เลี้ยงปลากะพงในน้ำจืด อาชีพทำเงินของนรินทร์ศักดิ์ พัวตระกูล ที่นครสวรรค์

ปลากะพงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lates calcarifer ชื่อสามัญเรียกว่า Giant Bass เป็นปลาที่อยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ปลาชนิดนี้เลี้ยงกันแพร่หลายในเขตจังหวัดชายทะเลของไทย เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว เนื้อปลามีรสชาติดี และสามารถจำหน่ายได้ราคา

จึงนับเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ดีไม่แพ้ปลาน้ำจืดชนิดอื่น นอกจากจะเลี้ยงเพื่อบริโภคภายในประเทศแล้วยังส่งจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย นอกจากมีการเลี้ยงเพื่อการค้าแล้วยังสามารถพบปลาชนิดนี้ตามธรรมชาติแถบชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำใหญ่ๆ ที่มีทางออกติดต่อกับทะเล เช่น จังหวัดตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ เป็นต้น

ด้วยคุณสมบัติพิเศษของปลากะพงที่อยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย ทำให้มีผู้ที่สนใจนำไปเลี้ยงแบบปลาตามธรรมชาติที่บ่อในบริเวณบ้านมากขึ้น เมื่อปลามีขนาดใหญ่ก็สามารถจับจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

คุณนรินทร์ศักดิ์ พัวตระกูล อยู่บ้านเลขที่ 11/3 หมู่ 6 ตำบลพันลาน อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาที่มากด้วยประสบการณ์ โดยที่เขาเห็นถึงช่องทางการทำตลาด จึงได้นำปลากะพงมาเลี้ยงภายในฟาร์ม จึงทำให้สามารถจำหน่ายได้ราคา เพราะสามารถกำหนดในเรื่องต้นทุนได้ ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

ทำอาชีพประมง จากรุ่นสู่รุ่น

คุณนรินทร์ศักดิ์เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวมีอาชีพทำการประมงมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ โดยท่านเป็นผู้ริเริ่มทางสายงานนี้ให้กับครอบครัว เมื่อเขาได้เห็นหลายๆ สิ่งตั้งแต่ยังเป็นเด็ก อาชีพทางประมงจึงเป็นอาชีพที่อยู่ในสายเลือด ทำให้ตัดสินใจเรียนต่อทางด้านการประมงโดยเฉพาะ เพื่อจะได้นำวิชาความรู้มาพัฒนาธุรกิจของครอบครัวต่อไป

“ผมจบเกี่ยวกับการประมงที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้รับความรู้มากมายมาปรับใช้ ในสิ่งที่เราคิดและสงสัยในตอนที่เราเป็นเด็ก ที่มันคาอยู่ในใจ ก็ได้นำความรู้ที่เรียนมาทดลองในสิ่งที่สงสัย จนทำให้เรากระจ่างในเรื่องอื่นๆ เพราะช่วงนั้นที่บ้านก็เพาะพันธุ์ปลาสวายและก็ปลาอื่นๆ อีกหลายชนิด พอผมมาทำเองก็จะเน้นไปที่ปลากะพงส่วนใหญ่ โดยนำมาปรับเลี้ยงในน้ำจืดภายในกระชังในแม่น้ำ ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จและสร้างรายได้ค่อนข้างดี” คุณนรินทร์ศักดิ์เล่าถึงที่มา

เหตุที่เน้นเลี้ยงปลากะพงในพื้นที่นี้ คุณนรินทร์ศักดิ์ให้เหตุผลว่า ถ้าจะไปรับปลาจากทางแหล่งอื่นมาจำหน่ายในพื้นที่นี้ก็จะทำให้ต้นทุนสูง เพราะแหล่งอื่นจะอยู่ไกลจากตัวจังหวัดนครสวรรค์ออกไป แต่ถ้าสามารถนำมาปรับเลี้ยงภายในฟาร์มของเขาได้ ก็จะทำให้การจำหน่ายสามารถทำผลกำไรได้เป็นอย่างดี

เลี้ยงปลากะพง ใช้เวลา 4-5 เดือน

ในขั้นตอนแรกของการเลี้ยงปลากะพงให้มีขนาดที่ตลาดต้องการนั้น คุณนรินทร์ศักดิ์บอกว่า ต้องเตรียมบ่อให้มีความพร้อมในการเลี้ยงเสียก่อน โดยการทำความสะอาดบ่อ จากนั้นโรยด้วยปูนขาว พร้อมทั้งตากบ่อทิ้งไว้สักระยะ ซึ่งบ่อที่มีขนาดเล็กจะใช้สำหรับเป็นบ่ออนุบาลลูกปลากะพง ส่วนบ่อที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 2-3 ไร่ จะใช้เลี้ยงปลาที่อนุบาลจนมีขนาดที่ต้องการ เพื่อสร้างเป็นปลาไซซ์ขนาดใหญ่ต่อไป

ซึ่งแต่ละบ่อจะปล่อยปลากะพงเลี้ยงอยู่ที่ 5,000 ตัวต่อไร่ และบางส่วนจะนำไปเลี้ยงในกระชัง ในขั้นตอนของการเลี้ยง คุณนรินทร์ศักดิ์บอกว่า จะนำลูกปลากะพงจากแหล่งเพาะที่รับซื้อมาปรับให้อยู่สภาพน้ำจืดภายในฟาร์มให้คุ้นชิน เพื่อให้ปลาที่เลี้ยงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของฟาร์ม

“ปลากะพงที่นำมาอนุบาลก็จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง อาหารที่ให้กินก็เป็นตามสูตรของการเลี้ยงปลากะพงเลย พอครบกำหนดก็จะย้ายไปเลี้ยงลงในบ่อที่มีขนาดใหญ่ตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ ซึ่งอาหารที่ให้ปลากะพงกินเป็นอาหารเม็ดที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 40-45 โดยใช้เวลาเลี้ยงอยู่ที่ 4-5 เดือน ก็จะจับขายได้” คุณนรินทร์ศักดิ์บอก

ในเรื่องของโรคที่จะเกิดขึ้นกับปลากะพงที่เลี้ยง คุณนรินทร์ศักดิ์บอกว่า จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลง จนทำให้ในบางช่วงจะมีโรคที่เกิดกับปลาได้ แต่เขาจะมีหลักการป้องกันด้วยการปรับสภาพแวดล้อมภายในฟาร์มให้ดี มีความเหมาะสม ก็จะช่วยให้ไม่กังวลในเรื่องของการเกิดโรค

คุณนรินทร์ศักดิ์เสริมในเรื่องของโรคปลาให้ฟังอีกว่า การที่จะเกิดโรคขึ้นในปลาได้นั้นจะต้องมีสาเหตุถึง 3 อย่าง ที่จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ปลาที่เลี้ยงเกิดโรคและตายจนเกิดความเสียหาย แต่ถ้าป้องกันในเรื่องของสภาพแวดล้อมได้ ปลามีความแข็งแรง เชื้อซึ่งเป็นสาเหตุโรคไม่เจริญเติบโตภายในบ่อ ถ้าควบคุมอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ก็จะทำให้ปลาสามารถเจริญเติบโตได้ดี แต่ถ้าทั้ง 3 อย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน ก็จะส่งผลต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เน้นปลาเป็นไซซ์ขนาดขึ้นโต๊ะอาหาร

ในเรื่องของการทำการตลาดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องกังวลสำหรับเขา เพราะฐานลูกค้าเดิมค่อนข้างมีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ และยิ่งฟาร์มของเขาสามารถเลี้ยงปลากะพงอยู่ในพื้นที่นี้ จึงสามารถส่งขึ้นไปจำหน่ายยังภาคเหนือได้ ทำให้การขนส่งและราคาต้นทุนสามารถทำการตลาดเพื่อสร้างผลกำไรได้ และยิ่งเนื้อของปลากะพงเมื่อนำมาประกอบอาหาร รสชาติที่ได้ก็ไม่แตกต่างกับปลาที่เลี้ยงในน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม จึงเป็นที่ต้องการของลูกค้าอย่างกว้างขวาง

“ไซซ์ปลากะพงที่ตลาดต้องการ ที่ฟาร์มของผมก็มีขนาดตั้งแต่ 600 กรัม ไปจนถึง 1.2 กิโลกรัม เพราะไซซ์จะเน้นเป็นขนาดเสิร์ฟเป็นปลาจานขึ้นโต๊ะอาหาร โดยราคาหน้าร้านขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 180 บาท แต่ถ้าเป็นร้านอาหารติดต่อซื้อ ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 165 บาท ส่วนปลาสวายก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท รวมทั้งมีลูกปลาที่เพาะเองขายให้กับเกษตรกรที่สนใจนำไปเลี้ยงต่อด้วย” คุณนรินทร์ศักดิ์บอกถึงเรื่องการตลาด

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงปลากะพงเป็นอาชีพ คุณนรินทร์ศักดิ์แนะนำว่า ควรศึกษาวิธีการเลี้ยงให้ถูกต้อง ปลากะพงหรือปลาชนิดอื่นๆ เป็นสิ่งมีชีวิต หากมีความสนใจที่จะทำประมงในสาขาไหนๆ การศึกษาอุปนิสัยของสัตว์น้ำชนิดนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้ามีความพร้อมในทุกด้าน การเลี้ยงปลาก็จะประสบผลสำเร็จได้ ซึ่งฟาร์มของเขาเองก็ผลิตลูกพันธุ์ปลาจำหน่ายด้วย ถ้ามีเกษตรกรหน้าใหม่สนใจติดต่อขอซื้อ เมื่อได้พูดคุยแล้วรู้สึกว่าสถานที่แห่งนั้นไม่มีความเหมาะสม เขาก็จะไม่แนะนำให้เลี้ยง เพราะทุกอย่างมีการลงทุน หากลงทุนแล้วต้องได้ผลกำไรกลับคืนมาด้วย

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากปรึกษาขอคำแนะนำในเรื่องของการเลี้ยงปลากะพง ตลอดจนถึงการหาซื้อลูกพันธุ์ปลา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่คุณนรินทร์ศักดิ์ พัวตระกูล หมายเลขโทรศัพท์ 08-1 785-6639

ข้อมูล : เทคโนโลยีการประมง : สุรเดช สดคมขำ //อัพเดตความก้าวหน้าทางด้านเกษตรได้ทุกวัน
ที่  https://www.technologychaoban.com