จากกิจการร้านเน็ต สู่เลี้ยงปลาทับทิมในกระชังที่แม่น้ำปราจีนฯ อาชีพนี้ก็ทำเงิน

การเลี้ยงปลาทับทิมสามารถจัดการได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงในบ่อดินหรือเลี้ยงในกระชังควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลานิลก็ได้ คุณชบา จิตรภักดี อยู่บ้านเลขที่ 62 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงปลาทับทิม เพื่อเป็นอาชีพสร้างรายได้ของครอบครัว โดยเธอได้นำมาเลี้ยงภายในกระชัง ในแม่น้ำปราจีนบุรี จึงทำให้เจริญเติบโตมีคุณภาพและตลาดมีความต้องการ ถึงกับมีแม่ค้าติดต่อมารับซื้อถึงหน้าฟาร์มกันเลยทีเดียว

จากเจ้าของร้านอินเตอร์เน็ต สู่ชีวิตเกษตรกร

คุณชบา เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนนั้นได้ประกอบสัมมาอาชีพหลากหลาย แต่อาชีพสุดท้ายก่อนที่จะมาเลี้ยงปลาในกระชัง ได้เปิดร้านคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต ต่อมาเห็นเพื่อนบ้านได้ริเริ่มเลี้ยงปลากระชัง ในช่วงนั้นลูกชายของเธอรู้สึกสนใจ เพราะชอบในการเลี้ยงปลาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ให้ศึกษาวิธีการเลี้ยงจากเพื่อนบ้าน ส่วนเธอเป็นกำลังใจคอยดูแลอยู่ห่างๆ ในช่วงแรก

“ช่วงนั้นประมาณปี 2557 เราก็ให้ลูกชายเริ่มเรียนรู้ก่อน เพราะเห็นว่าเขาชอบ ของอย่างนี้ถ้าชอบทำอะไรออกมายังไงก็ประสบผลสำเร็จได้ง่าย ทีนี้พอเรียนจบชั้นมัธยม 6 ลูกชายต้องไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย ปลากระชังก็ลงทุนไปแล้วช่วงนั้น 7-8 กระชังได้ เราก็เลยต้องมาทำเอง ก็เรียนรู้และทำต่อ เพราะช่วงที่ให้ลูกชายทำเราก็คอยดูแลอยู่แล้ว ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการเลี้ยงมากนัก” คุณชบา เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงปลากระชัง

ซึ่งในช่วงที่เริ่มเลี้ยงใหม่ๆ นั้น คุณชบา เล่าว่า ตลาดมีความต้องการปลาทับทิมค่อนข้างมาก จึงได้ขยายการเลี้ยงออกไปเรื่อยๆ ให้มีจำนวนกระชังมากกว่าเดิม เพื่อให้สามารถผลิตปลาได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จนเวลานี้ฟาร์มเลี้ยงปลาทับทิมของเธอมีจำนวนกระชังที่เลี้ยงถึง 40 กว่ากระชังเลยทีเดียว

 

กระชังที่เลี้ยงปลาอยู่ในแม่น้ำปราจีนบุรี

ปลาทับทิม เป็นที่นิยมของตลาด

สาเหตุที่เลือกเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังสร้างรายได้นั้น คุณชบา บอกว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่โดยเฉพาะภายในจังหวัดปราจีนบุรี จะนิยมรับประทานปลาทับทิมมากกว่าปลาชนิดอื่น จึงทำให้เกษตรกรในพื้นที่นี้นิยมเลี้ยงปลาทับทิมมากกว่า

ในช่วงแรกจะนำลูกปลาทับทิมไซซ์ใบมะขาม มาอนุบาลภายในบ่อดินที่เตรียมไว้เสียก่อน เพื่อให้ลูกปลามีความแข็งแรง ใช้เวลาอนุบาลในบ่อดิน ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน ในระยะนี้ให้ลูกปลากินอาหารเม็ดที่เล็กที่สุด ที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 32 โดยให้กิน 4 มื้อ ต่อวัน

“พออนุบาลลูกปลามีอายุครบ 2 เดือน ขนาดก็จะใหญ่พอที่อวนขนาด 2-3 เซนติเมตร ลากได้ คราวนี้เราก็จะลากอวนนำปลาขึ้นมา เพื่อย้ายมาเลี้ยงที่กระชังที่อยู่ในแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งกระชังที่ใช้เลี้ยงมีขนาดอยู่ที่ 5×5 เมตร ความลึกประมาณ 2.5 เมตร ใส่ปลาเลี้ยงอยู่ที่จำนวน 1,300-1,500 ตัว ต่อกระชัง โดยใส่เลี้ยงจำนวนมากหรือน้อยจะดูตามสภาพอากาศ ถ้าสภาพน้ำดี ก็จะเลี้ยงแบบหนาแน่นหน่อยได้” คุณชบา บอก

ลูกปลาที่ย้ายมาจากบ่ออนุบาลได้ 1 เดือน

ปลาทับทิมที่นำมาเลี้ยงภายในกระชังจะมีขนาดไซซ์ที่ใหญ่กว่าเดิม ดังนั้น สูตรอาหารต้องมีการปรับตามไปด้วย โดยจะเปลี่ยนให้อาหารมีขนาดที่เม็ดใหญ่ขึ้น และจำนวนของเปอร์เซ็นต์โปรตีนลดน้อยลง อยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้กิน 3 มื้อ คือ เช้า กลางวัน และเย็น

จากนั้นเลี้ยงปลาทับทิมที่อยู่ภายในกระชังต่อไปจนได้ระยะเวลา 4-5 เดือน ปลาก็จะเริ่มได้ไซซ์ขนาดที่ตลาดต้องการจึงเริ่มจับจำหน่ายได้

“เรื่องโรคของปลานี่ขึ้นอยู่กับสภาพน้ำ ถ้าช่วงไหนที่มีการปล่อยน้ำมา ในช่วงที่น้ำไหลมากของฤดูฝน พอเราเห็นว่าน้ำเริ่มมีสีเปลี่ยนมา ก็จะเริ่มให้อาหารน้อยลง ให้ปลาอดอาหารก่อนสักระยะ พอทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติก็ให้อาหารเหมือนเดิม” คุณชบา บอกวิธีการดูแลรักษาโรคของปลาทับทิม

 

ปลาที่เลี้ยง มีไซซ์ขนาด 900 กรัม ถึง 1.2 กิโลกรัม

เมื่อปลาทับทิมที่เลี้ยงได้ขนาดที่พร้อมจำหน่าย คุณชบา บอกว่า ในเรื่องของการทำตลาดนั้นไม่ค่อยมีความกังวลมากนัก เพราะแถวที่เธออยู่จะมีเกษตรกรที่เลี้ยงปลาไม่มากราย จึงทำให้มีแม่ค้าเข้ามาติดต่อขอซื้อถึงที่ฟาร์ม โดยแบ่งตลาดออกเป็นแบบค้าปลีกและส่ง รวมไปถึงร้านอาหารต่างๆ ที่ใช้ปลาทับทิมอยู่ในเมนูอาหารของร้านด้วย

ไซซ์ใหญ่พร้อมจำหน่ายได้

“ราคาปลาต้องบอกว่า ช่วงนี้ผันผวนมาก บางครั้งก็ได้ราคาดี บางช่วงก็ลดลงมาหน่อย ได้อยู่ที่ 50 บาท ต่อกิโลกรัม ก็มี แต่ราคาหลักๆ ก็จะขายอยู่ที่ 60-80 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาจะขึ้นไปถึง 90 บาทนี่นานๆ มีครั้ง ราคาก็ถือว่าขึ้นลงตามกลไกของตลาด ก็ถือว่าต้องประคองไปในช่วงที่ปลาล้นตลาด พยายามกะประมาณการเลี้ยงให้พอดี ก็จะทำให้การเลี้ยงปลากระชังที่ผลิตออกมาไม่มากเกินไป เมื่อเลี้ยงไปก็ไม่ขาดทุน” คุณชบา บอก

สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง คุณชบา ทิ้งท้ายแนะนำว่า สิ่งที่ต้องดูเป็นสิ่งแรกคือ เรื่องของคุณภาพน้ำ ว่าบริเวณพื้นที่นั้นมีน้ำที่เหมาะสมกับการเลี้ยงหรือไม่ และสิ่งที่รองลงมาสายพันธุ์ลูกปลาทับทิมต้องได้มาตรฐานจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาเลี้ยง เมื่อได้พันธุ์ปลาดี อาหารดี สภาพแวดล้อมดี การเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณชบา จิตรภักดี โทรศัพท์ (081) 375-9596