องุ่น พืชเมืองหนาว เติบโตได้ดีในเขตร้อน

มนุษย์รู้จักและบริโภคองุ่นมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15,000 ปี องุ่น เป็นพันธุ์พืชป่าที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกาก่อนจะกระจายพันธุ์เข้าสู่ทวีป ยุโรป จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีการบ่งบอกว่ามีการปลูกองุ่นกันมามากกว่า 5,000 ปี

การปลูกองุ่นในเมืองไทย

สำหรับประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่านำเข้ามาในสมัยใด  แต่ในกฎมณเทียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา มีข้อความกล่าวถึง “ป้อมสวนองุ่น” จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะมีการนำพันธุ์องุ่นมาปลูกแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา  เมืองไทยเริ่มสนใจปลูกองุ่นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  อันเกิดแต่การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และทรงเสด็จเยี่ยมเยือนนานาชาติอยู่เสมอ จึงโปรดเกล้าให้นำ “ องุ่น ” หนึ่งในพันธุ์ไม้แปลกจากต่างประเทศที่ได้เสด็จประพาสมาปลูกในประเทศไทยด้วย

องุ่นเป็นพืชเมืองหนาว กว่าจะปลูกและพัฒนาพันธุ์ให้เหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทยซึ่งเป็นพื้นที่เขตร้อนได้ ต้องใช้เวลาทดลองปรับปรุงพันธุ์กันนานมาก ช่วงรัชกาลที่ 7  เมืองไทยเริ่มมีการปลูกองุ่นกันบ้าง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะผลองุ่นที่ได้มีรสเปรี้ยว ทำให้การปลูกองุ่นซบเซาลง  ปี พ.ศ. 2493 หลวงสมานวนกิจ ได้นำเข้าสายพันธุ์องุ่น จากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาเข้ามาปลูกองุ่นอย่างจริงจังแต่ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งปี พ.ศ.2497 ดร.พิศ ปัญญาลักษณ์ ได้นำพันธุ์องุ่น จากทวีปยุโรปเข้ามาปลูก เริ่มได้ผลผลิตคุณภาพดี สร้างแรงจูงใจให้เกิดการปลูกองุ่นกันแพร่หลายมากขึ้น

ในระยะแรก ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเศรษฐีมีทรัพย์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นิยมปลูกต้นองุ่นเพื่อใช้เป็นไม้ประดับเพิ่มความสวยงาม ดูความสวยงามเขียวขจีของใบและผล  เมื่อเกิด น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2475 และปัญหาโรคแมลงทำลาย ต้นองุ่นที่ปลูกในบ้านเรือนผู้มีอันจะกินก็ล้มตายสิ้น ทำให้การปลูกองุ่นในกรุงเทพฯ ขาดช่วงไปนาน

การปลูกองุ่นเพิ่มฟื้นฟูตัวกันใหม่ ในสมัยที่ ศาสตราจารย์ หลวงสมานวนกิจ ได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรฯ บางเขน เนื่องจากท่านมีนิสัยชอบปลูกต้นไม้ในบ้าน แต่เนื่องจากพื้นที่คับแคบ ท่านจึงเลือกปลูกองุ่นที่กินพื้นที่ไม่มาก ประมาณปี พ.ศ.2493 เพื่อนชาวอเมริกันผู้หนึ่ง ส่งพันธุ์องุ่นให้ท่านถึง 10 ชนิด นำมาเพาะรอดอยู่ถึง 9 ชนิด

ศาสตราจารย์ หลวงสมานวนกิจ ได้นำพันธุ์องุ่นที่บ้านไปมอบให้แผนกไม้ผลทดลองปลูกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ปรากฏว่าผลการทดลองได้ผลที่ดี ท่านจึงแต่งตำราว่าด้วยการปลูกองุ่น ที่ท่านสะสมประสบการณ์ดูแลนานถึง 10 ปี จนได้ข้อพิสูจน์ว่า องุ่นสามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่เขตร้อน หากมีการดูแลอย่างใกล้ชิด สามารถผลิตองุ่นเป็นพืชเศรษฐกิจได้ โดยใช้พื้นที่ปลูกแค่ 4-5 ไร่ก็เพียงพอ เพราะองุ่นเป็นพืชที่มีอายุยืนยาวถึง 30-40 ปี

องุ่นในเอเชียไมเนอร์มีมาก่อนยุโรป ต่อมาอาณาจักรโรมันเรืองอำนาจ แผ่อานุภาพไปไกล จึงนำพันธุ์องุ่นเอเชียไมเนอร์มาปลูกในยุโรป และประเทศบริวาร สมัยนั้นยุโรปทั้งบริโภคสด ทำเหล้าไวน์ และทำองุ่นแห้ง (ลูกเกด)

องุ่นดั้งเดิมบางชนิดของอเมริกา รสชาติสู้พันธุ์ยุโรปไม่ได้ ข้อดีขององุ่นพันธุ์อเมริกาคือ ลำต้นมีความทนทานสูง จึงนิยมใช้พันธุ์องุ่นอเมริกาเป็นต้นตอ ใช้ยอดพันธุ์ยุโรปที่ต้นอ่อนแอกว่ามาทาบ เพราะองุ่นพันธุ์อเมริกาใช้รากหาอาหารเก่ง และใช้องุ่นพันธุ์ยุโรปปรุงรสของผล ทำให้ผลองุ่นมีรสชาติหวาน อร่อย เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง

ปลูกองุ่นในไทยได้ผลผลิตปีละหลายรุ่น

องุ่น เป็นพืชเมืองหนาว ให้ผลผลิตปีละครั้ง  เมื่อปลูกในพื้นที่เมืองหนาว ย่อมให้ผลผลิตคุณภาพดี อร่อยชาติอร่อยกว่าปลูกในเขตร้อนหรือเขตอบอุ่น แต่เรื่องเหลือเชื่อคือ เมื่อนำมาปลูกในเมืองไทย ซึ่งเป็นประเทศเขตร้อน กลับให้ผลผลิต มากกว่าหนึ่งครั้ง ต่อปี และสามารถบังคับให้ผลสุกช่วงเวลาไหนก็ได้ หากมีการดูแลรักษาอย่างดีแล้ว ต้นองุ่นที่ปลูกในไทยยังให้ผลผลิตคุณภาพดีไม่แพ้องุ่นของต่างประเทศเช่นกัน

ธรรมชาติของพันธุ์องุ่น

ข้อแตกต่าง ระหว่างองุ่นเขตหนาวกับเขตร้อนคือ เขตหนาว เป็นพืชผลัดใบ จะผลัดใบในฤดูใบไม้ร่วง พักตัวในฤดูหนาว ไปแตกตาแตกใบในฤดูใบไม้ผลิ และเติบโตจนผลแก่ในหน้าร้อน ส่วนองุ่นเขตร้อน ใบจะเขียวทั้งปี ไม่พักตัวตามธรรมชาติ ต้องตัดแต่งให้พักตัว และแตกตาแตกใบ โดยธรรมดาจะหวานอร่อยสู้เขตหนาวไม่ได้ เว้นแต่จะดูแลเป็นอย่างดี

สายพันธุ์องุ่น

สายพันธุ์องุ่นที่นิยมปลูกทั่วไป แบ่งได้เป็น   3 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. พันธุ์ยุโรป และเอเชียไมเนอร์ เป็นองุ่นที่รู้จักก่อนยุคประวัติศาสตร์ ใช้บริโภคสด ทำไวน์ และลูกเกด เป็นพันธุ์ผลดก ช่อผลใหญ่ ผลก็ใหญ่ เมล็ดในน้อย ไม่แข็ง รสหวานมากกว่าเปรี้ยว
  2. องุ่นพันธุ์พื้นเมืองอเมริกา เป็นพันธุ์ป่ามาแต่เดิม ใช้บริโภคไม่ได้หลายชนิด คุณภาพสู้ของยุโรปไม่ได้ ช่อผลเล็ก ผลก็เล็ก รสอมเปรี้ยว เมล็ดในแข็ง ส่วนดีคือ ใช้ลำต้นทาบด้วยพันธุ์ยุโรป
  3. องุ่นพันธุ์ลูกผสม ส่วนมากเป็นพันธุ์ผสมในหมู่พันธุ์ยุโรปด้วยกัน มีปลูกกันแพร่หลาย เพราะรสหวานอร่อย มีทั้งลูกผสม ที่ผสมระหว่างพันธุ์ยุโรปและอเมริกา ที่ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ผสม จึงเรียกว่า ลูกผสมฝรั่งเศส และลูกผสมอเมริกา ที่ผสมระหว่างพันธุ์ยุโรปกับพันธุ์อเมริกา มีชาวอเมริกันทำการผสม

การปลูก

องุ่น ชอบพื้นที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง แดดจัด และความชื้นอากาศต่ำ ในสภาพอุณหภูมิเช่นนี้ ผลจะให้คุณภาพหวานอร่อย ถ้าความชื้นสูงมักมีโรคแมลง ต้องลงทุนป้องกันและกำจัดสูง ว่าไปเมืองไทยไม่เหมาะในการปลูก เนื่องจากมีฝนชุก ต้องดูแลรักษากันมากดังกล่าวแต่ต้น ส่วนดินนั้นองุ่นชอบดินเหนียว อาจเป็นนาข้าวหรือสวนผลไม้ชนิดอื่น การปลูกที่ดีควรยกร่อง เพื่อให้เกิดน้ำเข้าออกคล่อง ทำให้ถ่ายเทอากาศบนดินสะดวก ที่ดินดอนหรือดินทรายก็ปลูกได้ แต่ต้องเป็นดินสมบูรณ์ บนไหล่เขา ต้องลงรากลึกถึง 2 ฟุต และไม่ควรเป็นดินดาน

การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์องุ่น มีทั้งเพาะเมล็ด ทาบกิ่ง ตอน ปักชำ ติดตา และต่อกิ่ง ส่วนการปลูก มีทั้งยกร่อง และปลูกในที่ดอน ทั้งสองแบบต้องขุดหลุม เมื่อองุ่นอายุครบปีควรขึ้นค้าง ทำค้างเป็นเสาคู่ ถ้าใช้เสาซีเมนต์ค่าใช้จ่ายสูงแต่ได้ความทนทาน ถ้าค้างไม้ ต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง ในแปลงหนึ่งใช้เสาเพียง 3 คู่ มีมากไปก็สิ้นเปลือง ปักหัวแปลง กลางแปลง และท้ายแปลง จากนั้นก็ขึงด้วยเส้นลวดแข็ง และใช้ไผ่รวกค้ำคานหรือเสา และค้ำเส้นลวดให้มั่นคงตึงตัว

การดูแลรักษา

องุ่นเมื่อเติบโตแล้ว ต้องตัดแต่งกิ่ง ไม่เช่นนั้นจะไม่ออกดอกหรือออกดอกน้อย ผลจะไม่สมบูรณ์ อายุตัดแต่งกิ่งยังขึ้นกับพันธุ์ เช่น พันธุ์คาร์ดินาล ตัดแต่งเมื่ออายุ 9-10 เดือน ภายหลังนำลงแปลงจริง ส่วนพันธุ์ไวท์มะละกา ตัดแต่งเมื่ออายุ 11-12 เดือน หลังจากนำลงแปลงจริง การตัดแต่งกิ่งสั้นหรือยาว ก็แล้วแต่พันธุ์เช่นกัน พันธุ์คาร์ดินาล ตัดเหลือ 3-4 ตา พันธุ์ไวท์มะละกา เหลือ 5-6 ตา และพันธุ์ลูสเพอเรส เหลือ 7-12 ตา เป็นต้น

หลังตัดแต่งกิ่งแล้วยังต้องตกแต่งและจัดกิ่งต้นองุ่นอีก เพื่อเอากิ่งเล็กกิ่งน้อยออก เหลือแต่กิ่งที่มีช่อดอกและกิ่งใหญ่ที่มีใบ ใบโคนกิ่งก็เด็ดออกเพื่อให้ต้นโปร่ง ส่วนช่อดอกถ้ามีมาก ก็ต้องปลิดทิ้งบ้าง เพื่อลำต้นจะเลี้ยงได้ ด้านผลถ้าแน่นก็ต้องปลิด ป้องกันผลลีบเล็ก เวลาผู้ดูแลเข้าสวนต้องสวมหมวก ป้องกันเส้นผมโดนผล จะทำให้เกิดเน่าเสีย

การใช้ฮอร์โมนองุ่นควรทำสองครั้ง ครั้งแรก เมื่อดอกบาน 3-7 วัน ครั้งที่สอง หลังครั้งแรก 7 วัน ควรใช้ฮอร์โมนพ่นช่อดอกและผล แต่สิ้นเปลืองน้ำยา ทั้งโดนไม่ทั่วช่อดอกช่อผลด้วย ควรใช้วิธีชุบดอกและผล องุ่นเป็นต้นไม้ต่างแดนที่ต่างเขตภูมิอากาศ การปลูก และดูแลรักษาต้องจริงจัง

การเก็บเกี่ยว

การเก็บผลองุ่น เมื่อแก่แล้วเก็บเลย ไม่ต้องรอให้รสหวานขึ้น มันทั้งไม่สุกมากขึ้นและหวานมากขึ้นอีก เพียงไม่เก็บตอนแก่เกินไป ถ้าไม่แก่ดีก็จะเปรี้ยวและฝาด สีผลไม่สวย ถ้าแก่เกินไปผลจะเน่าเร็ว เก็บไว้ได้ไม่นาน จากวันตัดแต่งจนผลแก่ใช้เวลาราว 3 เดือน ก็เก็บได้ บางครั้งอาจต้องเก็บก่อนแก่บ้าง ถ้ากรณีจะมีฝนชุก ทำให้ผลแตกเสียหาย