ชาวบ้านสามโก้ อ่างทอง รวมตัวผลิตมะม่วงแปลงใหญ่ เน้นคุณภาพส่งขายต่างประเทศ

ชาวบ้านที่อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้ เบอร์ 4 และเขียวเสวย เป็นการปลูกมะม่วงนอกฤดูที่ยึดถือเกณฑ์ตามมาตรฐานอินทรีย์ด้วยการรวมกลุ่มปลูกแปลงใหญ่เพื่อส่งออกเป็นหลัก

แม้ที่ผ่านมาพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจนทำให้มะม่วงยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความมุ่งมั่น ตลอดจนได้รับความช่วยเหลือจากภาคราชการ จึงทำให้ชาวบ้านสามโก้สามารถพัฒนาคุณภาพมะม่วงจนกลับมาเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศได้อีกครั้ง

(ซ้าย) คุณถาวร แก้วขาว เกษตรอำเภอสามโก้ กับ คุณสุนทร สมาธิมงคล

คุณสุนทร สมาธิมงคล บ้านเลขที่ 5 หมู่ที่ 1 ตำบลมงคลธรรมนิมิต อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง ประธานศูนย์เรียนรู้กลุ่มมะม่วงส่งออกตำบลธรรมนิมิต ได้รับแต่งตั้งเป็นปราชญ์ชาวบ้าน แล้วยังพ่วงตำแหน่งเกษตรกรดีเด่น ปี 2552 พร้อมชักชวนชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันปลูกมะม่วงคุณภาพส่งออกตามมาตรฐาน

คุณสุนทร เล่าว่า เดิมใช้พื้นที่ปลูกมะม่วง จำนวน 40 ไร่ เนื่องจากดูแลไม่ทั่วถึงแล้วทำให้มะม่วงได้คุณภาพไม่เพียงพอ จึงปรับลดเหลือเพียง 30 ไร่ ในปัจจุบัน ส่วนที่เหลือใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำนา

พื้นที่ภายในสวนต้องสะอาด ทรงพุ่มต้องโปร่ง

 

ลักษณะทรงต้นเตี้ย สะดวกกับการทำงาน

ลักษณะพื้นที่ปลูกมะม่วงในสวนของคุณสุนทรเป็นแบบยกร่อง ขนาดกว้าง 8 เมตร โดยปลูกระยะห่างต้น ประมาณ 4 คูณ 4 เมตร เน้นการปลูกต้นเตี้ย สามารถยืนทำงานได้อย่างสบาย เป็นสวนมะม่วงที่ได้มาตรฐานตามระบบการทำ GAP ด้วยการจดบันทึกข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย การดึงดอก รวมถึงการดูแลใส่ปุ๋ยบำรุงต้นในช่วงเวลาต่างๆ

การประสบปัญหาภัยแห้งแล้งที่ผ่านมา มีผลทำให้มะม่วงเขียวเสวยในสวนของคุณสุนทรตายไปเกือบ 20 ไร่ ทำให้ขณะนี้คุณสุนทรคงปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง กับน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 เพียง 2 พันธุ์ เท่านั้น

ผลนี้เป็นชุดสุดท้ายที่ส่งออก ยังมีน้ำหนักตั้ง 5 ขีด

ทำไม มะม่วงสามโก้จึงเน้นปลูกเพื่อส่งออก

จากการนำดินเหนียวที่ใช้ปลูกมะม่วงในพื้นที่ไปวิเคราะห์ พบว่ามีธาตุอาหารตัวกลางและตัวท้ายสูง นั่นหมายถึงช่วยให้มะม่วงมีความหวานหอมเท่านั้น แต่การมีตัวหน้าต่ำมาก ทำให้ผลมะม่วงมีขนาดเล็ก ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ด้วยเหตุนี้ทางเกษตรอำเภอสามโก้จึงได้แนะนำให้ปรับสูตรปุ๋ย ด้วยการเพิ่มปุ๋ยตัวหน้าเพื่อให้ดินเกิดความสมดุลมีธาตุอาหารครบ ช่วยสร้างคุณภาพมะม่วง หลังจากนั้น มะม่วงสามโก้จึงมีรสหวาน หอม ขนาดผลมาตรฐาน ตรงตามที่ลูกค้าต้องการ

มะม่วงนอกฤดูของคุณสุนทร กำหนดไว้ปีละ 2 ครั้ง จะเริ่มดูแลมะม่วงหลังตัดแต่งกิ่งทรงพุ่ม โดยใส่ปุ๋ยสูตรตัวหน้าสูง อย่าง 24-7-7 หรือถ้าใส่สูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 จะต้องคลุกเคล้าด้วยยูเรีย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งแตกใบอ่อน ถ้าเป็นต้นมะม่วงที่มีอายุสัก 10 ปีขึ้นไป จะใส่ปุ๋ยต้นละครึ่งกิโลกรัม แต่ต้องพิจารณาความสมบูรณ์ของมะม่วงแต่ละต้นควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกันในช่วงนั้นอย่าขาดน้ำ เนื่องจากน้ำมีความสำคัญมากในช่วงมะม่วงแตกใบอ่อน

หลังจากใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งการแตกใบอ่อนแล้ว จะราดสารเพื่อบังคับเป็นมะม่วงนอกฤดู โดยใส่ทิ้งไว้ ประมาณ 45 วัน จากนั้นให้ใส่ปุ๋ย 8-24-24 เพื่อให้ต้นสะสมแป้งน้ำตาลแล้วเปลี่ยนมาเป็นดอก พร้อมไปกับการฉีดปุ๋ยทางใบ สูตร 5-12-34 ร่วมกับการให้ฮอร์โมนไข่ควบคู่ไปด้วย

กองปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน

มะม่วงส่งออก ควรเก็บผลสมบูรณ์ที่สุดไว้ แล้วต้องห่อ

คุณสุนทร บอกว่า การควบคุมคุณภาพมะม่วง ควรเริ่มตั้งแต่การเป็นช่อดอก อย่าให้มีโรค/แมลง มารบกวน พอมีผลอ่อนอายุสัก 40 วัน (ขนาดผลมะนาว) ต้องคัดเลือกผลเฉพาะที่สมบูรณ์ไว้ แล้วจัดการห่อผล อย่างถ้ามีผลอ่อนสัก 5 ผล จะตัดออกให้เหลือเพียง 2 ผล ก่อน ปล่อยให้โตอีกเล็กน้อยเพื่อดูว่ามีผลใดสมบูรณ์ที่สุด แล้วตัดให้เหลือผลเดียว เพื่อจัดการห่อ จะต้องพ่นสารกันแมลง/เชื้อรา ก่อนห่อ โดย น้ำดอกไม้ เบอร์ 4 ควรห่อเมื่ออายุ 25-30 วัน และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะห่อผลเมื่อมีอายุ ประมาณ 35-40 วัน เนื่องจากลักษณะผิวมะม่วงมีความต่างกัน

ชี้ว่าปุ๋ยที่ใช้จะผสมผสานระหว่างเคมีกับอินทรีย์ ทั้งนี้เคมีจะใส่น้อยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เนื่องจากมีกฎเกณฑ์ควบคุมปริมาณการใส่ ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ที่จะใส่เป็นส่วนใหญ่จะผลิตไว้ใช้เองจากมูลสัตว์ แกลบดิบ และอื่นๆ ที่หาได้ในชุมชน โดยได้รับการแนะนำจากทางกรมพัฒนาที่ดิน ทั้งนี้ จำนวนปุ๋ยที่ใส่ทั้งหมด 6 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลผลิต ไม่เน้นใส่ปุ๋ยจำนวนมาก แต่จะใส่ให้บ่อยครั้งเพื่อให้มะม่วงได้กินตลอดเวลาในปริมาณที่เหมาะสม

มะม่วงส่งออกชุดสุดท้ายไปญี่ปุ่น

มะม่วงจะใช้เวลาตั้งแต่ดอกเริ่มบานไปจนเก็บผลผลิต ประมาณ 95 วัน และมีคุณภาพความสมบูรณ์ ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับลูกค้าที่ต้องการสั่ง ว่าจะเอาประมาณเท่าไร ขณะเดียวกันก็จะหยุดใส่ปุ๋ยหรือฉีดพ่นสารทุกชนิด แล้วจะดึงน้ำออกก่อนเก็บผลผลิต ประมาณ 1 เดือน หรือในช่วงที่ผลผลิตมีอายุสัก 60 วัน ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องการให้มะม่วงฉ่ำน้ำจนเกิดการเน่าเสียภายหลัง

ร่องน้ำขนาดใหญ่ เพื่อรองรับน้ำช่วงหน้าฝน

ดังนั้น จึงต้องบริหารจัดการน้ำให้ดี โดยเฉพาะในหน้าฝน เพราะช่วงใดที่ไม่ต้องการน้ำจะต้องสูบออกจากร่องเพื่อปล่อยให้น้ำจากธรรมชาติเข้าแทน จากแนวทางนี้จึงส่งผลให้มะม่วงสามโก้ในสวนคุณสุนทรมีสีสวย ผิวเรียบนวล ขนาดผลได้มาตรฐาน แล้วที่สำคัญมีรสอร่อยและหอม

สวนมะม่วงของคุณสุนทรเน้นผลิตมะม่วงนอกฤดูเป็นหลัก โดยจะทำปีละ 2 ครั้ง เก็บผลผลิตครั้งแรกเดือนสิงหาคม และครั้งที่สองราวเดือนมกราคม ทั้งนี้จะผลิตกันเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ เพราะต้องการเลี่ยงภาวะปัญหาธรรมชาติที่ไม่แน่นอน จึงคิดวางแผนปลูกนอกฤดูเท่านั้น อีกเหตุผลคือ การปล่อยให้ผลผลิตออกมาในช่วงฤดูมะม่วงจะสร้างปัญหาล้นตลาดจนราคาตกต่ำ

สำหรับผลผลิตที่ได้ต่อไร่ ประมาณ 1.2-1.5 ตัน เป็นมะม่วงที่คัดคุณภาพจริงเท่านั้น แต่ถ้าไม่คัดคุณภาพ คือไม่ได้เน้นส่งออก จะได้ผลผลิตต่อไร่เกือบ 2 ตัน

คุณสุนทร บอกว่า สมัยที่เริ่มทำตลาดครั้งแรก ส่งมะม่วงขายหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทาง อียู จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี หรือแม้แต่ส่งเขียวเสวยไปขายที่เวียดนาม ถือว่าช่วงนั้นตลาดต่างประเทศบูมมาก พอมาเจอปัญหาภัยแล้งหนักทำให้ผลผลิตเสียหาย

“ตอนนี้ถึงจะเหลือส่งออกไม่กี่ประเทศ ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะต้องการพัฒนาคุณภาพให้สมบูรณ์ จะไม่เน้นปริมาณ ฉะนั้น จึงไม่ได้ตั้งเป้าว่าแต่ละต้นต้องให้ผลผลิตสัก 40-50 กิโลกรัม เพียงแต่ต้องการพัฒนาคุณภาพผลให้สมบูรณ์มากที่สุด เพื่อเน้นส่งออกเพียงอย่างเดียว”

คุณสุนทร สมาธิมงคล

เจ้าของสวนมะม่วงรายนี้ชี้ว่า การทำมะม่วงส่งออกถึงแม้จะยุ่งยากและมีความพิถีพิถัน แต่เมื่อมองถึงราคาขายที่สูงแล้ว ถือว่าคุ้มค่ามากกับการทุ่มเท ทั้งนี้ยังบอกว่าคงไม่เกินความพยายามของเกษตรกรไทย เพราะไม่ว่าจะปลูกอะไร ถ้าตั้งใจทำจริงจังแล้วต้องสำเร็จอย่างดี จริงอยู่ตอนเริ่มใหม่จะคิดว่ายากเพราะยังไม่ชิน แต่ภายหลังที่ทำบ่อยๆ จะเกิดความชินและคล่องตัวจนเป็นความชำนาญ

ต้องใช้ถุงห่อที่ได้มาตรฐานเท่านั้น

 

เตรียมเก็บชุดสุดท้าย

 

มะม่วงส่งออก แพ็กใส่กล่องที่ได้มาตรฐาน

ปัจจุบัน สมาชิกในกลุ่มมี จำนวน 56 ราย มีพื้นที่ปลูกมะม่วงจำนวนกว่า 500 ไร่ แต่ละรายจะมีพื้นที่ตั้งแต่ 10 ไร่ ไปจนถึง 100 ไร่ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านเหล่านี้มีอาชีพเดิมด้วยการทำนา แล้วระยะหลังแบ่งพื้นที่มาปลูกมะม่วง หรือบางรายทำแบบผสมผสานที่ปลูกมะม่วงกับไม้ผลและพืชผักชนิดอื่นด้วย

ย้ำ…มะม่วงส่งออก ต้องผลิตแบบการรับรอง มาตรฐาน GAP เท่านั้น

ประธานกลุ่มฯ บอกว่า วิธีการทำให้สมาชิกเครือข่ายสามารถปลูกมะม่วงได้อย่างมีคุณภาพแล้วเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยจะต้องให้ทุกคนเข้าร่วมการอบรมอย่างเข้มข้น พร้อมกับเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับเรื่องการวางแผนปลูก การจดบันทึก การทำปุ๋ยอินทรีย์ การดูแลบำรุงต้น การใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง ไปจนถึงการเก็บผลผลิต เพราะขั้นตอนและวิธีการเหล่านี้จะนำไปสู่การปลูกมะม่วงแบบการรับรองมาตรฐาน GAP จึงกำหนดเป็นแปลงเรียนรู้ตามระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ “มะม่วง” จังหวัดอ่างทอง ในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะม่วงส่งออก

คุณสุนทร บอกว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในตอนนี้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำเกษตรกรรมกันเป็นจำนวนมาก ทั้งพืชไร่ พืชสวน ไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากคนวัยนี้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงการเกษตรกรรมให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับหลายประเทศในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มได้เปิดอบรมให้แก่สมาชิกและบุคคลทั่วไปที่สนใจ เกี่ยวกับกระบวนการปลูกมะม่วงที่มีคุณภาพส่งออก โดยใช้เวลาอบรม 3 วัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุนทร สมาธิมงคล โทรศัพท์ (080) 107-8499

ทางด้าน คุณถาวร แก้วขาว เกษตรอำเภอสามโก้ กล่าวว่า การส่งเสริมความรู้ด้านเกษตรเพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพสู่เกษตรแปลงใหญ่ ได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. ลดต้นทุน
  2. เพิ่มผลผลิต
  3. สร้างคุณภาพ
  4. การบริหารจัดการ และ
  5. การตลาด

โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มผู้ที่ปลูกอยู่แล้ว กับกลุ่มที่เริ่มปลูก เพราะฉะนั้นจะใช้แนวทางให้กลุ่มแรกที่มีประสบการณ์อยู่แล้วเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มสอง

เกษตรกรชาวสวนเข้าฟังการอบรมวิธีปลูกมะม่วง

สิ่งที่กังวลในขณะนี้คือ สภาพการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ เพราะถือเป็นจุดเปลี่ยนของอาชีพเกษตรกรรมที่สำคัญ ดังนั้น จึงเร่งเก็บข้อมูลสภาพทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในทุกวัน ทุกสัปดาห์ และทุกเดือน เพื่อนำมาสรุปจัดเป็นแผนรองรับ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ อีกทั้งยังเป็นแนวทางเพื่อให้เกษตรกรไปจัดเตรียมพื้นที่ เตรียมน้ำ และปุ๋ย ให้สอดคล้องกับสภาพที่เปลี่ยนแปลง

“อ่างทอง เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ราบลุ่ม มีสภาพเป็นดินเหนียวอันอุดมไปด้วยธาตุอาหารหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส จึงทำให้ไม้ผลของจังหวัดนี้ล้วนแต่มีคุณภาพ แต่อย่างไรก็ยังมีจุดอ่อนเรื่องน้ำท่วมขัง ด้วยเหตุนี้การบริหารจัดการเรื่องน้ำจึงมีความสำคัญมาก ฉะนั้น การทำเกษตรกรรม ในยุค 4.0 ควรจะปฏิบัติการเชิงรุกมากกว่าตั้งรับ เพื่อป้องกันมิให้กระทบกับรายได้และความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรทุกคน” เกษตรอำเภอสามโก้ กล่าว