วกองดิน ปลูกตามตำแหน่ง

การยกดินให้สูงขึ้น รากได้รับอากาศมากกว่าปกติ ต้นเจริญเติบโตเร็ว

ที่สำคัญมากนั้น ป้องกันการเกิดโรครากและโคนเน่าได้

“เรามีรถขุด ก็ทำการยกโคก ที่เนินก็ยก เมื่อก่อนไม่ยกกัน ยกให้สูงราว 80 เซนติเมตร จากพื้นดินเดิม ระยะระหว่างต้นระหว่างแถวทุเรียนที่ปลูกก็ 10 คูณ 10 เมตร ไร่หนึ่งปลูกได้ราว 16 ต้น เมื่อเราทำแล้วได้ผล ก็ออกไปแนะนำชาวบ้าน เอาเครื่องจักรไปช่วยเขาทำ” กำนันประยุทธ บอก

 

เหนื่อย…อาบน้ำนอน หลับก็หาย

ถามว่า…เอาเวลาไหนทำงาน…“ตื่นแต่เช้า 6 โมงเช้า ออกดูสวน 8 โมงเช้า ไปทำงาน เย็นๆ ก็มาดูอีกครั้งหนึ่ง”

ถามว่า เหนื่อยไหม…“เหนื่อย แต่อาบน้ำนอน หลับก็หาย”

ถามว่า ปลูกทุเรียนกันมากๆ ราคาจะถูกไหม…กำนันประยุทธ บอกว่า มีโอกาสสูงที่จะถูก แต่ก็ได้เตรียมการไว้แล้ว คือตั้งโรงงานแปรรูปส่งออก โดยเฉพาะการฟรีซดราย

“ราคาทุเรียนปีที่แล้ว กิโลกรัมละ 135-138 บาท ช่วงที่ราคาสูงสุด รู้สึกว่าราคาเกินคาด แต่ก็มีโอกาสที่จะถูก คนที่อยากทำสวนต้องขยันหมั่นเพียร มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม อย่างแหล่งน้ำ ต้องมี 20 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ปลูก ปลูกทุเรียน 100 ไร่ แหล่งน้ำต้อง 20 ไร่ แหล่งน้ำ 10 ไร่ ไม่พอใช้…ลูกบ้านผมปลูกทุเรียนเก่งๆ ฐานะดีกันส่วนใหญ่…ทุเรียนต้นที่ให้ผลผลิตเต็มที่ ดูแลดี ให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของได้ต้นละ 3 หมื่นบาท โดยที่ต้นทุน 7 พันบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแล บางแห่งอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้”

กำนันบอก และเล่าต่ออีกว่า

“จะเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนอีก แต่ที่กำลังดำเนินการอยู่คือ ปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ลุ่ม น้ำกร่อย เหมือนอย่างปากพนัง คาดว่าจะได้ผลดี…สำหรับผู้สนใจเรื่องการปลูกทุเรียน นอกจากผมแล้ว ผมมีทีมงาน มีน้องๆ ที่เก่งเฉพาะทางอย่างโรคพืชให้คำแนะนำได้ หากจะมาดูงานหรือเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะก็ยินดี เคยมีมาดูงานกัน”

สำหรับผู้สนใจทำสวน สอบถาม กำนันประยุทธ พานทอง ได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ (081) 996-3326