เกษตรกรเผยสูตรอาหารเลี้ยงแพะ ใช้พืชใกล้ตัวปลูกง่าย ประหยัดต้นทุน – กำไรเพิ่ม ส่งเเพะขายที่ สปป.ลาว

นับวันตลาดความนิยมแพะดูเหมือนจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่เพียงนำมาใช้ในพิธีทางศาสนา แต่ด้านโภชนาการและอุตสาหกรรมแปรรูปหลายอย่างมีความนิยมใช้แพะมากขึ้น จึงทำให้อาชีพเลี้ยงแพะเกิดการตื่นตัวทันที

จังหวัดอำนาจเจริญมีแหล่งเลี้ยงแพะหลายแห่งทั้งขนาดใหญ่-เล็ก ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดสำคัญคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีความต้องการตลอดเวลา อีกทั้งยังมีอำนาจซื้อจำนวนมาก ดังนั้น แหล่งเลี้ยงแพะที่มีคุณภาพอย่าง “สาริพันธ์ ฟาร์มแพะ” จึงเป็นที่รู้จักกันดี

สาริพันธ์ ฟาร์มแพะ ตั้งอยู่เลขที่ 246 หมู่ที่ 10 ตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ จำหน่ายเนื้อแพะ รับซื้อเนื้อแพะและแพะเลี้ยงแบบครบวงจรในลักษณะ goat center มีการจัดระบบฟาร์มที่ได้มาตรฐาน แล้วยังต่อยอดด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นแพะ

คุณณัฐพล สาริพันธ์ ร่ำเรียนมาทางด้านการประมง จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ขณะนี้เป็นเจ้าของฟาร์มแพะ “สาริพันธ์ ฟาร์มแพะ” เล่าว่า แต่เดิมครอบครัวทำสวนปาล์ม แต่พอราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำลงจึงหาวิธีที่จะเพิ่มรายได้จากการใช้พื้นที่ในบริเวณสวนปาล์มตนเองด้วยการเลี้ยงแพะเนื้อขายในปี 2558 เนื่องจากพบว่าทาง สปป.ลาว นิยมบริโภคเนื้อแพะเป็นหลัก พร้อมกับนำทางปาล์มมาเลี้ยงแพะเพื่อลดต้นทุนจนเกิดการขยายตัวทางการค้า พร้อมมองเห็นช่องทางการตลาดมากขึ้นจึงได้ผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตพื้นที่อีสานตอนล่างหันมาเลี้ยงแพะกัน

กระทั่งในปี 2559 ได้จดทะเบียนพาณิชย์เปิดเป็นสถานรับซื้อแพะ เพื่อรองรับตลาดแพะเนื้อให้กับเกษตรกรในเครือข่าย 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ โดยผลผลิตเนื้อแพะทั้งหมดใน 4 จังหวัด เกษตรกรจะรวบรวมมาส่งที่ฟาร์มของคุณณัฐพล ในนาม “สาริพันธ์ ฟาร์มแพะ” เพื่อที่จะส่งออกไปขายให้แก่พ่อค้าที่ สปป.ลาว และเวียดนามต่อไป

ปัจจุบันนอกจากจะรับซื้อแพะจากเกษตรกรทั่วไปเพื่อส่งออกแล้ว ยังสนับสนุนให้มีการบริโภคเนื้อแพะภายในประเทศ โดยการแปรรูปเพื่อจำหน่าย ได้แก่ บาร์บีคิวแพะ แพะแดดเดียว ลูกชิ้นแพะ แพะฮ่องเต้ และอื่นๆ ดังนั้น จากที่เคยขายส่งออกแพะเนื้อทั้งหมด กลับเหลือเพียงครึ่งเดียว เพื่อที่จะแบ่งมาขายเนื้อและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จึงช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในกลุ่มมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนโดยไม่กังวลกับราคาพืชผลทางเกษตรชนิดอื่นอีกต่อไป

แม้คุณณัฐพลจะเรียนมาทางด้านประมง แต่ก็สามารถบริหารจัดการด้านปศุสัตว์ในฟาร์มแพะที่เลี้ยงได้อย่างมีระบบมาตรฐาน ด้วยการแบ่งระบบการเลี้ยงเป็นแพะเนื้อสายพันธุ์ดีที่เลี้ยงเองกับแพะที่รับซื้อจากเกษตรกร

สำหรับแพะที่เลี้ยงขุนเอง คุณณัฐพลแบ่งแยกคอกแต่ละประเภทให้ชัดเจน ได้แก่ คอกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ คอกสำหรับคลอด คอกลูกแพะหย่านมตัวผู้ คอกลูกแพะหย่านมตัวเมีย พื้นที่สำหรับออกกำลังกาย เพื่อได้ง่ายและสะดวกต่อการจัดการ

ลานปลูกหญ้าเพื่อปล่อยให้แพะกินและออกกำลังกายไปพร้อมกัน

“ส่วนการจัดการน้ำและอาหาร มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำวันละ 2 ครั้ง เนื่องจากแพะกินเฉพาะน้ำที่สะอาด  ส่วนอาหารมีทั้งอาหารข้นและอาหารหยาบ โดยอาหารข้นที่ใช้คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ (จึงมีต้นทุนไม่เกินวันละ 3 บาท ต่อตัว) กับอาหารหยาบจำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นทางปาล์มและแปลงหญ้าที่ปลูกไว้ จึงทำให้อาหารหยาบไม่ได้ซื้อจากข้างนอกฟาร์มเพื่อลดต้นทุนให้มากที่สุด”

ในส่วนแพะที่รับซื้อจากเกษตรกร เมื่อรับซื้อแล้วจำเป็นต้องเลี้ยงขุนเพื่อให้ได้ขนาดตัวและคุณภาพเนื้อตามที่ตลาดต้องการ โดยกำหนดแยกขนาดไว้จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นเล็ก (ประมาณ 15-22 กิโลกรัม) ต้องขุนต่ออีก 3-4 เดือน, รุ่นกลาง (ประมาณ 23-30 กิโลกรัม) ต้องขุนต่ออีก 1-2 เดือน และรุ่นใหญ่ พร้อมเชือดหรือพร้อมส่งออก

สำหรับการให้อาหารแพะที่รับซื้อจำเป็นต้องเน้นการขุนเพื่อเร่งน้ำหนักและขนาดจึงต้องใช้อาหารเฉพาะ ได้แก่ อาหารข้น ที่มาจากอาหารสำเร็จรูปทั่วไปตามท้องตลาด ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 11 บาท ซึ่งต้นทุนสูง จึงได้มีการลดต้นทุนโดยการลดการใช้อาหารสำเร็จรูปลงครึ่งหนึ่งแล้วเสริมด้วยมันสำปะหลังเข้ามาทดแทน

ทางปาล์มที่เป็นอาหารหลักของแพะ

ทั้งนี้ เพื่อช่วยในการลดต้นทุนแล้วช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขุนแพะเนื้อขึ้นมาอีก เพราะอาหารสำเร็จรูปจะเน้นแค่โปรตีน 14-16 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมันสำปะหลังมีคาร์โบไฮเดรตสูง ดังนั้น เมื่อนำมารวมกันจึงทำให้อาหารข้นมีทั้งโปรตีนและแป้ง ส่งผลให้แพะโตเร็ว อ้วน และน้ำหนักดี ส่วนอาหารหยาบ ใช้ทางปาล์มและหญ้า ตัดให้กินสดทุกวัน

สวนปาล์มที่ยังพอให้ผลผลิตได้บ้าง

ทางด้านการขยายและปรับปรุงพันธุ์แพะ คุณณัฐพลได้คัดเลือกแพะที่มีลักษณะดีตามสายพันธุ์ไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในฟาร์ม และจะแบ่งให้เกษตรกรไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป สำหรับแพะที่มีลักษณะไม่ดีหรือไม่สวย ก็จะจำหน่ายเป็นแพะเนื้อเพื่อส่งออก ในการผสมพันธุ์จะใช้การผสมพันธุ์จริง เพราะถ้าผสมเทียม ค่าใช้จ่ายจะสูงเกินไปทำให้กำไรน้อยลง

“สาริพันธ์ ฟาร์มแพะ” ที่ได้มาตรฐานและเลี้ยงแพะแบบอินทรีย์

“สาริพันธ์ ฟาร์มแพะ” มุ่งเน้นการผลิตแพะเนื้อที่มีคุณภาพตั้งแต่วัยเด็กด้วยขั้นตอนการดูแลสุขภาพ เริ่มด้วยการฉีดวัคซีน, ถ่ายพยาธิตามโปรแกรม, มีการปล่อยลงแปลงหญ้าเพื่อออกกำลังกาย, ตัดแต่งกีบเป็นประจำ และมียาสามัญประจำฟาร์มเตรียมไว้ให้ครบ ขณะที่ทางด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตารางทำความสะอาดพื้นคอกทุกวัน เก็บมูลแพะใต้คอกทุกเดือนเพื่อนำไปเป็นปุ๋ยให้กับต้นปาล์มหากเหลือก็ขาย จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวน

ฉะนั้น ด้วยการวางระบบที่ได้มาตรฐานของฟาร์มแพะแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจในอาชีพเลี้ยงแพะเนื้อ จากผู้สนใจทุกกลุ่มสาขาอาชีพ

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลการเลี้ยงแพะหรือสนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปแพะจากสาริพันธ์ ฟาร์มแพะ ได้ที่ คุณณัฐพล สาริพันธ์ โทรศัพท์ (092) 270-4832 หรือ Facebook : สาริพันธ์ ฟาร์มแพะ อำนาจเจริญ

เนื้อแพะสดกับลูกชิ้นแพะ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค