“ชมพู่ทับทิมจันท์” ผลไม้อนาคตดาวรุ่ง เกษตรกรราชบุรีปลูกขายลูกละ 30 บาท รายได้ทั้งปีนับล้าน

ในยุคสมัยที่ภาคเกษตรกรรมมีการแข่งขันสูง และกำลังประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด รวมถึงปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรจะนิ่งนอนใจไม่ได้เลย ต้องมีการคิดวางแผนพัฒนาผลผลิตของตัวเองเพื่อความอยู่รอด เกษตรกรไม่สามารถกำหนดกลไกการตลาดเองได้ แต่เกษตรกรสามารถเลือกผู้บริโภคได้ ในที่นี้หมายความว่า เกษตรกรทุกคนต้องหันมาแข่งขันกันในด้านของการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มากกว่าปริมาณ เพราะการบริโภคที่เปลี่ยนไป ผู้คนหันมาใส่ใจคุณภาพและเลือกรับประทานอาหารปลอดภัยกันมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการ รวมถึงเกษตรกรต้องปรับตัว ทำการตลาด หรือผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งในส่วนของภาคการเกษตรอาจจะต้องหันมาใส่ใจคุณภาพของการผลิตสินค้าตามมาตรฐานความปลอดภัย GAP (เกษตรดีที่เหมาะสม) กันให้มากขึ้น ถ้าเป็นไปได้เกษตรกรทุกรายควรเริ่มตระหนักและหันมาทำผลผลิตให้ได้มาตรฐานให้ครบทุกราย เพื่อความอยู่รอด ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

คุณสมชาย เจริญสุข เกษตรกรผู้ปลูกชมพู่ GAP ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เล่าว่า ก่อนที่ตนจะหันมาปลูกชมพู่ทับทิมจันท์ ตนมีอาชีพเป็นเกษตรกรมาก่อน แต่ปลูกผลไม้ทั่วไป ปลูกมะนาวบ้าง ผลไม้อย่างอื่นบ้างปะปนกันไป เพิ่งจะเริ่มปลูกชมพู่ทับทิมจันท์ เมื่อปี 2538 เพราะเห็นว่าเป็นชมพู่พันธุ์ใหม่ เพิ่งมีการนำเข้ามา จึงทดลองปลูก 200 ต้น ขยายมาเรื่อยๆ เพราะช่วงนั้นทำง่าย ยังไม่ค่อยมีคนปลูก ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

ความเป็นมาของ ชมพู่ทับทิมจันท์

คุณสมชาย เล่าว่า ชมพู่ทับทิมจันท์ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย แต่คนวัดเพลงและคนจังหวัดจันทบุรี ได้นำต้นพันธุ์แยกกันปลูก 2 ที่ โดยที่อำเภอวัดเพลง ใช้ชื่อว่า ทองสามสี ส่วนที่จังหวัดจันทบุรีจะใช้ชื่อว่า ทับทิมจันท์

ชมพู่ทับทิมจันท์ เป็นผลไม้ที่ตลาดมีความต้องการค่อนข้างสูง มีรสชาติที่หวาน กรอบ เนื้อแน่น สีแดงเข้ม ผลโต รูปทรงระฆังคว่ำ ขนาดน้ำหนัก 5-6 ผล ต่อกิโลกรัม ความหวานมากกว่า 10 บริกซ์ ผิวเรียบสวย ผลสม่ำเสมอ นิยมปลูกมากในพื้นที่จังหวัดราชบุรี

ขั้นตอนการปลูกชมพู่ ตามมาตรฐาน GAP

ชมพู่ เป็นผลไม้ที่ปลูกง่าย ขึ้นได้ทุกสภาพดิน ดังนั้น ขั้นตอนการเตรียมดินจะไม่ยุ่งยาก ชมพู่เป็นพืชที่หากินเก่ง ปลูกดินอะไรก็ค่อนข้างจะงามอยู่แล้ว ปลูกแล้วสามารถเก็บผลผลิตได้นาน หากตัดแต่งกิ่งบ่อยๆ แต่ค่อนข้างจะมีปัญหาและดูแลยากช่วงออกดอกออกผล

ชมพู่ เป็นผลไม้ที่ปลูกได้ทุกฤดู เพียงแต่ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ ยิ่งถ้าปลูกใหม่ต้องหมั่นให้น้ำ จะทำให้รากเดินดี หากปลูกแล้วฝนตกบ่อยก็ไม่ต้องรดน้ำ

การปลูก จะปลูกช่วงไหนก็ได้ แต่เวลาการออกดอก ดอกจะออกช่วงหน้าหนาวของทุกปี หากทำนอกฤดูต้องดูกิ่งอ่อนมีสีน้ำตาล ถึงจะมีดอกได้

 

ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ คือช่วงที่ชมพู่อร่อยที่สุด เพราะไม่มีฝน สีจะเข้ม ทำให้ชมพู่รสชาติดีทั้งหวานทั้งกรอบ

การปลูก…ขุดดินยกร่อง กว้าง 4×4 เมตร ลงต้นเป็นกิ่งเพาะชำ ขุดดินให้ร่วนเพื่อให้รากเดินสะดวก ใส่ปุ๋ยคอกสลับกับปุ๋ยเคมีบ้างเพื่อให้ต้นโตขึ้นมา

การเตรียมดินใส่ปุ๋ย…แนะนำก่อนปลูก ควรนำดินไปวัดค่า PH เพื่อที่จะได้รู้ว่า ดินของเราขาดธาตุอาหารชนิดใด เพื่อจะได้ใส่ปุ๋ยหรือสารเคมีให้เหมาะสม เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการอาหารไม่เหมือนกัน ในกรณีใส่มูลสัตว์ให้สลับใส่เป็น มูลไก่ วัว หมู เพื่อจะได้นำสารอาหารไม่ซ้ำกันมาใส่ในแปลง ใส่ปีละ 2 ครั้ง

“พืชแต่ละชนิดจะคล้ายๆ กันคือ เมื่อปลูกใช้ดินนานๆ ธาตุอาหารเดิมเริ่มหมด พยายามหาธาตุอาหารเดิมใส่ไป เขาจะได้เป็นพืชที่สมบูรณ์แบบเหมือนเดิม คือถ้าพูดรวมๆ แล้ว พืชทุกชนิดเหมือนกัน การกินของพืชแต่ละชนิดเขากินอาหารซ้ำๆ แต่เราต้องหาอาหารที่ขาดหายจากตรงนั้นมาใส่ ให้เขากินเหมือนเดิม เขาก็จะให้ผลผลิตที่ดี”

บางพื้นที่มีปัญหาว่า ปลูกแล้วต้องย้ายไปปลูกที่อื่น เพราะธาตุอาหารหมด เราต้องหมั่นเติมธาตุอาหารตัวเดิม ก็จะให้ผลผลิตเหมือนเดิม และต้องหมั่นนำดินไปตรวจสภาพทุกปี

วิธีการดูแล

เมื่อลงดินใช้เวลา 2 ปี ชมพู่จะเริ่มออกดอก ถ้าชมพู่ต้นใหม่จะออกดอกช่วงหน้าหนาวธรรมชาติของชมพู่ แต่วิธีการดูหากต้นงามเกินไปเราต้องพยายามดึงไม่ให้เขางาม มีการควบคุมการแตกยอด การแตกใบ ถ้าแล้งมากชมพู่ก็จะสลัดดอกทิ้ง จะไม่เลี้ยงลูก แต่ไปเลี้ยงใบมากเกินไป ต้องมีวิธีการดูแลเป็นขั้นตอน เมื่อติดดอก 60 วัน ดอกบานเสร็จ เมื่อดอกบานหลังจากเกสรร่วง 5 วัน ให้เริ่มห่อผล ห่อไว้ 30 วัน เก็บผลผลิตได้ จากวันออกดอกมาถึงเก็บผลได้ ใช้เวลาประมาณ 90 วัน

การดูแล เจ้าของมีสูตรการใส่ปุ๋ย และอาหารบางตัว อย่าง มูลค้างคาว ใส่ไปเยอะๆ ทำให้ชมพู่หวานกรอบเพิ่มขึ้น

ระบบน้ำ…ให้น้ำเพื่อความชุ่มชื้น ให้วันเว้นวันก็ได้ แต่ถ้าร้อนเกินไปอาจจะให้ทุกวัน แต่ให้แค่ชื้นไม่ให้แฉะไป ที่สวนจะขุดร่องแล้วใช้เรือรดน้ำ เพราะที่ดำเนินสะดวกน้ำเยอะ แหล่งปลูกที่อื่นใช้เป็นสปริงเกลอร์ก็ได้

วิธีป้องกันโรคแมลง …ชมพู่ เป็นผลไม้ที่มีโรคแมลงเยอะมาก แมลงวันทอง คือศัตรูที่อันตรายที่สุด ทำให้เกิดหนอน ต้องพยายามคุมพ่นเหยื่อโปรตีน ฉีดเป็นจุดๆ และห่อผลควบคู่กันไป

 

เทคนิคการห่อผลให้ผิวสวย ลูกใหญ่สม่ำเสมอ

ให้เริ่มห่อระยะเกสรร่วง ประมาณ 5-7 วัน เทคนิคทำให้ลูกสวยที่สำคัญคือ วิธีการห่อ ให้ห่อแบบไขว้กัน 4 ผล ลูกกลางให้เด็ดทิ้ง หากทำวิธีนี้แล้วลูกจะใหญ่สม่ำเสมอ แล้วก็เทคนิคต้องห่างต่อช่อไม้บรรทัดหนึ่ง จะทำให้กระจายน้ำเลี้ยงทั่วต้น วิธีการนี้จะช่วยให้ได้ผลมาก ขนาดของลูกจะเท่ากันหมด ใน 1 ต้น ช่อดอกต้นหนึ่งมีเป็นพันช่อ ให้เด็ดทิ้งเหลือไว้ต้นละไม่เกิน 150 ช่อ ถึงจะสวยที่สุด

 

การเลือกถุงพลาสติก หากส่งไปยังประเทศจีน มาตรฐานที่ตั้งคือ ถุงพลาสติกต้องมีความหนา 22 ไมครอน เป็นมาตรฐานที่สูงสุด แต่ถ้าส่งทั่วไปพยายามที่จะหาถุงเหนียวเกรดเอ

เคยมีการทดลองใช้ถุงกระดาษห่อหลายขนาด หลายสี ทั้งสีดำ สีน้ำตาล หรือถุง 7 สี สุดท้ายถุงที่ดีที่สุดก็ต้องเป็นถุงใสๆ เปรียบเสมือนว่าถ้าถุงทึบเกินไป หน้าหนาวลูกจะไม่ค่อยติดผล แต่ถ้าหน้าร้อนลูกจะแดง แต่ขนาดผลเล็ก

ผลิตชมพู่ มาตรฐาน GAP ทำน้อย แต่ได้เงินมาก

ตลาดในและต่างประเทศยังมีความต้องการสูง

ปัจจุบัน คุณสมชาย ปลูกชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์ ทำมาตรฐาน GAP จำนวน 15 ไร่ แต่สามารถสร้างรายได้ต่อปีเป็นหลักล้าน

“ไม่จำเป็นต้องปลูกเยอะ แค่เราดูแลให้ทั่วถึง หมั่นลงแปลงทุกวัน ทำตามสูตรที่มี เพียงเท่านี้เราก็จะได้ชมพู่ที่มีคุณภาพ ขายได้กล่องละ 320 บาท กล่องหนึ่งบรรจุ 12 ลูก ลองมานั่งคิดดูดีๆ ตั้งแต่ทำมาตรฐานมา เราขายชมพู่ได้ลูกหนึ่งตกลูกละเกือบ 30 บาท แต่ลูกค้ายังซื้อผลผลิตเรา และผลตอบรับดีมาก ผลผลิตในประเทศยังไม่พอขาย ซึ่งตอนนี้เราเดินมาถูกทางแล้ว ก็มานั่งคิดต่อว่า เราจะผลักดันอย่างไรให้เกษตรกรหันมาทำสินค้าเกรดเดียวกัน คุณภาพเดียวกัน ขายสินค้าคุณภาพ ทำน้อย แต่ได้เงินมาก ผมคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้เกษตรกรจะประสบผลสำเร็จ และไม่เหนื่อยอย่างทุกวันนี้” คุณสมชาย บอก

 

ออกงานบ่อยๆ โชว์คุณภาพสินค้า เทคนิคการตลาด

ลูกค้าติดใจ ได้เปรียบเรื่องการตลาด

คุณสมชาย ใช้วิธีการหาตลาดโดยการออกงานโชว์สินค้าบ่อยๆ หรือพยายามออกงานโชว์สินค้าเกษตรที่คนรู้จัก ในที่นี้ผลผลิตต้องมีคุณภาพด้วย เมื่อทำแบบนี้เริ่มมีคนรู้จัก ลูกค้าที่เคยไปเจอเราที่งานอื่นก็ตามมา เพราะสินค้าเราค่อนข้างจะโดดเด่นกว่าคนอื่น มีมาตรฐาน รวมถึงมาตรฐาน GAP, IPM ที่มีอยู่ก็นำมายืนยันสินค้าเราด้วย ส่วนใหญ่คนได้ชิมจะถามว่า ทำไมรสชาติอร่อยแตกต่างจากที่อื่น พอลูกค้าติดใจผลผลิตแล้วก็ยากที่เขาจะไปซื้อจากที่อื่น ยังมีน้อยสวนที่จะทำได้อย่างสวนนี้

“ชมพู่ 15 ไร่ ถือว่าตอนนี้ทำผลผลิตไม่พอขาย เพราะต้องส่งหลายที่ ทั้งที่ท็อปส์ (Tops) ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และลูกค้าออนไลน์ส่งผ่านเคอร์รี่ผลตอบรับดีมาก ซึ่งตอนแรกมุ่งแต่ส่งขายตลาดต่างประเทศ แต่พอมาจับจุด เปลี่ยนวิธีการขายตลาดในเมืองไทยก็ยังต้องการสินค้าคุณภาพอีกมาก ซื้อไปแล้วกระแสคนซื้อบอกว่าอยากได้อีก ถามว่าทำไมแตกต่างจากคนอื่นซื้อ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราจะส่งต่างประเทศทำไมทั้งที่คนในประเทศเรายังมีลูกค้าที่พร้อมซื้ออีกมากถ้าของเรามีคุณภาพ …ตอนนี้พยายามแบ่งให้มีผลผลิตออกขายทุกวัน ช่วงที่เก็บขายหน้าหนาวถึงหน้าร้อน หน้าฝนจะเก็บขายได้เป็นช่วงๆ ตอนนี้พยายามคิดที่จะให้ผลผลิตออกขายทุกเดือนให้ได้…ผลผลิตแต่ละวันเก็บขายได้ไม่เท่ากัน บางวันเก็บได้เป็นพันกิโลกรัม อยู่ที่ความแก่ บางวันเก็บได้ 500 กิโลกรัม บางวันเก็บได้มากถึง 2,000 กิโลกรัม” เจ้าของบอก

 

ผลิตสินค้าคุณภาพ ตามมาตรฐาน GAP ทำแล้วดีอย่างไร

ที่สวนคุณสมชาย เริ่มทำชมพู่ตามมาตรฐาน GAP มานานกว่า 10 ปี และเมื่อ ปี 2559 ได้รับรางวัลมาตรฐานการส่งออก IMP (การกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน) ซึ่งคุณสมชายบอกว่าตั้งแต่เมื่อตนทำมาตรฐานทั้ง 2 อย่างนี้ มีผลดีเกิดขึ้นมากมาย ที่เห็นได้ชัดคือ ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น ราคาขายสูงขึ้น และมีตลาดรองรับตลอด เพราะสินค้า GAP ถือเป็นพื้นฐานความปลอดภัยในการบริโภค เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับและบอกว่าสินค้าที่มีและไม่มีมาตรฐาน ไม่เห็นแตกต่างกันตรงไหน ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจใช่ แต่ในยุคสมัยที่เศรษฐกิจตกต่ำ บวกกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป จะเน้นปริมาณอย่างเดียวคงไม่รอด อย่างตอนนี้ผู้บริโภคเริ่มหันมาบริโภคสินค้าที่มีมาตรฐานรับรองกันมากขึ้น ถึงราคาจะสูงแต่ถ้าปลอดภัยเขายินดีที่จะจ่าย ดังนั้น เกษตรกรควรตระหนักคิดแล้วว่าหากยังทำสินค้าไม่ได้มาตรฐานต่อไป ท่านก็อยู่ไม่ได้ อย่างการส่งออกหากสินค้าไม่มีการรับรองมาตรฐานก็ส่งออกไม่ได้ ขายได้แต่ภายในประเทศและราคาต่ำ บางตลาดก็ไม่รองรับ ถ้าไม่มี GAP และ IPM

“อยากให้เกษตรกรหันมาสู้กันในเรื่องของคุณภาพมากกว่าปริมาณ ถ้าเกษตรกรที่ทำได้รับรองได้ว่าตลาดผลไม้ของท่านจะไม่ตัน เพราะสามารถกระจายสินค้าได้หลายช่องทางมากขึ้น และตอนนี้ตลาดผลไม้ภายในประเทศยังขาดแคลนผลไม้ที่ได้คุณภาพอีกมาก” เจ้าของสวนยืนยัน

 

เริ่มทำ มาตรฐาน GAP ได้ เพราะออกงานบ่อย มีหน่วยงานรัฐให้การสนับสนุน

คุณสมชาย เล่าว่า เมื่อก่อนตนไม่ได้ปลูกชมพู่ตามมาตรฐาน GAP แต่ด้วยความที่ออกงานบ่อย มีงานขายสินค้าผลไม้ที่ไหนก็ไป และประกอบกับที่ตนชอบประกวดชมพู่ จึงรู้จักกับอาจารย์จากหลายๆ ที่ อย่างอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จะสนิทกับคณะอาจารย์ จึงมีการช่วยเหลือกันเกิดขึ้น มีหน่วยงานราชการเข้ามาส่งเสริมให้ทำ จึงเริ่มพัฒนาปรับปรุงมาเรื่อยๆ และในระหว่างที่ทำก็มีการปรึกษาหารือกับหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับปัญหา ช่วงนั้นชมพู่ไทยมีปัญหาส่งไปประเทศจีนไม่ได้ ถูกระงับ จึงมานั่งคิดกันว่าเกิดจากอะไร ปัญหาจากตรงไหน คุยกันอย่างนี้ เหมือนกับว่าแบบจะต้องเป็นแบบนี้ คุยกันว่ามาตรฐานการปลูกชมพู่ต้องเป็นแบบไหน ก็เริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้น

 

ชักชวนเกษตรกรหันมาทำชมพู่มาตรฐานส่งออก ทำแล้วดีอย่างไร

การทำชมพู่ มาตรฐาน GAP คุณสมชาย บอกว่า ช่วงแรกๆ เกษตรกรอาจยังไม่ค่อยเห็นผล เกษตรกรอาจมองว่า ทำกับไม่ทำราคาไม่แตกต่าง แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นความต่างแล้ว มีมาตรฐานก็จะช่วยยกระดับขึ้นมา สินค้าจะมีคุณภาพมากขึ้น เป็นที่ยอมรับในเรื่องราคา ถึงสินค้าแพงแต่ปลอดภัย ผู้บริโภคยอมจ่าย แล้วเราขายได้ราคามากขึ้น มันก็จะเริ่มตอบโจทย์ได้ว่า เราขายได้ดีขึ้นกว่าเดิมละ อีกด้านหนึ่งคือในปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ และมาตรฐานของสินค้ามากขึ้น

 

ขั้นตอนการทำ มาตรฐาน GAP

ขั้นตอนการทำ มาตรฐาน GAP ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และง่ายกว่าการทำอินทรีย์ การทำ GAP ยังสามารถใช้สารเคมีได้ แต่ใช้ได้ในระดับที่ปลอดภัยและมีการควบคุม มีสถานที่เก็บสารเคมีอย่างปลอดภัย มีการจดบันทึกการใช้สารเคมี การทำแปลง รดน้ำ ฉีดยา เหมือนกับเป็นข้อบังคับเรื่องความสะอาด

การฉีดพ่นสารเคมี เกษตรกรต้องรู้ว่าสารเคมีตัวไหนใช้ได้หรือไม่ได้ และอยู่ได้กี่วัน สารป้องกันกำจัดแมลงต้องคำนวณเพราะส่วนใหญ่จะมีมาตรฐานของยาแต่ละชนิด ว่าเราพ่นช่วงไหน เว้นระยะช่วงเก็บเกี่ยวกี่วัน ช่วงนั้นทำอะไรได้บ้าง และต้องเรียนรู้เรื่องสารเคมี หมั่นฟังทางกรมวิชาการเกษตรที่เข้ามาให้ความรู้ว่าเรื่องการควบคุมสารเคมีควรใช้ประมาณไหน

ระบบ IPM คือมาตรฐานออกจากแปลง คือแปลงต้องสะอาด ดูแลเรื่องผลผลิตที่เสียหาย ต้องเก็บให้สะอาด อยู่ในการดูแลของกรมวิชาการเกษตร คือจะมีคนมาดูแลตลอด มีหน่วยงานมาดูแลความสะอาดของแปลงเราให้ได้ตามมาตรฐาน หากแปลงไหนที่มีมาตรฐาน IPM เพิ่มมาจะอยู่ในระบบมากกว่า คือการจัดการที่ดีกว่าแบบเดิมๆ เกษตรกรบางรายปล่อยลูกทิ้งในร่อง ถุงห่อทิ้งในร่อง ทิ้งได้แต่ว่าต้องเก็บออกทีหลังให้แปลงสะอาด นี่คือขั้นตอนแรกๆ มันได้ดูว่าเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เพาะแมลง อย่างแมลงวันทองเนี่ย ถ้าเราเอาผลผลิตที่สุกแก่ไว้ในแปลงเขาก็จะมีการเพาะเชื้อตรงนั้นอยู่แล้ว

ชมพู่มาตรฐาน หวาน กรอบ จำหน่ายกล่องละ 320 บาท

 

ชวนผู้ปลูกชมพู่ มาทำสินค้า มาตรฐาน GAP กันเถอะ

“การทำอะไรก็แล้วแต่ แรกๆ เราจะคิดว่ายาก ก็เหมือนกับการที่ผมจะเริ่มทำผลไม้มาตรฐานตอนแรกคิดว่ายาก แต่เมื่อได้ลองลงมือทำ หมั่นหาความรู้จากกรมวิชาการ ศึกษาหาความรู้ไปแล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้น อย่าเพิ่งไปคิดถึงตรงนั้น อยากให้เกษตรกรค่อยๆ ทำ และเรียนรู้ไป เมื่อทำแล้วทำได้เราเข้าสู่ระบบสากลต่อไป ทุกอย่างก็จะง่าย เพราะเมื่อทำแล้วเราจะได้เปรียบทางการตลาดทันที เกษตรกรสามารถที่จะเอาผลผลิตไปขายที่ไหนก็ได้ นำไปขายที่ไหนก็ยอมรับ ขายจนตอนนี้ผลผลิตไม่พอต่อความต้องการ” คุณสมชาย กล่าว

สอบถามเพิ่มเติมที่ คุณสมชาย เจริญสุข ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ (063) 252-6678

เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร