ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ถือเป็นอาชีพใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ แต่มีไม่มากรายที่เมื่อผันตัวมาเป็นเกษตรกรแล้วจะประสบความสำเร็จ “เกสรา นารถถนอม” หรือ “เจมส์” สาววัย 28 ปีจากเมืองตราด ก็เป็นหนึ่งในคนที่มีความฝันเรื่องการทำเกษตร
เกสรามีดีกรีปริญญาตรี ภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยบูรพา ปัจจุบันทำงานตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการบริษัทเอกชนนำเข้า-ส่งออกแห่งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรปราการ แต่ด้วยความที่ครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ ทำเกษตรกรรม จึงตัดสินใจทำอาชีพเสริมเป็นเกษตรกรเพื่อปูทางสู่อนาคตที่วางแผนไว้ว่าจะกลับไปทำที่บ้านเกิด
เริ่มจากลงทุน 1 แสนกว่าบาท สร้างโรงเรือนขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ใช้ปลูกเมลอนกว่า 500 ต้น พร้อมตั้งชื่อแปลงเมลอนนี้ว่า Ketsara”s Garden และด้วยความที่ชอบรับประทานเมลอน จากที่ไม่มีความรู้ด้านเกษตรกรรม ไม่เคยปลูกอะไร ก็หันมาสอบถาม ค้นคว้า เข้าอบรมการทำเกษตรอินทรีย์ แล้วจึงทดลองปลูกร่วมกับสามี “อนวัช ตาววัฒนา” ใช้เวลา 3 เดือน กระทั่งได้ผลผลิตรุ่นแรก น้ำหนักเฉลี่ยลูกละ 1.5-1.8 กิโลกรัม เมื่อต้นปี 2560 ขายกิโลกรัมละ 180 บาท สูงกว่าท้องตลาดในช่วงนั้น 50-60 บาท และรุ่นที่สองตามมา ซึ่งมีเมลอนพันธุ์ใหม่ ซูเปอร์พรีเมี่ยม หรือเมลอนฮอกไกโด ที่นำเข้าเมล็ดพันธุ์จากญี่ปุ่น เป็นลิมิเต็ด 20 ลูก ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของสวน ราคาเปิดจองล่วงหน้ากิโลกรัมละ 500 บาท ขณะที่ญี่ปุ่นจำหน่ายลูกละ 2,000-3,000 บาท ทำให้จำหน่ายหมดภายในเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา
“แม้จะมีงานทำในออฟฟิศห้องแอร์สบาย แต่อนาคตอยากกลับมาพัฒนาที่ดินของตัวเอง ทำเกษตรต่อจากพ่อแม่ โดยใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ระบบการให้ปุ๋ย ให้น้ำด้วยสปริงเกอร์ด้วยการตั้งเวลามาช่วยลดภาระเรื่องแรงงาน และจะคิดปลูกพืชใหม่ ๆ ที่มีคนปลูกได้น้อย เพื่อสร้างรายได้ในระยะสั้น ๆ ไม่ต้องรอเป็นปี ๆ จึงเลือกปลูกเมลอนโดยมีสามีเป็นกำลังหลัก ส่วนตัวเองกลับบ้านมาช่วยทำงานทุกอาทิตย์”
ใส่ใจจากแปลงถึงผู้บริโภค
เกษตรกรสาวป้ายแดง เล่าว่า การปลูกเมลอนค่อนข้างพิถีพิถัน ต้องเริ่มตั้งแต่เพาะเมล็ด ไปปลูกในแปลงเอง และดูแลสภาพในโรงเรือนให้สะอาดปราศจากโรคและแมลง การทำดิน และปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองจากฟาร์มไส้เดือน และติดตั้งระบบไฟฟ้า (timer) ต้องตรวจสอบวิเคราะห์ดิน เพื่อให้น้ำและปุ๋ยทางน้ำ เพื่อประหยัดการใช้แรงงาน ระวังโรคแทรก โดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง
“ที่ยากมาก คือ การผสมดอก หลังจากย้ายปลูกประมาณ 21-30 วัน ต้องนำเกสรดอกตัวผู้ไปปัดผสมกับเกสรของดอกตัวเมียที่กระเปาะบริเวณฐานดอก ประมาณ 1 สัปดาห์ ลูกเมลอนจะโตขนาดเท่าไข่ไก่ เลือกลูกที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียงลูกเดียว เพื่อให้สารอาหารไปเลี้ยงลูกอย่างเต็มที่ และใช้เชือกโยงช่วยรับน้ำหนัก หากต้องการวาดลวดลายสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้ลูกค้า เมื่อผลอ่อนขนาดลูกเท่ากำปั้น ใช้เหล็กปลายแหลมเขียนลวดลายบนผิว” คุณเจมส์กล่าว
ส่วนการตัดผลไปจำหน่าย ต้องให้แก่พอดี โดยสังเกตลายวงกลมที่เดินขึ้นมาด้านก้านขั้ว ตัดกิ่งติดที่ขั้วให้เป็นรูปตัว T สัญลักษณ์ของดาบซามูไร และเพื่อความสวยงามด้วย จากนั้นแพ็กใส่โฟมตาข่ายป้องกันการกระแทก และติดป้ายแท็ก สติ๊กเกอร์ Ketsara”s Garden
ทำตลาดบนโซเชียล
สื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสารด้านการตลาดที่เร็วที่สุด ทำให้เมลอนเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะทุกคนเล่นเฟซบุ๊กในมือถือกันทุกวัน จึงสร้างเพจ Ketsara”s Garden เขียนเนื้อหา เล่าเรื่อง ให้ความรู้ด้านเกษตร การปลูกเมลอนตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งตัดขาย ให้คนอ่านแล้วสนุกได้ความรู้ และเสมือนได้มีส่วนในการดูแลผลผลิต ที่ปลอดสารเคมี โดยวางเป้าหมายกลุ่มลูกค้าเป็นคนรักสุขภาพ
คุณเจมส์บอกว่า ตั้งแต่ขายมา มีกลุ่มลูกค้า 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าออนไลน์ และกลุ่มลูกค้าที่เดินทางมาซื้อเอง และกลับมาซื้อซ้ำ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดตราด ที่ผ่านมารายได้ค่อนข้างดี เฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท/โรงเรือน หากเป็นฤดูฝนจะลดลงประมาณ 30%
สำหรับปี 2561 วางแผนจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม 2-3 โรงเรือน และจะปลูกพืชที่มีคุณภาพหลากหลายมากขึ้น ที่ยังไม่มีใครปลูกมากนัก เช่น มะเขือเทศเชอรี่ สตรอว์เบอรี่สายพันธุ์ต่างประเทศ ข้าวโพดชนิดกินดิบที่หอมหวานเหมือนน้ำนมจากฮอกไกโด ซึ่งปัจจุบันทดลองปลูกได้ผลแล้ว ล่าสุดยื่นขอรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว
โดยอนาคตมุ่งหวังให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรแบบใหม่ เพื่อบ่มเพาะเยาวชนเกษตรกรยุค 4.0 ในท้องถิ่น