“หัวไชเท้า” ผักกาดหัว พืชสร้างรายได้ที่ปากช่อง ปลูกขายทั้งปี วันละ 5-6 ตัน

“หัวไชเท้า” หรือ “ผักกาดหัว” เป็นชื่อของพืชล้มลุกขนาดเล็ก ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน มีลักษณะเป็นทรงกลมหรือทรงกระบอก ขนาดค่อนข้างอวบ ทั้งยังมีเนื้อในที่แน่นและฉ่ำน้ำด้วย โดยจะมีทั้งสีขาว สีม่วง สีชมพู และสีแดง ซึ่งสีและขนาดนั้นก็จะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ นอกจากนี้ หัวไชเท้า ยังนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแกงจืดหัวไชเท้า หัวไชเท้านึ่ง ต้มจับฉ่าย ขนมผักกาด และเมนูอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นผักที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเลยทีเดียว

นอกจากจะนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนูแล้ว หัวไชเท้ายังถือเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยมีส่วนช่วยในการล้างพิษ เนื่องจากเป็นยาขับปัสสาวะตามธรรมชาติ จึงสามารถขับพาไขมันออกจากร่างกาย ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง แก้อาการท้องผูก ท้องร่วง มีส่วนช่วยในการละลายเสมหะ กระตุ้นน้ำย่อยและขยายหลอดเลือด ทั้งยังสามารถใช้เพื่อรักษาฝ้าและลดเลือนริ้วรอยได้อีกด้วย

คุณอภิสิทธิ์ ญาณประสิทธิ์เวทย์ มีสวนอยู่ที่บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 7 ตำบลขนงพระ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ปลูกหัวไชเท้าเพื่อส่งขาย บนพื้นที่กว่า 76 ไร่ โดยสามารถส่งผลผลิตออกขายได้วันละ 5-6 ตัน เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่ได้รับผลตอบรับและสร้างรายได้ให้กับคุณอภิสิทธิ์เป็นอย่างดี เจ้าของปลูกหมุนเวียนทุกวัน วันละ 1-2 ไร่ บนพื้นที่กว่า 70 ไร่ ทำให้มีผลผลิตเก็บขายทุกวัน

จากการปลูกผักกินใบ สู่สวนหัวไชเท้า ระดับอุตสาหกรรม

คุณอภิสิทธิ์ เล่าถึงการทำสวนว่า เริ่มทำสวนมาตั้งแต่ปี 2546 โดยในระยะแรกจะเน้นการปลูกพืชประเภทผักกินใบ อย่าง กะหล่ำดอก และผักสลัด โดยจะปลูกหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะหันมาเริ่มต้นทำสวนหัวไชเท้า บนพื้นที่กว่า 76 ไร่ เพื่อส่งขายอย่างเต็มตัว ส่วนผลผลิตที่เก็บได้นั้น โดยปกติจะสามารถส่งขายได้ในราคาประมาณ กิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งทางสวนสามารถส่งออกขายได้ วันละ 5-6 ตัน เลยทีเดียว

อย่างที่ทราบดีว่า หัวไชเท้านั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มยุโรป ที่มีลักษณะเด่นคือ รากขนาดเล็ก เนื้อภายในที่มีทั้งสีขาวและสีแดง นิยมปลูกและบริโภคในแถบยุโรปและอเมริกา มีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวเพียง 18-25 วัน และหัวไชเท้ากลุ่มเอเชียที่มีจุดเด่นที่เนื้อสีขาวและระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ยาวนาน 40-65 วัน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย ก็มีทั้ง พันธุ์แม่โจ้ 1 พันธุ์ เคยู 1 นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ซากาตา และเอฟเวอเรส ไฮบริด อีกด้วย

“สำหรับหัวไชเท้าที่สวนเลือกปลูกคือ พันธุ์เอฟเวอเรส ไฮบริด เนื่องจากถือเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้สายพันธุ์อื่นๆ ทั้งยังมีจุดเด่นที่ขนาดของหัวที่โตสม่ำเสมอ โดยจะมีความยาว 30-35 เซนติเมตร และมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวนานถึง 50 วัน หลังจากหยอดเมล็ด ทำให้สามารถเก็บผลผลิตส่งขายได้นานกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งจะมีระยะเวลาในการเก็บผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 42-45 วัน จึงถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งผลผลิตออกขายได้เป็นอย่างดี” เจ้าของบอก

ขั้นตอนการเตรียมดินและการดูแลหลังปลูก

สำหรับการปลูกและการดูแลนั้น การเตรียมดินและแปลงก็ถือเป็นขั้นตอนแรกที่ต้องให้ความสำคัญ โดยในส่วนของแปลงนั้นจะต้องขุดเอาไว้ ประมาณ 4 เมตร เพื่อให้ง่ายต่อการนำเมล็ดลงปลูก ส่วนระหว่างการเตรียมดินก็จะมีการใช้ปุ๋ย โดยจะใช้ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งตอนนี้เลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์เบกรีน ซึ่งหลังจากที่เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยชนิดนี้ก็พบว่าผลผลิตที่ได้มีปริมาณและคุณภาพที่ดีขึ้น ส่วนการปลูกนั้น ที่สวนเลือกใช้วิธีการหยอด โดยจะหยอด 1 เมล็ด ต่อ 1 จุด และต้องเว้นระยะห่างระหว่างต้น ประมาณ 20×20 เซนติเมตร ซึ่งจะมีการนำตะแกรงเหล็กที่วัดระยะห่างเอาไว้แล้ว มาใช้ในขั้นตอนการหยอดเมล็ดด้วย เพื่อให้ได้ระยะห่างที่แน่นอน นอกจากนี้ เรื่องของการให้น้ำก็ถือเป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน โดยจะให้น้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์วางขนาบไปด้านข้างทั้งสองด้านยาวไปตลอดทั้งแปลง เพื่อให้หัวไชเท้าได้รับน้ำในปริมาณที่เหมาะสม

“หลังจากที่หยอดเมล็ดลงดินแล้ว ก็ต้องคลุมฟางเพื่อรักษาความชื้นในดินด้วย โดยความหนาของฟางที่คลุมนั้นก็จะแตกต่างกันตามสภาพอากาศและฤดูกาล คือถ้าอากาศหนาว ก็ไม่ต้องคลุมฟางหนามากนัก เนื่องจากอากาศมีความชื้นที่สูงอยู่แล้ว และหลังจากคลุมฟางทิ้งเอาไว้ประมาณ 3 วัน หัวไชเท้าก็จะเริ่มงอก ซึ่งเมื่องอกแล้วก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากมีโอกาสรอดสูงถึง 90% หลังจากที่งอกแล้วก็ดูแลและให้น้ำตามปกติ ส่วนปุ๋ยที่ให้ก็จะเปลี่ยนมาให้เป็นปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ และในช่วงอายุ 25-28 วัน จะเน้นการให้ปุ๋ยด้วยวิธีการหว่านแทน โดยจะใช้ในปริมาณ 50 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ สำหรับเรื่องของโรคและแมลงที่พบส่วนมากก็จะเป็นหมัดกระโดด ซึ่งก็จะใช้วิธีการกำจัดด้วยสารเคมีทั่วไป จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหามากนัก” เจ้าของเล่าถึงการดูแล

“เบกรีน” ปุ๋ยอินทรีย์รูปแบบใหม่ใช้ง่าย-เพิ่มผลผลิต

คุณกรกช เกิดทอง ผู้แทนขายปุ๋ยอินทรีย์เบกรีน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มเติมว่า ปุ๋ยอินทรีย์เบกรีนนั้นเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งมีส่วนผสมสำคัญคือ มูลไก่ มูลสุกร กระดูกไก่ กระดูกหมู ทั้งยังมีส่วนผสมของตะกอนลิ่มเลือดที่มีส่วนช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชอีก นอกจากนี้ ในปัจจุบันเกษตรกรหลายรายก็เริ่มสนใจและหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เบกรีนเป็นจำนวนมากอีกด้วย

สำหรับการใช้งานปุ๋ยเบกรีนนั้นจะสะดวกกว่าการใช้ปุ๋ยคอก เนื่องจากไม่มีกลิ่น ไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อรา และสามารถใช้ได้กับทั้งพืชและผลไม้ ทั้งยังปลอดสารและปลอดเชื้อโรค ช่วยในเรื่องการบำรุง-เพิ่มแร่ธาตุในดินด้วย นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยให้พืชสามารถดูดซึมอาหารได้ง่ายขึ้นอีก

 “หัวไชเท้า” สร้างรายได้ ปลูกส่งขายตลอดปี

ในส่วนของผลผลิตนั้น ต้องยอมรับว่าสภาพอากาศถือเป็นปัจจัยสำคัญในการให้ผลผลิตของหัวไชเท้า ทำให้ระยะเวลาที่เหมาะสมในการปลูกจึงเป็นช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แต่เนื่องจากหัวไชเท้านั้นสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และแม้ว่าปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่อาจจะไม่เท่ากับการปลูกในช่วงเดือนที่มีสภาพอากาศเหมาะสม แต่ก็ถือว่ายังคงให้ผลผลิตดีพอสมควร สำหรับการเก็บผลผลิตเพื่อส่งขายนั้น จะเริ่มเก็บหลังจากที่นำเมล็ดลงปลูกได้ประมาณ 50 วัน

ซึ่งก่อนที่จะนำหัวไชเท้าส่งขายนั้น จะต้องนำมาผ่านขั้นตอนการทำความสะอาดที่บ่อล้างก่อน โดยจะใช้น้ำที่ปั๊มขึ้นมาและปล่อยให้น้ำไหลอยู่ตลอดเวลา นอกจากการทำความสะอาดแล้ว การคัดไซซ์ก็ถือเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งจะมีวิธีการคัดโดยการแบ่งขนาดของหัวไชเท้า โดย เบอร์ 1 จะมีขนาด ประมาณ 10-12 นิ้ว เบอร์ 2 ขนาด 8-10 นิ้ว และ เบอร์ 3 ขนาดจะอยู่ที่ 5-6 นิ้ว ซึ่งราคาที่ขายก็จะแตกต่างกันไปตามขนาด และหลังจากคัดไซซ์แล้วจะต้องนำหัวไชเท้าไปผึ่งหรือตากให้แห้ง ก่อนจะบรรจุใส่ถุงพลาสติก ถุงละ 10 กิโลกรัม เพื่อเตรียมส่งขายที่ตลาดสี่มุมเมือง

“ราคาของผลผลิตก็จะขึ้นและลงตามราคาของตลาดกลางเป็นหลัก ซึ่งเรื่องของราคาก็ต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยากที่สุดของเกษตรกร เพราะไม่สามารถควบคุมราคาได้ สำหรับราคาตอนนี้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 10 บาท ถือว่าเป็นราคามาตรฐาน แต่ในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือหน้าแล้งจะเป็นช่วงที่สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงมาก เนื่องจากมีผลผลิตน้อย ทำให้ราคาจะพุ่งสูงได้ถึง 30 บาท เลยทีเดียว”

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม ซื้อผลผลิต หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ คุณอภิสิทธิ์ ญาณประสิทธิ์เวทย์ และ คุณกรกช เกิดทอง หมายเลขโทรศัพท์ (087) 677-1573

ติดตามข่าวสารการเกษตรได้ที่ : นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน https://www.technologychaoban.com