เกษตรกรบึงกาฬ แบ่งพื้นที่ปลูกไม้ผล สร้างรายได้หลักแสนบาทต่อปี

ในปี 2560 จังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 1.69 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 62.67 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวน 8.09 แสนไร่เศษ คิดเป็นร้อยละ 48 ของพื้นที่ สัดส่วนประเภทสาขาอุตสาหกรรมที่มีการลงทุน มีเงินลงทุนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยาง จำนวน 3.9 พันล้านบาท คิดเป็น 88.36 เปอร์เซ็นต์ นับว่าจังหวัดบึงกาฬเป็นแหล่งวัตถุดิบยางพาราที่ใหญ่แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามจุดทางยุทธศาสตร์ (Positioning) ที่ว่า “ศูนย์กลางการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราด้วยนวัตกรรม”

คุณสมหมาย แก้วมณี เกษตรอำเภอศรีวิไล ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรในอำเภอศรีวิไลส่วนใหญ่ปลูกยางพาราเป็นหลัก รองลงมาเป็นการทำนา และมีเกษตรกรบางรายแบ่งพื้นที่บางส่วนมาปลูกไม้ผลเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งในขณะนี้ได้มีนโยบายส่งเสริมให้มีการแบ่งพื้นที่มาปลูกไม้ผล เช่น มังคุด เงาะ และทุเรียน เพราะเป็นพรรณไม้ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอำเภอศรีวิไล

“ตอนนี้มีเกษตรกรหลายรายเริ่มหันมาสนใจในเรื่องการปลูกไม้ผล และที่สำคัญทำจนประสบผลสำเร็จให้ผลผลิตขายได้ ไม่ว่าจะเป็นมังคุดหรือเงาะ โดยเกษตรกรได้แบ่งพื้นที่ยางมาปลูกไม้ผล 3-5 ไร่ ต่อปี ก็สามารถสร้างรายได้เป็นหลักแสนบาทได้ เพราะผลผลิตที่ขายเน้นเป็นเรื่องคุณภาพ จึงทำให้สามารถขายได้ราคา ดังนั้น ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ได้ในเรื่องของการเสริมรายได้ ในช่วงที่ราคาของยางพาราลดลง” คุณสมหมาย กล่าว

คุณบุญนาค ศรีสว่าง และภรรยา

ซึ่ง คุณบุญนาค ศรีสว่าง อยู่บ้านเลขที่ 96 หมู่ที่ 3 บ้านห้วยลึก ตำบลชุมภูพร อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ได้จัดสรรพื้นที่บางส่วนมาเป็นแปลงปลูกไม้ผล เพื่อสร้างเป็นรายได้เสริมจากการปลูกยางพารา จึงทำให้สามารถสร้างรายได้เป็นหลักแสนต่อปีกันเลยทีเดียว

อดีตรับราชการ สู่ชีวิตเกษตรกร

คุณบุญนาค เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเป็นข้าราชการทหารอากาศ ต่อมาได้ลาออกมาในช่วงปี 2538 ซึ่งในขณะนั้นมีใจที่รักงานทางด้านการเกษตร จึงได้มายึดอาชีพเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การเลี้ยงโค การทำสวนยางพารา สวนปาล์ม และสวนไม้ผล ซึ่งการปลูกไม้ผลก็มีการแบ่งพื้นที่จากสวนยางพาราบางส่วนมาปลูก และเห็นพื้นที่บริเวณบ้านนั้นยังว่าง จึงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการปลูกไม้ผลทั้งหมด

สวนยางพารา

“สมัยก่อนเราต้องซื้อผลไม้มาทาน เราก็รู้สึกว่าราคาค่อนข้างแพงมาก พอดีช่วงนั้นมีโอกาสไปเยี่ยมญาติที่อยู่ภาคใต้ทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้นำเงาะโรงเรียนและไม้ผลอื่นๆ จากทางภาคใต้มาทดลองปลูกในที่ดิน ก็ดูแลให้เจริญเติบโตไปตามธรรมชาติ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ไม้ผลที่นำมาปลูกทั้งหมดก็อายุเป็นสิบกว่าปีแล้ว สามารถให้ผลผลิตได้เก็บขายได้ ที่สำคัญสร้างรายได้ได้ดีอีกด้วย” คุณบุญนาค บอก

มีไม้ผลหลากหลายภายในสวน

การปลูกไม้ผลทั้งหมดนั้น คุณบุญนาค เล่าว่า ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่จะเน้นการปลูกแบบตามสะดวกของพื้นที่ โดยมีพื้นที่ว่างตรงไหนของสวนก็จะนำไม้ผลต่างๆ มาลงปลูก ซึ่งสิ่งที่จะเน้นดูแลส่วนใหญ่จะเป็นวัชพืชที่ปกคลุม หากรกมาก ก็จะมีการตัดให้เตียนโล่งมองแล้วสบายตาดีอยู่เสมอ

ต้นสะตอ ออกฝักจำหน่ายได้ราคา

“พอไม้ผลเริ่มเจริญเติบโต จนสามารถให้ผลผลิตได้แล้ว เราก็จะมีการบำรุงต้นบ้าง เพื่อให้พืชได้รับสารอาหาร ซึ่งการทำไม้ผล น้ำถือว่าสำคัญมาก เพราะต้องมีน้ำคอยรดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งโชคดีของพื้นที่ตรงนี้ มีน้ำจากลำห้วยไหลผ่าน จึงทำให้สามารถนำน้ำมาใช้ในการเกษตรจำพวกไม้ผลได้ พอปลูกมาได้ 3-5 ปี ไม้ผลพวกนี้ก็จะเริ่มให้ผลผลิต” คุณบุญนาค บอก

เมื่อเก็บผลผลิตจำหน่ายจนหมดต้นแล้ว คุณบุญนาค บอกว่า จะบำรุงต้นให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ด้วยการใช้ปุ๋ยน้ำหมักที่ทำเองกับมือ โดยหมักไว้ให้มีอายุเกิน 1 ปี ซึ่งส่วนผสมของน้ำหมักจะเป็นเศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือน นำมาผสมกับผลมังคุดและเงาะที่ผลเสีย นำมาหมักผสมเข้าร่วมกันทั้งหมด จากนั้นใส่ อีเอ็ม (EM) และกากน้ำตาลลงไปในถังที่หมัก เมื่อหมักไปได้หลายเดือนเกิดมีกลิ่นเหม็นออกมา ก็จะเติมกากน้ำตาลลงไปในถังหมักอยู่เสมอ

ไม้ผลภายในสวน

เมื่อน้ำหมักได้ที่จะนำมาสาดให้ทั่วบริเวณสวน จากนั้นมีการใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอเข้ามาเสริมภายในสวนบ้าง เพราะจะช่วยให้ไม้ผลมีความสมบูรณ์ในการให้ผลผลิตมากขึ้น

“น้ำหมักที่ได้ก็สามารถใช้ได้หลากหลาย ไม่ได้ใส่แต่ในไม้ผลอย่างเดียว ยังเอามาใส่กับพืชผักสวนครัวที่ปลูกเองอีกด้วย ก็ถือว่าเป็นการลดเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายได้มาก เรียกว่าอะไรที่ทานได้ ก็ปลูกไปเถอะ อย่างน้อยสามารถนำมาทานในครัวเรือนได้ ส่วนถ้ามากเกินก็สามารถขายเป็นรายได้ สำหรับใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้” คุณบุญนาค บอก

พืชผักสวนครัว

จากการที่ได้ปลูกไม้ผลมาหลายสิบปี คุณบุญนาค บอกว่า ในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำก็ยังได้จำหน่ายไม้ผลเสริมรายได้ จึงนับว่าการที่ไม่ทำพืชเชิงเดียวจนเกินไป สามารถทำให้มีรายได้จากพืชได้หลากหลายชนิด ซึ่งในอนาคตที่สวนของคุณบุญนาคจะมีทุเรียนที่ให้ผลผลิตจำหน่ายได้ เพราะได้นำมาทดลองปลูกแล้วไม้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศในแถบนี้

เน้นสร้างตลาดเอง

จำหน่ายแบบสินค้าคุณภาพ

ผลผลิตที่มีภายในสวนเป็นสินค้าคุณภาพสามารถจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี เป็นไม้ผลจำพวกเงาะ มังคุด พร้อมทั้งมีสะตอที่ปลูกไว้ ก็สามารถทำราคาให้กับเขาได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งผักสวนครัวที่ปลูกไว้เมื่อมีจำนวนมากจะนำมาจำหน่ายสร้างรายได้สำหรับใช้จ่ายภายในครอบครัวได้เช่นกัน

ถังน้ำหมักที่ทำเองใช้เป็นปุ๋ย

“ผลไม้ที่ออกมาหรือผลผลิตทั้งหมด เราขายเอง ไม่ต้องกลัวเรื่องตลาด เพราะผลไม้ที่ออกมาเป็นช่วงนอกฤดู ดังนั้นสินค้าค่อนข้างที่จะขายดี มังคุดขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนเงาะขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนที่เป็นสินค้าขายได้ราคามาก จะเป็นสะตอ ขายได้ถึงราคาฝักละ 20 บาท เพราะสินค้าทั้งหมดเป็นแบบนอกฤดู แต่ถ้าเป็นช่วงในฤดูราคาของผลผลิตที่ขายทั้งหมดก็จะลดลงมาบ้างเล็กน้อย” คุณบุญนาค บอก

จากความตั้งใจที่ได้นำไม้ผลมาเพื่อเป็นการทดลองปลูก แต่เมื่อทั้งหมดเจริญเติบโตให้ผลผลิตแล้ว ไม่ได้เป็นเพียงการทำกิจกรรมยามว่างที่เขาชอบเพียงอย่างเดียว แต่กลับเป็นการสร้างรายได้ให้กับคุณบุญนาคได้เป็นอย่างดี ถ้าช่วงใดที่ผลผลิตออกมาจำนวนมาก ก็ทำให้จำหน่ายได้ราคาหลักแสนต่อปีกันเลยทีเดียว จึงเป็นการช่วยให้มีรายได้ในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ

ซึ่งการทำเกษตรในสายตาของคุณบุญนาคนั้น คุณบุญนาคมองว่าไม่ได้เป็นเพียงการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้ชีวิตประจำวันมีคุณค่า โดยในทุกๆ เช้าได้เดินออกไปภายในสวน ตัดแต่งกิ่งพรรณไม้ ทำให้เขามีความสุข และที่สำคัญมีสุขภาพที่ดี เพราะสิ่งแวดล้อมที่อยู่เต็มไปด้วยธรรมชาติ

“ถ้าจะบอกว่า การทำเกษตรเชิงเดียวสมัยนี้ อาจจะบอกว่ามันน่าจะหมดยุคหมดสมัยแล้ว เพราะช่วงที่ราคาสินค้าตก ก็มีแต่แย่กับขาดทุน แต่การทำเกษตรผสมผสาน ทำให้เรามีสินค้าหลากหลาย สมมุติพืชตรงนี้ราคาไม่ดี แต่ยังมีอีกชนิดขายได้ราคาดี ก็ทำให้มีรายได้หลากหลาย ฉะนั้น คนที่จะทำงานทางการเกษตร ต้องบอกก่อนว่า ต้องมีใจรักจริงๆ ถ้ามีใจรักเสียแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรมันก็จะสำเร็จแน่นอน” คุณบุญนาค แนะนำ

ผลผลิตจากสวนพร้อมจำหน่าย

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณบุญนาค ศรีสว่าง หมายเลขโทรศัพท์ (087) 491-7831

ขอขอบพระคุณ คุณสมหมาย แก้วมณี เกษตรอำเภอศรีวิไล ที่พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร