เปิดเทคนิคปลูกมะเขือเทศ ริมฝั่งโขง ทำยังไงให้ผลดก-ลูกใหญ่ ขายส่งโรงงานทำซอส

คุณศรีพรรณ คำสงค์ เกษตรอำเภอบึงโขงหลง ให้ข้อมูลว่า พืชเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นรายได้หลักของเกษตรกรในจังหวัดคือ ยางพารา รองลงมาคือ การทำนาข้าว ซึ่งภายในอำเภอบึงโขงหลงในช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรจะนิยมปลูกพืชล้มลุกที่ว่างจากการทำนาเป็นการสร้างรายได้ ซึ่งการปลูกพืชริมฝั่งโขงแม้จะปลูกในช่วงแล้ง แต่ก็ยังมีน้ำให้สามารถเพาะปลูกได้อยู่ตลอดทั้งปี จึงทำให้มีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดได้

“น้ำที่ใช้ปลูกพืช จะเป็นน้ำที่ได้จากแม่น้ำโขง น้ำมีตลอดทั้งปี พืชที่เกษตรกรปลูก ก็จะปลูกสลับกันไป หรือบางรายก็จะปลูกแบบหมุนเวียน ไม่เน้นทำเป็นพืชเชิงเดี่ยว เพราะจะช่วยในเรื่องของสินค้าล้นตลาดได้ เช่น ราคาพืชชนิดไหนไม่ดี ก็ยังมีพืชอีกชนิดที่ราคาดีขายได้ราคา จึงทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่ขาดช่วง แม้พืชผลทางการเกษตรจะตกต่ำในบางช่วงก็ตาม” คุณศรีพรรณ กล่าว

คุณนวลจันทร์ กงเกต

คุณนวลจันทร์ กงเกต อยู่บ้านเลขที่ 316 หมู่ที่ 3 ตำบลดงบัง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ เป็นเกษตรกรที่ได้ปลูกพืชอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงสร้างรายได้ เน้นปลูกมะเขือเทศพันธุ์พรีเมี่ยมโกลด์ เป็นหลัก เพราะผลมีขนาดใหญ่ ได้น้ำหนักดี ตลาดมีความต้องการ จึงเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับเธอได้เป็นอย่างดี

เห็นการทำเกษตรกรรมมาตั้งแต่เด็ก

คุณนวลจันทร์ เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เริ่มทำงานประกอบอาชีพของชีวิตก็เริ่มทำสวนทำไร่มาโดยตลอด เพราะเมื่อครั้งเป็นเด็กเห็นอาชีพทางด้านเกษตรกรรมเป็นงานหลักของครอบครัว ต่อมาเมื่อเธอถึงวัยที่สามารถประกอบอาชีพได้ ก็จึงเลือกทำงานทางด้านนี้ด้วยเช่นกัน โดยทำเกษตรให้มีความหลากหลาย จึงเป็นการหมุนเวียนของรายได้

“การทำเกษตรที่นี่ พอถึงช่วงที่ทำนาก็จะทำนาก่อน ว่างจากทำนาแล้วก็จะเริ่มมาทำเป็นปลูกพืชล้มลุก เช่น มะเขือเทศ ฟักทอง พอผลผลิตบางตัวเก็บเสร็จแล้ว ก็จะเตรียมพักหน้าดิน เพื่อทำนาต่อไป เรียกได้ว่าที่ดินของเราจะทำแบบสลับไปมา จึงไม่ได้ยึดว่าต้องปลูกพืชอย่างใดอย่างเดียว จึงทำให้มีการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด” คุณนวลจันทร์ เล่าถึงที่มา

แปลงปลูกมะเขือเทศริมฝั่งแม่น้ำโขง

ใช้เวลาปลูก 3 เดือน มะเขือเทศจะเริ่มให้ผล

ขั้นตอนแรกของการปลูกมะเขือเทศ คุณนวลจันทร์ บอกว่า เตรียมดินด้วยการนำรถไถมาพรวนดิน พร้อมทั้งยกร่อง เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกต้นมะเขือเทศ โดยในขั้นตอนของการเตรียมแปลงปลูกนั้น จะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ลงไปด้วย เพื่อเป็นปุ๋ยในช่วงแรกให้กับพืชได้นำไปใช้ในการเจริญเติบโต

“พอเราเตรียมแปลงปลูกเสร็จแล้ว ก็จะนำกล้ามะเขือเทศที่เพาะไว้ ที่มีอายุประมาณ 1 เดือน มาลงปลูกในแปลง โดยหลังปลูกเสร็จก็จะรดน้ำ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เมื่อเห็นพืชเจริญเติบโตเต็มที่ ก็จะรดน้ำทุก 15 วันครั้ง มะเขือเทศพอเริ่มมีอายุ 20 วัน หลังปลูก ก็จะเริ่มออกดอกมาให้เห็น ก็จะปรับสูตรปุ๋ย เป็นสูตร 13-13-13 จากนั้นดูแลต่อไปอีกประมาณ 2 เดือนกว่าๆ มะเขือเทศก็จะมีผลให้เก็บขายได้” คุณนวลจันทร์ บอก

ผลสวย

โดยผลมะเขือเทศที่สามารถเก็บจำหน่ายได้ จะเก็บตามที่ลูกค้าสั่ง ว่าต้องการผลที่มีสีเขียวหรือสีแดง การเก็บแต่ละครั้งจึงขึ้นอยู่ที่ลูกค้ากำหนด หรืออาจเก็บทุก 3 วันครั้ง

ในเรื่องของโรคและแมลงในมะเขือเทศ คุณนวลจันทร์ บอกว่า จะควบคุมดูแลโรคราน้ำค้าง หากเกิดขึ้นกับผลมะเขือเทศจะทำให้ลูกค้าไม่รับซื้อ และผลผลิตจะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ดังนั้น จึงต้องหมั่นดูแลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

หลังจากนั้น จะเก็บมะเขือเทศส่งจำหน่ายได้ประมาณ 2 เดือน เมื่อมะเขือเทศให้ผลผลิตได้เต็มที่ครบกำหนด เมื่อเห็นว่าต้นเริ่มโทรม เธอจะถอนทิ้งทั้งหมดเพื่อเตรียมปลูกพืชชนิดอื่นต่อไป

 

เน้นส่งผลผลิตเข้าสู่โรงงาน

คุณนวลจันทร์ เล่าถึงเรื่องการจำหน่ายมะเขือเทศสู่ตลาดว่า พื้นที่สวนปลูกมะเขือเทศของเธอจะมีโรงงานมารับซื้อผลผลิต ดังนั้น ตลาดที่ส่งจำหน่ายส่วนใหญ่จึงเน้นเข้าโรงงาน และบางส่วนที่มีขนาดไซซ์ไม่ได้มาตรฐานก็จะส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อไปจำหน่าย

โดยราคาที่ส่งจำหน่ายให้กับโรงงาน อยู่ที่กิโลกรัมละ 2-3 บาท ราคาขึ้นลงได้ตามกลไกตลาด เธอบอกว่าต้นทุนต่อไร่ อยู่ที่ 10,000 บาท เมื่อผลผลิตสมบูรณ์สามารถจำหน่ายได้เต็มที่ จะได้เงินที่ยังไม่หักต้นทุนอยู่ที่ 50,000 -60,000 บาท ต่อไร่ ซึ่งจะได้กำไรมากหรือน้อยขึ้นอยู่ในช่วงนั้นว่าราคาของตลาดเป็นเช่นไร

เตรียมส่งผลผลิตให้ลูกค้า

“มะเขือเทศ ที่ส่งโรงงานก็จะไปแปรรูปเป็นซอสมะเขือเทศ ส่วนผลที่ไม่ได้เข้าโรงงานก็สามารถขายให้กับแม่ค้าได้อีกช่องทาง ซึ่งการปลูกพืชแบบนี้ ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ โดยเฉพาะคนที่นี่ ถ้าไม่ปลูกมะเขือเทศ บางบ้านก็ปลูกฟักทอง ข้าวโพด บวบ เรียกว่าทำตามที่ตนเองถนัด สำหรับคนที่อยากปลูกพืชก็จะแนะนำว่า น้ำเป็นส่วนสำคัญ โดยพืชที่บริเวณนั้นต้องมีน้ำ พืชก็จะเจริญเติบโตดี ซึ่งที่ดินเราโชคดีตรงที่อยู่ริมแม่น้ำโขง จึงสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างเต็มที่” คุณนวลจันทร์ แนะนำ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนวลจันทร์ กงเกต หมายเลขโทรศัพท์ (098) 656-7569