ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
โดย เดชา วิวัฒน์วิทยา
คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ E:mail [email protected]
การเลี้ยงมดแดง ฉบับย่อ
แนวทางการเลี้ยงมดแดงทั่วไป มีหลักสำคัญอยู่ 6 ขั้นตอน ดังนี้
1. การเตรียมพื้นที่
1.1 พื้นที่ต้องเปิดโล่ง แสงแดดส่องถึงพื้นดินทั่วพื้นที่เลี้ยงมดแดง
1.2 สภาพพื้นที่ทั่วไปต้องไม่ร่มทึบเด็ดขาด รวมถึงพื้นล่างต้องไม่รกทึบด้วยเช่นกัน
1.3 ต้องทำลายศัตรูธรรมชาติของมดแดง เช่น มดชนิดอื่นๆ พร้อมทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของมด โดยเฉพาะกิ่งไม้แห้งต่างๆ ต้องตัดออก
- ต้นไม้
2.1 เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูงไม่เกิน 5-6 เมตร
2.2 ใบไม่เล็กหรือใหญ่มากไป
2.3 เนื้อใบเรียบและอ่อน ง่ายแก่การดึงและสร้างรัง ไม่หยาบ ไม่มีขนปกคลุม หรือไม่แข็งกระด้าง
2.4 ภายในเรือนยอดโล่ง โปร่ง แสงแดดส่องทะลุถึงพื้นดิน
2.5 ระหว่างเรือนยอดต้องแยกห่างกัน 50 เซนติเมตร
2.6 ต้นไม้ที่เหมาะ เช่น มะม่วง ชมพู่ เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ หว้า จำปี เป็นต้น
- การตรวจสอบครอบครัวมดแดง
3.1 นำมดแดง 5-10 ตัว จากต้นไม้หนึ่งไปปล่อยอีกต้นไม้หนึ่งที่มีมดแดงอาศัย
3.2 ถ้ามดแดงกัดกัน แสดงว่าต่างครอบครัวกัน ต้องแยกกันพร้อมทำเครื่องหมายให้ชัดเจน เรือนยอดห้ามติดกัน
3.3 ถ้ามดแดงไม่กัดกัน แสดงว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน พร้อมทำเครื่องหมายให้ชัดเจน และเรือนยอดต้องไม่ติดกันด้วย
3.4 เชื่อมโยงครอบครัวเดียวกันโดยใช้เชือกขึงระหว่างต้นเพื่อให้มดแดงเดินไปมา
- การให้อาหารและน้ำ
4.1 ให้อาหารพวกเนื้อสด ไม่เน่าและไม่แห้ง ชิ้นอาหารควรมีขนาดเล็ก เช่น แมลง แมง กบ เขียด ปลา กุ้ง ไก่ หมู ฯลฯ วางตามง่ามลำต้นหรือแขวนตามลำต้น
4.2 ถ้ามดแดงมีมาก ให้อาหารมาก มดแดงมีน้อยให้อาหารน้อย
4.3 แขวนขวดน้ำ ขนาด 0.5-1 ลิตร ตามลำต้น ให้น้ำสะอาดและอย่าให้น้ำขาดโดยเด็ดขาด
- การดูแลต้นไม้และครอบครัวมดแดง
5.1 ต้องบำรุงต้นไม้ให้มีใบตลอดเวลา โดยการรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง และทำลายศัตรูต้นไม้อย่างสม่ำเสมอ
5.2 ทำลายศัตรูธรรมชาติของมดแดง เช่น มดชนิดอื่นๆ พร้อมทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น ตัดกิ่งไม้แห้ง
5.3 สภาพพื้นที่ต้องไม่ร่มทึบและพื้นล่างไม่รกทึบเสมอ
- การเก็บไข่มดแดง
6.1 เก็บไข่มดแดงต่อรังให้มากที่สุด
6.2 ควรเก็บรังมดแดงขนาดใหญ่เท่านั้น
6.3 ต้องไม่ทำลายราชินีมดแดง
6.4 ไม่ควรทำลายรังมดแดงทั้งรัง หรือทำให้รังเสียหายน้อยที่สุด
6.5 ควรเก็บเฉพาะไข่มดแดง ไม่ควรเก็บหรือทำลายมดแดง