ฉีกแนวใช้บล็อกซีเมนต์ ปลูกกล้วยไม้ตัดดอก ผลิตง่าย ต้นทุนต่ำ ใช้ได้นาน

ไทย เป็นอีกประเทศในโลกที่ผลิตกล้วยไม้ได้อย่างมีคุณภาพ แหล่งปลูกกล้วยไม้หลายแห่งมีศักยภาพในการผลิตกล้วยไม้ได้จำนวนมาก สามารถส่งขายได้ทั้งภายในและต่างประเทศ

การผลิตกล้วยไม้ไม่เพียงแต่เจ้าของธุรกิจจะต้องแข่งขันกับหลายประเทศที่ผลิตอย่างมีคุณภาพแล้ว ยังต้องเอาชนะธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงจนทำให้กระทบกับยอดและคุณภาพผลผลิตอีกด้วย แต่ด้วยใจสู้ของชาวสวนกล้วยไม้ไทยต่างหาวิธีเอาชนะกับปัญหาอุปสรรคอย่างไม่ท้อ

ตลาดสินค้าเกษตรก้าวหน้า ฉบับนี้พาท่านผู้อ่านไปพบกับ คุณสมชาย เลิศรุ่งวิทยาชัย อยู่บ้านเลขที่ 160 หมู่ที่ 7 ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เจ้าของสวนกล้วยไม้ ที่ชื่อ “สวนหมื่นล้านออร์คิด” เป็นสวนกล้วยไม้สกุลหวายตัดดอกที่มีคุณภาพขนาดใหญ่ย่านบางเลน ขายส่งทั้งตลาดในและต่างประเทศ

คุณสมชาย เลิศรุ่งวิทยาชัย

พบปัญหาจำนวนมะพร้าวลดลง หายาก ราคาแพง ส่งผลต่อการทำธุรกิจ

ความจริงแล้วสวนกล้วยไม้เมื่อมองจากภายนอกก็เหมือนกัน แต่ถ้าได้เดินเข้าไปในแปลงปลูกกล้วยไม้ของสวนคุณสมชายจะพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของกล้วยไม้ที่ปลูก ใช้บล็อกซีเมนต์เป็นวัสดุปลูกแทนกาบมะพร้าว ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ให้ผลผลิตสมบูรณ์ทั้งขนาดและความสวยสด แถมยังประหยัดคุ้มทุนกว่าการใช้กาบมะพร้าวล้วนเสียด้วยซ้ำ แต่เหตุผลอะไรที่ทำให้คุณสมชายถึงเลือกนำบล็อกซีเมนต์มาใช้กับธุรกิจของเขา ลองตามไปฟังคำตอบกัน

คุณสมชายอยู่บนเส้นทางอาชีพปลูกกล้วยไม้ตัดดอกมานานกว่า 12 ปี เดิมทีมีสวนอยู่แถวจังหวัดนนทบุรี แต่มองดูน่าจะคับแคบไป จึงทำให้ตัดสินใจย้ายมาที่บางเลน นครปฐม เพื่อทำสวนกล้วยไม้แห่งใหม่ที่มีพื้นที่จำนวน 100 ไร่

เดิมทีคุณสมชายใช้กาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูกเช่นเดียวกับรายอื่น ซึ่งทำกันมายาวนาน และกาบมะพร้าวที่ใช้มี 2 แบบ คือ ชนิดอัดก้อนและไม่อัดก้อน

แนวคิดที่ต้องการหาวัสดุอื่นมาแทนมะพร้าวเพราะหลายปีนี้พบว่าเกิดวิกฤตหนอนหัวดำมากินต้นมะพร้าว ส่งผลให้ลูกมะพร้าวเกิดความเสียหายและลดจำนวนลง ขณะเดียวกัน เปลือกมะพร้าวที่นำมาใช้สำหรับปลูกกล้วยไม้ก็หายากมากขึ้น อีกทั้งยังมีราคาขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ คือจากเดิมเคยซื้อแบบอัดก้อนราคาก้อนละ 6 บาท ได้ขยับขึ้นมาเป็น 12 บาท ต่อก้อน แล้วยังหายากด้วย กว่าจะสั่งได้ครบต้องรอนาน

ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นมีการสะสมจนทำให้ผู้ประกอบธุรกิจกล้วยไม้ตัดดอกไม่สามารถกำหนดเป้าหมายและตัวเลขการผลิตที่ชัดเจนแน่นอนได้ จึงทำให้ขาดโอกาสทางการค้าไปอย่างน่าเสียดาย เพราะการปลูกกล้วยไม้ต้องคำนึงถึงช่วงเวลาเพื่อกำหนดให้ออกดอกทันในช่วงเทศกาล แล้วหากเลยออกไปจะทำให้ราคาลดลงทันที

เลือกใช้บล็อกซีเมนต์ เพราะต้นทุนต่ำ ผลิตง่าย ใช้ได้นาน
ด้วยเหตุนี้คุณสมชายพร้อมกับกลุ่มเพื่อนหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วเกิดแนวคิดว่าควรจะหาวัสดุชนิดอื่นมาทดแทนการใช้มะพร้าว โดยผุดแนวคิดหาวิธีมากมายหลายชนิด แต่หลายแนวทางที่คิดออกมาล้วนแต่ประสบปัญหาตรงที่ต้องใช้ต้นทุนสูงแล้วไม่สอดคล้องกับความต้องการ

โฉมหน้าบล็อกซีเมนต์ที่ใช้ปลูกกล้วยไม้

ในที่สุดมีการเสนอความคิดให้ลองใช้บล็อกซีเมนต์ที่ใช้กันอยู่ในวงการก่อสร้างทั่วไปมาเป็นวัสดุปลูกกล้วยไม้ ซึ่งเมื่อมาตรวจสอบราคาต้นทุนแล้วเพียงราคาก้อนละ 3 บาท อีกทั้งการขึ้น-ลงราคาก็ไม่เปลี่ยนแปลงเร็วเพราะอาจไปกระทบกับต้นทุนการก่อสร้าง รวมถึงยังมีความทนทานสามารถใช้ได้นานถึง 10 ปี

เป็นกล้วยไม้ชุดแรกที่นำบล็อกซีเมนต์แบบเดิมมาใช้ปลูกได้ผลดี

แต่ข้อเสียคือมีน้ำหนักถึงก้อนละ 6 กิโลกรัม ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับน้ำหนักของโต๊ะปลูก จึงได้ลองออกแบบใหม่ให้แตกต่างจากบล็อกซีเมนต์ทั่วไป แล้วสามารถลดน้ำหนักลงมาได้เหลือก้อนละ 5 กิโลกรัม ในที่สุดเมื่อมีการปรับแต่งทุกอย่างก็สามารถลองนำมาใช้งานจริงได้ จึงได้ผลิตออกมาจำนวนมากเพื่อนำไปใช้กับกล้วยไม้รุ่นใหม่

“บล็อกซีเมนต์ที่ผลิตออกมาเพื่อใช้สำหรับปลูกกล้วยไม้มีขนาดและลักษณะแตกต่างจากบล็อกซีเมนต์ที่ใช้ในการก่อสร้าง กล่าวคือด้านยาวจะสั้นกว่า และด้านกว้างจะยาวกว่า และความหนาจะน้อยกว่า เหตุผลที่ต้องออกแบบเช่นนี้เพราะต้องการให้มีน้ำหนักเบา อีกทั้งจำนวนช่องยังน้อยกว่าด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังใช้แกลบดำเป็นส่วนผสมของการผลิตบล็อกซีเมนต์ด้วย”

ถึงแม้แนวทางการนำบล็อกซีเมนต์มาใช้ แต่คุณสมชายยังคงต้องใช้กาบมะพร้าวด้วยเพื่อให้ช่วยเก็บความชื้นจากน้ำ เพียงแต่ใช้น้อยลงมากเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์จากที่เคยใช้ และเป็นกาบมะพร้าวอ่อนที่อยู่บริเวณเปลือกมะพร้าวที่หลังจากได้ปอกเปลือกออกแล้วโดยนำกาบมะพร้าวอ่อนมาปิดที่ช่องบริเวณด้านหน้าบล็อกซีเมนต์ โดยกาบมะพร้าวดังกล่าวมีราคาคันรถละ 3,000 บาท ใช้งานได้จำนวนมากด้วย

กำไรเห็นชัดเมื่อพ้นปีที่ 4
ทางด้านการลงทุน คุณสมชาย บอกว่า ถ้าเริ่มลงทุนพร้อมกันกับแบบใช้กาบมะพร้าวล้วน อาจใช้เงินลงทุนไม่ต่างกัน แต่จะเริ่มเห็นความชัดเจนในการเปลี่ยนต้นกล้วยไม้รุ่นที่สอง ในราวปีที่ 4 เนื่องจากสามารถลดต้นทุนไปได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าใช้กาบมะพร้าวตามแนวทางเดิมจะต้องซื้อวัสดุปลูกชุดใหม่ ต้องลงทุนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงที่ต้องขนวัสดุเก่าไปทิ้ง แล้วยังต้องจ้างคนมาทำความสะอาด

แต่การนำบล็อกซีเมนต์มาใช้สามารถใช้ของเดิมได้ โดยไม่ต้องไปลงทุนซื้อใหม่ ไม่ต้องขนอะไรออกนอกพื้นที่เลย เพียงมีค่าทำความสะอาดของเดิมเท่านั้น ถือว่าประหยัดเงินลงทุนได้เกือบเท่ากับเงินลงทุนก้อนแรก

ข้อดีของการนำบล็อกซีเมนต์มาใช้อีกด้านหนึ่งคือมีประโยชน์ต่อการควบคุมปริมาณน้ำจะง่ายกว่า โดยเฉพาะหน้าฝน ถ้าใช้กาบมะพร้าวตามแนวทางเดิมจะอุ้มเก็บน้ำไว้นาน จะชื้นมาก แล้วแห้งยากจึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเชื้อรา เพราะแม้ว่ากล้วยไม้จะชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำมากและชุ่มเกินไป

เมื่อนำบล็อกซีเมนต์มาใช้ ปรากฏว่าปริมาณน้ำที่อยู่ในกาบมะพร้าวอ่อนมีจำนวนน้อยมาก เหมาะสมกับความต้องการของกล้วยไม้ จึงทำให้ไม่เกิดความชื้นสะสมแล้วไม่เป็นเชื้อรา ดังนั้น สารกำจัดเชื้อราที่ใช้จึงน้อยลงมาก แล้วใช้ห่างได้ ถือเป็นข้อดีของการลดต้นทุน

นอกจากนั้น ยังมีข้อดีคือแมลงศัตรูพืชลดลงอย่างเห็นได้ชัด แล้วที่ผ่านมา 3 ปี ยังพบว่ากล้วยไม้แตกหน่อใหม่จำนวนหลายหน่อ ทั้งนี้ การใช้แนวทางนี้ให้มีประสิทธิภาพจะต้องมีการบริหารจัดการเรื่องปุ๋ย/น้ำอย่างสอดคล้องและเหมาะสมควบคู่ไปด้วย

ขณะนี้สวนกล้วยไม้ของคุณสมชายได้นำบล็อกซีเมนต์มาใช้แล้วกว่า 60 ไร่ และใช้มานานกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นเพียงกล้วยไม้รุ่นแรก นอกจากตัวเขาเองแล้วในกลุ่มญาติและเพื่อนที่ประกอบธุรกิจกล้วยไม้ตัดดอกก็ได้นำวิธีนี้ไปใช้กันแล้ว

ไม่ผิดหวังเรื่องคุณภาพ แต่ต้องบริหารจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม
สำหรับในเรื่องคุณภาพและผลผลิตที่เกิดจากการปลูกในบล็อกซีเมนต์ คุณสมชาย บอกว่า ในระยะแรกหรือผลผลิตรุ่นแรกมีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่าวิธีการใช้กาบมะพร้าวล้วนเพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่เมื่อผ่านพ้นไปสัก 1 ปี จะพบว่าการให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันเลย

or-8-%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b8%9a%e0%b9%8a

คุณสมชายแสดงความเป็นห่วงในเรื่องสถานการณ์กาบมะพร้าวที่นำมาใช้ปลูกกล้วยไม้อยู่ในขณะนี้ว่านับวันจะยิ่งหายากเพราะลดน้อยลงมาก แล้วยังมีราคาแพง ฉะนั้น หากใช้วิธีการเดิมต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มมาก แล้วในอนาคตยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร แต่ถ้ามีการเตรียมความพร้อมไว้ก่อน อย่ารอให้ถึงวันที่เดือดร้อน จึงต้องหาทางแก้ไขก่อน

อย่างไรก็ตาม กล้วยไม้ในสวนของคุณสมชาย ยังมีการปลูกแบบใช้กาบมะพร้าวล้วนอยู่จำนวน 20 ไร่ เขาบอกว่ากล้วยไม้ชุดนี้คงไม่เปลี่ยนไปใช้บล็อกซีเมนต์ เพราะต้องการปลูกเพื่อเปรียบเทียบ พร้อมกับใช้สำหรับเป็นฐานข้อมูลด้วย

สำหรับท่านที่สนใจการปลูกกล้วยไม้ด้วยการใช้บล็อกซีเมนต์เป็นวัสดุ ตามแนวทางของ คุณสมชาย สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ (089) 890-8814

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้าน