ชาวเขาแม่ฮ่องสอน ปลูกข้าวดอย กระเทียม ตามวิถีเกษตรกรรมที่สูง

แม่ฮ่องสอน เป็นอีกจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนที่ประกอบด้วยประชากรหลายชาติพันธุ์ มีพื้นที่เป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน มีอาชีพเกษตรกรรม ทั้งปลูกพืช ทำนา เลี้ยงสัตว์ พร้อมกับส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด แต่เนื่องจากการคมนาคมของพื้นที่บางแห่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของชาวบ้าน จนทำให้กระทบต่อรายได้ครัวเรือน

อย่างที่ ตำบลหมอกจำแป่ ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขา สลับกับบางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขา และที่ราบแอ่งกระทะ ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ปลูกงา ปลูกกระเทียม ฯลฯ แต่ยังขาดการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมอย่างดีพอ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านและคนในท้องถิ่นจึงร่วมแรงใจกันหาแนวทางเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ปลูกพืชไร่ รวมถึงยังแสวงหาพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิดมาปลูกเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง พระอติเทพ จิตตฺมโน จากสำนักสงฆ์บ้านทบศอก ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือชาวเขาที่อาศัยในหมู่บ้านห้วยโป่งอ่อน กับหมู่บ้านทบศอก ที่ประสบปัญหารายได้จากอาชีพเกษตรกรรมไม่สอดคล้องกับรายจ่าย ด้วยการนำวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมผสมผสานกับการปลูกพืชเศรษฐกิจพร้อมดึงการตลาดสมัยใหม่นำร่อง

พระอติเทพ จิตตฺมโน กับเด็กชาวเขา

พระอติเทพ เป็นชาวกรุงเทพฯ ไปบวชที่วัดจังหวัดระยอง จากนั้นออกเดินทางไปจำพรรษายังวัดสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อปฏิบัติธรรม กระทั่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้เดินทางมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อมาเตรียมสถานที่ไว้สำหรับเพื่อให้พระรูปอื่นมาปฏิบัติธรรม ระหว่างนั้นพบว่าชาวบ้านขัดสนรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ถึงแม้จะมีอาชีพเกษตรกรรมทำอยู่ แต่ก็เพียงประทังชีวิตโดยแทบจะไม่เหลือพอสำหรับใช้สอยอย่างอื่น

“เจตนาคือ ต้องการมาสร้างสำนักสงฆ์ก่อน แต่พอพบว่าชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่โดยรอบเกิดความเดือดร้อนเรื่องการทำเกษตรกรรม อีกทั้งก็เป็นปัญหาทางการสื่อสารระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ ฉะนั้น จึงอาสาเป็นคนกลางเพื่อประสานงานให้กับคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นจากสำนักงานเกษตรที่สูง ป่าไม้ ชลประทาน ที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้าน ขณะเดียวกันต้องการให้สำนักสงฆ์เป็นศูนย์กลางแก่ชาวบ้านและเด็ก”

พระอติเทพ เล่าว่า ชาวเขาที่นี่เป็นชาวกะเหรี่ยงแดง มักจะปิดตัวเองจากสังคมภายนอก จึงเกิดผลกระทบของการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีด้านต่างๆ จนเกิดความล้าหลัง แต่ถึงกระนั้นพวกเขายังอนุรักษ์วิถีการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมด้วยการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งพันธุ์พืชและแรงงาน อีกทั้งความเป็นอยู่แต่เดิมของชาวเขาเหล่านี้ปลูกพืชผักเพื่อบริโภค อย่าง ข้าวดอย งา และกระเทียม ซึ่งผลผลิตมีคุณภาพในระดับหนึ่ง

“เมื่อคราวที่เพิ่งเดินทางมาจำวัดได้ลองฉันข้าวดอยเป็นครั้งแรก ต้องบอกว่า อร่อยมาก มีคุณภาพและรสชาติเหมือนกับข้าวญี่ปุ่น มีลักษณะเมล็ดสั้น เหนียวนุ่ม หอม มียางในเมล็ด มีสีน้ำตาลนวล จากนั้นจึงส่งไปให้ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่เชียงใหม่ ทดสอบลองชิม ปรากฏว่ามีรสชาติเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าช่วยส่งเสริมการปลูกให้มีมาตรฐานมากขึ้น เห็นว่าแนวโน้มสามารถส่งขายที่ญี่ปุ่นได้ไม่ยาก”

พระอติเทพ ชี้ว่า การปลูกข้าวดอยของชาวเขาบนพื้นที่แห่งนี้ต้องปลูกบนเนินเขาที่สูงชันมาก อาศัยเพียงน้ำฝนเท่านั้น ปุ๋ยแทบไม่ต้องใส่ อาศัยดินดี ลักษณะการปลูกข้าวดอยจะต้องปลูกแบบหมุนเวียนแปลงทุก 4 ปี ในจำนวน 4 แปลง เพื่อต้องการให้ดินได้พัก แล้วสะสมอาหาร ตลอดจนเลี่ยงการเจอโรค

นาข้าว ในพื้นที่ 1 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าไม่น้อย ทั้งนี้เพราะการปลูกข้าวบนเนินภูเขาที่มีความลาดชัน ประมาณ 45 องศา ไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้าไปใช้งานได้ จะต้องเจาะหรือขุดเป็นหลุมขนาดเล็กแล้วนำเมล็ดพันธุ์ข้าวหยอดลงไปในหลุม ฉะนั้นต้องใช้ความพยายาม อดทน ขยัน

อีกทั้งงานทุกอย่างล้วนต้องใช้มือกับอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเท่านั้น แม้การกำจัดหญ้ายังต้องทำถึง 7 ครั้ง กว่าจะปลูกข้าวเสร็จแต่ละรอบ เนื่องจากจะต้องใช้จอบขนาดเล็กค่อยๆ แซะหญ้า สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวโดยทั่วไปแล้วชาวบ้านรายหนึ่งจะมีพื้นที่ประมาณซีกหนึ่งของภูเขา โดยน้ำที่ใช้ปลูกข้าวมาจากน้ำฝนเพียงปีละครั้ง ช่วงเวลาลงมือปลูกประมาณเดือนมิถุนายน แล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนพฤศจิกายน หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จึงมีการตระเตรียมดินเพื่อปลูกกระเทียมต่อไป

พระอติเทพ ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมการขายข้าวดอย ด้วยการเพิ่งเริ่มเปิดตลาดขายเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นการให้จองผลผลิตล่วงหน้าผ่านช่องทางขายออนไลน์ตั้งแต่เริ่มปลูก แล้วมีการติดป้ายชื่อผู้จองไว้ที่แปลง ทั้งนี้ ผู้จองสามารถสอบถามความเคลื่อนไหวของผู้ปลูกได้ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงช่วงเก็บผลผลิต หรือหากสนใจต้องการมาเยี่ยมชมแปลงปลูกได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ได้กำหนดราคาขายส่งข้าวดอย กิโลกรัมละ 60 บาท

สำหรับ กระเทียม เป็นพืชอาชีพหลักอยู่แล้ว ชาวเขาปลูกกระเทียมโดยไม่ต้องมีค่าเช่าที่ดิน มีน้ำฟรีจากแหล่งต้นน้ำทางธรรมชาติบนภูเขา จึงช่วยให้ลดต้นทุนได้มาก อีกทั้งคุณภาพกระเทียมดีมาก เพราะคุณภาพดินดี อากาศดี ดังนั้น จึงพยายามผลักดันการตลาดให้ชาวบ้านขายกระเทียมให้ได้มาก

วิธีการส่งเสริมการปลูกกระเทียมยังคงใช้แนวทางรูปแบบตามวิถีดั้งเดิมด้วยการยืมพันธุ์จากชาวบ้านระหว่างกัน ซึ่งรายใดยืมจำนวนเท่าไร เมื่อปลูกเสร็จแล้วก็นำมาคืนเท่ากับจำนวนที่ยืมไป ซึ่งแนวทางนี้ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องใช้เงินลงทุน แต่ใช้วิธียืมพันธุ์แทน แล้วจะยืมกันต่อๆ ไป ขณะเดียวกันชาวบ้านก็จะทยอยเก็บรักษาพันธุ์ไว้ปลูกในคราวต่อไป หรือพันธุ์กระเทียมที่เก็บไว้อาจแบ่งให้ชาวบ้านรายอื่นยืมไปใช้ก่อน ดังนั้น แนวทางนี้จึงถือเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนโดยที่ไม่มีการเอาเปรียบกัน แล้วคิดว่าในปี 2561 คาดว่าจะมีปริมาณกระเทียมถึง 300 ตัน อย่างแน่นอน

กระเทียมที่ชาวบ้านปลูกจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยคอก แล้วไม่มีความจำเป็นต้องใส่มาก เพราะเป็นดินดำที่มีคุณภาพดีอยู่แล้ว อีกทั้งการที่มีอากาศเย็นจะช่วยทำให้กระเทียมมีเนื้อแน่น ทั้งนี้ พันธุ์กระเทียมจะต้องไม่ปลูกซ้ำที่เดิมเนื่องจากการปลูกพันธุ์เดิมซ้ำๆ จะทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพลงเรื่อยๆ โดยชาวบ้านจะใช้วิธีนำพันธุ์ที่ตัวเองปลูกไปแลกเปลี่ยนพันธุ์ของเพื่อนบ้าน

วิธีปลูกกระเทียม เริ่มจากชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านต่างต้องมาช่วยกันปอกกระเทียมที่จะใช้ปลูก ในแบบ “เอาแรงกัน” โดยจะต้องปอกด้วยมือเท่านั้น ไม่สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยได้ เพราะถ้ามีกระเทียมที่ปอกแล้วจำนวนมากก็จะส่งผลเสีย เนื่องจากปลูกไม่ทัน อย่างไรก็ตาม วิถีปลูกกระเทียมของชาวเขาก็จะมีการช่วยเหลือกันทุกบ้าน จึงเป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดกับชุมชน

กระเทียม จะรดน้ำทุก 7 วัน โดยแต่ละคราวต้องรดให้ชุ่มแล้วใช้ฟางข้าวที่เกี่ยวมาคลุมหน้าดินเพื่อรักษาความชื้น ทั้งนี้แนวทางปลูกกระเทียมของชาวเขารุ่นใหม่ จะมีการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยรองพื้นก่อน ต่างกับสมัยก่อนที่ไม่เคยนำมาใช้ จากนั้นจะใช้การฉีดพ่นด้วยสารอินทรีย์เพื่อป้องกันเชื้อราและโรคเน่า

สำหรับผลผลิตกระเทียมได้ขายไปถึง 2 รอบแล้ว มีกระเทียมขายอยู่สองแบบ คือ แบบสด กับตากแห้ง ในปี 2560 มีปริมาณผลผลิตกระเทียมสด 100 ตัน ราคาขายกิโลกรัมละ 25 บาท ดังนั้น ด้วยราคารับซื้อสูงที่จูงใจจึงทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกเพิ่มในปี 2561

ส่วนกระเทียมตากแห้ง ขายกิโลกรัมละ 120 บาท แต่เนื่องจากชาวบ้านมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ตากกระเทียม หากตากใต้ถุนบ้านก็จะได้รับความชื้นเป็นเชื้อรา ดังนั้น ชาวบ้านมักนิยมขายเป็นกระเทียมสดทันทีที่ถอนจากไร่ เพราะถ้ารอตากแห้งขายราคาจะไม่สูง อีกทั้งมีกระเทียมจากพม่าส่งเข้ามาขายด้วย ซึ่งความเป็นจริงแล้วราคากระเทียมแห้งจะดีกว่ากระเทียมสดหลายเท่า เพียงแต่ต้องรอเวลา ดังนั้น ในตอนนี้จึงหารือกันว่าจะหาพื้นที่เหมาะสมสำหรับสร้างเป็นโรงตากกระเทียมแห้ง เพื่อให้ชาวบ้านได้แบ่งกระเทียมมาตาก

ความได้เปรียบจากอุณหภูมิที่มีความหนาวเย็นเกือบทั้งปีของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเอื้อต่อการปลูกไม้เมืองหนาวได้หลายชนิด ด้วยเหตุนี้ พระอติเทพจึงทดลองปลูกข้าวโพด พันธุ์ Pure White Hokkaido เป็นพันธุ์ข้าวโพดของญี่ปุ่นจนประสบผลสำเร็จ แต่ยังไม่สามารถส่งเสริมได้ เพราะต้นทุนค่าพันธุ์สูง ปลูกได้เพียงปีละครั้ง จึงยังไม่สมควรจะเสี่ยง ทั้งนี้ หากจะส่งเสริมจริงต้องวางแผนปลูกให้ได้จำนวนมากตามที่ตลาดต้องการ นอกจากนั้น ยังปลูกลาเวนเดอร์ และไม้ดอกเมืองหนาวอีกหลายชนิด ขณะเดียวกัน ยังวางแผนต่อยอดด้วยการปลูกพืชใบ ผักสวนครัว และสมุนไพร

ลักษณะพื้นที่ทำเกษตรกรรมที่มีความลาดเอียง

พระอติเทพ บอกว่า การทำเกษตรกรรมของชาวเขาบนที่สูงเปลี่ยนไปแล้ว การค้าขายผลผลิตเกษตรในยุคใหม่ทำให้ชาวเขาต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่เคยปลูกไว้เฉพาะรับประทานในครอบครัว มาเป็นการวางแผนปลูกเพื่อจำหน่าย เนื่องจากราคาขายผลผลิตพืชผลทางการเกษตรทุกชนิดพร้อมกับความเชื่อมั่นใจว่ามีตลาดรองรับแน่นอนเป็นสิ่งจูงใจให้พวกเขาตื่นตัว ฉะนั้น สิ่งนี้จึงทำให้ชาวบ้านต้องหมั่นฝึกคิดทั้งวิธีปลูกที่สร้างคุณภาพเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจ

กระเทียมถูกจองแล้ว

“สิ่งที่อาตมาทำอยู่ตอนนี้เพื่อต้องการส่งเสริม แล้วมุ่งเน้นย้ำให้ชาวบ้านทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการใช้บริโภคก่อน เมื่อมีเหลือจึงนำไปขาย อีกทั้งยังแนะนำให้ปลูกพืชหลายชนิด ไม่ควรปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เสี่ยงต่อความเสียหาย

ขณะเดียวกัน พยายามชี้ให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์วิถีการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนพันธุ์ การช่วยเหลือกันในชุมชนหรือการเอาแรง เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยหลอมความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชนไว้ให้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เพราะมาจากความรัก ความสามัคคี เพราะไม่ต้องการให้สังคมยุคใหม่กลืนวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวเขาไป” พระอติเทพ กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พระอติเทพ จิตตฺมโน โทรศัพท์ (064) 834-5282